แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การขอให้เพิกถอนคำสั่งที่ไม่อนุญาตให้ปลูกสร้างอาคารและให้จำเลยออกใบอนุญาตปลูกสร้างอาคารให้เป็นกรณีที่โจทก์ในฐานะเป็นผู้ขอรับใบอนุญาตไม่พอใจคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่มีคำสั่งไม่อนุญาตให้โจทก์ปลูกสร้างอาคารตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคารพ.ศ.2522มาตรา26วรรคหนึ่งซึ่งตามมาตรา52บัญญัติให้ผู้ขอรับใบอนุญาตมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้เมื่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วินิจฉัยแล้วถ้าผู้อุทธรณ์ไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยให้เสนอคดีต่อศาลได้ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์การที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสามเป็นคดีนี้ทันทีจึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาข้ามขั้นตอนของกฎหมายโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง การขอให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายเป็นกรณีที่โจทก์อ้างว่าจำเลยจงใจกระทำการโดยมิชอบด้วยกฎหมายทำให้โจทก์เสียหายซึ่งเป็นดังที่โจทก์อ้างถือได้ว่าจำเลยกระทำละเมิดและต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง ที่ดินที่โจทก์ขออนุญาตปลูกสร้างคือที่ดินโฉนดเลขที่154651เป็นที่ดินที่แบ่งแยกออกมาจากโฉนดเลขที่17851ซึ่งแต่เดิมอยู่ติดซอยวิทยุ1การปลูกสร้างอาคารบนที่ดินดังกล่าวต้องอยู่ในบังคับเทศบัญญัติของเทศบาลนครกรุงเทพเรื่องกำหนดบริเวณซึ่งอาคารบางชนิดจะปลูกสร้างขึ้นไม่ได้(ฉบับที่2)พ.ศ.2502และประกาศกรุงเทพมหานครเรื่องกำหนดหลักเกณฑ์การผ่อนผันการอนุญาตให้ปลูกสร้างอาคารฉบับลงวันที่5ตุลาคม2528ประกอบกฎกระทรวงฉบับที่7(พ.ศ.2517)ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมการก่อสร้างอาคารพ.ศ.2479ตามประกาศดังกล่าวในข้อ2(2)กำหนดให้อาคารที่มีความสูงเกิน12เมตรให้มีระยะร่นโดยรอบอาคารจากแนวเขตที่ดินทุกด้านตามสูตรร=2+เศษส่วนห้าและในเรื่องแนวศูนย์กลางปากทางเข้าออกของรถยนต์ตามกฎกระทรวงฉบับที่7(พ.ศ.2517)ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมการก่อสร้างอาคารพ.ศ.2479ข้อ8กำหนดว่าต้องไม่อยู่ในที่ที่เป็นทางร่วมหรือทางแยกและต้องห่างจากจุดเริ่มต้นโค้งหรือหักมุมของขอบทางร่วมหรือชอบทางแยกสาธารณะมีระยะไม่น้อยกว่า20เมตรซึ่งอาคารที่โจทก์ขออนุญาตมีระยะร่นและแนวศูนย์กลางปากทางเข้าออกไม่ต้องด้วยบทบัญญัติดังกล่าวการที่โจทก์แบ่งแยกที่ดินที่จะปลูกสร้างออกเป็น2โฉนดโดยโฉนดเลขที่154651โจทก์ใช้เป็นโฉนดที่ดินที่ขออนุญาตปลูกสร้างส่วนโฉนดที่ดินเดิมซึ่งเหลือเนื้อที่7ตารางวาโจทก์โอนให้บุคคลอื่นเพื่อให้มีรอยตะเข็บกั้นมิให้ที่ดินตามโฉนดเลขที่154651มีอาณาเขตติดซอยวิทยุ1เห็นได้ว่าโจทก์มีเจตนาจะหลีกเลี่ยงไม่ปฏิบัติตามเทศบัญญัติของเทศบาลนครกรุงเทพประกาศกรุงเทพมหานครและกฎกระทรวงดังกล่าวการยื่นคำขออนุญาตปลูกสร้างอาคารของโจทก์จึงเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2526 โจทก์ได้ยื่นคำขออนุญาตปลูกสร้างอาคารที่พักอาศัยเป็นตึก 14 ชั้น จำนวน 1 หลังบนที่ดินโฉนดเลขที่ 17851 พร้อมด้วยแผนผัง แบบรายการก่อสร้างต่อกองควบคุมอาคารสำนักการโยธา ต่อมาวันที่ 12 มีนาคม 2527จำเลยที่ 2 มีคำสั่งแจ้งว่า อาคารที่ขออนุญาตปลูกสร้างมีลักษณะไม่ถูกต้องตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ควบคุมการก่อสร้างอาคาร พ.ศ. 2522 ไม่อนุญาตและให้จัดการแก้ไขเปลี่ยนแปลงแผนผังแบบก่อสร้าง รายการก่อสร้างให้ถูกต้องรวม 7 ข้อและยังร่วมกันปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ แกล้งกล่าวหาอันเป็นเท็จเพื่อแสดงว่าอาคารตามแบบของโจทก์ขัดต่อกฎหมายต่อมาวันที่15 สิงหาคม 2527 โจทก์ได้ยื่นคำขออนุญาตปลูกสร้างอาคารใหม่พร้อมกับแผนผัง แบบก่อสร้าง รายการก่อสร้างอาคารที่พักอาศัย ซึ่งแก้ไขเปลี่ยนแปลงบางรายการ ตามคำสั่งของจำเลยที่ 2 และที่ 3 เว้นแต่ความสูงซึ่งชอบด้วยข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครดังกล่าวแล้ว ระหว่างวันที่ 15 สิงหาคม 2527 ถึงวันที่ 26 ธันวาคม 2527 จำเลยที่ 2และที่ 3 ได้ร่วมกันปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบโดยกล่าวอ้างข้อขัดข้องในการอนุญาตขึ้นใหม่ ในเรื่องที่นำเสนอผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครว่าอาคารที่โจทก์ขออนุญาตปลูกสร้างมีลักษณะเป็นอาคารจอดรถยนต์อาคารเก็บของ อันเป็นอาคารประเภทที่มีประกาศกรุงเทพมหานครเรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์การผ่อนผันการอนุญาตให้ปลูกสร้างอาคารฉบับลงวันที่ 5 ตุลาคม 2524 กำหนดไว้ว่าจะปลูกสร้างขึ้นในบริเวณที่โจทก์ขออนุญาตไม่ได้ ทำให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครหลงเชื่อ จึงมีคำสั่งไม่อนุญาตให้โจทก์ปลูกสร้าง ทั้งนี้จำเลยที่ 2และที่ 3 รู้อยู่แล้วว่า ความจริงโจทก์มีความประสงค์ใช้อาคารที่ขออนุญาตปลูกสร้างเป็นที่พักอาศัย ซึ่งไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายใดห้ามก่อสร้างในบริเวณนั้น โจทก์ได้อุทธรณ์คำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่ไม่อนุญาตให้ปลูกสร้างอาคารดังกล่าวต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้มีคำวินิจฉัยเพิกถอนคำสั่งเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่สั่งไม่อนุญาตให้ผู้อุทธรณ์สร้างอาคารและให้พิจารณาคำขออนุญาตปลูกสร้างอาคารของผู้อุทธรณ์ตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ควบคุมการก่อสร้างอาคาร พ.ศ. 2522 ต่อไปจำเลยที่ 2 และที่ 3ได้ทราบคำวินิจฉัยแล้ว แต่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ร่วมกันปฏิบัติหน้าที่และละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ โดยร่วมกันหลีกเลี่ยงไม่ปฏิบัติการให้เป็นไปตามคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ โดยยกเหตุข้อขัดข้องขึ้นใหม่ว่าโจทก์แบ่งแยกที่ดินเป็นการหลีกเลี่ยงข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครเรื่อง ควบคุมการก่อสร้าง พ.ศ. 2522 ข้อขัดข้องที่จำเลยที่ 2และที่ 3 อ้างขึ้นใหม่เป็นข้อขัดข้องนอกเหนือจากที่ได้แจ้งไว้ในครั้งแรก นอกจากนี้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ยังหาว่าอาคารที่โจทก์ขออนุญาตปลูกสร้างขัดต่อกฎกระทรวง ฉบับที่ 7 (พ.