แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คำว่าพระราชบัญญัตินี้ (ตามมาตรา 97) ย่อมมีความหมายว่าหมายถึงพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ ก่อนคดีนี้จำเลยเคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดฐานมีและเสพยาเสพติดให้โทษโดยไม่รับอนุญาตและต่อมาจำเลยได้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้อีกในเวลา 5 ปี นับแต่วันพ้นโทษ การเพิ่มโทษจึงต้องเพิ่มอีกกึ่งหนึ่ของโทษที่ศาลกำหนดสำหรับความผิดครั้งหลังตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ซึ่งแม้จะได้ยกเลิกพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษฉบับก่อน ๆ แล้วก็ตาม
เฮโรอีนหรือเกลือของเฮโรอีนตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 4 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2465 เป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ส่วนมาตรา 76 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 นั้นใช้กับยาเสพติดให้โทษในประเภท 5
ย่อยาว
โจทก์ฟ้อง จำเลยรับสารภาพฟังได้ว่า จำเลยมีเฮโรอีนไฮโดรคลอไรด์โดยผิดกฎหมาย และก่อนนี้จำเลยเคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุด ลงโทษจำคุก ๑ ปี ฐานมีและเสพยาเสพติด ภายใน ๕ ปีนับแต่วันพ้นโทษ จำเลยมากระทำความผิดอีก
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.๒๕๒๒ มาตรา ๗, ๑๕, ๖๗, ๑๐๒, ๑๐๓ จำคุก ๑ ปี เพิ่มโทษหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๒ จำคุก ๑ ปี ๔ เดือน ลดโทษตามมาตรา ๗๘ กึ่งหนึ่งคงจำคุก ๕ เดือน ของกลางริบ
โจทก์อุทธรณ์ขอให้เพิ่มโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ มาตรา ๙๗
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.๒๕๒๒ มาตรา ๒๖, ๗๖ จำคุก ๑ ปี เพิ่มโทษตามมาตรา ๙๗ กึ่งหนึ่งจำคุก ๑ ปี ๖ เดือน จำเลยรับสารภาพลดโทษกึ่งหนึ่ง คงจำคุก ๙ เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยฎีกาขึ้นมาสารสำคัญว่า คำว่าพระราชบัญญัตินี้ย่อมหมายความถึงพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.๒๕๒๒ เท่านั้นหาได้รวมถึงพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษฉบับอื่น ๆ ที่ถูกยกเลิกไปแล้วด้วยไม่ จึงเพิ่มโทษจำเลยกึ่งหนึ่งไม่ได้นั้น พิเคราะห์แล้วเห็นว่า คำว่าพระราชบัญญัตินี้ย่อมมีความหมายอยู่ในตัวว่าหมายถึงพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ ซึ่งก่อนคดีนี้ปรากฏว่าจำเลยเคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุด ฐานมีและเสพยาเสพติดให้โทษโดยไม่รับอนุญาต ตามคำพิพากษาถึงที่สุดของศาลจังหวัดเชียงราย ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ ๔๗๑/๒๕๒๐ และต่อมาจำเลยได้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้อีกในเวลา ๕ ปีนับแต่วันพ้นโทษ การเพิ่มโทษจึงต้องเพิ่มอีกกึ่งหนึ่งของโทษที่ศาลกำหนดสำหรับความผิดครั้งหลังตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.๒๕๒๒ ซึ่งแม้จะได้ยกเลิกพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษฉบับก่อน ๆ แล้วก็ตาม ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยชอบด้วยความเห็นของศาลฎีกาแล้ว
ที่โจทก์ฎีกาว่า ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.๒๕๒๒ มาตรา ๗๖ นั้นไม่ชอบเพราะเฮโรอีนไฮโดรคลอไรด์เป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท ๑ หาใช่ประเภท ๕ ดั่งข้อวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ไม่นั้น พิเคราะห์แล้วเห็นว่าพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.๒๕๒๒ มาตรา ๑๐๓ (๑) บัญญัติไว้ว่า เฮโรอีนหรือเกลือของเฮโรอีนตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๔ ทวิ แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.๒๔๖๕ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๐๔ เป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท ๑ ส่วนมาตรา ๗๖ ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.๒๕๒๒ นั้นใช้กับยาเสพติดให้โทษในประเภท ๕ การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.๒๕๒๒ มาตรา ๗๖ จึงไม่ชอบ
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.๒๕๒๒ มาตรา ๑๕, ๖๗ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์