แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่จำเลยกับ อ. เข้าไปเก็บผลผลิตปาล์มน้ำมันไปขายได้เงิน 713,733 บาท จริง ซึ่งรายได้ดังกล่าวเป็นดอกผลของทรัพย์มรดกของผู้ตายที่ต้องแบ่งแก่ทายาททุกคนเท่าๆกัน แต่จำเลยกลับแบ่งให้โจทก์และ จ. ไม่เท่ากัน ส่วนที่เหลือจำเลยกับ อ. ได้ไปเกินกว่าส่วนแบ่งที่ตนควรจะได้รับ เมื่อฝ่ายโจทก์ทวงถาม ฝ่ายจำเลยกลับท้าให้โจทก์ฟ้อง พฤติการณ์ของจำเลยกับพวกย่อมทำให้โจทก์เข้าใจได้ว่าจำเลยกับพวกร่วมกันเบียดบังเอาเงินผลผลิตปาล์มน้ำมันไปเป็นของตนโดยทุจริต ดังนั้น การที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกับพวกร่วมกันยักยอกเงินผลผลิตปาล์มน้ำมันตามคดีอาญาหมายเลขดำที่ 3573/2555 ของศาลชั้นต้น จึงเป็นการใช้สิทธิทางศาลกล่าวหาจำเลยไปตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น หาใช่โจทก์เอาความอันเป็นเท็จฟ้องจำเลยการที่จำเลยมาฟ้องโจทก์หาว่าโจทก์เอาความอันเป็นเท็จฟ้องจำเลย ตามคดีอาญาหมายเลขดำที่ 3893/2555 ของศาลชั้นต้น ทั้งที่รู้แล้วว่าเรื่องที่จำเลยนำมาฟ้องโจทก์เป็นความเท็จ จึงเป็นฟ้องเท็จตาม ป.อ. มาตรา 175 เมื่อจำเลยฟ้องเท็จแล้ว แม้ศาลจะยกฟ้องในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง การกระทำของจำเลยก็เป็นความผิดฐานฟ้องเท็จตามบทบัญญัติดังกล่าว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 175
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 175 จำคุก 1 ปี ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 9 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติว่า โจทก์เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนายเรืองกับนางอุ่นจิตร ผู้ตาย มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน 4 คน คือ โจทก์ นางอรวรรณ นางจารุพรรณ และจำเลย นายเรืองตายไปก่อนผู้ตาย ผู้ตายถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2555 วันที่ 26 มีนาคม 2555 ศาลมีคำสั่งตั้งนางจารุพรรณกับจำเลยร่วมกันเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย แต่ทายาทผู้ตายมีปัญหาเกี่ยวกับการจัดการทรัพย์มรดก โดยแบ่งเป็น 2 ฝ่าย คือ โจทก์กับนางจารุพรรณฝ่ายหนึ่ง และนางอรวรรณกับจำเลยอีกฝ่ายหนึ่ง วันที่ 4 ตุลาคม 2555 โจทก์ฟ้องว่าจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายกับนางอรวรรณร่วมกันยักยอกเงินผลผลิตปาล์มน้ำมันอันเป็นทรัพย์มรดก ทำให้โจทก์เสียหาย ตามคดีอาญาหมายเลขดำที่ 3573/2555 ของศาลชั้นต้น วันที่ 25 ตุลาคม 2555 จำเลยฟ้องกลับหาว่าโจทก์เอาความอันเป็นเท็จฟ้องจำเลย ตามคดีอาญาหมายเลขดำที่ 3893/2555 ของศาลชั้นต้น ปรากฏว่าคดีอาญาหมายเลขดำที่ 3573/2555 โจทก์และจำเลยกับนางอรวรรณตกลงกันได้โดยจำเลยชำระเงินคืนให้แก่โจทก์ โจทก์จึงถอนฟ้องคดีอาญาดังกล่าว ส่วนคดีอาญาหมายเลขดำที่ 3893/2555 ที่จำเลยฟ้องโจทก์นั้น จำเลยไม่ถอนฟ้อง แต่ศาลไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีไม่มีมูล พิพากษายกฟ้อง และโจทก์ยังฟ้องจำเลยว่ายักยอกอีกคดีหนึ่งตามคดีอาญาหมายเลขดำที่ 3599/2557 