ศ. 2517)ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมการก่อสร้างอาคาร พ.ศ. 2479ข้อ 8 คือศูนย์กลางปากทางเข้าออกของรถยนต์อยู่ห่างจากจุดเริ่มต้นโค้งหรือหักมุมของขอบทางร่วมหรือขอบทางแยกสาธารณะน้อยกว่า20 เมตร แล้วยังให้โจทก์แก้ไขแบบและรายการให้ถูกต้องตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครและกฎกระทรวง ฉบับที่ 7 (พ.ศ. 2517) ดังกล่าวการที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 สั่งเช่นนี้เป็นการฝ่าฝืนต่อระเบียบกรุงเทพมหานครว่าด้วยวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการขออนุญาตและการควบคุมการก่อสร้างอาคาร พ.ศ. 2525 ข้อ 7 วรรคหนึ่ง การกระทำของจำเลยที่ 2และที่ 3 ในฐานะลูกจ้างของจำเลยที่ 1 เป็นการปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์โดยตรง ขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยทั้งสามที่ไม่อนุญาตปลูกสร้างอาคารที่พักอาศัย มีคำสั่งให้จำเลยทั้งสามออกใบอนุญาตให้โจทก์ดำเนินการปลูกสร้างอาคารที่พักอาศัยตามแบบที่ได้ยื่นไว้เมื่อวันที่15 สิงหาคม 2527 ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 2,990,000 บาท และค่าเสียหายเดือนละ 80,000 บาทนับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยทั้งสามจะออกใบอนุญาตให้โจทก์ดำเนินการปลูกสร้างอาคารที่พักอาศัยตามแบบที่ยื่นไว้เมื่อวันที่15 สิงหาคม 2527
จำเลยทั้งสามให้การว่า โจทก์ยื่นเรื่องราวครั้งแรกขออนุญาตปลูกสร้างอาคาร ปรากฏว่าอาคารที่โจทก์ขออนุญาตดังกล่าวอยู่ในบริเวณซึ่งมีเทศบัญญัติของเทศบาลนครกรุงเทพ เรื่อง กำหนดบริเวณซึ่งอาคารบางชนิดจะปลูกสร้างขึ้นมิได้ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2502ซึ่งห้ามปลูกสร้างอาคารใด ๆ นอกจากที่พักอาศัย ทั้งนี้ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขตามประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่องกำหนดหลักเกณฑ์การผ่อนผันการอนุญาตปลูกสร้างอาคาร ฉบับลงวันที่5 ตุลาคม 2524 ด้วย อาคารที่โจทก์ขออนุญาตนี้มีระยะร่นโดยรอบอาคารตามที่โจทก์กำหนดไว้ในแบบแปลน ขัดกับประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์การผ่อนผันการอนุญาตให้ปลูกสร้างอาคารฉบับลงวันที่ 5 ตุลาคม 2524 ข้อ 2(2) ซึ่งกำหนดให้อาคารที่มีความสูงเกิน 12 เมตร ให้มีระยะร่นโดยรอบอาคารจากแนวเขตที่ดินทุกด้านตามสูตร ร = 2 เศษ นอกจากนี้แบบแปลนที่โจทก์ยื่นคำขออนุญาตปลูกสร้างอาคารมิได้ระบุความกว้างของปากทางเข้าออกของรถยนต์เอาไว้ให้ชัดแจ้ง ซึ่งขัดต่อกฎกระทรวงฉบับที่ 7 (พ.ศ. 2517) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมการก่อสร้างอาคาร พ.