แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
บิดาจำเลยยกที่พิพาทให้โจทก์จำเลยใช้เป็นที่อยู่อาศัยและทำกินเมื่อแต่งงานกันก่อนจดทะเบียนสมรส ก่อนใช้บรรพ 5 ที่แก้ไขใหม่ ที่พิพาทจึงตกเป็นของโจทก์จำเลยคนละครึ่งครั้นโจทก์จำเลยจดทะเบียนสมรสก็กลายเป็นสินเดิมของแต่ละฝ่ายและเป็นสินส่วนตัวตามพระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติบรรพ 5แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ.2519
ย่อยาว
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาให้โจทก์จำเลยหย่าขาดจากการเป็นสามีภรรยาและให้แบ่งทรัพย์สินคนละครึ่ง จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ชั้นนี้มีประเด็นวินิจฉัยเฉพาะที่ดินตามแบบแจ้งการครอบครองเป็นสินส่วนตัวตามมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ. 2519 เมื่อโจทก์จำเลยหย่าขาดจากกันก็ต้องคืนให้โจทก์จำเลย จำเลยฎีกาว่าที่ดินดังกล่าวเป็นของนายวัด ช่วยเสนาะ บิดาจำเลย นายวัด ช่วยเสนาะ ยังไม่ได้ยกให้แก่โจทก์และจำเลย
ทางพิจารณาได้ความจากพยานโจทก์ว่าโจทก์จำเลยแต่งงานกันเมื่อพ.ศ. 2493 ตอนแรกอาศัยอยู่กับบิดาจำเลย ต่อมาปีเศษบิดาจำเลยซื้อที่พิพาทจากนางช้อยโดยโจทก์ออกเงินครึ่งหนึ่ง แล้วบิดาจำเลยยกให้โจทก์ครอบครองปลูกเรือนอาศัยอยู่ตลอดมา โจทก์แจ้งการครอบครองที่พิพาทว่าเป็นของตน
จำเลยนำสืบว่า จำเลยจดทะเบียนสมรสกับโจทก์เมื่อ พ.ศ. 2503 ภายหลังแต่งงานประมาณ 2 – 3 เดือน ที่พิพาทเป็นของนายวัด ช่วยเสนาะบิดาจำเลยซื้อมาจากนางช้อยก่อนโจทก์จำเลยแต่งงาน 4 ปี บิดาจำเลยให้จำเลยอยู่อาศัย ไม่ได้ยกให้
จากพยานหลักฐานที่โจทก์จำเลยนำสืบมาฟังได้ว่า นายวัด ช่วยเสนาะ บิดาจำเลยซื้อที่พิพาทจากนางช้อยเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2496 ตามหนังสือสัญญาซื้อขายที่ดินซึ่งทำกัน ณ ที่ว่าการอำเภอเมืองนครศรีธรรมราช เอกสารหมาย จ.5 วันที่ 27 ธันวาคม 2498 โจทก์แจ้งการครอบครองที่พิพาทว่าเป็นของตนตามเอกสารหมาย ล.2 และโจทก์จำเลยจดทะเบียนสมรสเมื่อวันที่ 21 กันยายน 2519 ตามเอกสารหมาย ล.1 โจทก์เบิกความว่าบิดาจำเลยยกให้ แล้วโจทก์จำเลยปลูกเรือนอยู่อาศัยตลอดมาจนปัจจุบันนี้ ฝ่ายจำเลยนำสืบว่าบิดาจำเลยไม่ได้ยกให้ พิเคราะห์แล้วเห็นว่าตั้งแต่ซื้อที่พิพาทมาบิดาจำเลยไม่ได้เกี่ยวข้องกับที่พิพาทเลย คงให้โจทก์จำเลยครอบครองโดยปลูกบ้านเรือนอยู่อาศัยตลอดมา แม้เมื่อทางราชการประกาศให้เจ้าของที่ดินแจ้งการครอบครองบิดาจำเลยก็มิได้แจ้ง จำเลยว่าแต่งงานก่อนจดทะเบียนสมรสประมาณ 2 – 3 เดือน และแต่งงานแล้ว 3 เดือนจึงเข้าไปปลูกเรือนในที่พิพาท รูปคดีมีเหตุผลควรเชื่อว่าบิดาจำเลยยกที่พิพาทให้โจทก์จำเลยใช้เป็นที่อยู่อาศัยและทำกินแยกต่างหากจากบิดาจำเลยโดยยกให้ก่อนโจทก์จำเลยจดทะเบียนสมรส ที่พิพาทจึงตกเป็นของโจทก์จำเลยคนละครึ่ง ครั้นโจทก์จำเลยจดทะเบียนสมรสก็กลายเป็นสินเดิมของแต่ละฝ่าย และเป็นสินส่วนตัวตามพระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ. 2519 ดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมา จำเลยฎีกาว่าหากฟังว่าที่พิพาทเป็นสินเดิมก็ควรจะคืนให้แก่จำเลยทั้งหมดไม่ใช่แบ่งคนละครึ่งนั้น เห็นว่าโจทก์จำเลยได้ที่พิพาทมาก่อนจดทะเบียนสมรสมีสิทธิเป็นเจ้าของคนละครึ่งในฐานะเป็นเจ้าของรวมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1357 เมื่อโจทก์จำเลยจดทะเบียนสมรสส่วนของโจทก์ครึ่งหนึ่งก็กลายเป็นสินเดิมของโจทก์ ส่วนของจำเลยครึ่งหนึ่งก็กลายเป็นสินเดิมของจำเลย ไม่ได้หมายความว่าที่พิพาทเป็นสินเดิมของจำเลยทั้งหมด จำเลยคงมีส่วนได้เพียงครึ่งเดียว ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย”
พิพากษายืน