คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6489/2543

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การที่โจทก์ไม่สามารถเรียกเก็บค่าภาษีอากรเนื่องมาจากโจทก์หลงเชื่อว่าบริษัท ส. จำกัด ได้ส่งผลิตภัณฑ์ออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศตามเงื่อนไขที่คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนกำหนด ตามเอกสารที่จำเลยเป็นผู้ทำปลอมและเท็จขึ้น แม้ต่อมาโจทก์ตรวจสอบพบว่าบริษัทดังกล่าวปฏิบัติผิดเงื่อนไข เป็นผลให้โจทก์สามารถเรียกเก็บภาษีอากรจากบริษัทดังกล่าวได้หรือสิทธิในการเรียกเก็บภาษีอากรของโจทก์จากบริษัทดังกล่าวยังมิได้หมดสิ้นไป แต่เมื่อปรากฏว่าโจทก์แจ้งให้บริษัทดังกล่าวนำเงินค่าภาษีอากรมาชำระ แต่บริษัทดังกล่าวเพิกเฉยซึ่งจำเลยก็ไม่นำสืบให้เห็นได้ว่าโจทก์สามารถเรียกเก็บภาษีจากบริษัทดังกล่าวหรือจากธนาคารที่ออกหนังสือค้ำประกันแทนการชำระหนี้ภาษีอากรดังกล่าวได้ การที่โจทก์ไม่สามารถเรียกเก็บภาษีอากรดังกล่าวได้จึงมีผลมาจากการกระทำโดยจงใจของจำเลยโดยตรงที่กระทำต่อโจทก์โดยผิดกฎหมายและทำให้โจทก์เสียหายอันเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า จำเลยซึ่งเป็นข้าราชการในสังกัดโจทก์ทำเอกสารปลอมและเท็จขึ้นซึ่งสำเนาใบขนสินค้าขาออกและแบบแสดงรายการการค้าฉบับมุมน้ำเงินของด่านศุลกากรกระบี่จำนวน 3 ฉบับ ให้แก่บริษัทสินร่วม จำกัด นำไปแสดงต่อสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนว่าบริษัทสินร่วม จำกัด ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนกำหนด นอกจากนี้บริษัทสินร่วม จำกัด ยังนำเอกสารที่จำเลยได้ทำปลอมและเท็จดังกล่าวไปยื่นขอรับเงินชดเชยค่าภาษีอากรต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ต่อมาพนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ตรวจพบว่าบริษัทสินร่วม จำกัด มิได้ส่งออกผลิตภัณฑ์ผ้าผืนปักลายฉลุตามใบขนสินค้าขาออกและแบบแสดงรายการค้าฉบับมุมน้ำเงินจึงแจ้งให้บริษัทสินร่วม จำกัด นำเงินค่าภาษีอากรขาเข้าภาษีการค้า และภาษีเทศบาลรวม 14,621,237.40 บาท กับเงินชดเชยค่าภาษีอากร 297,839.45 บาท มาชำระแก่โจทก์ แต่บริษัทสินร่วม จำกัดเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 14,919,076.85 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยให้การว่า จำเลยไม่ได้ทำใบขนสินค้าขาออกและแบบแสดงรายการการค้าฉบับมุมน้ำเงินให้แก่บริษัทสินร่วม จำกัด บริษัทสินร่วม จำกัดได้รับยกเว้นอากรขาเข้าสำหรับวัตถุดิบผ้าผืนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนก่อนที่จะมีการออกใบขนสินค้าขาออกและแบบแสดงรายการการค้าฉบับมุมน้ำเงินและสินค้าที่บริษัทสินร่วม จำกัด ขอรับเงินชดเชยค่าภาษีอากรไม่สามารถส่งออกที่ด่านศุลกากรกระบี่ได้ การที่บริษัทสินร่วมจำกัด ได้รับเงินชดเชยค่าภาษีอากรจึงมิใช่เป็นผลโดยตรงจากการออกเอกสารดังกล่าว ค่าเสียหายตามฟ้องสูงเกินความเป็นจริง หากจำเลยต้องรับผิดในค่าเสียหายก็รับผิดเฉพาะส่วนที่เป็นเงินชดเชยค่าภาษีอากรเท่านั้นขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 297,839.45 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 20 พฤษภาคม2535) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ

โจทก์อุทธรณ์ขอให้บังคับจำเลยรับผิดตามฟ้อง

ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ. 2520มาตรา 36(1) ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น บัญญัติว่าเพื่อส่งเสริมการส่งออกคณะกรรมการอาจให้ผู้ได้รับการส่งเสริมได้รับสิทธิและประโยชน์โดยได้รับการยกเว้นอากรขาเข้าและภาษีการค้าสำหรับวัตถุดิบและวัตถุจำเป็นที่ต้องนำเข้ามาจากต่างประเทศเพื่อใช้ผลิต ผสมหรือประกอบผลิตภัณฑ์หรือผลิตผลเฉพาะที่ใช้ในการส่งออก ซึ่งบริษัทสินร่วม จำกัด ได้รับบัตรส่งเสริมจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนโดยได้รับสิทธิและประโยชน์ตามมาตรา 36(1) ให้ได้รับยกเว้นอากรขาเข้าและภาษีการค้า สำหรับวัตถุดิบหรือวัตถุจำเป็นที่ต้องนำข้ามาจากต่างประเทศ เพื่อใช้ในการผลิตเพื่อการส่งออกเป็นระยะเวลาหนึ่งปี มีผลนับแต่วันนำเข้าครั้งแรก ซึ่งมีเงื่อนไขว่าจะต้องดำเนินการส่งผลิตภัณฑ์ที่ผลิตได้ออกไปจำหน่ายต่างประเทศทั้งสิ้นตามเอกสารหมาย ปจ.56 (ศาลแพ่ง) ฉะนั้น การที่บริษัทสินร่วม จำกัดจะได้รับยกเว้นอากรขาเข้าและภาษีการค้าสำหรับวัตถุดิบที่นำเข้ามาจากต่างประเทศก็ต้องปฏิบัติตามสิทธิและประโยชน์รวมทั้งเงื่อนไขตามบัตรส่งเสริมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนที่ตนได้รับแต่การที่โจทก์ไม่สามารถเรียกเก็บค่าอากรขาเข้า ภาษีการค้า และภาษีส่วนท้องถิ่นเนื่องมาจากโจทก์หลงเชื่อว่าบริษัทดังกล่าวได้ส่งผลิตภัณฑ์ผ้าลายปักฉลุหรือผ้าผืนปักลายฉลุที่ผลิตได้จากผ้าผืนออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศตามเงื่อนไขที่คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนกำหนดตามสำเนาใบขนสินค้าขาออกและแบบแสดงรายการการค้าฉบับมุมน้ำเงินที่แสดงว่าผ่านพิธีการทางศุลกากรขาออกแล้วอันเป็นเอกสารที่จำเลยเป็นผู้ทำปลอมและเท็จขึ้น ถ้าหากจำเลยไม่กระทำเช่นนั้น สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนย่อมสามารถเรียกเก็บอากรขาเข้าภาษีการค้า และภาษีส่วนท้องถิ่น สำหรับวัตถุดิบหรือวัสดุจำเป็นที่นำเข้ามาจากต่างประเทศได้เมื่อครบกำหนดระยะเวลาหนึ่งปีมีผลนับแต่วันนำเข้าครั้งแรก เพราะบริษัทดังกล่าวผิดเงื่อนไขตามบัตรส่งเสริมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนและแม้ต่อมาโจทก์ตรวจสอบพบว่าบริษัทดังกล่าวปฏิบัติผิดเงื่อนไขตามบัตรส่งเสริมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนเป็นผลให้โจทก์สามารถเรียกเก็บภาษีอากรจากบริษัทดังกล่าวได้ หรือสิทธิในการเรียกเก็บภาษีอากรของโจทก์จากบริษัทดังกล่าวยังมิได้หมดสิ้นไปอีกทั้งตามเงื่อนไขในข้อ 15 ของบัตรส่งเสริมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนกำหนดให้บริษัทดังกล่าวจะต้องดำเนินการยื่นคำขอต่อโจทก์ เพื่อขอใช้การวางค้ำประกันแทนการชำระอากรขาเข้า และภาษีการค้าสำหรับวัตถุดิบตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากรต่อไปก็ตาม แต่เมื่อตามคำฟ้องและทางนำสืบของโจทก์ปรากฏว่า โจทก์แจ้งให้บริษัทดังกล่าวนำเงินค่าภาษีอากรจำนวน14,621,277.40 บาทไปชำระแก่โจทก์ แต่บริษัทดังกล่าวเพิกเฉย ซึ่งจำเลยก็ไม่นำสืบให้เห็นได้ว่าโจทก์สามารถเรียกเก็บอากรขาเข้า ภาษีอากร และภาษีส่วนท้องถิ่นจากบริษัทดังกล่าว หรือจากธนาคารที่ออกหนังสือค้ำประกันแทนการชำระหนี้อากรขาเข้า ภาษีการค้าและภาษีส่วนท้องถิ่นดังกล่าวดังนั้น การที่โจทก์ไม่สามารถเรียกเก็บภาษีอากรจากบริษัทและธนาคารที่ออกหนังสือค้ำประกันดังกล่าวมีผลมาจากการกระทำโดยจงใจของจำเลยโดยตรงที่กระทำต่อโจทก์โดยผิดกฎหมายทำให้โจทก์เสียหายแก่สิทธิในการจัดเก็บภาษีจากบริษัทและธนาคารที่ออกหนังสือค้ำประกันและต้องจ่ายเงินค่าชดเชยค่าภาษีให้แก่บริษัทดังกล่าวอันเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยจึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนคือค่าภาษีอากรที่โจทก์ไม่สามารถจะเรียกเก็บได้ดังที่วินิจฉัยมา ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์จำนวน 297,839.45 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดกึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น”

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์ในส่วนที่โจทก์ไม่สามารถจะเรียกเก็บได้จากบริษัทสินร่วม จำกัด และธนาคารที่ออกหนังสือค้ำประกันแทนการชำระอากรขาเข้า ภาษีการค้า และภาษีส่วนท้องถิ่นของบริษัทสินร่วมจำกัด โดยรับผิดไม่เกินจำนวน 14,919,076.85 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดกึ่งต่อปี นับแต่นับวันฟ้อง (วันที่ 20 พฤษภาคม 2535) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

Share