แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
การที่จำเลยที่ 1 ใช้อาวุธมีดแทงผู้ตายไปที่บริเวณหน้าอกซ้าย เอวข้างซ้าย ศีรษะด้านซ้าย ใบหูซ้ายและแขนข้างซ้ายรวม 16 แผล โดยเฉพาะบาดแผลที่หน้าอกซ้ายทะลุช่องซี่โครงซ้ายตัดกระดูกทะลุโดนปอดซ้ายกลีบบนและเฉี่ยวเยื่อหุ้มหัวใจบาดแผลลึกถึง 16 เซนติเมตร บาดแผลที่สีข้างลึก 6 เซนติเมตร โดยกระเพาะอาหารซึ่งแพทย์ระบุถึงเหตุการตายว่าบาดแผลของมีคมทำลายปอดและกระเพาะอาหาร จากบาดแผลดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 ใช้อาวุธมีดแทงผู้ตายโดยแรงหลายครั้งจนบาดแผลลึกถึง 16 เซนติเมตร ทั้งเป็นบริเวณสำคัญของร่างกายอันเป็นอวัยวะส่วนสำคัญที่จำเลยที่ 1 ย่อมเล็งเห็นผลว่าอาจทำให้ถึงแก่ความตายได้ เมื่อผู้ตายถึงแก่ความตายจากบาดแผลที่จำเลยที่ 1 แทง จำเลยที่ 1 จึงมีความผิดฐานฆ่าคนตายโดยเจตนา
แม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 8 เป็นพวกจำเลยที่ 1 กลับจากงานแต่งงานมาถึงที่เกิดเหตุและอยู่ในเหตุการณ์ขณะที่จำเลยที่ 1 กำลังต่อสู้กับผู้ตายด้วยก็ตาม แต่โจทก์ก็ไม่มีประจักษ์พยานมาเบิกความยืนยันเลยว่า เห็นจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ที่ 7 และที่ 8 ยุยงหรือสนับสนุนอันเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกให้จำเลยที่ 1 แทงผู้ตายให้ถึงแก่ความตายแต่อย่างใด การที่ ส. พยานโจทก์อ้างว่าได้ยินเสียงวัยรุ่นทะเลาะกันห่างประมาณ 100 เมตร และได้ยินเสียงร้องตะโกนว่า “เอาให้ตาย” เมื่อไม่ได้ยืนยันว่าเป็นเสียงตะโกนของจำเลยคนใด ก็อาจจะไม่ใช่เสียงร้องตะโกนของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ที่ 7 และที่ 8 ก็ได้ แต่อาจจะเป็นเสียงร้องตะโกนของจำเลยที่ 1 เองก็อาจเป็นได้ พยานโจทก์ฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ที่ 7 และที่ 8 สนับสนุนการกระทำของจำเลยที่ 1
ย่อยาว
โจกท์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งแปดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 288 และบวกโทษจำคุกของจำเลยที่ 1 และที่ 8 ที่รอการลงโทษไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1127/2545 ของศาลชั้นต้น และคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2689/2546 ของศาลแขวงพระนครศรีอยุธยา เข้ากับโทษของจำเลยที่ 1 และที่ 8 ในคดีนี้
จำเลยที่ 1 ให้การต่อสู้อ้างเหตุป้องกัน แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้บวกโทษ
จำเลยที่ 2 ถึงที่ 8 ให้การปฏิเสธ แต่จำเลยที่ 8 รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้บวกโทษ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 จำคุก 20 ปี ทางนำสืบของจำเลยที่ 1 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสี่ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 15 ปี บวกโทษจำคุก 6 เดือน ของจำเลยที่ 1 ที่รอการลงโทษไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1127/2545 ของศาลชั้นต้นเข้ากับโทษของจำเลยที่ 1 ในคดีนี้เป็นจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 15 ปี 6 เดือน ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 8
