คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6504/2547

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เงินจำนวน 100 บาท ในบัญชีออมทรัพย์ของจำเลยมีมานานแล้วตั้งแต่จำเลยผิดนัดชำระหนี้ครั้งแรก ซึ่งตามสัญญาการใช้บัตรเครดิตให้โจทก์หักเงินนี้ชำระหนี้ได้ทันที การที่โจทก์ปล่อยเวลาเนิ่นนานให้ผ่านไปถึง 1 ปี แล้วจึงนำมาหักชำระหนี้ พฤติการณ์เช่นนี้ นอกจากจะเป็นการไม่ใช้สิทธิของโจทก์ตามข้อตกลงในสัญญาแล้ว ยังเป็นการกระทำที่แสดงให้เห็นว่า โจทก์อาศัยสิทธิที่มีอยู่ตามกฎหมายเป็นช่องทางให้โจทก์ได้รับประโยชน์แต่เพียงฝ่ายเดียวโดยได้รับดอกเบี้ยระหว่างนั้น และเพื่อจะให้อายุความสะดุดหยุดลง โดยไม่คำนึงถึงความเสียหายที่คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งจะได้รับ เช่นนี้ย่อมเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตตาม ป.พ.พ. มาตรา 5 จึงไม่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลง โจทก์ใช้สิทธิเรียกร้องของโจทก์ตามสัญญาบัตรเครดิตเกิน 2 ปี คดีจึงขาดอายุความ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 46,276.98 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 20 ต่อปี ของต้นเงิน 29,525.70 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยใช้บัตรเครดิตของโจทก์ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2540 และจำเลยไม่เคยชำระหนี้ให้แก่โจทก์ เงินจำนวน 100 บาท อยู่ในบัญชีออมทรัพย์ โจทก์ไม่มีสิทธินำมาชำระหนี้ โจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยเกินอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี และคดีโจทก์ขาดอายุความ
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า การที่โจทก์นำเงิน 100 บาท จากบัญชีออมทรัพย์ของจำเลยมาหักชำระหนี้เป็นการใช้สิทธิไม่สุจริต คดีโจทก์จึงขาดอายุความแล้วพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลย โดยกำหนดค่าทนายความ 2,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาวินิจฉัยข้อกฎหมายตามฎีกาของโจทก์ว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ คดีนี้จำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์และฎีกาไม่เกินห้าหมื่นบาทและสองแสนบาท ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง และ 248 วรรคหนึ่ง ตามลำดับ ในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาจำต้องถือตามข้อเท็จจริงศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวน ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 238 ประกอบมาตรา 247 เห็นว่า แม้จำเลยใช้บัตรเครดิตเบิกถอนเงินสดไปหลายครั้งก็ตาม แต่การเบิกถอนเงินสดดังกล่าวของจำเลยเป็นกิจการที่รวมอยู่ในกิจการงานบริการอำนวยความสะดวกแก่สมาชิกของบัตรเครดิตของโจทก์ โดยโจทก์เรียกเก็บค่าธรรมเนียมจากสมาชิกซึ่งรวมทั้งจำเลยด้วย จึงเป็นการประกอบธุรกิจรับทำการงานต่าง ๆ แก่สมาชิก เมื่อโจทก์ชำระเงินไปแล้วเรียกเก็บเงินในภายหลัง จึงเป็นกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจในการรับทำงานต่าง ๆ เรียกเอาเงินที่ได้ออกทดรองไป สิทธิเรียกร้องของโจทก์ตามสัญญาใช้บัตรเครดิตจึงมีอายุความ 2 ปี มิใช่เป็นการใช้สิทธิติดตามเอาทรัพย์คืนซึ่งมีอายุความ 10 ปีตามที่โจทก์ฎีกา ส่วนปัญหาที่ว่าโจทก์นำเงิน 100 บาท จากบัญชีออมทรัพย์ของจำเลยมาหักชำระหนี้ของโจทก์เป็นการใช้สิทธิไม่สุจริตหรือไม่นั้น ศาลฎีกาเห็นว่าปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมาย การที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยโดยเห็นว่าเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยไปเลยโดยไม่ย้อนสำนวน ซึ่งข้อเท็จจริงในคดีนี้รับฟังได้ว่า จำเลยเป็นสมาชิกบัตรเครดิตของโจทก์และมีสัญญาการใช้บัตร กล่าวคือให้โจทก์หักเงินจากบัญชีออมทรัพย์ได้ทันที จำเลยใช้บัตรเครดิตครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2540 กำหนดชำระในวันที่ 5 สิงหาคม 2540 หลังจากนั้นไม่ปรากฏว่า โจทก์ยอมให้จำเลยใช้บัตรเครดิตอีก คงมีแต่รายการดอกเบี้ยและค่าปรับจนถึงวันที่โจทก์บอกเลิกสัญญา แสดงให้เห็นว่าทั้งโจทก์และจำเลยถือว่าสัญญาที่มีต่อกันสิ้นสุดลงในวันที่ 5 สิงหาคม 2540 การที่โจทก์นำเงิน 100 บาท จากบัญชีออมทรัพย์ของจำเลยซึ่งมีมานานแล้วตั้งแต่ผิดนัดชำระหนี้ครั้งแรกมาหักชำระหนี้ในวันที่ 6 สิงหาคม 2541 เป็นการที่นำเงินที่มีอยู่ในบัญชีออมทรัพย์มานานแล้ว นำมาหักชำระหนี้ในวันดังกล่าว โดยปล่อยเวลาให้ผ่านไปถึง 1 ปี และคิดดอกเบี้ยตลอดมา พฤติการณ์นอกจากจะเป็นการไม่ใช้สิทธิของโจทก์ตามข้อตกลงในสัญญาแล้ว ยังเป็นการกระทำที่แสดงให้เห็นว่า โจทก์อาศัยสิทธิที่มีอยู่ตามกฎหมายเป็นช่องทางให้โจทก์ได้รับประโยชน์แต่เพียงฝ่ายเดียวโดยคิดดอกเบี้ยระหว่างนั้นและเพื่อจะให้อายุความสะดุดหยุดลงโดยไม่คำนึงถึงความเสียหายที่คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งจะได้รับ เช่นนี้ย่อมเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตตาม ป.พ.พ. มาตรา 5 จึงไม่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลง เมื่อสัญญาการใช้บัตรเครดิตสิ้นสุดลงในวันที่ 5 สิงหาคม 2540 แต่โจทก์นำคดีนี้มาฟ้องเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2542 จึงเกินระยะเวลา 2 ปี คดีโจทก์จึงขาดอายุความ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

Share