แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คดีนี้กับคดีก่อนเป็นกรณีเดียวกัน ทรัพย์สินของกลางศาลพิพากษาริบแล้วในคดีก่อน โจทก์กล่าวถึงทรัพย์สินนั้นมาในฟ้องคดีนี้ให้บริบูรณ์และมิได้มีคำขออย่างใด ทรัพย์สินนั้นจึงไม่ใช่ของกลางคดีนี้ ดังนี้ ศาลไม่มีอำนาจที่จะพึงสั่งคืนให้จำเลย และจะสั่งคืนได้ก็ต่อเมื่อมีคำเสนอของเจ้าของขอคืนในคดีก่อน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 36
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองกับพวกซึ่งศาลพิพากษาแล้วตามคดีแดงที่ ๒๒๑/๒๕๐๖ ร่วมกันมีไม้แปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม่รับอนุญาต และร่วมกันนำไม้นั้นเคลื่อนที่โดยไม่มีใบเบิกทางกำกับ เจ้าพนักงานจับได้ไม้ของกลางกับเกวียนไม้ ๒ เล่ม วัวเทียมเกวียน ๔ ตัว ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.๒๔๘๔ มาตรา ๖, ๑๑, ๑๒, ๓๙, ๔๘, ๗๐, ๗๑, ๗๓, ๗๔, ๗๔ ทวิ พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ.๒๔๙๔ มาตรา ๖, ๑๗ พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๐๓ มาตรา ๑๓, ๑๗, ๑๘ พระราชกฤษฎีกากำหนดไม้หวงห้าม พ.ศ.๒๕๐๕ มาตรา ๔ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓
จำเลยให้การปฏิเสธว่าไม่ได้กระทำผิดตามฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วฟังข้อเท็จจริงว่า เจ้าพนักงานจับกุมไม้รายนี้ขณะที่นายซาซึ่งศาลลงโทษไปแล้วในคดีแดงที่ ๒๒๑/๒๕๐๖ และจำเลยทั้งสองนำไม้บรรทุกเกวียนมาด้วยกัน โดยนายซาหลอกจำเลยทั้งสองว่าเป็นไม้ที่มีใบอนุญาตแล้ว จำเลยรับขนไม้มาในฐานะผู้รับจ้างขนไม่ได้ร่วมกระทำผิดกับนายซาด้วยในการครอบครองไม้ แต่ปรากฏว่าเกวียนและโคของกลางตามฟ้องซึ่งศาลได้สั่งริบในคดีแดงที่ ๒๒๑/๒๕๐๖ ไปแล้วนั้น มิเป็นของอันริบตามพระราชบัญญัติป่าไม้(ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๐๓ มาตรา ๑๘ เพิ่มเติมพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.๒๔๘๔ มาตรา ๗๔ ทวิ ดังนั้น แม้ศาลจะได้สั่งริบของกลางนี้ไว้ในคดีแดงที่ ๒๒๑/๒๕๐๖ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏขึ้นในคดีนี้ ก็จำต้องเปลี่ยนแปลงเรื่องของกลางเพื่อให้ตรงกับความเป็นจริงพิพากษายกฟ้องโจทก์ เกวียนและโคของกลางคืนแก่จำเลย นอกนั้นริบ
โจทก์อุทธรณ์ความว่า การที่ศาลชั้นต้นสั่งคืนเกวียนและโคของกลางแก่จำเลยนั้น ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๙๐ เพราะของกลางซึ่งเป็นพาหนะนี้ได้มีคำพิพากษาให้ริบตามคดีแดงที่ ๒๒๑/๒๕๐๖ แล้ว ทั้งในคดีนี้โจทก์มิได้ของเรื่องของกลางมาในฟ้อง เป็นการพิพากษาเกินคำขอ
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า เมื่อจำเลยซึ่งเป็นเจ้าของทรัพย์ไม่ได้ร่วมกระทำผิดด้วยแล้ว จึงไม่เป็นของซึ่งควรต้องริบ และการที่ศาลชั้นต้นสั่งเช่นนี้ก็ไม่เกินคำขอ ศาลย่อมวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๘๖ (๙) พิพากษายืน
โจทก์ฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายต่อมาเฉพาะข้อที่ศาลอุทธรณ์สั่งคืนโค และเกวียนของกลางแก่จำเลยว่าไม่ชอบ เพราะเป็นของกลางที่ศาลพิพากษาให้ริบไปแล้วตามคดีแดงที่ ๒๒๑/๒๕๐๖
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้กับคดีแดงที่ ๒๒๑/๒๕๐๖ เป็นกรณีเดียวกันแต่ฟ้องคนละคราว รายการทรัพย์สินที่เจ้าพนักงานจับได้จึงเป็นรายเดียวกัน ทรัพย์สินเหล่านี้เป็นของกลางที่ศาลพิพากษาให้ริบไปแล้วในคดีก่อน โจทก์คงกล่าวถึงทรัพย์สินเหล่านี้มาในฟ้องคดีนี้ให้บริบูรณ์เท่านั้น หาได้นำมาอยู่ในอำนาจศาลในคดีนี้ หรือถือได้ว่าได้นำมาอยู่ในอำนาจศาลในคดีนี้แล้วแต่ประการใดไม่ ทั้งโจทก์ก็มิได้มีคำขออย่างหนึ่งอย่างใดมาด้วย ทรัพย์สินเหล่านี้จึงมิใช่ของกลางในคดีนี้อันจะพึงวินิจฉัยสั่ง ฉะนั้น ที่ศาลทั้งสองสั่งคีนเกวียนและโคของกลางในคดีแดงที่ ๒๒๑/๒๕๐๖ ให้แก่จำเลยในคดีนี้ซึ่งฟังว่าไม่ได้ร่วมกระทำผิดด้วย จึงไม่มีอำนาจที่จะพึงสั่งเช่นนั้นได้ ศาลจะสั่งคืนให้ผู้ใดได้ก็ต่อเมื่อมีคำเสนอของเจ้าของขึ้นมากเพื่อขอคืนในคดีนั้น ดังได้กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๖ ที่ว่า ทรัพย์สินที่ศาลสั่งให้ริบไปแล้ว หากปรากฏในภายหลังโดยคำเสนอของเจ้าของแท้จริงว่า ผู้เป็นเจ้าของแท้จริงมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิด ก็ให้ศาลสั่งให้คืนทรัพย์สิน ถ้าทรัพย์สินนั้นยังคงอยู่ในความครอบครองของเจ้าพนักงาน ดังนี้คำสั่งคืนของกลางดังกล่าวของศาลทั้งสองไม่ชอบด้วยวิธีพิจารณา จึงพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่ยืนตามศาลชั้นต้น ให้คืนเกวียนแลโคของกลางแก่จำเลย เป็นว่าในคดีนี้ไม่สั่งคืนของกลางนันแต่ประการใด นอกจากที่แก้นี้ คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์