คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 647/2532

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

การที่จำเลยได้ดำเนินการติดต่อกรมเจ้าท่า และการท่าเรือแห่งประเทศไทยเพื่อการนำร่องเรือ น. ซึ่งบรรทุกสินค้ารายพิพาทเข้าสู่ท่าและขอที่จอดเทียบเรือ กับติดต่อกรมศุลกากรเพื่อให้พนักงานศุลกากรไปตรวจสินค้าในเรือรวมทั้งแจ้งเวลาเรือเข้าให้ผู้รับตราส่งทราบ กิจการเหล่านี้เป็นกิจการที่เจ้าของเรือน. และบริษัท ฟ. ผู้ขนส่งจะต้องกระทำโดยตนเองซึ่งได้มอบอำนาจให้บริษัท ซ.เป็นผู้กระทำการแทนแต่บริษัทซ. มีภูมิลำเนาอยู่ต่างประเทศจึงได้มอบอำนาจช่วงให้จำเลยเป็นผู้ดำเนินกิจการเหล่านั้นแทน การที่จำเลยกระทำไปดังกล่าวยังไม่พอให้ถือได้ว่าจำเลยได้ทำหน้าที่เป็นผู้เข้าร่วมขนส่งกับเรือ น. และบริษัท ฟ.และเพียงแต่จำเลยได้ร่วมตรวจสอบสินค้ารายพิพาทกับพนักงานตรวจสอบสินค้าของการท่าเรือแห่งประเทศไทย รับมอบใบตราส่งคืนมา แล้วออกใบรับของให้แก่ผู้รับตราส่งกับแจ้งไปยังผู้อำนวยการกองตรวจสอบสินค้าขาเข้า กรมศุลกากร ขอแก้บัญชีสินค้าเพื่อให้ผู้รับตราส่งไปดำเนินพิธีการศุลกากร ก็ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยอยู่ในฐานะเป็นผู้ขนส่งหลายคนหลายทอด

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้รับประกันภัยการขนส่งฝ่ายดิบของบริษัทพิพัฒนกิจเท็กซ์ไทล์ จำกัด ผู้เอาประกันภัยจากประเทศสหรัฐอเมริกามายังท่าเรือกรุงเทพ และสินค้าได้ขาดหายไปบางส่วนโจทก์ได้ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้เอาประกันภัยแล้ว จึงรับช่วงสิทธิมาเรียกร้องเอาจากจำเลยซึ่งเป็นตัวแทนต่างประเทศรับทำการขนส่งหลายทอดกับเรือสินค้า นิโคเลย์คารามซิน ผู้ขนส่ง ขอให้บังคับจำเลยใช้ค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยตามฟ้องให้แก่โจทก์ จำเลยให้การว่าจำเลยไม่ได้เป็นตัวแทนต่างประเทศของเรือสินค้า นิโคเลย์คารามซินคงเป็นแต่เพียงตัวแทนบริษัท โซวินฟล็อต ในประเทศไทยในการดำเนินพิธีการศุลกากร การท่าเรือแห่งประเทศไทย กรมเจ้าท่าและกองตรวจคนเข้าเมืองเพื่ออำนวยความสะดวกแก่เรือบรรทุกสินค้าดังกล่าวไม่ได้เป็นผู้ขนส่ง หรือ ขนส่งร่วมกับเรือสินค้าผู้ขนส่ง ไม่ได้เข้าร่วมตรวจนับสินค้าและขอรับสินค้า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระเงินและดอกเบี้ยตามฟ้องให้แก่โจทก์จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “การที่จำเลยได้ดำเนินการติดต่อกรมเจ้าท่าและการท่าเรือแห่งประเทศไทย เพื่อการนำร่องเรือนิโคเลย์คารามซินซึ่งบรรทุกสินค้ารายพิพาทเข้าสู่ท่าและขอที่จอดเทียบเรือ กับติดต่อกรมศุลกากรเพื่อให้พนักงานศุลกากรไปตรวจสินค้าในเรือ รวมทั้งแจ้งเวลาเรือเข้าให้ผู้รับตราส่งทราบ กับเมื่อเรือเข้าเทียบท่าแล้วจำเลยได้ร่วมกับพนักงานตรวจสอบสินค้าของการท่าเรือแห่งประเทศไทยทำการตรวจสอบสินค้ารายพิพาท จากนั้นก็รับมอบใบตราส่งคืนมา แล้วออกใบรับของให้แก่ผู้รับตราส่งเพื่อนำไปรับสินค้าจากการท่าเรือแห่งประเทศไทย เมื่อสินค้าขาดจำนวน จำเลยก็แจ้งไปยังผู้อำนวยการกองตรวจสินค้าขาเข้ากรมศุลกากรขอแก้ไขบัญชีสินค้า เพื่อให้ผู้รับตราส่งไปดำเนินพิธีการศุลกากร ตามที่พิจารณาได้ความมานั้นจะเป็นการที่จำเลยเข้าร่วมขนส่งและเป็นการขนส่งหลายคนหลายทอดตามวิธีการขนส่งทางทะเลหรือไม่ เห็นว่า การติดต่อเพื่อการนำร่องเรือเข้าสู่ท่าและขอที่จอดเทียบเรือ กับติดต่อเพื่อให้พนักงานศุลกากรไปตรวจสินค้าในเรือ รวมทั้งแจ้งเวลาเรือเข้าให้ผู้รับตราส่งทราบกิจการเหล่านี้เป็นกิจการที่เจ้าของเรือนิโคเลย์คารามซินและบริษัทฟาร์อิสต์เทอร์นชิปปิ้งคัมปานีผู้ขนส่งจะต้องกระทำโดยตนเองซึ่งได้มอบอำนาจให้แก่บริษัทโซวินฟล็อตแห่งสหภาพโซเวียตเป็นผู้กระทำการแทน แต่เนื่องจากบริษัทโซวินฟล็อตมีภูมิลำเนาอยู่ต่างประเทศ จึงได้มอบอำนาจช่วงให้จำเลยเป็นผู้ดำเนินกิจการเหล่านั้นแทนดังปรากฏตามเอกสารหมาย ล.1 การที่จำเลยกระทำไปดังกล่าวยังไม่พอให้ถือได้ว่าจำเลยได้ทำหน้าที่เป็นผู้เข้าร่วมขนส่งกับเรือนิโคเลย์คารามซินและบริษัทฟาร์อิสต์เทอร์นชิปปิ้งคัมปานีด้วยและลำพังแต่การที่จำเลยได้ร่วมกระทำการตรวจสอบสินค้ารายพิพาทกับพนักงานตรวจสอบสินค้าของการท่าเรือแห่งประเทศไทยรับมอบใบตราส่งคืนมาแล้วออกใบรับของให้แก่ผู้รับตราส่ง กับแจ้งไปยังผู้อำนวยการกองตรวจสอบสินค้าขาเข้า กรมศุลกากร ขอแก้ไขบัญชีสินค้า เพื่อให้ผู้รับตราส่งไปดำเนินพิธีการศุลกากร ก็ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยอยู่ในฐานะผู้ขนส่งหลายคนหลายทอดตามวิธีการขนส่งทางทะเลดังที่โจทก์อ้าง จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์

Share