คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6567/2541

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ที่ดินพิพาทมีสามแปลงซึ่งโจทก์แต่ละคนอ้างว่าเป็นเจ้าของโดยที่ดินของโจทก์ทั้งสามมีเขตติดต่อกันเท่านั้นการที่จำเลยที่ 1 ออกโฉนดที่ดินทับที่ดินพิพาทของโจทก์ทั้งสามแล้วขายฝากให้แก่จำเลยที่ 2 จนกรรมสิทธิ์ตกเป็นของจำเลยที่ 2 จึงเป็นเรื่องที่โจทก์แต่ละคนถูกโต้แย้งสิทธิแม้โจทก์ทั้งสามจะฟ้องรวมกันมาก็ต้องถือทุนทรัพย์ของโจทก์ แต่ละคนแยกกัน ทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาของโจทก์แต่ละคนไม่เกินสองแสนบาทจึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่งการที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า ที่ดินพิพาทมิใช่ของโจทก์ทั้งสามแต่เป็นของจำเลยที่ 1 และได้ออกโฉนดที่ดินโดยชอบแล้วจึงขายฝากให้แก่จำเลยที่ 2 แต่จำเลยที่ 1 ไม่ไถ่ถอนคืนภายในกำหนด กรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดดังกล่าวจึงตกเป็นของจำเลยที่ 2 โดยชอบนั้น เป็นฎีกาโต้แย้งดุลพินิจในการฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค 3 จึงเป็นฎีกาในข้อเท็จจริงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวข้างต้น จำเลยที่ 1 ให้การต่อสู้ว่า ที่ดินพิพาทไม่ใช่ของโจทก์ทั้งสามแต่เป็นของจำเลยที่ 1 ซึ่งครอบครองทำประโยชน์ตลอดมาหากฟังว่าโจทก์ทั้งสามมีสิทธิครอบครองจำเลยที่ 1 ก็ได้แย่งการครอบครองจากโจทก์เกินกว่า 1 ปี ส่วนจำเลยที่ 2ให้การยืนยันเพียงว่า เดิมที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยที่ 1ดังนั้น ตามคำให้การของจำเลยทั้งสองคงมีประเด็นข้อพิพาทเพียงว่า โจทก์ทั้งสามหรือจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของที่ดินพิพาทไม่อาจมีประเด็นในเรื่องการแย่งการครอบครองที่ดินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1375 วรรคสอง เพราะการแย่งการครอบครองจะเกิดขึ้นได้ก็แต่ในที่ดินของผู้อื่นเท่านั้น เมื่อจำเลยทั้งสองอ้างว่าเดิมจำเลยที่ 1 ครอบครองที่ดินพิพาท ศาลก็ไม่อาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เพราะเป็นการวินิจฉัยขัดแย้งกับประเด็นที่จำเลยทั้งสองต่อสู้ไว้ในคำให้การ ทั้งไม่ใช่ปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยฉะนั้น ที่ศาลชั้นต้นตั้งประเด็นข้อพิพาทว่าโจทก์ทั้งสามเป็น เจ้าของที่ดินพิพาทหรือไม่ จึงมิได้ครอบคลุมถึงว่าโจทก์ ทั้งสามมีสิทธิฟ้องเรียกคืนที่ดินพิพาทหรือไม่แต่อย่างใด

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสามฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 เป็นเจ้าของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3)เลขที่ 59, 297 และ 871/651 ตำบลหนองปรือ (หนองรี)อำเภอบ่อพลอย (ปัจจุบันเป็นกิ่งอำเภอหนองปรือ) จังหวัดกาญจนบุรีตามลำดับ จำเลยที่ 1 ได้ไปแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดกาญจนบุรีว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้ครอบครองที่ดินของโจทก์ทั้งสามดังกล่าวบางส่วนโดยครอบครองที่ดินของโจทก์ที่ 1 เป็นเนื้อที่ประมาณ 