แต่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์จึงฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยกระทำความผิดฐานฟ้องเท็จดังฟ้องหรือไม่ โจทก์มีตัวโจทก์และนางจารุพรรณเป็นพยานเบิกความทำนองเดียวกันว่า สวนปาล์มน้ำมันเนื้อที่ประมาณ 80 ไร่ เป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายตกทอดแก่ทายาท 4 คน คือ โจทก์ นางอรวรรณ นางจารุพรรณ และจำเลย ระหว่างวันที่ 5 กรกฎาคม 2555 ถึงวันที่ 29 กันยายน 2555 จำเลยกับนางอรวรรณเข้าไปเก็บผลผลิตปาล์มน้ำมันในสวนไปขายได้เงิน 713,733 บาท ซึ่งต้องแบ่งแก่ทายาทคนละ 178,433 บาท แต่จำเลยแบ่งให้โจทก์ 29,289 บาท ให้นางจารุพรรณ 112,665 บาท ส่วนที่เหลือจำเลยกับนางอรวรรณร่วมกันยักยอกไว้ โจทก์จึงฟ้องจำเลยกับนางอรวรรณว่าร่วมกันยักยอกเงินผลผลิตปาล์มน้ำมันตามคดีอาญาหมายเลขดำที่ 3573/2555 แต่จำเลยฟ้องกลับว่าโจทก์เอาความอันเป็นเท็จฟ้องจำเลยตามคดีอาญาหมายเลขดำที่ 3893/2555 ซึ่งเป็นความเท็จ เห็นว่า ตามบันทึกข้อตกลงในส่วนที่เกี่ยวกับการจัดการดูแลสวนปาล์มน้ำมันอันเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายระบุไว้ว่า โจทก์ นางอรวรรณ นางจารุพรรณ และจำเลยตกลงให้นายเอกบุรุษหรือปอน เป็นผู้จัดการ โดยให้จ่ายค่าจัดการหลังหักค่าใช้จ่ายแก่นายเอกบุรุษจำนวน 10 เปอร์เซ็นต์ ทุกครั้งที่จำหน่ายผลปาล์มน้ำมัน ซึ่งจำเลยก็เบิกความยอมรับในข้อนี้และรับด้วยว่าได้ร่วมกับนางอรวรรณเข้าไปจัดการดูแลสวนปาล์มน้ำมันดังกล่าวจริง โดยไม่ปรากฏว่าที่ประชุมทายาทตกลงให้เข้าไปจัดการแทนนายเอกบุรุษได้ การกระทำของจำเลยกับนางอรวรรณเช่นนี้จึงขัดต่อบันทึกข้อตกลงดังกล่าวอย่างชัดแจ้ง ที่จำเลยนำสืบว่าที่ต้องเข้าไปจัดการดูแลสวนปาล์มน้ำมันเอง เนื่องจากนายเอกบุรุษอ้างว่าค่าตอบแทนน้อยเกินไปไม่คุ้ม และจำเลยได้แจ้งให้โจทก์กับนางจารุพรรณทราบแล้ว นั้น ปรากฏว่าหนังสือดังกล่าวเป็นเรื่องนัดประชุมทายาทเพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดก ไม่ได้มีเรื่องนายเอกบุรุษเลิกดูแลสวนปาล์มน้ำมันและให้จำเลยเข้าไปจัดการดูแลแทนแต่อย่างใด จึงไม่น่าเชื่อ ส่วนที่จำเลยนำสืบว่า นายเอกบุรุษไม่เคยจัดทำบัญชีรายรับรายจ่ายมาให้ตรวจสอบ ทำนองว่านายเอกบุรุษจัดการดูแลสวนปาล์มน้ำมันโดยไม่สุจริตนั้น หากเป็นความจริงก็น่าจะต้องแก้ปัญหาดังกล่าวร่วมกับนางจารุพรรณซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกับจำเลยก่อน หรือให้ที่ประชุมทายาทรับทราบเพื่อหาทางแก้ไข แต่จำเลยก็หาได้กระทำไม่ กลับร่วมกับนางอรวรรณซึ่งเป็นทายาทฝ่ายเดียวกันเข้าไปจัดการดูแลสวนปาล์มน้ำมันแทนโดยพลการ ส่อแสดงว่าต้องการปกปิดมิให้โจทก์รู้เรื่องนี้ นอกจากนั้นยังได้ความจากคำเบิกความของโจทก์และนางจารุพรรณว่า จำเลยกับนางอรวรรณนำผลผลิตปาล์มน้ำมันไปขายหลายครั้ง โดยมิได้จัดทำบัญชีแสดงรายรับรายจ่าย จนโจทก์ต้องไปตรวจสอบจากผู้รับซื้อปาล์มน้ำมันจึงทราบว่าในระหว่างวันที่ 5 กรกฎาคม 2555 ถึงวันที่ 29 กันยายน 2555 จำเลยกับนางอรวรรณนำผลผลิตปาล์มน้ำมันไปขายได้เงิน 713,733 บาท ตามสำเนาใบเสร็จรับเงิน โดยโจทก์มีนางสุวรรณี ผู้รับซื้อปาล์มน้ำมันมาเบิกความรับรองในข้อนี้ด้วย จึงรับฟังได้ว่า ระหว่างวันที่ 5 กรกฎาคม 2555 