แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ศาลชี้สองสถานกะประเด็นไว้ 2 ข้อว่า โจทก์มีสิทธิฟ้องให้เพิกถอนการอายัดที่ดินหรือไม่ และฟ้องเคลือบคลุมหรือไม่ แล้วโจทก์จำเลยแถลงข้อเท็จจริงที่รับกัน ถือว่าสละประเด็นข้อพิพาทที่ศาลกะไว้เดิม เมื่อจำเลยมีส่วนได้เสียในที่ดินโดยอ้างว่าโจทก์ปลอมหนังสือมอบอำนาจของจำเลยโอนขายที่ดินแก่โจทก์ จำเลยจึงอายัดที่ดินได้ตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา83
ย่อยาว
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการอายัดที่ดินซึ่งจำเลยขออายัดไว้โดยไม่สุจริต จำเลยต่อสู้ว่าโจทก์กับนายสมชาย แซ่จูร่วมกันปลอมหนังสือมอบอำนาจมีใจความว่า จำเลยมอบอำนาจให้นายสมชายแซ่จู ขายที่ดินให้โจทก์ แล้วนำหนังสือมอบอำนาจปลอมนี้ไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์โดยไม่สุจริต จำเลยจึงต้องขออายัดที่ดินดังกล่าวไว้
ในชั้นชี้สองสถาน ศาลชั้นต้นได้กำหนดประเด็นข้อพิพาทไว้ 2 ประเด็นคือ (1) โจทก์มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนคำขออายัดหรือไม่ (2) ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ ต่อมาเมื่อวันที่ 24 มกราคม 2521 โจทก์จำเลยแถลงรับข้อเท็จจริงต่อศาลดังที่ปรากฏในรายงานของศาลชั้นต้นในวันนั้นว่า เดิมจำเลยเป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 6972, 4186 และ 7096 เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2520 โจทก์ซื้อที่ดินทั้งสามโฉนดดังกล่าวโดยนายสมชาย แซ่จู ผู้รับมอบอำนาจจากจำเลยตามภาพถ่ายหนังสือมอบอำนาจลงวันที่ 11 พฤษภาคม 2520 หมาย ล.1, ล.2เป็นผู้ขาย และโดยหนังสือมอบอำนาจดังกล่าว เจ้าพนักงานที่ดินได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้งสามโฉนดให้แก่โจทก์ ต่อมาเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2520จำเลยไปยื่นคำขออายัดที่ดินทั้งสามโฉนดต่อเจ้าพนักงานที่ดินไว้ และในที่สุดโจทก์จำเลยตกลงให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดคดีประเด็นเดียวว่า จำเลยมีสิทธิที่จะไปขออายัดที่ดินโฉนดที่ 6972, 4186 และ 7096 ตำบลคลองตัน อำเภอพระโขนงกรุงเทพมหานคร ได้หรือไม่เท่านั้น
ศาลฎีกาได้พิเคราะห์แล้ว เห็นว่าการอายัดที่ดินจะกระทำได้ก็โดยผู้มีส่วนได้เสียในที่ดินอันอาจจะฟ้องบังคับให้มีการจดทะเบียนหรือให้มีการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนได้ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 83 ซึ่งก็ได้ความชัดว่าที่ดินทั้งสามโฉนดเดิมเป็นของจำเลย ต่อมามีชื่อโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ และเมื่อจำเลยอ้างว่าโจทก์กับนายสมชาย แซ่จู สมคบกันปลอมหนังสือมอบอำนาจของจำเลยทำการขายที่ดินดังกล่าวให้โจทก์ จำเลยจึงอยู่ในฐานะเป็นผู้มีส่วนได้เสียในที่ดินอันอาจจะฟ้องบังคับให้มีการเพิกถอนการจดทะเบียนการซื้อขายได้ ดังนั้นจำเลยย่อมมีสิทธิขออายัดที่ดินต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ การที่ศาลชั้นต้นสั่งงดสืบพยานโจทก์ จำเลยโดยเห็นว่าข้อเท็จจริงตามที่คู่ความตกลงแถลงรับกันตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นลงวันที่ 24มกราคม 2521 พอวินิจฉัยได้แล้ว และวินิจฉัยชี้ขาดว่าจำเลยมีสิทธิที่จะขออายัดที่ดินโฉนดที่ 6972, 4186 และ 7096 ตำบลคลองตัน อำเภอพระโขนงกรุงเทพมหานคร ได้ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 83 จึงถูกต้องชอบด้วยกระบวนพิจารณา เพราะข้อตกลงดังกล่าวที่โจทก์จำเลยแถลงรับกันถือว่าโจทก์สละประเด็นข้อพิพาทที่ศาลกำหนดไว้เดิมทั้งหมด โดยให้ถือเอาประเด็นข้อพิพาทใหม่นี้แต่ประเด็นเดียว ข้อฎีกาของโจทก์ที่ให้ศาลทำการสืบพยานโจทก์ จำเลยแล้วพิพากษาใหม่ตามประเด็นข้อพิพาทที่ว่า จะเพิกถอนคำขออายัดของจำเลยทั้งสองและให้โจทก์ทำนิติกรรมใด ๆ เกี่ยวกับที่ดินตามฟ้องได้หรือไม่นั้นฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน