แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
นายอำเภอขอความร่วมมือจากประชาชนให้ร่วมกันพัฒนาบริเวณที่เกิดเหตุ จำเลยที่ 2 ได้ตัดฟันต้นไม้ของโจทก์ในบริเวณนั้นโดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นของโจทก์ทั้งจำเลยที่ 2 เคยตัดฟันต้นไม้ของโจทก์มาก่อนจนถูกฟ้องมาแล้วครั้งหนึ่ง แสดงว่าจำเลยที่ 2 มีเจตนาทำให้ทรัพย์ของโจทก์เสียหาย การที่นายอำเภอขอความร่วมมือดังกล่าว เป็นแต่เพียงคำแนะนำ จำเลยที่ 2 จะกระทำหรือไม่กระทำตามก็ได้ มิได้มีลักษณะเป็นคำสั่งตามความหมายของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 70 อันจะทำให้จำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับโทษ การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ และที่ ๔ ร่วมกันตัดฟันทำลายต้นกล้วย ต้นมะละกอ ต้นหมาก ต้นขนุน ต้นมะม่วง และตะไคร้ของโจทก์ตามที่จำเลยที่ ๑ ใช้ แล้วจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ และที่ ๔ ร่วมกันลักเอาผลกล้วย ๑๐ เครือ มะละกอ ๑๐ ผล ของโจทก์ไปโดยทุจริต ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓๕, ๓๕๘, ๘๔, ๘๓, ๙๑
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูลให้ประทับฟ้อง
จำเลยทั้งสี่ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ ๑ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๕๘, ๘๔ จำคุก ๑ ปี จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ และที่ ๔ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๕๘, ๓๓๕, ๘๓, ๙๑ ฐานร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ จำคุกคนละ ๑ ปี ฐานลักทรัพย์จำคุกคนละ ๑ ปี รวมจำคุกจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ และที่ ๔ คนละ ๒ ปี
โจทก์และจำเลยทั้งสี่อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงไม่น่าเชื่อว่าจำเลยที่ ๑ จะไปเป็นผู้นำชี้ให้จำเลยที่ ๒ ตัดฟันต้นไม้ของโจทก์ ส่วนกรณีของจำเลยที่ ๒ นั้นนอกจากตัวโจทก์และนางสาวเบญจมาศจะเบิกความยืนยันว่า จำเลยที่ ๒ ตัดฟันต้นไม้ของโจทก์แล้ว จำเลยที่ ๒ เองก็เบิกความรับว่า จำเลยที่ ๒ ได้ตัดต้นไม้ดังกล่าว โดยจำเลยที่ ๒ ทราบอยู่แล้วว่าเป็นต้นไม้ของโจทก์ ทั้งจำเลยที่ ๒ เคยตัดฟันไม้ของโจทก์มาก่อนจนถูกฟ้องมาแล้วครั้งหนึ่ง ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ ๒๔๓๙/๒๕๒๗ ของศาลแขวงราชบุรี ซึ่งคดีดังกล่าวโจทก์ซึ่งเป็นผู้เสียหายขอถอนคำร้องทุกข์ไปเพราะจำเลยที่ ๒ ยินยอมชำระค่าเสียหายให้โจทก์ ๕๐๐ บาท ตามพฤติการณ์จึงแสดงว่าจำเลยที่ ๒ เจตนาทำให้ต้นไม้ของโจทก์เสียหาย ที่จำเลยที่ ๒ อ้างว่าทำตามคำสั่งของนายทวีนายอำเภอปากท่อและศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า จำเลยที่ ๒ ไม่ต้องรับโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๐ นั้นเห็นว่า การที่นายอำเภอขอความร่วมมือจากประชาชนให้ร่วมกันพัฒนาบริเวณที่เกิดเหตุ เป็นแต่เพียงคำแนะนำ จำเลยที่ ๒ จะกระทำหรือไม่กระทำตามก็ได้มิได้มีลักษณะเป็นคำสั่งตามความหมายของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๐ เมื่อจำเลยที่ ๒ เจตนาทำให้ทรัพย์ของโจทก์เสียหาย การกระทำของจำเลยที่ ๒ จึงเป็นความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๕๘
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ ๒ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๕๘ จำคุก ๑ ปี และปรับ ๑,๐๐๐ บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๕๖ มีกำหนด ๒ ปี หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙, ๓๐ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์