คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6229/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ได้มอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนให้โจทก์แล้ว สัญญาเช่าซื้อระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1เป็นอันเลิกกัน ประเด็นข้อพิพาทที่ศาลอุทธรณ์ต้องวินิจฉัยมีว่าจำเลยที่ 1 ได้บอกเลิกสัญญาเช่าซื้อโดยนำรถยนต์ที่เช่าซื้อไปส่งคืนให้แก่โจทก์แล้วหรือไม่ เพราะถ้าข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่จำเลยที่ 1 ให้การต่อสู้ สัญญาเช่าซื้อระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 573 การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า แม้ข้อเท็จจริงจะรับฟังได้ตามที่จำเลยที่ 1 และที่ 3นำสืบก็ตาม แต่เมื่อโจทก์และจำเลยที่ 3 ไม่ได้ทำสัญญาเช่าซื้อต่อกันไว้สัญญาเช่าซื้อระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงยังไม่ระงับไปนั้น ถือได้ว่าศาลอุทธรณ์ยังไม่ได้วินิจฉัยชี้ขาดข้อเท็จจริงในประเด็นข้อพิพาทที่คู่ความโต้เถียงกัน คดีนี้มีทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาท ห้ามมิให้คู่ความฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่งจำเลยที่ 1 คงฎีกาได้เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายแต่ในการวินิจฉัยปัญหาเช่นว่านี้ ศาลฎีกาจำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวน เมื่อศาลอุทธรณ์ยังมิได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงในปัญหาที่ว่า จำเลยที่ 1 ได้บอกเลิกสัญญาเช่าซื้อโดย นำรถยนต์ที่เช่าซื้อไปส่งคืนให้แก่โจทก์และตกลงให้จำเลยที่ 3 เป็นผู้เช่าซื้อแทนหรือไม่แล้ว ศาลฎีกาย่อมมิอาจวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ว่าสัญญาเช่าซื้อระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ระงับไปแล้วได้เพราะข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ฟังมาไม่พอแก่การวินิจฉัยข้อกฎหมายดังกล่าว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2529 จำเลยที่ 1ได้เช่าซื้อรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน น-4625 เลย ไปจากโจทก์ในราคา 280,400 บาท ชำระค่าเช่าซื้อในวันทำสัญญา 50,000 บาทที่เหลือจะผ่อนชำระเป็นเวลา 48 เดือน เดือนละ 4,800 บาทเริ่มชำระเดือนแรกวันที่ 28 พฤษภาคม 2529 และทุกวันที่28 ของเดือนถัดไป จนกว่าจะชำระเสร็จ จำเลยที่ 1 ได้รับรถยนต์ที่เช่าซื้อไปแล้ว การทำสัญญาเช่าซื้อของจำเลยที่ 1ดังกล่าวมีจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นภรรยาของจำเลยที่ 1 เป็นผู้ค้ำประกันโดยยอมรับผิดกับจำเลยที่ 1 อย่างลูกหนี้ร่วม จำเลยที่ 1ชำระค่าเช่าซื้อให้โจทก์จนถึงงวดวันที่ 28 กรกฎาคม 2531แล้วไม่ชำระอีกเลย ต่อมาเมื่อวันที่ 21 กันยายน 2531 จำเลยที่ 3ได้แจ้งความต่อพันตำรวจโทสมัย ศรีเกตุ พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอภูกระดึง จังหวัดเลยว่า เมื่อวันที่20 กันยายน 2531 เวลาประมาณ 19 นาฬิกา จำเลยที่ 3ได้นำรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน น-4625 เลย ที่เช่าซื้อมาจากจำเลยที่ 1 ในราคา 190,000 บาท และเป็นรถคันเดียวกันกับที่จำเลยที่ 1 เช่าซื้อไปจากโจทก์จอดไว้ที่หลังบ้านของจำเลยที่ 3แล้วหายไปการกระทำของจำเลยที่ 3 เป็นการกระทำด้วยความประมาทเลินเล่อ จอดรถไว้ในสถานที่ซึ่งไม่ใช่สถานที่เก็บรักษารถทั้งการที่จำเลยที่ 3 ครอบครองรถที่จำเลยที่ 1 เช่าซื้อไปจากโจทก์โดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ เป็นการผิดสัญญาเช่าซื้อของจำเลยที่ 1 ทั้งจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าเช่าซื้อสองงวดติดต่อกันการครอบครองรถของจำเลยที่ 3 จึงเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายและละเมิดต่อโจทก์ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ซึ่งจำเลยทั้งสามต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ คือค่าเสียหายตั้งแต่วันที่28 กรกฎาคม 2531 ซึ่งเป็นวันชำระค่าเช่าซื้อครั้งสุดท้ายถึงวันที่ 21 กันยายน 2531 ซึ่งเป็นวันรถหายรวมเวลา 55 วันซึ่งโจทก์อาจนำรถออกให้เช่าได้ค่าเช่าไม่น้อยกว่าวันละ 200 บาท เป็นเงิน 11,000 บาท รถยนต์คันดังกล่าวขณะหายไปมีราคาไม่น้อยกว่า 180,000 บาท รวมเป็นค่าเสียหาย 191,000 บาทโจทก์ทวงถามแล้วแต่จำเลยทั้งสามเพิกเฉย ขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 