แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
มูลหนี้ตามคำฟ้องเป็นหนี้ตามคำพิพากษาจำเลยต้องผูกพันในผลของคำพิพากษาจนกว่าคำพิพากษานั้นจะถูกเปลี่ยนแปลง แก้ไข กลับ หรืองดเสียในที่สุด ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 และถือว่าเป็นหนี้ที่อาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอนตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 9 (3) ที่โจทก์นำมาฟ้องขอให้จำเลยล้มละลายได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดและพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลล้มละลายกลางพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันฟังได้ว่า จำเลยเป็นหนี้โจทก์ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ซึ่งพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลแพ่งคดีหมายเลขแดงที่ 4469/2544 ให้จำเลยกับพวกอีก 2 คน ชำระเงิน 148,472,881 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14 ต่อปี และเบี้ยปรับอัตราร้อยละ 1 ต่อปี จากต้นเงิน 140,000,000 บาท นับแต่วันที่ 17 กันยายน 2538 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งสามใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 15,000 บาท โจทก์มอบให้ทนายความมีหนังสือทวงถามให้จำเลยชำระหนี้ 2 ครั้ง ซึ่งมีระยะเวลาห่างกันไม่น้อยกว่า 30 วัน จำเลยได้รับหนังสือทวงถามโดยชอบแล้ว แต่จำเลยไม่ชำระหนี้ ปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ประการแรกมีว่า ที่ศาลล้มละลายกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์โดยวินิจฉัยว่าคดีของศาลแพ่งดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ซึ่งอาจถูกกลับหรือแก้ไขโดยคำพิพากษาศาลฎีกา ข้อเท็จจริงไม่อาจฟังเป็นยุติได้ว่าจำเลยเป็นหนี้โจทก์ตามฟ้องหรือไม่ จึงยังไม่สมควรให้จำเลยล้มละลายตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 14 นั้น ชอบหรือไม่ เห็นว่า มูลหนี้ตามคำฟ้องเป็นหนี้ตามคำพิพากษาดังนั้นจำเลยต้องผูกพันในผลของคำพิพากษาจนกว่าคำพิพากษานั้นจะถูกเปลี่ยนแปลง แก้ไข กลับ หรืองดเสียในที่สุด ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 และถือว่าเป็นหนี้ที่อาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอนตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 9 (3) ที่โจทก์นำมาฟ้องขอให้จำเลยล้มละลายได้ ที่ศาลล้มละลายกลางวินิจฉัยมานั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา อุทธรณ์โจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น
ปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ประการต่อไปมีว่าจำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัว หรือมีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้จำเลยล้มละลายหรือไม่ เห็นว่า การที่จำเลยได้รับหนังสือทวงถามจากโจทก์แล้วไม่ชำระหนี้ดังกล่าวข้างต้นต้องด้วยข้อสันนิษฐานตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 8 (9) ว่ามีหนี้สินล้นพ้นตัว จำเลยมีหน้าที่นำพยานหลักฐานมาสืบหักล้างข้อสันนิษฐานดังกล่าว จำเลยให้การว่าจำเลยมีทรัพย์สินเป็นเงินสด เงินฝากในสถาบันการเงิน ที่ดิน อาคาร สิ่งปลูกสร้าง สิทธิเรียกร้องต่าง ๆ ใบอนุญาตประกอบกิจการ และกิจการทั้งหลายมีมูลค่ามากกว่าหนี้สินที่มีกับโจทก์หลายเท่า แต่ในชั้นพิจารณาจำเลยไม่ได้นำพยานหลักฐานมาสืบให้เห็นว่ามีทรัพย์สินดังที่ให้การไว้พยานหลักฐานจำเลยไม่พอฟังหักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมาย โจทก์นำสืบด้วยว่าจำเลยถูกเจ้าหนี้รายอื่นฟ้องที่ศาลแพ่ง 57 คดี ศาลพิพากษาแล้วจำนวนหนี้ 400,000,000 บาท ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัว และไม่มีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้จำเลยล้มละลาย ที่ศาลล้มละลายกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้นศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้พิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 14 ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์โดยหักจากกองทรัพย์สินของจำเลย เฉพาะค่าทนายความให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์กำหนดตามที่เห็นสมควร.