โจทก์และจำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า เฉพาะจำเลยที่ 2 ถึงที่ 8 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบด้วยมาตรา 86 ให้จำคุกจำเลยที่ 2 ถึงที่ 8 คนละ 10 ปี ทางนำสืบของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 8 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้คนละหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงให้จำคุกจำเลยที่ 2 ถึงที่ 8 คนละ 6 ปี 8 เดือน สำหรับจำเลยที่ 8 ให้บวกโทษจำคุกรอการลงโทษไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2689/2546 ของศาลแขวงพระนครศรีอยุธยาเข้ากับโทษในคดีนี้เป็นจำคุกจำเลยที่ 8 มีกำหนด 6 ปี 9 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ที่ 7 และที่ 8 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยที่ 1 ใช้อาวุธมีดแทงนายสุรัตน์ ผู้ตายหลายครั้ง ผู้ตายมีบาดแผลฉีกขาดขอบเรียบบริเวณหน้าอกซ้าย 4 แผล ที่เอวข้างซ้าย 1 แผล ที่ศีรษะด้านซ้าย 1 แผล ที่ใบหูด้านซ้าย 1 แผล แขนข้างซ้าย 8 แผล ที่เอวซ้ายด้านหลัง 1 แผล รวมบาดแผล 16 แผล ที่ศีรษะด้านหลังขวามีรอยบวมนูนบาดแผลทั้งหมดเกิดจากของมีคม ทำลายปอดและกระเพาะอาหาร ทำให้ถึงแก่ความตาย ตามรายงานการชันสูตรพลิกศพและความเห็นแพทย์ตามรายงานการตรวจศพของสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า จำเลยที่ 1 มีเจตนาฆ่าผู้ตายหรือไม่ ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาอ้างว่า จำเลยที่ 1 ไม่มีเจตนาฆ่าผู้ตาย จำเลยที่ 1 มีเจตนาเพียงเตะผู้ตายเพื่อสั่งสอนผู้ตายที่เคยทำร้ายร่างกายพี่ชายของจำเลยที่ 1 จนได้รับบาดเจ็บสาหัสเท่านั้น เห็นว่า การที่จำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายก่อเหตุขึ้นก่อน โดยเตะที่ขาขวาของผู้ตายซึ่งมีรูปร่างเล็กกว่าจำเลยที่ 1 แม้ผู้ตายเคยมีเรื่องทำร้ายร่างกายพี่ชายจำเลยที่ 1 จนได้รับบาดเจ็บสาหัสมาก่อนก็ตาม จำเลยที่ 1 ก็ไม่มีสิทธิที่จะเข้าไปเตะผู้ตายก่อน การที่ผู้ตายซึ่งมีรูปร่างเล็กกว่าจำเลยที่ 1 ได้ชักอาวุธมีดที่เหน็บไว้ด้านหลังเงื้อฟันจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 จับข้อมือขวาของผู้ตายไว้ ได้กอดปล้ำต่อสู้กันจนตกลงไปข้างถนนทั้งสองคน จำเลยที่ 1 ถูกผู้ตายฟันที่แขนข้างซ้าย ส่วนที่จำเลยที่ 1 อ้างว่าได้แทงผู้ตายไปหลายครั้ง โดยไม่ทราบว่าถูกที่ใดบ้างนั้น ก็เป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 สมัครใจเข้าต่อสู้กับผู้ตาย แม้จำเลยที่ 1 จะนำสืบอ้างว่าผู้ตายชักอาวุธมีดออกมาฟันถูกแขนซ้ายของจำเลยที่ 1 ก็ตาม ก็เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นขณะที่มีการต่อสู้กัน