แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ฎีกาของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ที่ว่า ไม่ปรากฏตามคำฟ้องของโจทก์ว่าจำเลยทั้งหกร่วมกันออกสำรวจที่ดินในนามของสมาคมเกษตรก้าวหน้า การกระทำของจำเลยทั้งหกเป็นการแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชนซึ่งเป็นความรับผิดทางแพ่งเท่านั้น คำฟ้องของโจทก์ก็ไม่ปรากฏว่าเป็นภยันตรายต่อความสงบสุขของประชาชนหรือความมั่นคงของรัฐ และไม่ปรากฏว่ามีผู้เสียหายร้องทุกข์ไว้ แม้จำเลยจะให้การรับสารภาพ โจทก์ก็ไม่มีอำนาจฟ้องนั้น มีความหมายทำนองว่าการกระทำของจำเลยทั้งหกตามคำฟ้องไม่เป็นความผิดทางอาญาที่ศาลจะมีอำนาจพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งหกได้ แม้ปัญหาข้อนี้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 จะไม่ได้ต่อสู้ไว้ในศาลล่างทั้งสอง แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 สามารถยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งหกตาม พ.ร.บ.กำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ พ.ศ.2499 มาตรา 56 แม้คำฟ้องของโจทก์จะไม่มีข้อความโดยตรงว่า จำเลยทั้งหกได้ดำเนินกิจการในนามของสมาคมเกษตรกรก้าวหน้า แต่เมื่ออ่านคำฟ้องทั้งหมดแล้วก็สามารถเข้าใจได้ว่าจำเลยทั้งหกดำเนินกิจการดังกล่าวในนามของสมาคมเกษตรกรก้าวหน้านั้นเอง เมื่อสมาคมเกษตรกรก้าวหน้าไม่มีวัตถุประสงค์ในการดำเนินกิจการดังกล่าว การกระทำของจำเลยทั้งหกซึ่งเป็นกรรมการสมาคมเกษตรกรก้าวหน้า ย่อมเป็นการดำเนินกิจการอันผิดวัตถุประสงค์ของสมาคม คำฟ้องของโจทก์ครบถ้วนในองค์ประกอบความผิดส่วนแรกแล้ว นอกจากนี้ โจทก์ยังได้บรรยายฟ้องต่อไปว่า หากรัฐบาลมีโครงการซื้อที่ดินตามที่จำเลยทั้งหกกล่าวอ้างแล้ว จะทำให้รัฐบาลต้องซื้อที่ดินราคาที่สูงกว่าความเป็นจริง ทำให้จำเลยทั้งหกได้รับเงินส่วนที่เกินจากราคาที่ประชาชนเสนอขาย และหากรัฐบาลไม่มีโครงการรับซื้อที่ดินจากประชาชนตามที่จำเลยทั้งหกกล่าวอ้างแล้ว จะทำให้ประชาชนไม่มั่นใจในนโยบายของรัฐบาลกับเข้าใจว่ารัฐบาลและราชการหลอกลวงประชาชน นำไปสู่ความไม่สงบสุขกับเป็นภยันตรายต่อความสงบสุขของประชาชนและความมั่นคงของรัฐได้ คำฟ้องของโจทก์ย่อมครบถ้วนในองค์ประกอบความผิดส่วนหลังแล้ว โดยโจทก์ไม่ต้องบรรยายฟ้องว่ามีผู้ร้องทุกข์ไว้ด้วย เพราะไม่ใช่เรื่องที่ ป.วิ.อ. มาตรา 158 บัญญัติให้ต้องมีในคำฟ้อง
ที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ฎีกาขอให้รอการลงโทษ โดยอ้างว่าเมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 4 ใช้ดุลพินิจรอการลงโทษให้แก่จำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 แล้ว ต้องยกประโยชน์ให้แก่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 โดยการรอการลงโทษเช่นกัน จำเลยทั้งหกไม่เคยกระทำความผิดอาญาอื่นใดมาก่อน และตามประวัติส่วนตัวมีเหตุที่จะรอการลงโทษได้ ทั้งการกำหนดโทษให้แก่จำเลยซึ่งร่วมกระทำความผิด ไม่สามารถแบ่งแยกได้ เห็นว่า ตาม ป.อ. มาตรา 56 ศาลมีอำนาจกำหนดโทษของจำเลย โดยพิจารณาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับจำเลยผู้กระทำความผิดเป็นรายบุคคล หาใช่ต้องยกประโยชน์หรือต้องกำหนดโทษให้เป็นคุณแก่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ด้วยแต่อย่างใดไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ พ.ศ. 2499 มาตรา 56 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83
จำเลยทั้งหกให้การปฏิเสธ แต่ก่อนสืบพยาน จำเลยทั้งหกขอถอนคำให้การเดิมและให้การใหม่เป็นรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งหกมีความผิดตามพระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ พ.ศ. 2499 มาตรา 56 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 จำคุกคนละ 2 ปี จำเลยทั้งหกให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกคนละ 1 ปี
