คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6379/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

งานออกแบบปากกาลูกลื่น 2 แบบ ซึ่งประกอบด้วยงานแบบพิมพ์รูปลักษณะปากกาและชิ้นส่วนแม่พิมพ์ งานหุ่นจำลองงานอิเล็กโทรดหรือแท่งทองแดงที่ใช้ในการทำแม่พิมพ์ งานแม่พิมพ์ และงานรูปทรงและลวดลายตัวปากกา อันเกิดจากการคิดค้นแบบปากกาตั้งแต่ยกร่างรูปทรงและลวดลายในกระดาษร่างให้ปากกามีรูปลักษณะสวยงามสะดุดตาและสะดวกในการใช้สอย แล้วนำมาวิเคราะห์ในเชิงเศรษฐกิจตามหลักวิชาการ ใช้เทคนิคที่เรียกว่าวิศวกรรมคุณค่าคือ วิธีการสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ให้มีคุณภาพใช้ได้ดีกว่าสินค้าที่มีอยู่ก่อน และเพื่อให้ได้ต้นทุนการผลิตในราคาต่ำจนได้รูปทรงและลวดลายที่พอใจ แล้วเขียนแบบที่ถูกต้องและทำหุ่นจำลองต่อจากนั้นก็ทำการออกแบบชิ้นส่วนแม่พิมพ์ ออกแบบอีเล็กโทรดหรือแท่งทองแดงที่ใช้ในการทำแม่พิมพ์ ทำอิเล็กโทรด และทำแม่พิมพ์เพื่อใช้ในการทำปากกา เป็นงานสร้างสรรค์อันเกิดจากการนำเอาการสร้างแบบพิมพ์รูปลักษณะของปากกาและแบบแม่พิมพ์ซึ่งเขียนด้วยลายเส้นประกอบเป็นรูปทรงอันเข้าลักษณะศิลปกรรมประเภทงานจิตรกรรมและการสร้างแม่พิมพ์กับหุ่นจำลองของปากกาดังกล่าว ซึ่งเป็นงานสร้างสรรค์รูปทรงที่เกี่ยวกับปริมาตรที่สัมผัสและจับต้องได้ อันเข้าลักษณะศิลปกรรมประเภทงานประติมากรรม มาประกอบเข้าด้วยกันและสร้างขึ้นเป็นปากกาเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการขีดเขียนและเพื่อประโยชน์ทางการค้าอันเป็นประโยชน์อย่างอื่นนอกเหนือจากการชื่นชมในคุณค่าของตัวงานจิตรกรรมและประติมากรรมดังกล่าวงานสร้างสรรค์แบบปากกาทั้งสองแบบจึงเป็นงานศิลปประยุกต์ อันอาจได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 ทั้งนี้ไม่ว่าจะมีคุณค่าทางศิลปหรือไม่ หากปรากฏว่างานนั้นผู้สร้างสรรค์ได้ทำหรือก่อให้เกิดงานนั้นด้วยความคิดริเริ่มของตนเองโดยมิได้ทำซ้ำหรือดัดแปลงจากงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานนั้น นายยูเลียนไมเคิลฮาร์เลย์ดีเลย์ นาย ป. นาย ข.กรรมการโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 และนายเอิร์นอีริคแวกเนอร์ผู้รับจ้างจากโจทก์ที่ 1 ได้สร้างสรรค์งานออกแบบปากกาแคนดี้คอมแพคและแบบปากกาแลนเซอร์คาเดท ขึ้นขณะที่อยู่ในราชอาณาจักร บุคคลทั้งสี่จึงเป็นผู้มีลิขสิทธิ์ในแบบปากกาทั้งสองแบบ อันเป็นงานศิลปประยุกต์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์พ.ศ. 2521 มาตรา 6 ประกอบด้วยมาตรา 4 หลังจากที่ได้ออกแบบปากกาทั้งสองแบบดังกล่าวเสร็จแล้วบุคคลทั้งสี่ได้ทำหนังสือสัญญาโอนลิขสิทธิ์ในแบบปากกาดังกล่าวให้แก่โจทก์ทั้งสี่ โจทก์ทั้งสี่จึงเป็นผู้ได้ไปซึ่งลิขสิทธิ์และเป็นผู้มีลิขสิทธิ์ในแบบปากกาแคนดี้คอมแพคและแบบปากกาแลนเซอร์คาเดท ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 มาตรา 7,8 และ 15 จำเลยที่ 11 ได้ลักลอบเอาแบบพิมพ์อิเล็กโทรด และเอกสารเกี่ยวกับการจัดทำปากกาแคนดี้คอมแพค และปากกาแลนเซอร์คาเดทหรือคลิคทู ของโจทก์ทั้งสี่ไป แล้วจำเลยที่ 1ว่าจ้างจำเลยที่ 11 ให้จัดการแม่พิมพ์ปากกาแคนดี้คอมแพคโดยจำเลยที่ 12 และที่ 13 ได้ร่วมทำแม่พิมพ์ด้วย และจำเลยที่ 1โดยจำเลยที่ 3 ได้นำหุ่นจำลองปากกาท่อนล่างไปจ้างโรงกลึงทำแม่พิมพ์มีลักษณะเหมือนปากกาแลนเซอร์คาเดท โจทก์ที่ 2 ได้มีหนังสือแจ้งให้จำเลยที่ 1 และโรงกลึงทราบว่าโจทก์ที่ 2เป็นผู้มีลิขสิทธิในแบบปากกาแคนดี้คอมแพคและแลนเซอร์คาเดทขอให้ยุติการผลิตและจำหน่ายปากกาลูกลื่นทั้งสองแบบ จำเลยที่ 1ได้รับหนังสือแล้ว จำเลยที่ 1 ได้ผลิตและจำหน่ายปากกาติ๊กแต็กซึ่งมีลักษณะคล้ายคลึงกับปากกาแลนเซอร์คาเดท กับยังคงจำหน่ายปากกาจ๊อตจอยซึ่งเลียนแบบปากกาแคนดี้คอมแพคต่อไป ตามพฤติการณ์ดังกล่าวฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ที่ 11 ที่ 12และที่ 13 ได้ร่วมกันทำซ้ำและดัดแปลงแบบปากกาแคนดี้คอมแพคและจำเลยที่ 1 และที่ 11 ร่วมกันทำซ้ำและดัดแปลงแบบปากกาแลนเซอร์คาเดท ของโจทก์ทั้งสี่โดยการทำแม่พิมพ์เลียนแบบและปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมแบบปากกาทั้งสองแบบดังกล่าวจากแบบพิมพ์หุ่นจำลอง แม่พิมพ์ และเอกสารเกี่ยวกับการจัดทำปากกาดังกล่าวที่จำเลยที่ 11 ลักเอาไป แล้วจำเลยที่ 1 ผลิตปากกาจ๊อตจอยและปากกาติ๊กแต๊ก ออกจำหน่ายโดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นการทำซ้ำและดัดแปลงแบบปากกาที่โจทก์ทั้งสี่เป็นผู้มีลิขสิทธิ์อันเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ทำให้โจทก์ทั้งสี่เสียผลประโยชน์ในทางการค้าและได้รับความเสียหาย จึงเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ทั้งสี่ ส่วนจำเลยที่ 3 รับว่า จำเลยที่ 1 ได้ว่าจ้างจำเลยที่ 11 ทำแม่พิมพ์และได้มอบหุ่นจำลองปากกาจ๊อตจอย ให้จำเลยที่ 11 ไป จำเลยที่ 3ยังให้จำเลยที่ 11 ทำแบบ 16 แควิตี้ของปากกาจ๊อตจอย ให้ จึงเชื่อได้ว่าจำเลยที่ 3 มีส่วนรู้เห็นและร่วมกับจำเลยที่ 1 ทำปากกาจ๊อตจอยอันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ในแบบปากกาแคนดี้คอมแพค ที่โจทก์ที่ 2 ต้องจัดทำกล่องพิเศษบรรจุปากกาทำให้ต้องเพิ่มต้นทุนการผลิตอีกด้ามละ 21 สตางค์ เพื่อป้องกันมิให้เสียลูกค้าไปเป็นเหตุให้โจทก์ที่ 2 ต้องเสียหายเพราะขาดประโยชน์ที่ควรได้เพิ่มขึ้นอีกนั้น เป็นเรื่องที่โจทก์ที่ 2 ลงทุนเพิ่มเติมเพื่อเป็นการจูงใจผู้บริโภคและให้สินค้าของโจทก์ที่ 2 จำหน่ายได้ดีขึ้น อันเป็นเรื่องปกติธรรมดาของการค้าขาย ยังฟังไม่ได้แน่ชัดว่าเป็นความเสียหายที่เป็นผลโดยตรงจากการกระทำละเมิดลิขสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 11 ถึงที่ 13 โจทก์ที่ 2 จึงไม่อาจเรียกค่าเสียหายในส่วนนี้ได้ แม้พยานหลักฐานของโจทก์ยังฟังไม่ได้ว่าโจทก์จะสามารถจำหน่ายปากกาของโจทก์ได้ถึงจำนวนตามฟ้อง แต่การที่จำเลยผลิตและจำหน่ายปากกาที่เลียนแบบโดยละเมิดลิขสิทธิ์ในแบบปากกาของโจทก์ ย่อมทำให้โจทก์จำหน่ายปากกาดังกล่าวได้ลดลง ศาลมีอำนาจกำหนดค่าขาดประโยชน์ของโจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทั้งสี่เป็นกรรมการในเครือเดียวกันมีผู้ถือหุ้นและกรรมการบริหารเป็นชุดเดียวกันเกือบทั้งหมดดำเนินกิจการออกแบบผลิตปากกา และจำหน่ายปากกาลูกลื่นในประเทศมากว่า 10 ปี โดยโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นผู้สร้างสรรค์งานรูปแบบปากกา โจทก์ที่ 1 และที่ 3 เป็นผู้ทำแม่พิมพ์ แล้วโจทก์ที่ 1 จะผลิตปากกาให้โจทก์ที่ 2 และที่ 4 จำหน่าย จำเลยที่ 1 และที่ 8เป็นบริษัทจำกัด จำเลยที่ 2 ถึงที่ 7 เป็นกรรมการบริหารของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 9 และที่ 10 เป็นกรรมการของจำเลยที่ 8จำเลยที่ 11 ถึงที่ 13 เคยเป็นพนักงานของโจทก์ที่ 1 และที่ 3มีหน้าที่ทำแม่พิมพ์ที่ใช้ในการผลิตปากกา โจทก์ทั้งสี่เป็นผู้คิดสร้างสรรค์งานปากกาด้วยตนเอง ตั้งแต่การออกแบบ เขียนแบบทำแม่พิมพ์ผลิตปากกา และนำออกจำหน่ายในท้องตลาดโดยแบ่งหน้าที่กันทำ ปากกาที่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3ได้คิดค้นสร้างสรรค์และได้รับความนิยมจากผู้ใช้มากมี 2 แบบคือ ปากกาแบบแคนดี้ คอมแพค (CANDY COMPACT) ซึ่งโจทก์ที่ 1ถึงที่ 3 ได้คิดค้นสร้างสรรค์และออกแบบระหว่างปี 2522 ถึงปี 2524แล้วโจทก์ที่ 1 ได้ผลิตให้โจทก์ที่ 2 นำออกวางตลาดเพื่อจำหน่ายและปากกาแบบแลนเซอร์ คาเดท (LANCER CADET หรือ CLIC II)ซึ่งโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 ได้คิดค้นสร้างสรรค์และออกแบบระหว่างปี 2524 ถึงปี 2526 แล้วโจทก์ที่ 1 ได้ผลิตให้โจทก์ที่ 2 นำออกวางตลาดเพื่อจำหน่าย งานออกแบบปากกาทั้งสองแบบนี้ได้ถูกสร้างสรรค์ขึ้นโดยกรรมการและลูกจ้างของโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3ร่วมกัน เริ่มตั้งแต่การกำหนดวัตถุประสงค์และเป้าหมายในทางการตลาดเพื่อหาแนวทางการออกแบบรูปลักษณะของปากการรุ่นใหม่ให้สวยงามสะดุดตาสะดุดใจและราคาถูก ได้มีการออกแบบรูปลักษณะเป็นแบบรุ่นและสร้างหุ่นจำลองแก้ไขตกแต่งหุ่นจำลองหลายครั้งหลายหน จนได้แบบที่พอใจแล้วให้ช่างเทคนิคเขียนแบบออกแบบแม่พิมพ์ ร่างแม่พิมพ์ ทำการผลิตแล้วนำออกจำหน่ายคุณภาพของงานออกแบบปากกาทั้งสองแบบดังกล่าวเป็นงานสร้างสรรค์ ทางศิลปกรรมประเภทงานจิตรกรรมและงานประติมากรรมรวมกันเพราะต้องใช้ความสามารถทางจินตภาพ มุ่งสร้างงานให้เป็นที่ต้องตาต้องใจกระตุ้นจินตนาการผู้บริโภคเป็นสำคัญ และมีลักษณะเฉพาะเป็นของตนเอง อันเป็นงานศิลปประยุกต์ ที่มีลิขสิทธิ์ตามมาตรา 4(7) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์พ.