คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 649/2500

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ชายหญิงได้เสียหลับนอนกันแล้วหญิงคลอดบุตรในปีต่อมาชายรับไปเลี้ยงให้การศึกษาและให้ใช้นามสกุลกรอกภ.ง.ด.9 ว่าเป็นบุตรและเบิกเงินช่วยค่าเล่าเรียนแสดงว่าเด็กนั้นเป็นบุตรและชายรับรองแล้วรับมรดกบิดาได้

ย่อยาว

คดีนี้นางบุญชู สว่างนวล มารดาผู้ปกครองและผู้แทนโดยชอบธรรมเด็กหญิงมยุรี อิศรเสนา ฟ้องกล่าวว่า เมื่อประมาณ 13 ปีมาแล้วนางบุญชู สว่างนวล ได้เสียเป็นภรรยา ม.ล.ยิ่งศักดิ์ อิศรเสนาโดยมิได้จดทะเบียนสมรสตามกฎหมาย เกิดบุตรหญิงด้วยกันหนึ่งคนชื่อเด็กหญิงมยุรี อิศรเสนา ซึ่ง ม.ล.ยิ่งศักดิ์ ได้รับรองจนเป็นที่รู้กันทั่วไปว่า เด็กหญิงมยุรีเป็นบุตร ม.ล.ยิ่งศักดิ์ ต่อมาเมื่อวันที่ 21 มกราคม 2496 ม.ล.ยิ่งศักดิ์ถึงแก่กรรม จำเลยซึ่งเป็นภรรยาของ ม.ล.ยิ่งศักดิ์ โดยชอบด้วยกฎหมายแต่ไม่มีบุตรได้ยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการทรัพย์มรดก ศาลมีคำสั่งตั้งจำเลยเป็นผู้จัดการทรัพย์มรดกของ ม.ล.ยิ่งศักดิ์แล้ว จำเลยยื่นบัญชีแสดงว่า ม.ล.ยิ่งศักดิ์มีทรัพย์มรดกตามบัญชีทรัพย์ท้ายฟ้องรวมราคา 2,109,500 บาท 90 สตางค์ ซึ่งโจทก์มีสิทธิควรได้แบ่งครึ่งหนึ่งและนอกจากนี้ ม.ล.ยิ่งศักดิ์ยังมีทรัพย์และผลประโยชน์ซึ่งจำเลยปิดบังยักยอกไว้อีก คือผลประโยชน์อันเกิดจากที่นา 10 แปลงตามบัญชีท้ายฟ้องอันดับ 4, 5, 6, 7, 8, 9, 10, 11, 12 และ 13 ประจำปี พ.ศ. 2495 และ พ.ศ. 2496 รวมกันปีละประมาณ 61,500 บาท กับสังหาริมทรัพย์ตามบัญชีท้ายคำร้องเพิ่มเติมฟ้องอันดับ 11 อีกประมาณ 20,000 บาท ซึ่งโจทก์มีส่วนควรได้แบ่งอีกครึ่งหนึ่งโดยเฉพาะผลประโยชน์อันเกิดจากนามรดกไปจนกว่าคดีจะถึงที่สุดได้บอกกล่าวให้จำเลยแบ่งทรัพย์มรดกรายนี้ให้เด็กหญิงมยุรีแล้วจำเลยก็เพิกเฉยเสีย จึงฟ้องขอให้ศาลบังคับให้จำเลยแบ่งทรัพย์มรดกรายนี้ให้เด็กหญิงมยุรีครึ่งหนึ่ง ถ้าการแบ่งทรัพย์ไม่เป็นที่ตกลงกันให้ประมูลหรือขายทอดตลาด เอาเงินมาแบ่งให้และหากปรากฏว่าจำเลยปิดบังทรัพย์มรดกไว้เท่าส่วนที่ตนจะได้หรือมากกว่าก็ขอให้กำจัดมิให้จำเลยได้รับมรดกรายนี้ โดยให้ตกได้แก่โจทก์ฝ่ายเดียวหากปิดบังไว้น้อยกว่าส่วนที่ตนจะได้ ก็ขอให้จำกัดไม่ให้จำเลยรับมรดกเฉพาะส่วนที่ปิดบังไว้ โดยให้ตกได้แก่โจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าธรรมเนียมและค่าทนายแทนโจทก์ด้วย

จำเลยให้การว่า เด็กหญิงมยุรีไม่ใช่บุตรของ ม.ล.ยิ่งศักดิ์ เพราะ ม.ล.ยิ่งศักดิ์เป็นบุคคลที่ไม่อาจมีบุตรได้ ยิ่งกว่านั้นในระยะเวลาก่อนที่นางบุญชูจะตั้งครรภ์และตั้งครรภ์แล้ว นางบุญชูได้ร่วมประเวณีสำส่อนกับชายอื่นมากหลาย ซึ่งไม่อาจถือได้ว่าเด็กหญิงมยุรี เป็นบุตรที่เกิดด้วย ม.ล.ยิ่งศักดิ์ ม.ล.ยิ่งศักดิ์ไม่ได้จดทะเบียนรับรองเด็กหญิงมยุรีเป็นบุตรตามกฎหมาย ฟ้องโจทก์ที่ว่า ม.ล.ยิ่งศักดิ์ ได้รับรองเด็กหญิงมยุรีเป็นบุตรนั้นไม่เป็นความจริง หากจะเป็นความจริงก็ไม่เป็นการเพียงพอที่จะถือว่าเด็กหญิงมยุรีเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายอันควรได้รับมรดกจำเลยไม่ได้ปิดบังทรัพย์มรดก ผลประโยชน์อันเกิดจากนา 10 แปลงตามที่โจทก์อ้างว่าปีละ 61,500 บาท นั้นเกิดความจริง ผลประโยชน์ ในปี พ.ศ. 2495 จำเลยไม่ทราบและไม่ได้รับ เพราะขณะนั้นม.ล.ยิ่งศักดิ์ยังมีชีวิตอยู่ เป็นผู้ทำสัญญาให้เช่าและรับเงินเองส่วนปี พ.ศ. 2496 จำเลยเพิ่งทำสัญญาให้เช่ารวมทั้ง 10 แปลงเป็นเงิน 13,000 บาท ได้รับเงินล่วงหน้ามาเพียง 5,000 บาท แต่ก็ได้นำไปเสียภาษีและให้รางวัลผู้ดูแลผลประโยชน์ไปหมดแล้ว ส่วนสังหาริมทรัพย์ตามบัญชีท้ายคำร้องเพิ่มเติมฟ้องอันดับ 11 นั้น เป็นทรัพย์ส่วนตัวของจำเลย ไม่ใช่ทรัพย์มรดกของ ม.ล.ยิ่งศักดิ์ สำหรับนาฬิกาข้อมือของ ม.ล.ยิ่งศักดิ์นั้นไม่ทราบว่าหายไปไหนพิมพ์ดีดเป็นของพี่สาว ม.ล.ยิ่งศักดิ์ ได้จัดการคืนเจ้าของไปแล้วและตัดฟ้องว่า โจทก์ซึ่งเป็นผู้แทนโดยมิได้เกิดจากเหตุผลและมูลฐานอันชอบด้วยกฎหมาย ไม่มีอำนาจที่จะฟ้องบังคับคดีแก่จำเลยได้ขอให้ศาลยกฟ้อง

ศาลแพ่งพิจารณาแล้วฟังข้อเท็จจริงว่า เด็กหญิงมยุรีได้ถือกำเนิดจาก ม.ล.ยิ่งศักดิ์ฯ เป็นบิดา โดยการนำสืบต่าง ๆ ของฝ่ายจำเลยเพื่อจะให้เห็นว่า ม.ล.ยิ่งศักดิ์ไม่สามารถมีบุตรได้นั้นฟังไม่ขึ้น นางบุญชู สว่างนวล มิได้ประพฤติตนร่วมประเวณีสำส่อนกับชายดังจำเลยกล่าวหา ม.ล.ยิ่งศักดิ์ฯ ไม่ได้จดทะเบียนว่าเด็กหญิงมยุรีเป็นบุตรของตนก็จริง แต่โดยพฤติการณ์ต่าง ๆที่ปฏิบัติต่อกัน ถือได้ว่า ม.ล.ยิ่งศักดิ์รับรองเช่นนั้นแล้วเด็กหญิงมยุรีจึงเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายรับมรดก ม.ล.ยิ่งศักดิ์ฯ ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1627 ในลำดับ 1 แห่ง มาตรา 1629 ทั้งนี้โดยนางบุญชูสว่างนวล มีสิทธิเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมฟ้องคดีแพ่งเพื่อเด็กหญิงมยุรี ส่วนมรดกที่จะแบ่งได้แก่ทรัพย์ตามบัญชีท้ายฟ้องหมาย ก.และผลประโยชน์ค่าเช่านามรดกปีละ 13,000 บาท ตั้งแต่ พ.ศ. 2496เป็นต้นไป โดย ม.ล.ยิ่งศักดิ์มีทายาทอยู่ด้วยกันเพียง 2 คน คือเด็กหญิงมยุรีและจำเลย ให้ได้แก่เด็กหญิงมยุรีครึ่งหนึ่งจนกว่าจะแบ่งเสร็จ สังหาริมทรัพย์ตามบัญชีกับคำร้องเพิ่มเติมฟ้อง ลงวันที่ 30 ตุลาคม 2496 อันดับ 11 นอกจากนาฬิกาข้อมือกับพิมพ์ดีดให้ได้แก่เด็กหญิงมยุรี 1 ใน 4 ส่วน ราคา 5,000 บาท (โดยแบ่งเป็นสินสมรสของจำเลยในทรัพย์เหล่านี้แก่จำเลยครึ่งหนึ่งเสียก่อน) และศาลอุทธรณ์ก็พิพากษายืน

จำเลยฎีกาต่อมาเป็นประเด็น 4 ข้อ คือ

1. ม.ล.ยิ่งศักดิ์ไม่สามารถมีบุตรได้

2. นางบุญชูประพฤติตัวสำส่อนในทางประเวณี

3. เด็กหญิงมยุรีไม่มีสิทธิรับมรดก

4. ค่าธรรมเนียม

ศาลฎีกาฟังคำแถลงทั้งสองฝ่ายแล้ว ได้ความในทางพิจารณาว่านางบุญชู สว่างนวล นักแสดงลำตัดได้คลอดเด็กหญิงมยุรีที่โรงพยาบาลศิริราช เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2484 วันที่ 22 กันยายน 2484 นางบุญชูทำหนังสือมอบเด็กหญิงมยุรีให้ ม.ล.ยิ่งศักดิ์ฯ จ้างคนเลี้ยงและมอบให้อยู่ในความปกครอง พระศุลีสวามิภักดิ์ เมื่อโตก็ได้ฝากเข้าโรงเรียน ใช้นามสกุลว่าอิศรเสนา และ ม.ล.ยิ่งศักดิ์นำใบเสร็จค่าเล่าเรียนเด็กหญิงมยุรีเบิกค่าเล่าเรียนจากทางราชการในฐานะเป็นบุตร และในแบบ ภ.ง.ด.9 ของ ม.ล.ยิ่งศักดิ์ก็กรอกว่าเด็กหญิงมยุรีเป็นบุตร ม.ล.ยิ่งศักดิ์วายชนม์เมื่อ พ.ศ. 2496

โจทก์สืบพยานว่า เมื่อราว พ.ศ. 2483 นางบุญชูได้เสียหลับนอนกับ ม.ล.ยิ่งศักดิ์เจ้ามรดกประมาณ 3 เดือน ก็ตั้งครรภ์ เมื่อถึงกำหนดก็คลอดเด็กหญิงมยุรีนี้ พอเด็กอายุได้ราว 3 เดือน ก็มอบให้ม.ล.ยิ่งศักดิ์เลี้ยงแล้วไปอยู่จังหวัดอยุธยา

ฝ่ายจำเลยสืบพยานว่า ม.ล.ยิ่งศักดิ์เป็นโรคอย่างร้ายแรง มีภรรยามาหลายคนแล้วไม่เคยมีบุตร แต่ภรรยาที่เลิกไปได้กับคนอื่นกลับมีบุตรหลายคน แสดงว่า ม.ล.ยิ่งศักดิ์ไม่สามารถมีบุตรได้ และสืบว่านางบุญชูเป็นหญิงสำส่อนอยู่ซ่องนางทองหล่อ และสืบจนกระทั่งว่าครั้งหนึ่ง ม.ล.ยิ่งศักดิ์เข้าหลับนอนกับนางบุญชูไม่สำเร็จ เพราะความมึนเมาต้องให้เพื่อนซึ่งไปด้วยเข้าหลับนอนแทนได้ความเช่นนี้พิจารณาเห็นว่า ข้อที่ว่า ม.ล.ยิ่งศักดิ์เป็นโรคไม่สามารถมีบุตรได้นี้ ตามคำพยานจำเลยที่สืบมาแล้วได้ความแต่เพียงว่า ม.ล.ยิ่งศักดิ์เป็นโรคจริง แต่จะร้ายแรงถึงแก่มีบุตรได้หรือไม่นั้น ไม่มีพยานยืนยันโดยตรง ฉะนั้น การเป็นโรคของ ม.ล.ยิ่งศักดิ์นี้ จะให้ถือเป็นเด็ดขาดว่าไม่สามารถมีบุตรได้ยังไม่ถนัดดังคำวินิจฉัยศาลล่างทั้งสอง