ศ. 2479 ข้อ 8 อีกด้วย จำเลยที่ 2จึงมีคำสั่งให้โจทก์จัดการแก้ไขเปลี่ยนแปลงแผนผังแบบก่อสร้างรายการก่อสร้างให้ถูกต้องรวม 7 ข้อ ต่อมาโจทก์ได้ถอนเรื่องราวขออนุญาตปลูกสร้างอาคารกลับคืนไปวันที่ 15 สิงหาคม 2527 โจทก์ได้ยื่นคำขออนุญาตปลูกสร้างอาคารเข้ามาใหม่บนที่ดินโฉนดเลขที่ 154651พร้อมกับแบบแปลนแผนผังที่โจทก์ได้จัดทำขึ้นใหม่ทั้งหมด เสนอต่อเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 รับไว้ดำเนินการพิจารณาตรวจสอบจำเลยที่ 2 และที่ 3 พิจารณาแล้วได้มีหนังสือแจ้งให้โจทก์ทราบว่าอาคารที่โจทก์ขออนุญาตปลูกสร้างใหม่ขัดต่อประกาศกรุงเทพมหานครเรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์การผ่อนผันการอนุญาตให้ปลูกสร้างอาคารฉบับลงวันที่ 5 ตุลาคม 2524 จึงไม่อนุญาตให้ปลูกสร้างอาคารตามที่ขอมา โจทก์ทราบแล้วและได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งของจำเลยทั้งสามต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ให้เพิกถอนคำสั่งในส่วนที่เป็นความเห็นของจำเลยทั้งสาม ต่อมาคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ 1 โดยมีความเห็นว่าจำเลยทั้งสามควรที่จะพิจารณาคำขออนุญาตปลูกสร้างอาคารของโจทก์ตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ควบคุมการก่อสร้างอาคาร พ.ศ. 2522ต่อไป จำเลยที่ 3 จึงได้พิจารณาถึงข้อเท็จจริงอันเป็นรายละเอียดแบบแปลนตามคำขออนุญาตของโจทก์ต่อไปอีกครั้งหนึ่ง พบว่าโจทก์ได้เคยยื่นคำขออนุญาตปลูกสร้างอาคารในรูปทรงนี้มาก่อนแล้วครั้งหนึ่งเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2526 โดยระบุว่าจะขอปลูกสร้างอาคารบนที่ดินโฉนดเลขที่ 17851 จำเลยที่ 2 และที่ 3ได้เคยพิจารณาแล้วอาคารที่โจทก์เคยขออนุญาตปลูกสร้างตามแบบแปลนดังกล่าวปฏิบัติผิดข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ควบคุมการก่อสร้างอาคาร พ.ศ. 2522 ข้อ 71 ในเรื่องระยะแนวร่นของอาคารและสัดส่วนของความสูงอาคารที่เกินกว่า 2 เท่าของระยะร่นซึ่งจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้เคยพิจารณาไม่อนุญาตให้ปลูกสร้างมาครั้งหนึ่งแล้ว และโจทก์ได้ขอถอนเรื่องราวขออนุญาตที่ได้ยื่นไว้กลับคืนไปทั้งหมด แล้วต่อมาโจทก์ได้ยื่นเรื่องราวขออนุญาตปลูกสร้างอาคารพร้อมแบบแปลนก่อสร้างเข้ามาใหม่เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2527 โดยระบุว่าจะปลูกสร้างอาคารดังกล่าวบนที่ดินโฉนดเลขที่ 154651 อันเป็นการแสดงให้จำเลยทั้งสามเข้าใจว่าโจทก์ขออนุญาตปลูกสร้างอาคารครั้งใหม่ในที่ดินแปลงอื่น แต่เมื่อจำเลยทั้งสามไปตรวจสอบพบว่า บริเวณที่ดินที่โจทก์ขออนุญาตปลูกสร้างอาคารตามแบบแปลนขออนุญาตครั้งหลังนี้ก็ยังคงอยู่บริเวณที่ดินแปลงเดิมซึ่งจำเลยที่ 2 และที่ 3 เคยมีคำสั่งไม่อนุญาตแล้วในครั้งก่อน หากแต่โจทก์ได้ไปดำเนินการแบ่งแยกที่ดินจากโฉนดเดิมเลขที่ 17851 ออกเป็นโฉนดใหม่อีก 1 แปลง คือโฉนดเลขที่ 154651หลังจากแบ่งแยกออกเป็นโฉนดใหม่แล้ว ที่ดินคงเหลือประมาณ 7 ตารางวาซึ่งมีอาณาเขตด้านหลังตลอดแนวติดซอยวิทยุ 1 โจทก์ได้โอนกรรมสิทธิ์ให้แก่ผู้อื่น ส่วนโฉนดที่ดินแปลงแบ่งออกใหม่คือโฉนดที่ดินเลขที่ 154651 โจทก์นำมายื่นคำขออนุญาตปลูกสร้างอาคารครั้งใหม่นี้ซึ่งไม่ติดซอยวิทยุ 1 อันเป็นทางสาธารณะอีกต่อไป การกระทำของโจทก์ครั้งนี้มีเจตนาไม่สุจริต ทั้งนี้มีเจตนาเพื่อหลีกเลี่ยงข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ควบคุมการก่อสร้างอาคาร พ.