คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6457/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามคำขอกู้เงินสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย โจทก์ได้ระบุวัตถุประสงค์จะขอกู้เงินสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยจากจำเลยจำนวน 984,000 บาท โดยขอนำที่ดินจำนองเป็นประกัน กำหนดชำระคืนภายใน 120 เดือน เดือนละ 16,400 บาทซึ่งต่อมาก็มีการกู้ยืมเงินระหว่างโจทก์จำเลย โดยโจทก์จำนองที่ดิน เป็นประกันจึงเป็นเรื่องสัญญากู้ยืมเงินธรรมดา แม้ตามบันทึกข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจำนองระบุข้อความว่า ผู้จำนองยอมเสียดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 21 ต่อปี ยอมส่งเงินดอกเบี้ยทุก ๆ เดือนเสมอไป ถ้าผิดนัดชำระดอกเบี้ยยอมให้ผู้รับจำนองคำนวณดอกเบี้ยที่ค้างทบเข้าในบัญชีของผู้จำนองด้วย ก็เห็นได้ว่า โจทก์เป็นลูกหนี้จำเลยแต่ฝ่ายเดียวไม่มีหนี้สินอะไรที่จะหักกลบลบหนี้ในทางบัญชีเดินสะพัดได้ ส่วนบัญชีที่ระบุไว้ในบันทึกข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจำนองดังกล่าว ก็เป็นเรื่องที่จำเลยทำบัญชีเพื่อประสงค์จะทราบว่าโจทก์กู้เงินไปเมื่อใด จำนวนเท่าใด ผ่อนชำระดอกเบี้ยและต้นเงินแล้วเพียงใดกับยังค้างชำระอีกเท่าใด หาใช่บัญชีเดินสะพัดหรือการค้าขายอย่างอื่นทำนองบัญชีเดินสะพัดไม่ เมื่อบันทึกข้อตกลงดังกล่าวไม่มีข้อความว่า ต้องรอให้ดอกเบี้ยค้างชำระไม่น้อยกว่าหนึ่งปีก่อนจึงจะนำมาทบเข้ากับต้นเงิน แล้วคิดดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่ทบเข้ากันนั้น กรณีต้องปรับด้วย ป.พ.พ. มาตรา 655 วรรคหนึ่ง ซึ่งห้ามเอาดอกเบี้ยทบเข้ากับต้นเงิน ข้อตกลงเฉพาะที่ให้คิดดอกเบี้ยทบต้นดังกล่าวเป็นการฝ่าฝืนต่อบทกฎหมายข้างต้นตกเป็นโมฆะ ปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้โจทก์มิได้ยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)
หนี้กู้ยืมที่สัญญาจำนองประกันอยู่ขาดอายุความตาม ป.พ.พ.มาตรา 193/30 แต่กรณีต้องด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 193/27 และมาตรา 745จำเลยซึ่งเป็นผู้รับจำนองจึงบังคับจำนองแม้เมื่อหนี้ที่ประกันนั้นขาดอายุความแล้วก็ได้แต่จะบังคับเอาดอกเบี้ยที่ค้างชำระในการจำนองเกินกว่าห้าปีไม่ได้

Share