คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 647/2494

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ป.ม.แพ่งฯมาตรา 563 ที่ให้นับอายุความแต่วันส่งคืนทรัพย์สินที่เช่านั้น หมายถึงการส่งคืนอย่างแท้จริง ถ้าผู้เช่าส่งคืน แต่ผู้ให้เช่าไม่รับโดยไม่มีข้อแก้ตัวอันชอบ ก็อาจถือว่าเป็นการส่งคืนแล้วได้แต่ผู้เช่าเพียงแต่มีหนังสือขอส่งคืน ผู้ให้เช่ายังขัดข้องและผู้เช่าก็ยังคงครอบครองดูแลทรัพย์สินที่เช่าอยู่ต่อมาเพิ่งจะส่งมอบแก่ผู้ให้เช่าในภายหลัง เช่นนี้ ต้องถือว่ามีการส่งคืนกันในภายหลังนี้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องเรียกค่าเช่าและค่าเสียหายจากจำเลยโดยอ้างว่าจำเลยเช่าเรือนของโจทก์ แล้วค้างค่าเช่าตั้งแต่เดือนมิถุนายน ถึงกันยายน ค่าเช่าเดือนละ ๒๕๐ บาทรวมเป็นเงิน ๑๐๐๐ บาทและจำเลยได้ส่งเรือนคืนโจทก์ ได้รับเมื่อวันที่ ๑๔ กันยายน ๒๔๙๐ แต่ประกอบของเรือนได้ถูกทำลายศูนย์หายผิดสภาพเดิมไปหลายอย่าง คิดเป็นเงิน ๔๔๓๔๑ บาท
จำเลยต่อสู้ว่า ได้เลิกสัญญาและส่งทรัพย์ที่เช่าคืนตั้งแต่วันที่ ๑ มิถุนายน ๒๔๙๐ คดีของโจทก์ขาดอายุความตาม ป.ม.แพ่งฯมาตรา ๖๕๓ แล้วกับต่อสู้อย่างอื่น ๆ อีกมาก
ศาลแพ่งพิพากษาให้จำเลยที่ ๑-๓-๔ ใช้เงินให้โจทก์ ๓๐๘๗๕ บาทกับดอกเบี้ย จำเลยที่ ๒ ไม่ต้องรับผิด
โจทก์และจำเลยที่ ๑-๓-๔ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า ป.ม.แพ่ง ฯมาตรา ๕๖๓ บัญญัติให้นับอายุความแต่วันส่งทรัพย์สินที่เช่าคืน ไม่ใช่วันรับคืน จึงต้องนับแต่วันที่ ๑ มิถุนายน ๒๔๙๐ ของโจทก์จึงขาดอายุความ พิพากษาแก้ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า ป.ม.แพ่งฯมาตรา ๕๖๓ ที่ให้นับอายุความแต่วันส่งคืนทรัพย์สินที่เช่านั้นหมายถึงการส่งคืนอย่างแท้จริง ถ้าจำเลยส่งคืน แต่โจทก์ไม่รับโดยไม่มีข้อแก้ตัวอันชอบ ก็อาจถือว่าเป็นการส่งคืนแล้วได้ แต่การติดต่อและการปฏิบัติระหว่างโจทก์จำเลยในคดีนี้จะถือว่าวันที่ ๑ มิถุนายน ๒๔๙๐ เป็นวันส่งคืนตามมาตรา ๕๖๓ ยังไม่ได้ เพราะฝ่ายจำเลยยังหาได้จัดการส่งคืนอย่างจริงจังไม่ เพิ่งมาส่งคืนกันต่อเมื่อวันที่ ๑๔ กันยายน ๒๔๙๐ อายุความจึงต้องเริ่มนับแต่วันที่ ๑๔ กันยายน ๒๔๙๐ คดีของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
จึงพิพากษาให้ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาใหม่

Share