คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6392/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

รถยนต์ของกลางหายไปในขณะอยู่ในความรับผิดชอบของพันตำรวจตรีส. ซึ่งเป็นข้าราชการในสังกัดของกรมตำรวจจำเลยที่1การปฏิบัติหน้าที่ของพันตำรวจตรีส. จึงกระทำไปในฐานะผู้แทนของจำเลยที่1ดังนั้นแม้จำเลยที่2ที่3และที่4จะมิได้ประมาทเลินเล่ออันเป็นเหตุให้รถยนต์คันดังกล่าวสูญหายจำเลยที่1ก็จะปฏิเสธความรับผิดต่อโจทก์ไม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2533 เวลา 1.30 นาฬิกาจำเลยที่ 3 ในฐานะพนักงานสอบสวนปฏิบัติหน้าที่ร้อยเวรสอบสวนของสถานีตำรวจนครบาลลาดพร้าวได้รับแจ้งว่ารถบรรทุกหมายเลขทะเบียน 70-0517 สระบุรี เกิดเหตุพลิกคว่ำที่ปากซอยรุ่งนภาถนนสุขาภิบาล 1 แขวงคลองกุ่ม เขตบึงกุ่ม กรุงเทพมหานครและเป็นเหตุให้ทรัพย์สินของบุคคลอื่นเสียหาย จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลลาดพร้าวจึงยึดรถบรรทุกคันดังกล่าวไว้เป็นของกลาง ต่อมาวันที่ 27 ธันวาคม 2533 เวลา 3 นาฬิกาจำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นพนักงานสอบสวนปฏิบัติหน้าที่ร้อยเวรสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลลาดพร้าวได้รับแจ้งว่ามีรถจักรยานยนต์หมายเลขทะเบียน กรุงเทพมหานคร 2 จ-5671 เฉี่ยวชนกับรถบรรทุกหมายเลขทะเบียนดังกล่าวอีกจึงยึดรถทั้งสองคันมาเก็บรักษาไว้ที่สถานีตำรวจนครบาลลาดพร้าว จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 มีหน้าที่ต้องดูแลทรัพย์สินที่ยึดมาเป็นของกลางให้อยู่ในสภาพเรียบร้อยตามเดิมแต่ไม่ดูแลให้ดีตามหน้าที่ทำให้รถบรรทุกคันดังกล่าวสูญหายไปเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2534 โจทก์ซึ่งรับประกันภัยรถบรรทุกดังกล่าวไว้จากห้างหุ้นส่วนจำกัดสยามมิตรขนส่งหนองแค และขณะเกิดเหตุยังอยู่ในอายุสัญญาประกันภัยได้จ่ายเงินให้ผู้เอาประกันภัยไป400,000 บาท โจทก์จึงรับช่วงสิทธิจากผู้เอาประกันภัยมาเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสี่ จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ในฐานะผู้ทำละเมิดและเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 ในฐานะเป็นตัวการต้องร่วมกันรับผิดในค่าเสียหายดังกล่าวต่อโจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่โจทก์จ่ายเงินให้ถึงวันฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงิน 405,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงิน 400,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การว่ารถบรรทุกที่สูญหายมิได้เกิดจากความประมาทของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และนายร้อยเวรซึ่งเป็นพนักงานสอบสวนจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ให้การว่า การที่รถบรรทุกสูญหายมิได้เกิดจากความประมาทของจำเลยที่ 3 ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 4 ให้การว่า จำเลยที่ 4 ไม่ได้ประมาทเลินเล่อจึงไม่ต้องรับผิดชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 400,000 บาทแก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่15 เมษายน 2535 จนกว่าจะชำระเสร็จ สำหรับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4ให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยชอบมิได้ประมาทเลินเล่อ การที่รถยนต์หมายเลขทะเบียน 70-0517 สระบุรีสูญหายไป ไม่ใช่ความผิดของจำเลยดังกล่าว จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์นั้น เห็นว่า ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าขณะรถยนต์คันดังกล่าวสูญหาย รถยนต์อยู่ในความรับผิดชอบของพันตำรวจตรีสุนทร คงกล่ำ ผู้รับสำนวนสอบสวนต่อจากจำเลยที่ 4ซึ่งมีหน้าที่ต้องเก็บรักษารถยนต์ที่ยึดไว้มิให้สูญหายหรือได้รับความเสียหาย การที่พันตำรวจตรีสุนทรยินยอมให้มีการเคลื่อนย้ายรถยนต์จากที่จอดเดิม ซึ่งอยู่ตรงข้ามสถานีตำรวจนครบาลลาดพร้าวที่สามารถมองเห็นได้ง่าย นำไปจอดไว้ริมถนนข้างสถานีตำรวจและมิได้จัดให้มีผู้ดูแลรักษาตามสมควร เมื่อรถยนต์สูญหายไปจึงถือได้ว่าการปฏิบัติหน้าที่ราชการซึ่งกระทำในฐานะผู้แทนของจำเลยที่ 1 ก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ดังกล่าวเห็นได้ชัดว่าศาลอุทธรณ์ฟังว่ารถยนต์หายไปในขณะอยู่ในความรับผิดชอบของพันตำรวจตรีสุนทรซึ่งเป็นข้าราชการในสังกัดของจำเลยที่ 1การปฏิบัติหน้าที่ของพันตำรวจตรีสุนทรจึงกระทำไปในฐานะผู้แทนของจำเลยที่ 1 ซึ่งจำเลยที่ 1 ก็ไม่ได้ฎีกาโต้แย้งคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ดังกล่าว ดังนั้น แม้จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4จะมิได้ประมาทเลินเล่ออันเป็นเหตุให้รถยนต์คันดังกล่าวสูญหายจำเลยที่ 1 ก็จะปฏิเสธความรับผิดต่อโจทก์ไม่ได้
พิพากษายืน

Share