แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
การที่กรมสรรพากร โจทก์ใช้สิทธิเรียกร้องของจำเลยที่ 1ฟ้องจำเลยที่ 2-10 ที่ยังชำระค่าหุ้นไม่ครบจำนวนมูลค่าหุ้นให้ร่วมรับผิดชำระค่าภาษีที่จำเลยที่ 1 ค้างชำระอยู่แก่โจทก์นั้นมิใช่เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิเรียกร้องของรัฐในหนี้ค่าภาษีอากรตามมาตรา 7(2) แห่ง พ.ร.บ. จัดตั้งศาลภาษีอากรฯ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2-10 ต่อศาลภาษีอากรกลาง.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีจำเลยที่ 2-10 เป็นผู้ถือหุ้นจำนวน 60, 320, 60, 60,20, 60, 60, 300 และ 60 หุ้นตามลำดับ มูลค่าหุ้นละ 500 บาทชำระแล้ว 125 บาท คงค้างอีกหุ้นละ 375 บาท เจ้าหน้าที่ของโจทก์ได้ตรวจสอบไต่สวนแล้วพบว่าจำเลยที่ 1 มีรายได้จากการประกอบกิจการรับจ้างโฆษณาแล้วยื่นเสียภาษีไว้ไม่ถูกต้อง เจ้าพนักงานประเมินได้แจ้งการประเมินให้จำเลยที่ 1 ทราบแล้ว จำเลยที่ 1เพิกเฉยไม่ชำระค่าภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีการค้า เบี้ยปรับและเงินเพิ่มรวมทั้งสิ้นเป็นเงิน 3,003,265.83 บาท แก่โจทก์จำเลยที่ 2-10 เป็นผู้ถือหุ้นของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ทราบดีอยู่ว่าจำเลยที่ 2-10 ยังชำระค่าหุ้นไม่ครบจำนวนมูลค่าหุ้นจำเลยที่ 1 กลับเพิกเฉยไม่ใช้สิทธิเรียกร้องต่อจำเลยที่ 2-10เป็นเหตุให้โจทก์ต้องเสียประโยชน์ โจทก์จึงใช้สิทธิเรียกร้องดังกล่าวเพื่อป้องกันสิทธิของโจทก์ในมูลหนี้ค่าภาษีอากร ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชำระค่าภาษีอากรรวมเป็นเงิน 3,003,265.83 บาทแก่โจทก์ โดยให้จำเลยที่ 2-10 ร่วมรับผิดเท่าจำนวนที่ยังค้างชำระค่าหุ้นแก่จำเลยที่ 1
จำเลยที่ 1, 3, 6 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 2, 4, 5, 7, 8, 10 ให้การว่า การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินไม่ชอบ จำเลยที่ 1 ไม่เคยได้รับแจ้งการประเมินจึงไม่ต้องรับผิดในเงินเพิ่ม โจทก์ไม่อาจใช้สิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 2, 4, 5, 7, 8, 10 ชำระหนี้ค่าหุ้น เพราะจำเลยที่ 1ยังมีทรัพย์สินเพียงพอที่จะชำระหนี้แก่โจทก์ ทั้งโจทก์มิได้บอกกล่าวล่วงหน้า 21 วัน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1121และสิทธิเรียกร้องขาดอายุความ 10 ปีแล้ว
จำเลยที่ 9 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีการค้าไว้ครบถ้วนถูกต้องแล้ว จำเลยที่ 9 ชำระเงินค่าหุ้นเต็มตามจำนวนค่าหุ้นแล้วจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ทั้งโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องโดยใช้สิทธิเรียกร้องของจำเลยที่ 1 เพราะจำเลยที่ 1ยังประกอบกิจการและมีทรัพย์สินอีกมากพอที่โจทก์จะบังคับชำระหนี้ได้
จำเลยที่ 1, 3, 6 และ 9 ขาดนัดพิจารณา
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าภาษีการค้าจำนวน 307,550.01 บาท และภาษีเงินได้นิติบุคคล จำนวน2,246,429.99 บาท พร้อมเงินเพิ่มอีกร้อยละ 20 แก่โจทก์ โดยเงินเพิ่มและค่าภาษีเงินได้นิติบุคคลรวมแล้วต้องไม่เกิน2,695,715.82 บาท ยกฟ้องจำเลยที่ 2-10
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์แต่เพียงว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2-10 ต่อศาลภาษีอากรกลางหรือไม่ ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นว่า การที่โจทก์ใช้สิทธิเรียกร้องของจำเลยที่ 1 ฟ้องจำเลยที่ 2-10 ที่ยังชำระค่าหุ้นไม่ครบจำนวนมูลค่าหุ้น ให้ร่วมรับผิดชำระค่าภาษีที่จำเลยที่ 1 ค้างชำระอยู่แก่โจทก์นั้น มิใช่เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิเรียกร้องของรัฐในหนี้ค่าภาษีอากรตามมาตรา7(2) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากรพ.ศ. 2528 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2-10 ต่อศาลภาษีอากรกลาง อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น และเมื่อได้วินิจฉัยดังนี้แล้ว ก็ไม่จำต้องวินิจฉัยประเด็นตามคำแก้อุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ที่ 4 ที่ 5 ที่ 7 ที่ 8 และที่ 10 ที่ว่า การที่จำเลยที่ 1ขัดขืนหรือเพิกเฉยไม่ใช้สิทธิเรียกร้องมูลค่าหุ้นให้ครบ เป็นเหตุให้โจทก์ต้องเสียประโยชน์หรือไม่ รวมทั้งประเด็นตามคำแก้อุทธรณ์ที่อ้างว่าโจทก์ยังมิได้ส่งคำบอกกล่าวล่วงหน้าให้จำเลยส่งชำระเงินค่าหุ้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1121 อีกแต่อย่างใดศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2-10 ชอบแล้วศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย”
พิพากษายืน.