191,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ได้มอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนให้โจทก์แล้วตั้งแต่เดือนมกราคม 2530 สัญญาเช่าซื้อระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงเป็นอันเลิกกันและในวันที่จำเลยที่ 1มอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนให้โจทก์ โจทก์ได้มอบรถยนต์คันดังกล่าวให้จำเลยที่ 3 ครอบครองต่อไปโดยให้จำเลยที่ 3 ชำระเงินเป็นค่าครอบครองการใช้รถตลอดมาเป็นรายเดือน เท่ากับค่าเช่าซื้อตามสัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 ไม่ได้เกี่ยวข้องกับรถยนต์ที่เช่าซื้ออีกเลย ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ได้ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนให้โจทก์ตั้งแต่เดือนมกราคม 2530 เมื่อโจทก์รับรถยนต์คืนมาแล้วได้ให้จำเลยที่ 3 เช่าซื้อรถยนต์คันดังกล่าวต่อไปในราคา190,000 บาท ผ่อนชำระเดือนละ 4,800 บาท เป็นเวลา40 เดือน โดยไม่ได้ทำสัญญากันเป็นหนังสือ แต่อาศัยข้อตกลงและเงื่อนไขตามสัญญาเช่าซื้อระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 3ได้ชำระค่าเช่าซื้อให้โจทก์เรื่อยมาเป็นเวลา 19 เดือน เป็นเงิน91,200 บาท เนื่องจากการเช่าซื้อระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 3ไม่ได้ทำสัญญาเป็นหนังสือจึงเป็นโมฆะ โจทก์ต้องคืนเงินค่าเช่าซื้อจำนวนดังกล่าวแก่จำเลยที่ 3 ในฐานลาภมิควรได้ ขณะที่จำเลยที่ 3 รับรถยนต์ไปจากโจทก์ รถยนต์มีสภาพและราคาเพียง90,000 บาท ไม่เกินกว่าจำนวนเงินที่โจทก์ต้องคืนแก่จำเลยที่ 3โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหาย ทั้งการที่รถยนต์หายไปก็ไม่ได้เกิดจากความผิดของจำเลยที่ 3 เพราะจำเลยที่ 3 ได้ใช้ความระมัดระวังในการเก็บรักษารถยนต์ตามสมควรเยี่ยงวิญญูชนแล้วขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 80,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 1 เกี่ยวกับเรื่องสัญญาเช่าซื้อระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ที่ว่าสัญญาดังกล่าวยังไม่ระงับไปเป็นการชอบหรือไม่เห็นว่า จำเลยที่ 1 ให้การว่าจำเลยที่ 1 ได้มอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนให้โจทก์แล้ว สัญญาเช่าซื้อระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นอันเลิกกัน ประเด็นข้อพิพาทที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1ต้องวินิจฉัยมีว่าจำเลยที่ 1 ได้บอกเลิกสัญญาเช่าซื้อโดยนำรถยนต์ที่เช่าซื้อไปส่งคืนให้แก่โจทก์แล้วหรือไม่เพราะถ้าข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่จำเลยที่ 1 ให้การต่อสู้สัญญาเช่าซื้อระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 573 การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่า แม้ข้อเท็จจริงจะรับฟังได้ตามที่จำเลยที่ 1 และที่ 3 นำสืบก็ตาม แต่เมื่อโจทก์และจำเลยที่ 3 ไม่ได้ทำสัญญาเช่าซื้อต่อกันไว้ สัญญาเช่าซื้อระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงยังไม่ระงับไปนั้น ถือได้ว่าศาลอุทธรณ์ภาค 1 ยังไม่ได้วินิจฉัยชี้ขาดข้อเท็จจริงในประเด็นข้อพิพาทที่คู่ความโต้เถียงกัน คดีนี้มีทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาท ห้ามมิให้คู่ความฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคแรกจำเลยที่ 1 คงฎีกาได้เฉพาะปัญหาข้อกฎหมาย แต่ในการวินิจฉัยปัญหาเช่นว่านี้ศาลฎีกาจำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1ได้วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวน เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 1 ยังมิได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงในปัญหาที่ว่า จำเลยที่ 1 ได้บอกเลิกสัญญาเช่าซื้อโดยนำรถยนต์ที่เช่าซื้อไปส่งคืนให้แก่โจทก์และตกลงให้จำเลยที่ 3 เป็นผู้เช่าซื้อแทนหรือไม่แล้ว ศาลฎีกาย่อมมิอาจวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ว่าสัญญาเช่าซื้อระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ระงับไปแล้วได้ เพราะข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ฟังมาไม่พอแก่การวินิจฉัยข้อกฎหมายดังกล่าว
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ให้ศาลอุทธรณ์ภาค 1วินิจฉัยข้อเท็จจริงในปัญหาดังกล่าวให้สิ้นกระแสความก่อนแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

Share