คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6382/2537

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

คดีนี้เกี่ยวเนื่องกับคดีแพ่งอีกเรื่องหนึ่งซึ่งมีมูลคดีอย่างเดียวกัน ที่ดินพิพาทเป็นแปลงเดียวกัน และคู่ความทั้งหมดยกเว้นโจทก์ที่ 2 เป็นรายเดียวกัน ศาลฎีกาได้พิพากษาคดีดังกล่าวแล้ว โดยพิพากษาว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ คำพิพากษาดังกล่าวจึงผูกพันคู่ความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 145 วรรคแรก โจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นจำเลยในคดีดังกล่าวจึงต้องถูกผูกพันด้วย ส่วนโจทก์ที่ 2 คดีนี้ถึงแม้คำพิพากษาจะไม่ผูกพันเพราะเป็นบุคคลภายนอก แต่การที่ศาลฎีกาพิพากษาว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ ถือได้ว่าเป็นการวินิจฉัยถึงกรรมสิทธิ์แห่งที่ดินพิพาทเป็นคุณแก่โจทก์ และโจทก์ที่ 2 ก็ไม่ได้พิสูจน์ให้เห็นว่าตนมีสิทธิดีกว่าคำพิพากษาศาลฎีกาจึงใช้ยันแก่โจทก์ที่ 2ได้ ตามมาตรา 145 วรรคสอง (2) เมื่อคำพิพากษาศาลฎีกาผูกพันโจทก์ที่ 1 และใช้ยันโจทก์ที่ 2 ได้เช่นนี้ โจทก์ทั้งสองย่อมไม่สามารถอ้างสิทธิใด ๆ ในที่ดินพิพาทได้ จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 กับนายสว่าน พึบขุนทด เป็นสามีภริยากันและเป็นบิดามารดาของโจทก์ที่ 2 โจทก์ที่ 1 กับนายสว่านเป็นเจ้าของผู้มีสิทธิครอบครองร่วมกันในที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) ทะเบียนเล่มที่ 12 หน้า 124 สารบบเล่มที่ 117เนื้อที่ 40 ไร่ 1 งาน ต่อมาประมาณต้นปี 2517 นายสว่านกู้ยืมเงินจากนายเจียม พรมสวัสดิ์ สามีจำเลย จำนวน 35,000 บาท และได้มอบ น.ส.3 ฉบับดังกล่าวให้นายเจียมยึดถือไว้ กับมอบที่ดินแปลงดังกล่าวให้นายเจียมทำกินต่างดอกเบี้ย จำเลยและบุตรจำเลยได้เข้าไปทำกินด้วยแต่มิได้เข้าไปครอบครองโดยเจตนาเป็นเจ้าของนายสว่านถึงแก่กรรมเมื่อประมาณปี 2520-2521 ต่อมาเมื่อที่ดินมีราคาแพงขึ้น จำเลยอยากได้ที่ดินแปลงดังกล่าวจึงฟ้องโจทก์ที่ 1อ้างว่านายสว่านกับโจทก์ที่ 1 ขายที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่นายเจียมสามีจำเลยแล้ว แต่ยังไม่ได้ไปจดทะเบียนโอนดังปรากฏตามคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 427/2533 ของศาลชั้นต้น ทำให้โจทก์ทั้งสองและบุตรคนอื่น ๆ ซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมของนายสว่านได้รับความเสียหาย โจทก์ทั้งสองไม่ประสงค์จะให้จำเลยและบริวารอยู่อาศัยทำกินในที่ดินอีกต่อไป และได้บอกกล่าวให้จำเลยและบริวารออกไปจากที่ดินแล้ว แต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยพร้อมบริวารออกไปจากที่ดินตาม น.ส.3 เล่มที่ 12 หน้า 124 สารบบเล่มที่ 117หมู่ที่ 1 (8) ตำบลโคกเริงรมย์ อำเภอบำเหน็จณรงค์ จังหวัดชัยภูมิกับให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสองปีละ 10,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะออกไปจากที่ดินดังกล่าว
จำเลยให้การว่า โจทก์ที่ 2 ไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะไม่ปรากฏว่าโจทก์ที่ 2 มีส่วนเกี่ยวข้องกับที่พิพาทอย่างไร ฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้อนเพราะก่อนที่โจทก์ทั้งสองจะฟ้องคดีนี้ จำเลยได้ยื่นฟ้องโจทก์ที่ 1 เกี่ยวกับที่พิพาทตามคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 427/2533ของศาลชั้นต้น และคดีอยู่ในระหว่างการไต่สวนคำร้องขอยื่นคำให้การโจทก์ที่ 1 และนายสว่านสามีโจทก์ที่ 1 ไม่เคยกู้ยืมเงินจากนายเจียม พรมสวัสดิ์ สามีจำเลย และจำเลยไม่ได้ทำนาในที่พิพาทต่างดอกเบี้ย เมื่อประมาณเดือนเมษายน 2514 นายสว่านและโจทก์ที่ 1 ร่วมกันขายที่พิพาทให้แก่จำเลยและนายเจียมในราคา35,000 บาท ในวันซื้อขายนั้นนายสว่านและโจทก์ที่ 1 ได้มอบน.ส.3 สำหรับที่พิพาทพร้อมกับมอบการครอบครองที่พิพาททั้งหมดให้จำเลยและนายเจียมทำประโยชน์ จำเลยและนายเจียมได้ครอบครองที่พิพาทร่วมกันโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของมาจนถึงปัจจุบันเป็นเวลา 20 ปีเศษแล้ว ต่อมานายเจียมถึงแก่กรรม หลังจากนั้นจำเลยได้ครอบครองทำประโยชน์ในที่พิพาทด้วยเจตนาเป็นเจ้าของแต่เพียงผู้เดียว จำเลยจึงเป็นเจ้าของผู้มีสิทธิครอบครองที่พิพาทขอให้ยกฟ้อง
ในวันนัดสืบพยานโจทก์ คู่ความแถลงร่วมกันขอสละประเด็นข้ออื่นที่ศาลกำหนดไว้ โดยขอให้วินิจฉัยเพียงประเด็นเดียวว่า ฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้อนหรือไม่ และตกลงท้ากันว่า หากศาลวินิจฉัยว่าฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้อน โจทก์ยอมแพ้ แต่ถ้าไม่ใช่ฟ้องซ้อน จำเลยยอมแพ้
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ฟ้องโจทก์ไม่เป็นฟ้องซ้อน จำเลยจึงเป็นฝ่ายแพ้คดีตามคำท้า พิพากษาให้จำเลยพร้อมด้วยบริวารย้ายออกไปจากที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ เล่มที่ 12 หน้า 124สารบบเล่มที่ 117 หมู่ที่ 1(8) ตำบลโคกเริงรมย์ อำเภอบำเหน็จณรงค์จังหวัดชัยภูมิ กับให้ใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสองในอัตราปีละ10,000 บาท นับแต่วันฟ้อง เป็นต้นไป จนกว่าจำเลยจะออกจากที่ดินพิพาทจำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์โจทก์ทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ถึงแม้คดีจะมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่คู่ความตกลงท้ากันว่า ฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้อน ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173 วรรคสอง(1) หรือไม่แต่เนื่องจากคดีนี้เกี่ยวเนื่องกับคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 427/2533ของศาลชั้นต้น ซึ่งนางอ่อน พรมสวัสดิ์ (จำเลยคดีนี้) เป็นโจทก์นางกิม พึบขุนทด (โจทก์ที่ 1 คดีนี้) เป็นจำเลย โดยคดีดังกล่าวกับคดีนี้มีมูลคดีอย่างเดียวกัน ที่ดินพิพาทเป็นแปลงเดียวกันและคู่ความทั้งหมดยกเว้นโจทก์ที่ 2 เป็นรายเดียวกัน ขณะนี้ปรากฏว่าศาลฎีกาได้พิพากษาคดีดังกล่าวแล้วโดยพิพากษาว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1096/2536 ระหว่างนางอ่อน พรมสวัสดิ์ โจทก์ นางกิม พึบขุนทด จำเลย คำพิพากษาดังกล่าวจึงผูกพันคู่ความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 145 วรรคแรก โจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นจำเลยในคดีดังกล่าวจึงต้องผูกพันด้วย ส่วนโจทก์ที่ 2 คดีนี้ถึงแม้คำพิพากษาจะไม่ผูกพันเพราะเป็นบุคคลภายนอก แต่การที่ศาลฎีกาพิพากษาว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ ถือได้ว่าเป็นการวินิจฉัยถึงกรรมสิทธิ์แห่งที่ดินพิพาทเป็นคุณแก่โจทก์ และโจทก์ที่ 2 ก็ไม่ได้พิสูจน์ให้เห็นว่าตนมีสิทธิดีกว่าคำพิพากษาศาลฎีกาจึงใช้ยันแก่โจทก์ที่ 2 ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 วรรคสอง (2)เมื่อคำพิพากษาศาลฎีกาผูกพันโจทก์ที่ 1 และใช้ยันโจทก์ที่ 2ได้เช่นนี้ โจทก์ทั้งสองย่อมไม่สามารถอ้างสิทธิใด ๆ ในที่ดินพิพาทได้ จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จะมิได้มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นกล่าวอ้าง แต่ศาลฎีกาเห็นสมควรหยิบยกขึ้นวินิจฉัย ทั้งนี้ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5)คดีไม่จำต้องวินิจฉัยปัญหาตามคำท้าของคู่ความอีกต่อไปที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล”
พิพากษายืน

Share