ศ. 2521 งานสร้างสรรค์นี้ผู้สร้างสรรค์ซึ่งเป็นกรรมการและลูกจ้างของโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3ได้มีสัญญาเป็นหนังสือตกลงให้เป็นลิขสิทธิ์ของโจทก์ทั้งสี่หลังจากโจทก์ทั้งสี่ได้ผลิตปากกาแบบแคนดี้ คอมแพค และปากกาแบบแลนเซอร์ คาเดท ออกวางจำหน่ายในท้องตลาดแล้ว ปรากฏว่าจำเลยทั้งสิบสามได้ร่วมกันกระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสี่ ด้วยการทำซ้ำดัดแปลงงานสร้างสรรค์ปากกาของโจทก์ทั้งสองแบบและนำออกวางจำหน่ายในท้องตลาด อันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์กล่าวคือเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2527 มีปากกาใช้ชื่อว่า จ๊อตจอย(JOT JOY) วางจำหน่ายในท้องตลาดมีลักษณะเป็นการทำซ้ำดัดแปลงบางส่วนในแบบปากกาแคนดี้ คอมแพค เป็นการทำขึ้นโดยจงใจละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ทั้งสี่โดยจำเลยที่ 11 ในระหว่างที่เป็นลูกจ้างของโจทก์ที่ 3 มีหน้าที่เป็นช่างทำแม่พิมพ์ได้ลักเอกสารอันเป็นต้นแบบในการทำแม่พิมพ์ปากกาแบบแคนดี้ คอมแพค ของโจทก์ทั้งสี่ไป แล้วได้ร่วมกับจำเลยที่ 12 และที่ 13 ทำการผลิตแม่พิมพ์และร่วมกับจำเลยที่ 8 ถึงที่ 10 ซึ่งเป็นผู้ประกอบกิจการโรงงานรับทำแม่พิมพ์ ทำแม่พิมพ์แบบแคนดี้ คอมแพค ขึ้นจากนั้นจำเลยที่ 8ถึงที่ 11 ได้ขายแม่พิมพ์ปากกาแคนดี้ คอมแพค ให้แก่จำเลยที่ 1ถึงที่ 7 ทั้งนี้ โดยจำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 ได้ว่าจ้างให้จำเลยที่ 8ถึงที่ 11 เป็นผู้ดำเนินการทำแม่พิมพ์หรือได้รับซื้อแม่พิมพ์ดังกล่าว โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นงานที่ทำขึ้นโดยลอกเลียนรูปลักษณะของปากกาแคนดี้ คอมแพค อันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ทั้งสี่ และจำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 ดำเนินการผลิตเป็นปากกาจ๊อตจอย ออกวางตลาดเพื่อจำหน่ายทั่วราชอาณาจักร ส่วนปากกาแบบแลนเซอร์ คาเดท เมื่อโจทก์ที่ 4 นำปากกาแลนเซอร์ คาเดทออกวางจำหน่ายได้ประมาณ 1 เดือนก็พบว่าได้มีปากกาที่ใช้ชื่อว่าติ๊กแต๊ก (TIK TAK) วางจำหน่ายในท้องตลาดมีลักษณะเป็นการทำซ้ำดัดแปลงบางส่วนในแบบปากกาแลนเซอร์ คาเดท เป็นการทำขึ้นโดยจงใจละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ทั้งสี่ โดยจำเลยที่ 11ถึงที่ 13 ซึ่งทราบดีว่าโจทก์ที่ 1 ถึงทึ่ 3 ได้สร้างสรรค์ปากกาแลนเซอร์ คาเดท ได้นำปากกาแบบแลนเซอร์ คาเดท มาดัดแปลงแล้วร่วมกับจำเลยที่ 8 ถึงที่ 10 ทำแม่พิมพ์ปากกาที่ลอกเลียนรูปลักษณะของปากกาแบบแลนเซอร์ คาเดท ขึ้น จากนั้นจำเลยที่ 8ถึงที่ 11 ได้ขายแม่พิมพ์ดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 ทั้งนี้โดยจำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 ได้ว่าจ้างจำเลยที่ 8 ถึงที่ 11 ให้ดำเนินการทำแม่พิมพ์หรือได้รับซื้อแม่พิมพ์ดังกล่าวไว้ โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นแม่พิมพ์ที่ทำขึ้นโดยลอกเลียนรูปลักษณ์ ของปากกาแลนเซอร์คาเดท อันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ทั้งสี่ และจำเลยที่ 1ถึงที่ 7 ได้นำแม่พิมพ์ไปดำเนินการผลิตปากกาใช้ชื่อว่าติ๊กแต๊ก ออกวางตลาดจำหน่ายทั่วราชอาณาจักร ทำให้ผู้บริโภคโดยทั่วไปเข้าใจไขว้เขว ไม่ทราบว่าสินค้าใดเป็นของโจทก์ทั้งสี่หรือจำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายกล่าวคือในปี 2526 โจทก์ที่ 1 ซึ่งมีต้นทุนการผลิตเฉลี่ยด้ามละ1.01 บาท ได้ผลิตและจำหน่ายปากกาแบบแคนดี้ คอมแพค ให้โจทก์ที่ 2 ในราคาด้ามละ 1.50 บาท จำนวนประมาณ 4,300,000 ด้ามโจทก์ที่ 2 นำไปจำหน่ายในราคาเฉลี่ยด้ามละ 1.91 บาท โจทก์ที่ 1และที่ 2 ได้กำไรเป็นเงินประมาณ 4,000,000 บาท แต่หลังจากจำเลยทั้งสิบสามผลิตปากกาจ๊อตจอย ออกจำหน่ายในปี 2527 โจทก์ที่ 2ต้องลดราคาในการจำหน่ายปากกาแบบแคนดี้ คอมแพค ลงเหลือด้ามละ 1.45 บาท เพื่อแข่งขันในทางการค้าและป้องกันการสูญเสียตลาด ทั้งโจทก์ที่ 2 ต้องซื้อกล่องพิเศษนำไปบรรจุปากกาทำให้ต้นทุนสูงขึ้นอีก 21 สตางค์ ต่อ 1 ด้าม เป็นเหตุให้โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ต้องขาดรายได้อันควรจะได้รับตามปกติด้ามละ 67 สตางค์ ซึ่งตามแผนการตลาดในปี 2527 โจทก์ที่ 2จะจำหน่ายปากกาแบบแคนดี้ คอมแพค ได้ไม่น้อยกว่า12,000,000 ด้าม แต่โจทก์ที่ 2 จำหน่ายได้เพียง 6,280,000 ด้ามขาดรายได้ส่วนนี้ไป 4,207,600 บาท และขาดรายได้จากยอดขายที่ขาดไป 5,700,000 ด้าม เฉลี่ยกำไรด้ามละ 90 สตางค์เป็นเงิน 5,148,000 บาท ทำให้โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ขาดรายได้สำหรับปี 2527 รวมเป็นเงิน 9,355,600 บาท และปีต่อ ๆ ไป เสียหายไม่น้อยกว่าเดือนละ 779,633.33 บาท ในการสร้างสรรค์แบบปากกาแคนดี้ คอมแพค หากจะมีการซื้อขายแบบแปลนและแม่พิมพ์ในการผลิตปากกา โจทก์ทั้งสี่จะขายได้ในราคาไม่น้อยกว่า 5,000,000บาท โจทก์ทั้งสี่ขอคิดค่าเสียหายเป็นค่าลิขสิทธิ์อีกส่วนหนึ่งเป็นเงินจำนวน 4,000,000 บาท สำหรับปากกาแบบแลนเซอร์คาเดท โจทก์ที่ 1 ซึ่งมีต้นทุนการผลิตเฉลี่ยด้ามละ 1.06 บาทได้ผลิตและจำหน่ายให้โจทก์ที่ 4 ในราคาเฉลี่ยด้ามละ 1.45 บาทแล้วโจทก์ที่ 1 และที่ 4 ได้กำหนดราคาจำหน่ายด้ามละ 2.20 บาทโจทก์ประมาณการว่าระยะเวลา 4 เดือน ในปี 2527 จะจำหน่ายได้ไม่น้อยกว่า 2,000,000 ด้าม และในปี ต่อ ๆ ไปจะจำหน่ายได้ไม่น้อยกว่าปีละ 12,000,000 ด้าม แต่เมื่อจำเลยที่ 1 ถึงที่ 7ผลิตปากกาติ๊กแต๊ก ออกจำหน่ายโจทก์ที่ 4 ต้องลดราคาปากกาลงเหลือเฉลี่ยด้ามละ 1.71 บาท ให้ราคาใกล้เคียงกับราคาปากกาติ๊กแต๊ก เพื่อแข่งขันในทางการค้าและป้องกันการสูญเสียตลาด โจทก์ที่ 4 ต้องขาดประโยชน์ที่ควรจะได้รับจากการจำหน่ายปากกาแบบนี้ลดลงไปด้ามละ 49 สตางค์ และโจทก์ที่ 4 จำหน่ายปากกาแบบแลนเซอร์ คาเดท ได้จำนวนน้อยลง ทำให้โจทก์ที่ 1และที่ 4 ขาดประโยชน์ที่ควรจะได้รับระหว่างเดือนกันยายนถึงเดือนธันวาคม 2527 จากยอดขายจำนวน 1,200,000 ด้าม ด้ามละ49 สตางค์ เป็นเงิน 88,000 บาท และจากยอดจำหน่ายที่ขาดหายไป800,000 ด้าม ซึ่งโจทก์ที่ 1 และที่ 4 ควรได้รับกำไรด้ามละ 1.14 บาทเป็นเงิน 912,000 บาท คิดเป็นเงินรวม 1,500,000 บาท และปีต่อ ๆ ไปยอดจำหน่ายจะถูกแบ่งส่วนไปประมาณ 6,000,000 ด้าม ทำให้ขาดประโยชน์ที่ควรได้รับจากยอดจำหน่ายด้ามละ 49 สตางค์เป็นเงิน 2,940,000 บาท และขาดประโยชน์จากยอดจำหน่ายที่ขาดหายไป 6,000,000 ด้าม ด้ามละ 1.14 บาท เป็นเงิน6,840,000 บาท รวมเป็นเงิน 9,780,000 บาท คิดเป็นค่าเสียหายเดือนละ 815,000 บาท กับโจทก์ทั้งสี่ต้องเสียคุณค่าของงานเป็นค่าลิขสิทธิ์ปากกาแบบแลนเซอร์ คาเดท ซึ่งอาจซื้อขายได้ไม่น้อยกว่า 5,000,000 บาท โจทก์ทั้งสี่ขอคิดค่าเสียหายส่วนนี้เป็นเงิน 4,000,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสิบสามร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 เป็นเงิน 9,355,600 บาทและค่าเสียหายเดือนละ 779,633.33 บาท กับใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 1 และที่ 4 เป็นเงิน 1,500,000 บาท และค่าเสียหายเดือนละ 815,000 บาท สำหรับค่าเสียหายรายเดือนให้ใช้ตั้งแต่เดือนมกราคม 2528 เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสิบสามจะหยุดการทำละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ทั้งสี่ และให้จำเลยทั้งสิบสามใช้ค่าเสียหาย 8,000,000 บาท ให้แก่โจทก์ทั้งสี่ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงิน 9,355,600 บาท แก่โจทก์ที่ 1และที่ 2 ในต้นเงิน 1,500,000 บาท แก่โจทก์ที่ 1 และที่ 4 และในต้นเงิน 8,000,000 บาท แก่โจทก์ทั้งสี่นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยทั้งสิบสามหยุดการทำละเมิดลิขสิทธิ์ในงานปากกาทั้งสองแบบของโจทก์ทั้งสี่ และหยุดการจำหน่ายปากกาจ๊อตจอย และปากกาติ๊กแต๊ก
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 และที่ 7 ถึงที่ 10 ให้การว่ารูปแบบปากกาทั้งสองแบบตามฟ้องมิใช่งานสร้างสรรค์ และมิใช่งานศิลปประยุกต์ โจทก์ทั้งสี่มิใช่เจ้าของหรือได้ไปซึ่งลิขสิทธิ์ตามฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 และที่ 7 ไม่เคยลอกเลียนแบบ ทำซ้ำ หรือดัดแปลงรูปแบบปากกาของโจทก์ทั้งสี่ ปากกาแบบจ๊อตจอย (JOT JOY) และแบบติ๊กแต๊ก (TIK TAK) จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 และที่ 7 ได้ร่วมกันคิดค้นออกแบบและสร้างสรรค์ด้วยความริเริ่มของตนเองมีเอกลักษณ์และลักษณะบ่งเฉพาะตามจินตนาการของตนเอง และได้นำออกโฆษณาจำหน่ายแพร่หลายมาก่อนโจทก์ทั้งสี่ ทั้งได้ยื่นคำขอรับสิทธิบัตรต่อพนักงานเจ้าหน้าที่กองสิทธิบัตรและเครื่องหมายการค้ากรมทะเบียนการค้า ก่อนที่โจทก์ทั้งสี่จะนำปากกาออกโฆษณาจำหน่ายจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 และที่ 7 จึงเป็นผู้ทรงสิทธิในลิขสิทธิ์ปากกาดังกล่าว และมีสิทธิการคุ้มครองดีกว่าโจทก์ทั้งสี่ จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 และที่ 7 ไม่เคยร่วมกับจำเลยที่ 8 ถึงที่ 13 ทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสี่ทั้งไม่เคยว่าจ้างหรือรับซื้อแม่พิมพ์ปากกาตามฟ้องจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 และที่ 7 เป็นเพียงกรรมการของจำเลยที่ 1ไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการจัดการและบริหารงานในทางการค้าของจำเลยที่ 1 เนื่องจากมีผู้จัดการแผนกต่าง ๆ เป็นผู้ดำเนินการและกำหนดแผนงานอยู่แล้ว โจทก์ทั้งสี่มิได้เสียหายตามฟ้อง ทั้งค่าเสียหายที่โจทก์ทั้งสี่เรียกร้องสูงเกินความจริงและซ้ำซ้อนกัน ค่าเสียหายสำหรับปากกาแคนดี้ คอมแพค หากมีก็ไม่เกิน 10,000 บาท และสำหรับปากกาแลนเซอร์ คาเดทไม่เกิน 20,000 บาท ค่าลิขสิทธิ์ไม่เกิน 10,000 บาท ค่าเสียหายรายเดือนไม่เกินเดือนละ 1,000 บาท จำเลยที่ 9 และที่ 10เป็นเพียงกรรมการของจำเลยที่ 8 การดำเนินกิจการของจำเลยที่ 8 มีผู้จัดการต่างหาก จำเลยที่ 9 ถึงที่ 10 ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องด้วย ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 5 ให้การว่า จำเลยที่ 5 มิได้ซื้อแม่พิมพ์จากจำเลยที่ 8 ถึงที่ 11 และไม่เคยจ้างให้จำเลยที่ 8 ถึงที่ 11 เป็นผู้ดำเนินการทำแม่พิมพ์ลอกเลียนแบบปากกาของโจทก์ การออกแบบปากกาของโจทก์ไม่ใช่งานศิลปประยุกต์ โจทก์ลอกเลียนแบบปากกามาจากต่างประเทศ มิได้คิดค้นประดิษฐ์ด้วยตนเอง รูปแบบของปากกามิใช่งานศิลปที่ถือว่าเป็นลิขสิทธิ์ จำเลยที่ 5 มิได้ทำละเมิดต่อโจทก์โจทก์ไม่เสียหายตามฟ้อง การที่ยอดขายของโจทก์ไม่เท่าที่ประมาณการไว้ เพราะสินค้าโจทก์ไม่เป็นที่นิยมของตลาด ยอดขายของโจทก์มี 1,700,000 ด้าม ค่าเสียหายไม่ถึง 4,000,000 บาทขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 6 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 11 ถึงที่ 13 ให้การว่า รูปแบบปากกาของโจทก์ทั้งสี่มิใช่งานสร้างสรรค์ โจทก์ทั้งสี่จึงมิใช่เจ้าของหรือได้ไปซึ่งลิขสิทธิ์ จำเลยที่ 11 ถึงที่ 13 ในฐานะพนักงานลูกจ้างและเป็นผู้ออกแบบปากกาของโจทก์ทั้งสี่ไม่เคยทำหนังสือตกลงให้ผลงานตกได้แก่โจทก์ทั้งสี่ ลิขสิทธิ์ในแบบปากกาตามฟ้องจึงเป็นของจำเลยที่ 11ถึงที่ 13 การกระทำของจำเลยที่ 11 ถึงที่ 13 ไม่เป็นละเมิดจำเลยที่ 11 ถึงที่ 13 ไม่เคยร่วมกับจำเลยอื่นทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสี่ และไม่เคยลักเอกสารต้นแบบพิมพ์หรือลอกเลียนแบบปากกาของโจทก์ทั้งสี่ โจทก์ทั้งสี่มิได้เสียหายตามฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างการพิจารณา โจทก์ทั้งสี่ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยที่ 5 ศาลชั้นต้นอนุญาต และให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 5ออกจากสารบบความ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 และที่ 6 ถึงที่ 13ร่วมกันใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 เป็นเงินจำนวน6,000,000 บาท กับค่าเสียหายรายเดือนอีกเดือนละ 500,000 บาทและให้จำเลยดังกล่าวใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ที่ 1 และที่ 4เป็นเงินจำนวน 1,200,000 บาท กับค่าเสียหายรายเดือนอีกเดือนละ600,000 บาท สำหรับค่าเสียหายรายเดือนให้ชำระตั้งแต่เดือนมกราคม2528 จนกว่าจำเลยดังกล่าวจะหยุดทำการละเมิดต่อโจทก์ทั้งสี่ให้จำเลยดังกล่าวชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงิน6,000,000 บาท แก่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 และในต้นเงิน 1,200,000 บาทแก่โจทก์ที่ 1 และที่ 4 นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยดังกล่าวหยุดการทำละเมิดในงานแบบปากกาแคนดี้ คอมแพคและปากกาแลนเซอร์ คาเดท ของโจทก์ทั้งสี่ และให้จำเลยที่ 1หยุดจำหน่ายปากกาจ๊อตจอย และปากกาติ๊กแต๊ก ให้จำเลยดังกล่าวร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสี่โดยกำหนดค่าทนายความรวม 100,000 บาท ค่าขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์ทั้งสี่ จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 และที่ 7 ถึงที่ 13 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสี่ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสี่ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่โจทก์ทั้งสี่ฎีกาว่า โจทก์ทั้งสี่เป็นผู้มีลิขสิทธิ์ในแบบปากกาแคนดี้ คอมแพค และแบบปากกาแลนเซอร์ คาเดทนั้นปรากฎ ตามพยานหลักฐานของโจทก์ทั้งสี่ว่า เดิมโจทก์ที่ 2เป็นตัวแทนจำหน่ายปากกาลูกลื่นยี่ห้อบิด ในประเทศไทย โดยสั่งซื้อจากผู้ผลิตในประเทศฝรั่งเศสต่อมาโจทก์ที่ 1 ได้สั่งแม่พิมพ์ปากกาบิด จากผู้ผลิตในประเทศฝรั่งเศสเข้ามาผลิตในประเทศไทยและให้โจทก์ที่ 2 จำหน่าย จากนั้นในปี 2519 โจทก์ที่ 1 จะทำแม่พิมพ์ผลิตปากกาลูกลื่นขึ้นเอง จึงว่าจ้างนายเอิร์น อีริค แวกเนอร์ ชาวเยอรมันผู้เชี่ยวชาญในการออกแบบและทำแม่พิมพ์ให้มาทำงานกับโจทก์ที่ 1 และตั้งโรงงานจักทำแม่พิมพ์ขึ้นเริ่มออกแบบทำแม่พิมพ์ปากกาของตนเองตั้งแต่ปี2522 ก่อนที่จะออกแบบและทำแม่พิมพ์ต้องทำการวิจัยทางการตลาดก่อนเมื่อทราบแนวโน้มความต้องการและความนิยมของผู้ใช้แล้วนายยูเลี่ยน ไมเคิล ฮาร์เลย์ ดีเลย์ นายปอ อนาวิล และนายขจร ลิมปนเทวินทร์ กรรมการของโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3จะเริ่มคิดค้นแบบปากกาตั้งแต่ยกร่างรูปทรงและลวดลายในกระดาษร่างให้ปากกามีรูปลักษณะสวยงามสะดุดตาและสะดวกในการใช้สอยแล้วนำมาวิเคราะห์ในเชิงเศรษฐกิจตามหลักวิชาการ ใช้เทคนิคที่เรียกว่าวิศวกรรมคุณค่า คือ วิธีการสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ให้มีคุณภาพใช้ได้ดีกว่าสินค้าที่มีอยู่ก่อน และเพื่อให้ได้ต้นทุนการผลิตในราคาต่ำโดยประชุมปรึกษาหารือกันถึงข้อดีข้อเสียต่าง ๆ จนได้รูปทรงและลวดลายที่พอใจ ก็จะนำไปปรึกษาหารือกับนายเอิร์น อีริค แวกเนอร์ ว่าจะทำแม่พิมพ์ได้หรือไม่ หากทำไม่ได้ก็ต้องเขียนร่างรูปทรงและลวดลายแบบปากกากันใหม่หากทำได้นายเอิร์น อีริค แวกเนอร์ จะไปเขียนแบบที่ถูกต้องและทำหุ่นจำลองต่อจากนั้นก็ทำการออกแบบชิ้นส่วนแม่พิมพ์ ออกแบบอีเล็กโทรด หรือแท่งทองแดงที่ใช้ในการทำแม่พิมพ์ ทำอีเล็กโทรด และทำแม่พิมพ์เพื่อใช้ในการทำปากกาโจทก์ทั้งสี่ได้คิดค้นออกแบบและผลิตปากกาออกจำหน่ายมากแล้วหลายแบบ แต่ที่ได้รับความนิยมจากผู้ใช้มากมี 2 แบบคือ ปากกาแคนดี้ คอมแพค และปากกาแลนเซอร์ คาเดท สำหรับปากกาแคนดี้ คอมแพค กรรมการและลูกจ้างของโจทก์ทั้งสี่ได้ร่วมกันคิดค้นออกแบบและทำหุ่นจำลองขึ้นระหว่างปี 2522 ถึงปี 2524 ส่วนปากกาแลนเซอร์ คาเดท กรรมการและลูกจ้างของโจทก์ทั้งสี่ได้ร่วมกันคิดค้นออกแบบและทำหุ่นจำลองขึ้นในระหว่างปี 2524 ถึงปี 2526เมื่อคิดค้นออกแบบทำหุ่นจำเลย ทำอีเล็ก โทรด และทำแม่พิมพ์เสร็จแล้วโจทก์ที่ 1 ได้ผลิตปากกาแคนดี้ คอมแพค ให้โจทก์ที่ 2 นำออกโฆษณาวางจำหน่ายในท้องตลาดเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2526 และโจทก์ที่ 1ได้ผลิตปากกาแลนเซอร์ คาเดท ให้โจทก์ที่ 4 นำออกโฆษณาวางจำหน่ายในท้องตลาดเมื่อเดือนกันยายน 2527 สำหรับเอกสารเกี่ยวกับแบบพิมพ์หุ่นจำลองของปากกา อีเล็กโทรด และแม่พิมพ์ของปากกาทั้งสองแบบดังกล่าว ได้เก็บไว้เป็นความลับในโรงงานของโจทก์ที่ 1 และที่ 3 บุคคลภายนอกไม่สามารถนำออกไปได้ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ในทางการค้าของโจทก์ทั้งสี่ ปรากฏตามรายงานกระบวนพิจารณาที่ศาลชั้นต้นไปเผชิญสืบโรงงานของโจทก์ที่ 1 และที่ 3ว่า ที่อาคารชั้น 3 มีกระดาษสเก็ตซ์ รูปแบบของปากกา สถานที่เขียนแบบตามห้องต่าง ๆ และมีรูปแบบพิมพ์จำนวนมาก ซึ่งมีรายละเอียดชิ้นส่วนรูปแบบของปากกาในแบบพิมพ์รวมทั้งหุ่นจำลองชิ้นส่วนรูปแบบของปากกา ปรากฏรายละเอียดตามภาพถ่ายหมาย จ.86 แสดงให้เห็นว่าก่อนที่โจทก์ที่ 1 จะผลิตปากกาแคนดี้ คอมแพค และปากกาแลนเซอร์ คาเดท ออกจำหน่ายได้ต้องมีการดำเนินงานเป็นขั้นตอนหลายขั้นตอน ตั้งแต่การออกสำรวจและทำการวิจัยทางการตลาดเพื่อทราบความนิยมและความต้องการของผู้ใช้ปากกาลูกลื่นแล้วนำข้อมูลที่ได้จากการวิจัยมาให้กรรมการและลูกจ้างของโจทก์ทั้งสี่ทำการคิดค้นรูปทรงและลวดลายของปากกา โดยยกร่างในกระดาษและปรึกษาหารือกันจนได้รูปทรงและลวดลายเป็นที่พอใจ จึงได้มีการเขียนแบบทำหุ่นจำลองออกแบบชิ้นส่วนแม่พิมพ์ ออกแบบอีเล็กโทรด หรือแท่งทองแดงที่ใช้ในการทำแม่พิมพ์ ทำอีเล็กโทรดทำแม่พิมพ์และผลิตปากกาทั้งสองแบบดังกล่าวออกจำหน่าย จึงถือได้ว่านายยูเลี่ยน ไมเคิล ฮาร์เลย์ ดีเลย์ นายปิ อนาวิลนายขจร ลิมปนเทวินทร์ และนายเอิร์น อีริค แวกเนอร์ กรรมการและลูกจ้างของโจทก์ทั้งสี่เป็นผู้ทำและก่อให้เกิดงานแบบปากกาทั้งสองแบบดังกล่าวขึ้นโดยความคิดริเริ่มของตนเอง งานออกแบบปากกาทั้งสองแบบดังกล่าว ประกอบด้วยงานแบบพิมพ์รูปลักษณะปากกาและชิ้นส่วนแม่พิมพ์ งานหุ่นจำลอง งานอีเล็กโทรดหรือแท่งทองแดงที่ใช้ในการทำแม่พิมพ์ งานแม่พิมพ์ และงานรูปทรงและลวดลายตัวปากกา นายสุกิตติ กลางวิสัย ซึ่งสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก ในวิชาการออกแบบอุตสาหกรรมจากมหาวิทยาลัยแห่งมลรัฐโอไฮโอ ประเทศสหรัฐอเมริกาและรับราชการเป็นอาจารย์สอนวิชาออกแบบทั้งออกแบบผลิตภัณฑ์และออกแบบอุตสาหกรรมที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเป็นอุปนายกสมาคมนักออกแบบอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เบิกความเป็นพยานโจทก์ว่า ปากกาตัวอย่างตามวัตถุพยานหมาย จ.16 และ จ.17 ซึ่งหมายถึงปากกาแคนดี้ คอมแพค และปากกาแลนเซอร์ คาเดท เข้าข่ายเป็นงานศิลปกรรมประเภทงานประติมากรรม และประเภทงานศิลปประยุกต์เพราะมีรูปทรงที่ดึงดูดสายตา ก่อให้เกิดปฏิกิริยาแก่ผู้พบเห็นและสามารถนำไปใช้สอยเป็นประโยชน์ได้ศาลฎีกาเห็นว่าพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 มาตรา 4 บัญญัติว่า”ในพระราชบัญญัตินี้ “ผู้สร้างสรรค์” หมายความว่า ผู้ทำหรือก่อให้เกิดงานโดยความคิดริเริ่มของตนเอง “ศิลปกรรม” หมายความว่างานอันมีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างดังต่อไปนี้ (1)งานจิตรกรรม ได้แก่งานสร้างสรรค์รูปทรงที่ประกอบด้วยเส้น แสง สีหรือสิ่งอื่นอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่ารวมกันลงบนวัสดุอย่างเดียวหรือหลายอย่าง (2) งานประติมากรรม ได้แก่งานสร้างสรรค์รูปทรงที่เกี่ยวกับปริมาตรที่สัมผัสและจับต้องได้(7) งานศิลปประยุกต์ ได้แก่ งานที่นำเอางานตาม (1) ถึง (6) อย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างรวมกันไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นนอกเหนือจากการชื่นชมในคุณค่าของตัวงานดังกล่าวนั้น เช่นนำไปใช้สอย นำไปตกแต่งวัสดุหรือสิ่งของอันเป็นเครื่องใช้ หรือนำไปใช้เพื่อประโยชน์ทางการค้า ทั้งนี้ไม่ว่าจะมีคุณค่าทางศิลปหรือไม่” เห็นได้ว่าแบบปากกาเคนดี้ คอมแพค และแบบปากกาแลนเซอร์คาเดท เป็นงานสร้างสรรค์อันเกิดจากการนำเอาการสร้างแบบพิมพ์รูปลักษณะของปากกาและแบบแม่พิมพ์ซึ่งเขียนด้วยลายเส้นประกอบเป็นรูปทรงอันเข้าลักษณะศิลปกรรมประเภทงานจิตรกรรมและการสร้างแม่พิมพ์กับหุ่นจำลองของปากกาดังกล่าว ซึ่งเป็นงานสร้างสรรค์รูปทรงที่เกี่ยวกับปริมาตรที่สัมผัสและจับต้องได้ อันเข้าลักษณะศิลปกรรมประเภทงานประติมากรรมมาประกอบเข้าด้วยกันและสร้างขึ้นเป็นปากกาเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการขีดเขียนและเพื่อประโยชน์ทางการค้าอันเป็นประโยชน์อย่างอื่นนอกเหนือจากการชื่นชมในคุณค่าของตัวงานจิตรกรรมและประติมากรรมดังกล่าว งานสร้างสรรค์แบบปากกาทั้งสองแบบจึงเป็นงานศิลปประยุกต์อันอาจได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521ทั้งนี้ไม่ว่าจะมีคุณค่าทางศิลปหรือไม่ หากปรากฏว่างานนั้นผู้สร้างสรรค์ได้ทำหรือก่อให้เกิดงานนั้นด้วยความคิดริเริ่มของตนเองโดยมิได้ทำซ้ำหรือดัดแปลงจากงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานนั้นนายยูเลียน ไมเคิล ฮาร์เลย์ ดีเลย์ นายปอ อนาวิลนายขจร ลิมปนเทวินทร์ กรรมการโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 และนายเอิร์น อีริค แวกเนอร์ ผู้รับจ้างจากโจทก์ที่ 1 ได้สร้างสรรค์ขึ้นขณะที่อยู่ในราชอาณาจักร บุคคลทั้งสี่จึงเป็นผู้มีลิขสิทธิ์ในแบบปากกาแคนดี้ คอมแพค และแบบปากกาแลนเซอร์ คาเดทอันเป็นงานศิลปประยุกต์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521มาตรา 6 ประกอบด้วยมาตรา 4 หลังจากที่ได้ออกแบบปากกาแคนดี้ คอมแพค และปากกาแลนเซอร์ คาเดท เสร็จแล้วบุคคลทั้งสี่ได้ทำหนังสือสัญญาโอนลิขสิทธิ์ในแบบปากกาดังกล่าวให้แก่โจทก์ ทั้งสี่โจทก์ทั้งสี่จึงเป็นผู้ได้ไปซึ่งลิขสิทธิ์และเป็นผู้มีลิขสิทธิ์ในแบบปากกาแคนดี้ คอมแพค และแบบปากกาแลนเซอร์ คาเดทตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 มาตรา 7, 8 และ 15โจทก์ทั้งสี่ย่อมได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย
ข้อที่โจทก์ทั้งสี่ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 และที่ 6ถึงที่ 13 ได้ร่วมกันกระทำละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์และเป็นการละเมิดต่อโจทก์ ทั้งสี่นั้น ข้อนี้ปรากฏจากพยานหลักฐานของโจทก์ทั้งสี่ว่า หลังจากที่โจทก์ที่ 1 ผลิตปากกาแคนดี้ คอมแพค ให้โจทก์ที่ 2 นำออกโฆษณาและจำหน่ายแล้ว ต่อมาประมาณเดือนมกราคม 2527 นายปอ อนาวิล ไปซื้อของที่ร้ายฝันถึง เห็นพนักงานในร้ายใช้ปากกาที่มีลักษณะคล้ายคลึง กับปากกาแคนดี้ คอมแพค จึงได้ขอแลกเปลี่ยนปากกาดังกล่าวมาให้นายเอิร์น อีริค แวกเนอร์ และกรรมการของโจทก์ทั้งสี่ดูปากกาดังกล่าวคือปากกาจ๊อตจอย ที่จำเลยที่ 1 ทำการผลิตขึ้นปรากฏว่าท่อนบนของปากกาจ๊อตจอย เหมือนกับปากกาแคนดี้ คอมแพคคล้ายกับทำจากแม่พิมพ์อันเดียวกัน ส่วนท่อนล่างเหมือนกับหุ่นจำลองปากกาแคนดี้ คอมแพค แบบเฟมินิน สำหรับสตรีใช้ ซึ่งโจทก์ทั้งสี่ได้ออกแบบและทำหุ่นจำลองไว้แล้วแต่ยังมิได้ทำการผลิตออกจำหน่ายโจทก์ทั้งสี่คิดว่าจะต้องมีการลอกเลียนแบบปากกาของโจทก์ทั้งสี่จึงได้มีการตรวจสอบภายในสำนักงานของโจทก์ที่ 1 และที่ 3ปรากฏว่าแบบพิมพ์เขียวต้นฉบับของปากกาแคนดี้ คอมแพค รวมทั้งแบบเฟมินิน หายไปหลายฉบับ นอกจากนี้ อิเล็กโทรด และแม่พิมพ์ปากกาแคนดี้ คอมแพค ก็หายไปด้วย โจทก์ทั้งสี่สงสัยว่าจำเลยที่ 11จะเป็นผู้ลักไป จึงไปแจ้งความต่อเจ้าพนักงานตำรวจและนำเจ้าพนักงานตำรวจไปค้นบ้านพักของจำเลยที่ 11 พบแบบพิมพ์เขียวปากกาแคนดี้ คอมแพค จำนวน 11 ฉบับแฟ้มเก็บเอกสารพร้อมเอกสาร 4 แฟ้ม อีเล็กโทรด ปลอกปากกา และเอกสารเกี่ยวกับการเสนอราคาและการรับจึง ผลิตแม่พิมพ์ปากกาแคนดี้ คอมแพคที่จำเลยที่ 9 ในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 8เสนอราคาและตกลงรับจ้างผลิตแม่พิมพ์ปากกาแคนดี้ คอมแพคให้แก่จำเลยที่ 1 นอกจากนี้ยังพบรายชื่อลูกจ้างของโจทก์ที่ 1และที่ 3 ที่ไปร่วมทำแม่พิมพ์กับจำเลยที่ 11 ซึ่งมีจำเลยที่ 12 และที่ 13 รวมอยู่ด้วย ต่อมาจำเลยที่ 12 และที่ 13 ได้ทำบันทึกยอมรับว่าได้ร่วมกับจำเลยที่ 11 ทำแม่พิมพ์ปากกาลูกลื่นเลียนแบบปากกาแคนดี้ คอมแพค ที่โรงงานของจำเลยที่ 8 โจทก์ที่ 1 และที่ 3จึงไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 11 ต่อมาจำเลยที่ 11 ถูกฟ้องเป็นคดีอาญาในข้อหาเอาไปเสียซึ่งเอกสารของผู้อื่นในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นและลักทรัพย์หรือรับของโจร ศาลอาญาพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยที่ 11 ไว้มีกำหนด 4 ปี ปรากฏตามสำเนาคำพิพากษาในคดีหมายเลขแดงที่ 2549/2529 ของศาลอาญาเอกสารหมาย จ.109 หลังจากแจ้งความดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 11 แล้ว โจทก์ที่ 11 และที่ 3ยังตรวจพบอีกว่าแบบพิมพ์เกี่ยวกับการออกแบบปากกาแลนเซอร์คาเดท และปากกาแบบอื่น ๆ ที่เก็บไว้ในโรงงานผลิตแม่พิมพ์หายไปด้วย โจทก์ที่ 1 และที่ 3 ได้ไปแจ้งความเพิ่มเติม ต่อมาโจทก์ที่ 1 ผลิตปากกาแลนเซอร์ คาเดท ให้โจทก์ที่ 4 นำออกโฆษณาวางจำหน่ายในท้องตลาดเมื่อเดือนกันยายน 2527 หลังจากนั้นโจทก์ที่ 1 ทราบว่าโรงกลึงไปรเกส ได้รับจ้างจำเลยที่ 1 ทำแม่พิมพ์ปากกาลูกลื่นที่มีท่อนล่างลักษณะเหมือนปากกาแลนเซอร์ คาเดทโจทก์ที่ 1 จึงพาเจ้าพนักงานตำรวจไปตรวจที่โรงกลึงดังกล่าวพบชิ้นส่วนท่อนล่างของปากกามีลักษณะเหมือนกับปากกาแลนเซอร์คาเดท วางอยู่บนโต๊ะของนายโสภณ เหมนิธิพัฒนนันท์ จากการสอบสวนนายโสภณได้ความว่า จำเลยที่ 1 นำหุ่นจำลองทองเหลือและแบบร่างบนกระดาษมาให้ดูเป็นตัวอย่าง แล้วจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 3 ทำสัญญาจ้างโรงกลึงโปรเกส ได้ให้ผลิตแม่พิมพ์ให้ปรากฏตามสัญญาว่าจ้างผลิต MOULD เอกสารหมาย จ.28 นายโสภณบอกด้วยว่าชิ้นส่วนอื่นของปากกา จำเลยที่ 11 ถึงที่ 13 ไปทำแม่พิมพ์ที่โรงงานของจำเลยที่ 8 โจทก์ที่ 2 ได้มีหนังสือแจ้งให้จำเลยที่ 1ที่ 8 และโรงกลึงโปรเกส ได้ ทราบว่าโจทก์ที่ 2 เป็นผู้มีลิขสิทธิ์ในแบบปากกาแคนดี้ คอมแพค และแลนเซอร์ คาเดท ขอให้จำเลยที่ 1 ยุติการผลิตและจำหน่ายปากกาลูกลื่นที่เลียนแบบปากกาแคนดี้ คอมแพค และเลิกล้มความตั้งใจที่จะผลิตปากกาแบบแลนเซอร์คาเดท ขอให้จำเลยที่ 8 อย่าได้ผลิตแม่พิมพ์ปากกาทั้งสองแบบและขอให้โรงกลึงโปรเกส ได้ หยุดการผลิตแม่พิมพ์เลียนแบบปากกาแลนเซอร์ คาเดท แต่ปรากฏว่าหลังจากจำเลยดังกล่าวได้รับหนังสือนั้นแล้ว จำเลยที่ 1 ได้ผลิตและจำหน่ายปากกาติ๊กแต๊ก ซึ่งมีลักษณะคล้ายคลึง กับปากกาแลนเซอร์ คาเดท กับยังคงจำหน่ายปากกาจ๊อตจอย ซึ่งเลียนแบบปากกาแคนดี้ คอมแพค ต่อไป โดยได้มีการดัดแปลงบางส่วนของปากกาแลนเซอร์ คาเดท และไม่มีลักษณะเป็นการจัดทำงานขึ้นใหม่ออกวางจำหน่ายในท้องตลาดในเรื่องปากกาจ๊อตจอยจำเลยที่ 3 รับว่าจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 3 ได้ว่าจ้าง จำเลยที่ 8และที่ 11 ทำแม่พิมพ์ โดยทำสัญญาว่าจ้างกับจำเลยที่ 8 และจำเลยที่ 3 ได้มอบหุ่นจำลองปากกาจ๊อตจอย ให้จำเลยที่ 11 ไป จำเลยที่ 3ยังให้จำเลยที่ 11 ทำแบบ 16 แควิตี้ ของปากกาจ๊อตจอย ให้ แล้วจำเลยที่ 3 ได้ว่าจ้างจำเลยที่ 8 ทำแม่พิมพ์ให้ ส่วนปากกาติ๊กแต๊กจำเลยที่ 1 ก็รับว่า จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 3 ได้นำหุ่นจำลองท่อนล่างไปจ้างโรงกลึงโปรเกส ได้ ทำแม่พิมพ์ แต่ท่อนบนทั้งหมดจำเลยที่ 1 ได้จ้างจำเลยที่ 8 ทำแม่พิมพ์ จำเลยที่ 9 และที่ 11เบิกความในทำนองเดียวกันว่า จำเลยที่ 11 พาจำเลยที่ 3 มาที่โรงงานของจำเลยที่ 8 ซึ่งจำเลยที่ 9 เป็นผู้ดำเนินกิจการโดยได้นำหุ่นจำลองปากกาคล้ายปากกาจ๊อตจอย มาให้จำเลยที่ 9 ดูด้วยจำเลยที่ 1 ได้ว่าจ้างจำเลยที่ 11 ทำแม่พิมพ์ ที่โรงงานของจำเลยที่ 8 โดยจำเลยที่ 9 เป็นผู้ทำใบเสนอราคารับจ้างและจำเลยที่ 9 ได้ทำสัญญารับจ้างกับจำเลยที่ 1 นอกจากนี้จำเลยที่ 11 และที่ 13 เบิกความว่า จำเลยที่ 11 เคยนำแบบพิมพ์ปากกาของโจทก์ทั้งสี่ไปศึกษาที่บ้านจำเลยที่ 11 ได้ทำแม่พิมพ์ให้จำเลยที่ 1 ที่โรงงานของจำเลยที่ 8 โดยจำเลยที่ 12 และที่ 13ได้ร่วมทำกับจำเลยที่ 11 ด้วย จำเลยที่ 11 รับว่าเจ้าพนักงานตำรวจไปค้นบ้านพักของจำเลยที่ 11 ได้ของกลางหลายอย่าง ซึ่งมีแบบพิมพ์ปากกาแคนดี้ คอมแพค อีเล็กโทรด หรือแท่งทองแดงที่ใช้ในการทำแม่พิมพ์และแบบพิมพ์เขียวของปากกาคลิคทู (CLIC II) หรือแลนเซอร์ คาเดท ทั้งชุดอยู่ด้วย และจำเลยที่ 13 ก็เบิกความรับว่าจำเลยที่ 13 ได้เขียนบันทึกว่าได้ร่วมกับจำเลยที่ 11 ทำแม่พิมพ์ปากกาลูกลื่นเลียนแบบปากกาแคนดี้ คอมแพค และลงลายมือชื่อไว้ตามเอกสารหมาย จ.25 แผ่นที่ 2 จริง คำเบิกความของจำเลยดังกล่าวเจือสมก

Share