คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 640/2549

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ป.วิ.พ. มาตรา 1 (11) บัญญัติว่า “คู่ความ หมายความว่า บุคคลผู้ยื่นคำฟ้องหรือถูกฟ้องต่อศาลและเพื่อประโยชน์แห่งการดำเนินกระบวนพิจารณาให้รวมถึงบุคคลผู้มีสิทธิกระทำการแทนบุคคลนั้น ๆ ตามกฎหมายหรือในฐานะทนายความ” การที่เสมียนทนายจำเลยที่ 2 ได้รับมอบฉันทะจากทนายจำเลยที่ 2 มายื่นคำร้องขอถอนทนายและฟังคำสั่งของศาลชั้นต้น เสมียนทนายจำเลยที่ 2 จึงไม่อยู่ในฐานะเป็นคู่ความตามบทบัญญัติดังกล่าวเพราะเสมียนทนายจำเลยที่ 2 ไม่มีสิทธิที่จะว่าความหรือดำเนินกระบวนพิจารณาใด ๆ นอกจากมายื่นคำร้องดังกล่าวและรับทราบคำสั่งของศาลตามที่รับมอบหมายจากทนายจำเลยที่ 2 เท่านั้น จึงถือว่าจำเลยที่ 2 และทนายจำเลยที่ 2 ไม่มาศาลในวันสืบพยานโจทก์
คดีนี้ฟ้องร้องกันก่อนมีการแก้ไข ป.วิ.พ. มาตรา 202 เดิม จึงต้องใช้มาตรา 202 เดิม ที่บัญญัติว่า ” ถ้าได้ส่งหมายกำหนดวันนัดสืบพยานให้จำเลยทราบโดยชอบแล้ว จำเลยขาดนัดพิจารณา ให้ศาลมีคำสั่งแสดงว่าจำเลยขาดนัดพิจารณา แล้วให้พิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีไปฝ่ายเดียว…” และมาตรา 197 วรรคสอง บัญญัติว่า “ถ้าคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่มาศาลในวันสืบพยาน และมิได้ร้องขอเลื่อนคดีหรือแจ้งเหตุขัดข้องที่ไม่มาศาลเสียก่อนลงมือสืบพยาน ให้ถือว่าคู่ความฝ่ายนั้นขาดนัดพิจารณา” ดังนั้น จึงเห็นได้ว่า จำเลยที่ 2 จะขาดนัดพิจารณาหรือไม่ ต้องเป็นไปตามบทบัญญัติดังกล่าว แม้ทนายจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 2 ไม่มาศาล แต่ทนายจำเลยที่ 2 ได้มอบฉันทะให้เสมียนทนายจำเลยที่ 2 มายื่นคำร้องขอถอนทนาย ถือว่าจำเลยที่ 2 แจ้งเหตุขัดข้องที่ฝ่ายจำเลยที่ 2 ไม่มาศาล จึงไม่ครบหลักเกณฑ์ตามมาตราดังกล่าว จำเลยที่ 2 จึงไม่ขาดนัดพิจารณา เมื่อจำเลยที่ 2 ไม่ขาดนัดพิจารณา จำเลยที่ 2 จึงขอให้มีการพิจารณาใหม่ไม่ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 207

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องจากโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระหนี้จำนวน 7,845,688.73 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยแก่โจทก์และขอให้บังคับจำนอง จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา ส่วนจำเลยที่ 2 ยื่นคำให้การต่อสู้คดี ศาลชั้นต้นนัดสืบพยานโจทก์และมีการเลื่อนการพิจารณาคดีหลายนัดจนเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2543 อันเป็นวันนัดสืบพยานโจทก์ครั้งสุดท้าย มีทนายโจทก์ เสมียนทนายจำเลยที่ 2 มาศาล ส่วนจำเลยทั้งสองไม่มาศาล ทนายจำเลยที่ 2 มอบฉันทะให้เสมียนทนายยื่นคำร้องขอถอนตัวจากการเป็นทนายความของจำเลยที่ 2 อ้างว่าความเห็นไม่ตรงกัน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าคำร้องขอถอนทนายความยังไม่ได้รับความยินยอมจากจำเลยที่ 2 ถือว่าทนายจำเลยที่ 2 ยังคงเป็นทนายความของจำเลยที่ 2 อยู่ เมื่อทนายจำเลยที่ 2 ไม่มาศาลและมิได้ยื่นคำร้องขอเลื่อนคดี จึงถือว่าจำเลยที่ 2 ไม่ติดใจดำเนินกระบวนพิจารณาในวันนี้ ทั้งถือว่าไม่ติดใจสืบพยานจำเลยที่ 2 และได้สืบพยานโจทก์ไปฝ่ายเดียว แล้วพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 5,568,346.13 บาท พร้อมดอกเบี้ย หากจำเลยทั้งสองไม่ชำระหนี้ให้ครบถ้วนให้ยึดทรัพย์ที่จำนองออกขายทอดตลาด
จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาใหม่อ้างว่าจำเลยที่ 2 ไม่ทราบเรื่องการยื่นคำร้องขอถอนตัวของทนายจำเลยที่ 2 ศาลควรแจ้งเรื่องให้จำเลยที่ 2 ทราบแล้วเลื่อนการพิจารณาสืบพยานโจทก์ไป จำเลยที่ 1 ไม่ได้เป็นหนี้จริงตามที่โจทก์ฟ้องและการคิดดอกเบี้ยของโจทก์ไม่ถูกต้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ในชั้นพิจารณาจำเลยที่ 2 ไม่ได้ขาดนัดพิจารณาจึงไม่ต้องด้วยกรณีที่จะขอพิจารณาใหม่ได้ ให้ยกคำร้อง
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่า จำเลยที่ 2 มีสิทธิขอพิจารณาใหม่ได้หรือไม่ เห็นว่า ป.วิ.พ. มาตรา 1 (11) บัญญัติว่า “คู่ความ หมายความว่า บุคคลผู้ยื่นคำฟ้องหรือถูกฟ้องต่อศาลและเพื่อประโยชน์แห่งการดำเนินกระบวนพิจารณาให้รวมถึงบุคคลผู้มีสิทธิกระทำการแทนบุคคลนั้น ๆ ตามกฎหมายหรือในฐานะทนายความ” การที่เสมียนทนายจำเลยที่ 2 ได้รับมอบฉันทะจากทนายจำเลยที่ 2 มายื่นคำร้องขอถอนทนายและฟังคำสั่งของศาลชั้นต้น เสมียนทนายจำเลยที่ 2 จึงไม่อยู่ในฐานะเป็นคู่ความตามบทบัญญัติดังกล่าวเพราะเสมียนทนายจำเลยที่ 2 ไม่มีสิทธิที่จะว่าความหรือดำเนินกระบวนพิจารณาใด ๆ นอกจากมายื่นคำร้องดังกล่าวและรับทราบคำสั่งของศาลตามที่รับมอบหมายจากทนายจำเลยที่ 2 เท่านั้น จึงถือว่าจำเลยที่ 2 และทนายจำเลยที่ 2 ไม่มาศาลในวันสืบพยานโจทก์ คดีนี้ฟ้องร้องกันก่อนมีการแก้ไข ป.วิ.พ. มาตรา 202 เดิมจึงต้องใช้มาตรา 202 เดิม ที่บัญญัติว่า “ถ้าได้ส่งหมายกำหนดวันนัดสืบพยานให้จำเลยทราบโดยชอบแล้ว จำเลยขาดนัดพิจารณา ให้ศาลมีคำสั่งแสดงว่าจำเลยขาดนัดพิจารณา แล้วให้พิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีไปฝ่ายเดียว…” และมาตรา 197 วรรคสอง บัญญัติว่า “ถ้าคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่มาศาลในวันสืบพยาน และมิได้ร้องขอเลื่อนคดีหรือแจ้งเหตุขัดข้องที่ไม่มาศาลเสียก่อนลงมือสืบพยานให้ถือว่าคู่ความฝ่ายนั้นขาดนัดพิจารณา” ดังนั้น จึงเห็นได้ว่า จำเลยที่ 2 จะขาดนัดพิจารณาหรือไม่ ต้องเป็นไปตามบทบัญญัติดังกล่าว แม้ทนายจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 2 ไม่มาศาล แต่ทนายจำเลยที่ 2 ได้มอบฉันทะให้เสมียนทนายจำเลยที่ 2 มายื่นคำร้องขอถอนทนาย ถือว่าจำเลยที่ 2 แจ้งเหตุขัดข้องที่ฝ่ายจำเลยที่ 2 ไม่มาศาล จึงไม่ครบหลักเกณฑ์ตามมาตราดังกล่าว จำเลยที่ 2 จึงไม่ขาดนัดพิจารณา เมื่อจำเลยที่ 2 ไม่ขาดนัดพิจารณา จำเลยที่ 2 จึงขอให้มีการพิจารณาใหม่ไม่ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 207
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

Share