จำเลยทั้งหกอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำคุกจำเลยทั้งหกคนละ 1 ปี และปรับจำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 คนละ 20,000 บาท อีกสถานหนึ่ง ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้วคงจำคุกจำเลยทั้งหกคนละ 6 เดือนและปรับจำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 คนละ 10,000 บาท โทษจำคุกสำหรับจำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 ให้รอการลงโทษไว้มีกำหนดคนละ 2 ปี และคุมความประพฤติของจำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 ไว้มีกำหนดคนละ 1 ปี โดยให้ไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก 3 เดือน ต่อครั้ง กับให้กระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติและจำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 เห็นสมควร มีกำหนดคนละ 30 ชั่วโมง ภายในเวลา 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ฎีกาในข้อแรก ไม่ปรากฏตามคำฟ้องของโจทก์ จำเลยทั้งหกร่วมกันออกสำรวจที่ดินในนามของสมาคมเกษตรกรก้าวหน้า การกระทำของจำเลยทั้งหกเป็นการแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชนซึ่งเป็นความรับผิดทางแพ่งเท่านั้น คำฟ้องของโจทก์ไม่ปรากฏว่าเป็นภยันตรายต่อความสงบสุขของประชาชนหรือความมั่นคงของรัฐ และไม่ปรากฏว่ามีผู้เสียหายร้องทุกข์ไว้ แม้จำเลยจะให้การรับสารภาพ โจทก์ก็ไม่มีอำนาจฟ้อง เห็นว่า ฎีกาของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 มีความหมายทำนองว่าการกระทำของจำเลยทั้งหกตามคำฟ้องไม่เป็นความผิดทางอาญาที่ศาลจะมีอำนาจพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งหกได้ แม้ปัญหาข้อนี้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 จะไม่ได้ต่อสู้ไว้ในศาลล่างทั้งสอง แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 สามารถยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาได้ ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบ มาตรา 225
ปัญหาว่าการกระทำของจำเลยทั้งหกตามคำฟ้องของโจทก์เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ พ.ศ. 2499 มาตรา 56 หรือไม่ เห็นว่า มาตรา 56 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวบัญญัติว่า “กรรมการของสมาคมผู้ใดดำเนินกิจการผิดวัตถุประสงค์ของสมาคม และการดำเนินกิจการนั้นเป็นภยันตรายต่อความสงบสุขของประชาชน หรือความมั่นคงของรัฐ ต้องระวางโทษ….” แม้คำฟ้องของโจทก์จะไม่มีข้อความโดยตรงว่า จำเลยทั้งหกได้ดำเนินกิจการในนามของสมาคมเกษตรกรก้าวหน้า แต่เมื่ออ่านคำฟ้องทั้งหมดแล้ว ก็สามารถเข้าใจได้ว่าจำเลยทั้งหกดำเนินกิจการในนามของสมาคมเกษตรกรก้าวหน้า สมาคมเกษตรกรก้าวหน้าไม่มีวัตถุประสงค์ในการดำเนินกิจการ การกระทำของจำเลยทั้งหกเป็นกรรมการสมาคมเกษตรกรก้าวหน้า ย่อมเป็นการดำเนินกิจการอันผิดวัตถุประสงค์ของสมาคม คำฟ้องของโจทก์ครบถ้วนในองค์ประกอบความผิดส่วนแรกแล้ว นอกจากนี้โจทก์ยังได้บรรยายฟ้องต่อไปว่า หากรัฐบาลมีโครงการซื้อที่ดินตามที่จำเลยทั้งหกกล่าวอ้างแล้ว จะทำให้รัฐบาลต้องซื้อที่ดินในราคาที่สูงกว่าความเป็นจริง ทำให้จำเลยทั้งหกได้รับเงินส่วนที่เกินจากราคาที่ประชาชนเสนอขาย และหากรัฐบาลไม่มีโครงการรับซื้อที่ดินจากประชาชนตามที่จำเลยทั้งหกกล่าวอ้างแล้ว จะทำให้ประชาชนไม่มั่นใจในนโยบายของรัฐบาล กับเข้าใจว่ารัฐบาลและราชการหลอกลวงประชาชน นำไปสู่ความไม่สงบสุขกับเป็นภยันตรายต่อความสงบสุขของประชาชนและความมั่นคงของรัฐได้ คำฟ้องของโจทก์ย่อมครบถ้วนในองค์ประกอบความผิดส่วนหลังแล้ว โดยโจทก์ไม่ต้องบรรยายฟ้องว่ามีผู้ร้องทุกข์ไว้ด้วย เพราะไม่ใช่เรื่องที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 บัญญัติให้ต้องมีในคำฟ้อง การกระทำของจำเลยทั้งหกตามคำฟ้องของโจทก์เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ พ.ศ. 2499 มาตรา 56 แล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ฟังไม่ขึ้น
ที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ฎีกาขอให้รอการลงโทษ โดยอ้างว่าเมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 4 ใช้ดุลพินิจรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 แล้ว ต้องยกประโยชน์ให้แก่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 โดยการรอการลงโทษเช่นกัน จำเลยทั้งหกไม่เคยกระทำความผิดอาญาอื่นใดมาก่อน และตามประวัติส่วนตัวมีเหตุที่จะรอการลงโทษได้ ทั้งการกำหนดโทษให้แก่จำเลยซึ่งร่วมกระทำความผิด ไม่สามารถที่จะแบ่งแยกได้ เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 วรรคหนึ่ง ศาลมีอำนาจกำหนดโทษของจำเลย โดยพิจารณาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับจำเลยผู้กระทำความผิดเป็นรายบุคคล หาใช่ต้องยกประโยชน์หรือต้องกำหนดโทษให้เป็นคุณแก่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ด้วยดังที่ฎีกาไม่ และศาลอุทธรณ์ภาค 4 ได้ใช้ดุลพินิจไม่รอการลงโทษแก่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 โดยวินิจฉัยไว้อย่างละเอียดและชอบแล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น ฎีกาของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน