แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่โจทก์กับจำเลยที่ 1-2 ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันว่า จำเลยที่ 1-2 ยอมใช้ต้นเงิน 100,000 บาท กับดอกเบี้ยซึ่งจำเลยที่ 3 เป็นผู้เซ็นชื่อกู้เงินนี้จากโจทก์ร่วมกับจำเลยที่ 1-2 นั้นไม่ทำให้จำเลยที่ 3 ซึ่งต่อสู้คดีไปคนละประเด็นกับจำเลยที่ 1-2พ้นผิด เพราะการทำสัญญาประนีประนอมดังกล่าวเป็นแต่สัญญาระงับข้อพิพาท ไม่ใช่เป็นการแปลงหนี้ใหม่ ไม่ใช่เป็นการที่ลูกหนี้ร่วมชำระหนี้ และไม่ใช่เป็นการปลดหนี้เพราะในสัญญาประนีประนอมนั้นมิได้ระบุให้จำเลยที่ 3 พ้นความผิด ศาลชั้นต้นต้องพิจารณาคดีระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 3 ต่อไป
ย่อยาว
คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2496 จำเลยทั้ง 3ได้ทำสัญญากู้เงินของโจทก์ไปเป็นเงิน 100,000 บาท บัดนี้เกินกำหนดชำระแล้วไม่ชำระ จึงฟ้องขอให้จำเลยทั้ง 3 ใช้ต้นเงินดังกล่าวกับดอกเบี้ย 6,250 บาท และให้ใช้ดอกเบี้ยในเงินต้นดังกล่าวในอัตราชั่งละ 1 บาทต่อเดือนนับแต่วันฟ้องไป
จำเลยที่ 1 ที่ 2 รับว่าได้ร่วมกับจำเลยที่ 3 กู้เงินจากโจทก์ไปจริงตามฟ้อง เคยชำระดอกไป 30,000 บาทแล้ว สำหรับดอกเบี้ยซึ่งคิดกันในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี เหลือนั้นคิดเป็นเงินใช้เงินต้น
จำเลยที่ 3 ปฏิเสธว่าไม่เคยกู้เงินจากโจทก์ ความจริงจำเลยที่ 2 ผู้จัดการห้างหุ้นส่วนจำกัดสหะมิตรได้กู้เงินของโจทก์ไปเพื่อการค้าของห้างหุ้นส่วนจำกัดนั้น ซึ่งโจทก์ทราบดีอยู่แล้ว การที่จำเลยมีชื่ออยู่ในสัญญากู้ด้วย เพราะโจทก์กับจำเลยที่ 2 สมคบกันใช้กลฉ้อฉลหลอกลวงจำเลยในขณะที่ทำสัญญากู้ว่าจำเลยเป็นหุ้นส่วนอยู่ด้วย และจำเลยที่ 2 ไม่ได้เอาตราของห้างหุ้นส่วนจำกัดมา ทรัพย์สินที่เอาประกันการกู้ก็เป็นทรัพย์สินของห้างหุ้นส่วนจำกัดนั้นเอง ขอให้จำเลยเซ็นชื่อร่วมด้วยจึงจะสมบูรณ์และไม่เกี่ยวพันกับจำเลยที่ 3 เป็นส่วนตัว จำเลยหลงเชื่อจึงเซ็นให้ไป
ถึงวันพิจารณาจำเลยที่ 1 ที่ 2 ได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์ยอมใช้เงินต้น 100,000 บาทกับดอกร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีแก่โจทก์ สำหรับจำเลยที่ 3 ศาลนัดสืบพยานต่อไป
จำเลยที่ 3 ยื่นคำร้องว่าจำเลยที่ 3 เป็นลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ที่ 2 ในมูลความแห่งคดีนี้ เมื่อจำเลยที่ 1 ที่ 2 ทำสัญญาประนีประนอมยอมใช้แก่โจทก์แล้ว หนี้เก่าก็เป็นอันหมดไปเกิดหนี้ใหม่ขึ้นแทนที่ จำเลยที่ 3 จึงไม่ต้องผูกพันชำระหนี้เก่านั้นอีก และขอให้ศาลชี้ขาดปัญหาข้อนี้เสียก่อน
โจทก์ได้ยื่นคำร้องว่าในสัญญากู้ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 3 และจำเลยอื่น กู้เงินโจทก์ในฐานะแทนห้างหุ้นส่วนจำกัดสหะมิตรเป็นการกู้ส่วนตัว จำเลยที่ 3 จึงจะสืบพยานบุคคลเปลี่ยนแปลงข้อความในเอกสารว่าเป็นการกู้แทนห้างหุ้นส่วนไม่ได้ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 และขอให้ศาลชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อนี้ก่อนด้วย
ศาลชั้นต้นตัดสินว่า เมื่อลูกหนี้ร่วมคนใดได้ชำระหนี้เต็มจำนวนแล้วย่อมทำให้ลูกหนี้อื่นหลุดพ้นจากความผูกพันไปด้วยตามประมวลแพ่งฯ มาตรา 292 สัญญาประนีประนอมของโจทก์และจำเลยที่ 1 ที่ 2 เป็นการแปลงหนี้ใหม่ ทำให้สิทธิเรียกร้องตามสัญญากู้เดิมระงับไป ตามประมวลแพ่งฯ มาตรา 349, 350 จึงให้ยกฟ้องโจทก์เฉพาะเกี่ยวกับจำเลยที่ 3
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าสัญญาประนีประนอมเป็นเรื่องระหว่างจำเลยที่ 1 ที่ 2 และโจทก์ ไม่เกี่ยวถึงจำเลยที่ 3 ไม่เป็นการแปลงหนี้ใหม่ตามประมวลแพ่งฯ มาตรา 349 และจำเลยที่ 1 ที่ 2 ก็ยังมิได้ทำการชำระหนี้ หรือทำประการใดอันกระทำแทนชำระหนี้อันจะเข้ามาตรา 292 แห่งประมวลแพ่งฯ ทั้งเมื่อยอมความแล้วจำเลยที่ 3 กับโจทก์ยังดำเนินกระบวนพิจารณากัน กรณีไม่เกี่ยวกับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 59 ส่วนเรื่องโจทก์ร้องว่าที่จำเลยที่ 3 จะขอนำสืบเปลี่ยนแปลงข้อความในสัญญากู้นั้นศาลอุทธรณ์ว่าให้ศาลชั้นต้นยังมิได้วินิจฉัย จึงพิพากษาให้ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 3 ต่อไป
จำเลยที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้จำเลยทั้ง 3 เป็นลูกหนี้ร่วมในมูลหนี้รายเดียวกัน และถูกฟ้องในคดีเดียวกันก็จริงอยู่ แต่จำเลยต่อสู้คดีไปคนละทาง ประเด็นจึงต่างกันออกไปตามข้อต่อสู้ของจำเลยแต่ละคน แม้ต่อมาจำเลยที่ 1 ที่ 2 จะได้ทำสัญญาประนีประนอมกับโจทก์ เพื่อให้ข้อพิพาทเดิมอันมีอยู่ระหว่างจำเลยที่ 1 ที่ 2 และโจทก์ระงับไป ก็ไม่ผูกพันถึงจำเลยที่ 3 ตามนัยแห่งประมวลแพ่งฯมาตรา 850 และ 852 เพราะจำเลยที่ 3 มิได้ร่วมทำด้วย และสัญญาประนีประนอมนั้นก็มิได้ระบุว่า ยอมให้จำเลยที่ 3 พ้นความรับผิดการกระทำของจำเลยที่ 1 ที่ 2 ไม่เกี่ยวกับการแปลงหนี้ใหม่หรือรับสภาพหนี้ เป็นเพียงทำสัญญาเพื่อระงับข้อพิพาทระหว่างตนกับโจทก์ ทั้งยังมิได้ทำการชำระหนี้ตามประมวลแพ่งฯ มาตรา 293 หรือ มาตรา 340 จึงพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์