ศ. 2522ข้อ 71 ลงวันที่ 8 มีนาคม 2522 นอกจากนี้แล้วปากทางเข้าออกของรถยนต์ที่โจทก์ระบุไว้ในแบบแปลนขออนุญาตมีศูนย์กลางปากทางเข้าออกวัดจากจุดเริ่มต้นของขอบทางร่วมหรือขอบทางแยกสาธารณะเพียง 9 เมตรอันเป็นการปฏิบัติไม่ถูกต้องตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 7(พ.ศ. 2517) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมการก่อสร้างอาคารพ.ศ. 2479 ข้อ 8(1) ซึ่งระบุว่าแนวศูนย์กลางปากทางเข้าออกของรถยนต์ต้องไม่อยู่ในที่ที่เป็นทางร่วมหรือทางแยกและต้องห้างจากจุดเริ่มต้นโค้งหรือหักมุมของขอบทางร่วมหรือขอบทางแยกสาธารณะมีระยะไม่น้อยกว่า 20 เมตร เมื่อโจทก์ได้รับทราบผลการพิจารณาก็ไม่ได้ปฏิบัติการแก้ไขแบบและรายการส่วนที่ยังไม่ถูกต้องตามที่จำเลยทั้งสามได้แจ้งให้โจทก์ทราบโจทก์กลับแก้ไขแบบแปลนตามคำขออนุญาตปลูกสร้างอาคารของโจทก์ให้มีลักษณะเป็นการฝ่าฝืนต่อข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ควบคุมการก่อสร้างอาคาร พ.ศ. 2522 ข้อ 71 จำเลยที่ 1 พิจารณาแล้วเห็นว่าโจทก์ยังคงฝ่าฝืนต่อกฎหมายอยู่เช่นเดิม จึงไม่อาจออกใบอนุญาตให้โจทก์โดยมีหนังสือแจ้งยืนยันให้โจทก์ทราบอีกครั้งหนึ่งหากโจทก์ไม่พอใจก็ชอบที่จะอุทธรณ์คำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคารพ.ศ. 2522 มาตรา 52 เสียก่อน การที่โจทก์นำคดีมาฟ้องศาลแทนที่จะอุทธรณ์คำสั่งต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์จึงเป็นการผิดขั้นตอนอันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายดังกล่าว ค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องเป็นค่าเสียหายในอนาคตซึ่งโจทก์ไม่อาจเรียกร้องได้ และโจทก์ใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยทั้งสามที่ไม่อนุญาตให้โจทก์ปลูกสร้างอาคารพิพาท 14 ชั้น และให้จำเลยทั้งสามออกใบอนุญาตให้โจทก์ดำเนินการปลูกสร้างอาคารที่พักอาศัย14 ชั้น ตามแบบที่โจทก์ได้ยื่นไว้เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2527ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์เป็นเงินจำนวน 300,000 บาท
จำเลย ทั้ง สาม ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาแรกที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยทั้งสามคือว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ คดีโจทก์มีคำขอ 2ประการ คือ ประการแรกขอให้เพิกถอนคำสั่งที่ไม่อนุญาตให้ปลูกสร้างอาคาร และให้จำเลยทั้งสามออกใบอนุญาตให้โจทก์ปลูกสร้างอาคารตามที่ยื่นไว้ และอีกประการหนึ่งขอให้จำเลยทั้งสามชดใช้ค่าเสียหาย ศาลฎีกาเห็นว่า ในข้อที่ขอให้เพิกถอนคำสั่งที่ไม่อนุญาตให้ปลูกสร้างอาคาร และให้จำเลยทั้งสามออกใบอนุญาตสร้างอาคารให้นั้น เป็นกรณีที่โจทก์ในฐานะเป็นผู้ขอรับใบอนุญาตไม่พอใจคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่มีคำสั่งไม่อนุญาตให้โจทก์ปลูกสร้างอาคารที่ขอตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคารพ.ศ. 2522 มาตรา 26 วรรคหนึ่ง ซึ่งในกรณีนี้ตามมาตรา 52 บัญญัติให้ผู้ขอรับใบอนุญาตมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้ เมื่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วินิจฉัยแล้ว ถ้าผู้อุทธรณ์ไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยอุทธรณ์ก็เสนอคดีต่อศาลได้ภายในสามสิบวัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ การที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสามเป็นคดีนี้ทันทีแทนที่จะอุทธรณ์และนำคดีขึ้นมาสู่ศาลตามบทบัญญัติดังกล่าวจึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาข้ามขั้นตอนของกฎหมายโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ส่วนข้อที่เกี่ยวกับคำขอให้ชดใช้ค่าเสียหายนั้น เป็นกรณีที่โจทก์อ้างว่าจำเลยทั้งสามจงใจกระทำการโดยมิชอบด้วยกฎหมายทำให้โจทก์เสียหาย ซึ่งถ้าเป็นดังที่โจทก์อ้างย่อมถือว่าจำเลยทั้งสามกระทำละเมิด และต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ตามกฎหมาย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องในข้อนี้
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยทั้งสามต่อไปมีว่าจำเลยทั้งสามกระทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ ศาลฎีกา เห็นว่าที่ดินที่โจทก์ขออนุญาตปลูกสร้างคือ ที่ดินโฉนดเลขที่ 154651 เป็นที่ดินที่แบ่งแยกออกมาจากโฉนดเลขที่ 17851 ซึ่งแต่เดิมอยู่ติดซอยวิทยุ 1 การปลูกสร้างอาคารบนที่ดินดังกล่าวต้องอยู่ในบังคับเทศบัญญัติของเทศบาลนครกรุงเทพ เรื่อง กำหนดบริเวณซึ่งอาคารบางชนิดจะปลูกสร้างขึ้นไม่ได้ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2502 และประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์การผ่อนผันการอนุญาตให้ปลูกสร้างอาคารฉบับลงวันที่ 5 ตุลาคม 2528 ประกอบกฎกระทรวงฉบับที่ 7 (พ.ศ. 2517)ออกตามตามในพระราชบัญญัติควบคุมการก่อสร้างอาคาร พ.ศ. 2479 เช่นในเรื่องระยะร่นของตัวอาคารตามประกาศดังกล่าวในข้อ 2(2) กำหนดให้อาคารที่มีความสูงเกิน12 เมตร ให้มีระยะร่นโดยรอบอาคารจากแนวเขตที่ดินทุกด้าน ตามสูตร ร = 2+ เศษ ส่วน ห้า และในเรื่องแนวศูนย์กลางปากทางเข้าออกของรถยนต์ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 7(พ.ศ. 2517) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมการก่อสร้างอาคาร พ.ศ. 2479 ข้อ 8 กำหนดว่าต้องไม่อยู่ในที่ที่เป็นทางร่วมหรือทางแยก และต้องห้างจากจุดเริ่มต้นโค้งหรือหักมุมของขอบทางร่วมหรือขอบทางแยกสาธารณะมีระยะไม่น้อยกว่า20 เมตร ซึ่งอาคารที่โจทก์ขออนุญาตมีระยะร่นและแนวศูนย์กลางปากทางเข้าออกไม่ต้องด้วยบทบัญญัติดังกล่าว การที่โจทก์แบ่งแยกที่ดินที่จะปลูกสร้างออกเป็น 2 โฉนด โดยโฉนดเลขที่154651 ซึ่งเป็นโฉนดที่แยกมาจากโฉนดเลขที่ 17851 โจทก์ใช้เป็นโฉนดที่ดินที่ขออนุญาตปลูกสร้าง ส่วนโฉนดที่ดินเดิมซึ่งมีเนื้อที่เหลือเพียง 7 ตารางวา โอนให้บุคคลอื่นเพื่อให้มีรอบตะเข็บกั้นไม่ให้ที่ดินตามโฉนดเลขที่ 154651 มีอาณาเขตติดซอยวิทยุ 1เป็นที่เห็นได้ว่า โจทก์มีเจตนาจะหลีกเลี่ยงไม่ปฏิบัติตามเทศบัญญัติของเทศบาลนครกรุงเทพ ประกาศกรุงเทพมหานครและกฎกระทรวงดังกล่าว การยื่นคำขออนุญาตปลูกสร้างอาคารของโจทก์จึงเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต โจทก์จึงไม่อาจอ้างความเสียหายที่ได้รับเนื่องจากการดังกล่าวมาเป็นมูลเรียกร้องทางละเมิดแก่จำเลยทั้งสาม
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง