คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 650/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ทั้งหกฟ้องจำเลยทั้งสามโดยยกข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่าโจทก์ทั้งหกเป็นผู้มีสิทธิรับมรดกและมีอำนาจขอแบ่งปันทรัพย์มรดกของ ก.เจ้ามรดก ขอให้จำเลยทั้งสามแบ่งทรัพย์มรดกให้โจทก์ทั้งหกคนละเท่า ๆ กัน คือคนละหนึ่งในแปดส่วน ตีราคาประมาณคนละ 59,750 บาท รวม 6 คน ราคาประมาณ358,500 บาท ดังนี้ ทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาของโจทก์แต่ละคนที่เรียกร้องจากจำเลยทั้งสามจึงไม่เกินสองแสนบาท ย่อมต้องห้ามมิให้โจทก์ทั้งหกฎีกาในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ.มาตรา 248 วรรคหนึ่ง
พินัยกรรมฉบับพิพาทของ ก.เจ้ามรดกซึ่งทำขึ้นในวันที่ 20กุมภาพันธ์ 2510 มีข้อความระบุว่า “(1) ที่นา 1 แปลง เนื้อที่ 36 ไร่ ส.ค.1เลขที่ 181 อยู่ที่ตำบลบ้านกล้วย อำเภอเมืองสุโขทัย จังหวัดสุโขทัย ให้แก่จำเลยที่ 1″และแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน ส.ค.1 เลขที่ 181 เอกสารหมาย ล.3 แผ่นที่ 1ซึ่งมีชื่อ ก.เจ้ามรดกเป็นผู้แจ้งการครอบครองที่ดินดังกล่าวระบุจำนวนเนื้อที่ดินไว้36 ไร่ 3 งาน 72 ตารางวา เมื่อปรากฏว่าในขณะที่ ก.ทำพินัยกรรมนั้นยังมิได้มีการออกโฉนดที่ดินสำหรับที่ดินดังกล่าว จึงเห็นได้ว่า ก.เจ้ามรดกประสงค์จะยกที่ดินตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน ส.ค.1 เลขที่ 181 ทั้งแปลงให้จำเลยที่ 1 แม้ต่อมาในการออกโฉนดที่ดินสำหรับที่ดินแปลงดังกล่าวเมื่อ พ.ศ.2517 จะปรากฏว่ามีเนื้อที่58 ไร่ 2 งาน 97 ตารางวา ก็ตาม เพราะขณะทำพินัยกรรมเจ้ามรดกระบุเนื้อที่ดินทั้งแปลงตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดินดังกล่าว การที่ศาลอุทธรณ์ตีความข้อกำหนดในพินัยกรรมพิพาทว่า ก.มีเจตนายกที่ดินมีโฉนดทั้งแปลงให้แก่จำเลยที่ 1 จึงตรงตามเจตนาของ ก.ผู้ทำพินัยกรรมและชอบด้วยกฎหมายแล้ว

Share