10 ไร่ ของโจทก์ที่ 2เป็นเนื้อที่ประมาณ 8 ไร่ และของโจทก์ที่ 3 เป็นเนื้อที่ประมาณ2 ไร่ รวมทั้งสิ้นประมาณ 20 ไร่ เจ้าพนักงานที่ดินได้ออกโฉนดที่ดินเลขที่ 35 ตำบลหนองปรือ กิ่งอำเภอหนองปรือ จังหวัดกาญจนบุรี ให้แก่จำเลยที่ 1 หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาขายฝากที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 2 มีกำหนด 1 ปีโดยมีเจตนาไม่ไถ่คืนเพื่อให้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 2ต่อมาเดือนสิงหาคม 2537 โจทก์ทั้งสามจึงทราบเรื่องการออกโฉนดที่ดินดังกล่าว เจ้าพนักงานที่ดินได้เรียกคู่กรณีไปสอบสวนหาข้อยุติแล้ว แต่ไม่สามารถตกลงกันได้ ขอให้พิพากษาว่าที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 59, 297 และ 871/651 ตำบลหนองปรือ (หนองรี) อำเภอบ่อพลอย (กิ่งอำเภอหนองปรือ) จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งมีเนื้อที่ 16 ไร่ 1 งาน 21 ตารางวา 18 ไร่ 2 งาน 82 ตารางวา และ 10 ไร่ 1 งาน 91 ตารางวา เป็นของโจทก์ที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ตามลำดับ ให้เพิกถอนโฉนดที่ดินเลขที่ 35 ตำบลหนองปรือ กิ่งอำเภอหนองปรือ จังหวัดกาญจนบุรี เนื้อที่ 20 ไร่ 87 เศษ 3 ส่วน 10 ตารางวา และสัญญาขายฝากที่ดินโฉนดดังกล่าวฉบับลงวันที่ 9 เมษายน 2536 ระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 และห้ามจำเลยทั้งสองยุ่งเกี่ยวในที่ดินของโจทก์ทั้งสาม
จำเลยที่ 1 ให้การว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม ทำให้จำเลยที่ 1ไม่สามารถเข้าใจข้อหาได้ หลังจากเกิดกรณีพิพาทระหว่างโจทก์ทั้งสามกับจำเลยทั้งสองแล้วโจทก์ทั้งสามได้ร้องเรียนให้เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดกาญจนบุรีไกล่เกลี่ยเปรียบเทียบขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณาของเจ้าพนักงานที่ดิน การที่โจทก์ทั้งสามนำคดีมาฟ้องจึงเป็นการปฏิบัติผิดขั้นตอนที่ประมวลกฎหมายที่ดินกำหนด โจทก์ทั้งสามจึงไม่มีอำนาจฟ้อง โจทก์ทั้งสามไม่ใช่เจ้าของผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทเพราะไม่เคยทำประโยชน์ใด ๆในที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) ดังกล่าวและที่ดินพิพาทไม่ว่าส่วนใด หนังสือรับรองการทำประโยชน์ของโจทก์ทั้งสามออกมาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย นายมีได้ยกที่ดินดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 1 เข้าทำประโยชน์เรื่อยมา หลังจากนั้นจำเลยที่ 1ได้นำที่ดินดังกล่าวขอออกโฉนดที่ดินโดยถูกต้องตามกฎหมายโดยโจทก์ทั้งสามก็ทราบดีแต่ไม่เคยโต้แย้งคัดค้าน ต่อมาจำเลยที่ 1ได้ทำสัญญาขายฝากที่ดินดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 2 โดยจดทะเบียนโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน เมื่อครบกำหนดขายฝากแล้วจำเลยที่ 1ไม่สามารถหาเงินไถ่ถอนได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินจึงตกเป็นของจำเลยที่ 2 โดยชอบ โจทก์ทั้งสามจึงไม่มีอำนาจฟ้องเอาคืนซึ่งการครอบครองที่ดินพิพาท ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 รับซื้อฝากที่ดินโฉนดพิพาทมาจากจำเลยที่ 1 โดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน ทั้งได้จดทะเบียนต่อเจ้าพนักงานที่ดินตามกฎหมายเมื่อครบกำหนดแล้วจำเลยที่ 1ไม่ไถ่ถอนที่ดินดังกล่าวจึงตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 2โดยชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ทั้งสามจึงไม่มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนโฉนดที่ดินและสัญญาขายฝากตามฟ้องได้ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้เพิกถอนโฉนดที่ดินเลขที่ 35 ตำบลหนองปรือ กิ่งอำเภอหนองปรือ จังหวัดกาญจนบุรีและสัญญาขายฝากที่ดินดังกล่าวฉบับลงวันที่ 9 เมษายน 2536ระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 และห้ามจำเลยทั้งสองยุ่งเกี่ยวในที่ดินของโจทก์ทั้งสาม คำขออื่นให้ยก
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้โจทก์ทั้งสามฟ้องเป็นสาระสำคัญว่า โจทก์ทั้งสามต่างเป็นเจ้าของที่ดินคนละแปลงโดยครอบครองทำประโยชน์ตลอดมา เมื่อเดือนสิงหาคม 2537 โจทก์ทั้งสามทราบว่าจำเลยที่ 1 ได้ออกโฉนดที่ดินเลขที่ 35 ตำบลหนองปรือกิ่งอำเภอหนองปรือ จังหวัดกาญจนบุรี ทับที่ดินบางส่วนของโจทก์ที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 โดยมิชอบ เนื้อที่ประมาณ 10 ไร่ 8 ไร่ และ2 ไร่ ตามลำดับ หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 ได้นำไปขายฝากให้แก่จำเลยที่ 2 โดยไม่มีเจตนาไถ่ถอนคืนเพื่อให้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 2 ขอให้พิพากษาว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์แต่ละคนกับขอให้เพิกถอนโฉนดที่ดินเลขที่ 35 เนื้อที่ 20 ไร่ 87เศษ 3 ส่วน 10 ตารางวา และสัญญาขายฝากที่ดินโฉนดดังกล่าวฉบับลงวันที่ 9 เมษายน 2536 ระหว่างจำเลยทั้งสองด้วย เห็นว่าที่ดินพิพาทมีสามแปลงซึ่งโจทก์แต่ละคนอ้างว่าเป็นเจ้าของโดยที่ดินของโจทก์ทั้งสามมีเขตติดต่อกันเท่านั้น การที่จำเลยที่ 1ออกโฉนดที่ดินทับที่ดินพิพาทของโจทก์ทั้งสามแล้วขายฝากให้แก่จำเลยที่ 2 จนกรรมสิทธิ์ตกเป็นของจำเลยที่ 2 จึงเป็นเรื่องที่โจทก์แต่ละคนถูกโต้แย้งสิทธิ แม้โจทก์ทั้งสามจะฟ้องรวมกันมาก็ต้องถือทุนทรัพย์ของโจทก์แต่ละคนแยกกัน เมื่อทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาของโจทก์แต่ละคนไม่เกินสองแสนบาท จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง ข้อที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่าที่ดินพิพาทมิใช่ของโจทก์ทั้งสามแต่เป็นของจำเลยที่ 1 ซึ่งได้รับยกให้จากนายมีใช้ช่วง และได้ออกโฉนดที่ดินโดยชอบแล้วจึงขายฝากให้แก่จำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 รับซื้อฝากที่ดินพิพาทไว้โดยสุจริตเสียค่าตอบแทน แต่จำเลยที่ 1 ไม่ไถ่ถอนคืนภายในกำหนด กรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดดังกล่าวจึงตกเป็นของจำเลยที่ 2โดยชอบนั้นเป็นฎีกาโต้แย้งดุลพินิจในการฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค 3 ซึ่งฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ทั้งสามเป็นฝ่ายครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทแต่ฝ่ายเดียวจำเลยที่ 1 ไม่ได้เข้าไปครอบครองทำประโยชน์และจำเลยที่ 1 นำที่ดินพิพาทไปขอออกโฉนดเลขที่ 35 ทับที่ดินพิพาทของโจทก์ทั้งสามโดยมิชอบจึงไม่ได้กรรมสิทธิ์ แม้จำเลยที่ 2 จะได้รับซื้อฝากที่ดินพิพาทตามโฉนดที่ดินดังกล่าวจากจำเลยที่ 1 โดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนก็ไม่ก่อนให้จำเลยที่ 2 เกิดสิทธิใด ๆ ในที่ดินพิพาท เพราะผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน จำเลยที่ 2 จึงไม่อาจนำเหตุดังกล่าวมาใช้ยันโจทก์ทั้งสามซึ่งเป็นผู้มีสิทธิครอบครองอันแท้จริงได้ ดังนี้ฎีกาของจำเลยทั้งสองจึงเป็นฎีกาในข้อเท็จจริงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวข้างต้นศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ส่วนที่จำเลยทั้งสองฎีกาข้อกฎหมายว่า คดีนี้มีประเด็นเรื่องแย่งการครอบครองเพราะศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทไว้ว่า โจทก์ทั้งสามเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทและมีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนโฉนดที่ดินและสัญญาขายฝากตามฟ้องหรือไม่นั้น มีความหมายครอบคลุมถึงว่า โจทก์ทั้งสามมีสิทธิฟ้องเรียกคืนที่ดินพิพาทหรือไม่ ด้วยการที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1มิได้เข้าไปครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท จึงไม่มีประเด็นเรื่องแย่งการครอบครอง คำวินิจฉัยดังกล่าวไม่ชอบนั้นเห็นว่าจำเลยที่ 1 ให้การต่อสู้ว่า ที่ดินพิพาทไม่ใช่ของโจทก์ทั้งสามแต่เป็นของจำเลยที่ 1 ซึ่งครอบครองทำประโยชน์ตลอดมา หากฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ทั้งสามมีสิทธิครอบครอง จำเลยที่ 1 ก็ได้แย่งการครอบครองจากโจทก์เกินกว่า 1 ปี โจทก์ทั้งสามจึงไม่มีอำนาจฟ้องเอาคืนซึ่งการครอบครองที่ดินพิพาท ส่วนจำเลยที่ 2 ก็ให้การยืนยันเพียงว่า เดิมที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยที่ 1 ดังนั้น ตามคำให้การของจำเลยทั้งสองคงมีประเด็นข้อพิพาทเพียงว่า โจทก์ทั้งสามหรือจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของที่ดินพิพาท ไม่อาจมีประเด็นในเรื่องการแย่งการครอบครองที่ดินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1375 วรรคสอง เพราะการแย่งการครอบครองจะเกิดขึ้นได้ก็แต่ในที่ดินของผู้อื่นเท่านั้น เมื่อจำเลยทั้งสองอ้างว่าเดิมจำเลยที่ 1 ครอบครองที่ดินพิพาท ศาลก็ไม่อาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เพราะเป็นการวินิจฉัยขัดแย้งกับประเด็นที่จำเลยทั้งสองต่อสู้ไว้ในคำให้การทั้งไม่ใช่ปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยฉะนั้นที่ศาลชั้นต้นตั้งประเด็นข้อพิพาทว่า โจทก์ทั้งสามเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทหรือไม่ จึงมิได้ครอบคลุมถึงว่าโจทก์ทั้งสามมีสิทธิฟ้องเรียกคืนที่ดินพิพาทหรือไม่แต่อย่างใดที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยว่าไม่มีประเด็นเรื่องการแย่งการครอบครองชอบแล้ว ฎีกาข้อนี้ของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”
พิพากษายืน

Share