ข้อที่ว่า นางบุญชูเป็นหญิงสำส่อน เด็กหญิงมยุรีน่าจะไม่ใช่บุตร ม.ล.ยิ่งศักดิ์ นั้น ความข้อนี้ฝ่ายโจทก์ยืนยันว่า ระหว่างที่ได้เสียกับ ม.ล.ยิ่งศักดิ์จนตั้งครรภ์ มิได้หลับนอนกับชายอื่นเลยซึ่งก็เป็นธรรมดาที่จะต้องกล่าวเช่นนั้น อย่างไรก็ดี การที่จะรู้ว่าเด็กเป็นบุตรใครนั้นนอกจากมารดาแล้ว ก็ไม่มีผู้ใดอื่นที่จะรู้ดีไปกว่าผู้เป็นบิดา จึงเป็นข้อเท็จจริงที่จะต้องพิจารณาถึงพฤติการณ์ของบิดาเป็นประมาณ ในคดีนี้เป็นอันฟังได้ในเบื้องต้นว่า ม.ล.ยิ่งศักดิ์ได้เสียหลับนอนกับนางบุญชูตั้งแต่นางบุญชูมีอายุราว 16 ปี จนกระทั่งในปีต่อมานั้นเองก็เกิดเด็กหญิงมยุรีนี้ขึ้นมา เมื่อเด็กเกิดได้ 3 เดือนเศษ ม.ล.ยิ่งศักดิ์ก็รับเด็กไปเลี้ยงดูให้การศึกษาเล่าเรียนใช้นามสกุลของตน และครั้งสุดท้ายฝากเข้าโรงเรียนราชินี จนกระทั่งในแบบ ภ.ง.ด.9 ก็กรอกชื่อเด็กหญิงมยุรีว่าเป็นบุตร และเบิกเงินค่าศึกษาจากทางราชการเช่นนี้ย่อมแสดงให้เห็นว่า ม.ล.ยิ่งศักดิ์คงจะรู้สึกดีว่าเด็กนั้นเป็นบุตรของตน จึงได้รับเลี้ยงดูและให้การศึกษาเป็นอย่างดีดังกล่าว

ฎีกาจำเลยอ้างเอกสารลงวันที่ 22 กันยายน 2484 ซึ่งมีความว่า”ข้าพเจ้านางบุญชู สว่างนวล ขอทำสัญญานี้มอบบุตรีของข้าพเจ้าให้กับ ม.ล.ยิ่งศักดิ์ อิศรเสนา ไว้เป็นกรรมสิทธิ์ โดยข้าพเจ้าขอรับเงิน 150 บาท ไปแล้ว รับรองให้สัญญาว่า จะไม่มาเรียกร้องเอาทรัพย์สินหรือเกี่ยวข้องกับบุตรี หรือผู้รับเลี้ยงบุตรีของข้าพเจ้าต่อไปฯ” เพื่อแสดงว่า เด็กนั้นมิใช่บุตรของ ม.ล.ยิ่งศักดิ์ นั้น เมื่อพิจารณาเอกสารนี้แล้ว ก็มีทางที่จะคิดอย่างจำเลยอ้างแต่ก็มีทางที่จะให้คิดไปได้เหมือนกันว่า ถ้า ม.ล.ยิ่งศักดิ์ไม่เชื่อว่า เด็กนั้นเป็นบุตรของตนแล้ว ก็ไม่น่าจะรับเอาไว้เลี้ยงดูดังกล่าว เพราะทางพิจารณาได้ความตามที่จำเลยนำสืบว่านางบุญชูผู้เป็นมารดาประพฤติตนเป็นหญิงสำส่อนในทางประเวณีฉะนั้น จะฟังเอาเอกสารนี้เป็นคุณแก่จำเลยฝ่ายเดียวมิได้

ฎีกาในข้อกฎหมายที่ว่า เมื่อเด็กหญิงมยุรีมิใช่บุตรม.ล.ยิ่งศักดิ์ เจ้ามรดกแล้วแม้จะฟังว่า เจ้ามรดกไปรับรองโดยข้อเท็จจริงว่าเป็นบุตร เด็กหญิงมยุรีก็ไม่มีสิทธิรับมรดกได้นั้น

เรื่องนี้ ศาลวินิจฉัยแล้วว่า เด็กหญิงมยุรีเป็นบุตรม.ล.ยิ่งศักดิ์ ได้เคยมีคำพิพากษาฎีกาที่ 872/2497 วินิจฉัยไว้เป็นบรรทัดฐานแล้วว่า เด็กย่อมมีสิทธิรับมรดกได้ การที่ศาลวินิจฉัยเช่นนี้ ก็เพราะเห็นเหตุว่าเด็กที่เกิดในกรณีเช่นนี้ย่อมมิใช่ความผิดของเด็กเลย จะให้เด็กต้องรับเคราะห์กรรมเป็นการไม่ชอบ ไม่ควร และมีประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1627 บัญญัติว่า “บุตรนอกกฎหมายที่บิดาได้รับรองแล้ว ให้ถือว่าเป็นผู้สืบสันดานเหมือนบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย” เป็นบทสนับสนุน มิใช่ศาลบัญญัติกฎหมายขึ้นเองดังที่จำเลยฎีกา

เหตุนี้ จึงพิพากษายืน ค่าธรรมเนียม 3 ศาล ทั้งสองฝ่ายกับค่าทนายฝ่ายโจทก์ 10,000 บาท ฝ่ายจำเลย 5,000 บาท ให้หักจากกองมรดก

Share