ถึงวันที่ 29 กันยายน 2555 จำเลยกับนางอรวรรณเข้าไปเก็บผลผลิตปาล์มน้ำมันไปขายได้เงิน 713,733 บาท จริง ซึ่งรายได้ดังกล่าวเป็นดอกผลของทรัพย์มรดกของผู้ตายที่ต้องแบ่งแก่ทายาททุกคน คนละ 178,433.25 บาท แม้จำเลยจะอ้างว่าต้องหักค่าใช้จ่าย ได้แก่ ค่าแต่งปาล์ม ค่าปุ๋ย ค่าใส่ปุ๋ยและค่าตัดเก็บ แต่จำเลยก็เบิกความยอมรับว่า รายได้จากสวนปาล์มน้ำมันหลังหักค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ดังกล่าวแล้วจะต้องแบ่งให้แก่ทายาททุกคน คนละส่วนเท่า ๆ กัน แต่จำเลยกลับแบ่งให้โจทก์เพียง 29,289 บาท และให้นางจารุพรรณ 112,665 บาท ซึ่งไม่เท่ากัน ส่วนที่เหลือจำเลยกับนางอรวรรณจึงได้ไปเกินกว่าส่วนแบ่งที่ตนควรจะได้รับ เมื่อฝ่ายโจทก์ทวงถาม ฝ่ายจำเลยกลับไม่ฟังและท้าให้โจทก์ฟ้อง พฤติการณ์ของจำเลยกับพวกดังกล่าวย่อมทำให้โจทก์เข้าใจได้ว่า จำเลยกับพวกร่วมกันเบียดบังเอาเงินผลผลิตปาล์มน้ำมันดังกล่าวไปเป็นของตนโดยทุจริต ดังนั้น การที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกับพวกร่วมกันยักยอกเงินผลผลิตปาล์มน้ำมันตามคดีอาญาหมายเลขดำที่ 3573/2555 จึงเป็นการใช้สิทธิทางศาลกล่าวหาจำเลยไปตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นจริง หาใช่โจทก์เอาความอันเป็นเท็จแล้วมาแกล้งกล่าวหาจำเลยไม่ เมื่อเป็นเช่นนี้ การที่จำเลยมาฟ้องโจทก์หาว่าโจทก์เอาความอันเป็นเท็จฟ้องจำเลยตามคดีอาญาหมายเลขดำที่ 3893/2555 ทั้งที่รู้แล้วว่าเรื่องที่จำเลยนำมาฟ้องโจทก์เป็นความเท็จ จึงเป็นฟ้องเท็จตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 175 เมื่อจำเลยฟ้องเท็จแล้ว แม้ศาลจะยกฟ้องในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง การกระทำของจำเลยก็เป็นความผิดฐานฟ้องเท็จตามบทบัญญัติดังกล่าว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายกฟ้อง ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น แต่เนื่องจากมูลเหตุที่เกิดขึ้นมาจากความขัดแย้งกันในการจัดการทรัพย์มรดกระหว่างพี่น้อง ทั้งจำเลยเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับโจทก์และไม่เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน เห็นสมควรให้โอกาสจำเลยกลับตัวเป็นพลเมืองดี โดยรอการลงโทษจำคุกแก่จำเลย แต่เพื่อให้หลาบจำ จึงให้ลงโทษปรับอีกสถานหนึ่ง และคุมความประพฤติของจำเลยไว้ด้วย
พิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 175 (เดิม) ลงโทษจำคุก 1 ปี และปรับ 10,000 บาท ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสี่ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 9 เดือน และปรับ 7,500 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี และให้คุมความประพฤติของจำเลยไว้ 1 ปี นับแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้จำเลยฟัง โดยให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก 3 เดือน ต่อครั้ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 (ที่แก้ไขใหม่) หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับให้บังคับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 และ 30 (ที่แก้ไขใหม่)