การที่จำเลยที่ 1 ใช้อาวุธมีดแทงผู้ตายไปหลายครั้งจนถึงแก่ความตาย เมื่อพิเคราะห์ลักษณะบาดแผลของผู้ตายที่บริเวณหน้าอกซ้าย เอวข้างซ้าย ศีรษะด้านซ้าย ใบหูซ้าย และแขนข้างซ้ายรวม 16 แผล โดยเฉพาะบาดแผลที่หน้าอกซ้ายทะลุช่องซี่โครงซ้ายตัดกระดูกทะลุโดนปอดซ้ายกลีบบนและเฉี่ยวเยื้อหุ้มหัวใจ บาดแผลลึกถึง 16 เซนติเมตร บาดแผลที่สีข้างลึก 9 เซนติเมตร โดนกระเพาะอาหาร ซึ่งแพทย์ระบุถึงเหตุการณ์ตายว่าบาดแผลของมีคมทำลายปอดและกระเพาะอาหาร จากบาดแผลดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 ใช้อาวุธมีดแทงผู้ตายโดยแรงหลายครั้งจนบาดแผลลึกถึง 16 เซนติเมตร ทั้งเป็นบริเวณสำคัญของร่างกาย อันเป็นอวัยวะส่วนสำคัญที่จำเลยที่ 1 ย่อมเล็งเห็นผลว่าอาจทำให้ถึงแก่ความตายได้ เมื่อผู้ตายถึงแก่ความตายจากบาดแผลที่จำเลยที่ 1 แทง จำเลยที่ 1 จึงมีความผิดฐานฆ่าคนตายโดยเจตนา ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ที่ 7 และที่ 8 ว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ที่ 7 และที่ 8 ร่วมกันเป็นผู้สนับสนุนในการกระทำผิดของจำเลยที่ 1 หรือไม่ แม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 8 เป็นพวกจำเลยที่ 1 กลับจากงานแต่งงานมาถึงที่เกิดเหตุและอยู่ในเหตุการณ์ขณะที่จำเลยที่ 1 กำลังต่อสู้กับผู้ตายด้วยก็ตาม แต่โจทก์ก็ไม่มีประจักษ์พยานมาเบิกความยืนยันเลยว่าเห็นจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ที่ 7 และที่ 8 ยุยงหรือสนับสนุนอันเป็นการช่วยเหลือ หรือให้ความสะดวกให้จำเลยที่ 1 แทงผู้ตายให้ถึงแก่ความตายแต่อย่างใด ทั้งขณะมาถึงที่เกิดเหตุ จำเลยที่ 1 พบกับผู้ตายโดยบังเอิญ และจำเลยที่ 1 ได้เตะผู้ตายก่อนแล้วทั้งสองได้สมัครใจเข้าต่อสู้กันโดยไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ที่ 7 และที่ 8 ได้เข้าไปช่วยเหลือหรือสนับสนุนให้ความสะดวกก่อนหรือขณะที่จำเลยที่ 1 แทงผู้ตาย โจทก์คงมีแต่นายสมภพ และนายสำเริง มาเบิกความว่าขณะเกิดเหตุพยานทั้งสองพายเรือหาปลาและกบห่างจากจุดเกิดเหตุประมาณคนละ 100 เมตร ได้ยินเสียงกลุ่มวัยรุ่นทะเลาะกันและนายสมภพได้ยินเสียงคนตะโกนว่า “เอาให้ตาย” พยานทั้งสองไม่สนใจเข้าไปดูเหตุการณ์คงพายเรือหาปลาและกบกันต่อไป แม้กระทั่งมีเจ้าพนักงานตำรวจมาตรวจสถานที่เกิดเหตุพยานทั้งสองก็ไม่สนใจเข้าไปดูเหตุการณ์ ซึ่งเป็นเรื่องผิดปกติวิสัยเพราะการที่นายสมภพอ้างว่าได้ยินเสียงวัยรุ่นทะเลาะกันห่างประมาณ 100 เมตร และได้ยินเสียงคนตะโกนว่า “เอาให้ตาย” ซึ่งเป็นเรื่องคอขาดบาดตายถึงกับจะฆ่ากันให้ตายและแม้แต่เมื่อเจ้าพนักงานตำรวจมาถึงที่เกิดเหตุ นายสมภพก็ไม่สนใจจะเข้าไปดูเหตุการณ์ ทั้งหลังเกิดเหตุนายสมภพพายเรือมาพบนายสำเริง นายสมภพอ้างว่าได้พูดคุยกับนายสำเริงว่าเมื่อก่อนหน้านี้มีเรื่อง เห็นรถของเจ้าพนักงานตำรวจมา แต่นายสำเริงเองกลับเบิกความว่า นายสมภพไม่ได้เล่าเหตุการณ์อะไรให้ฟังซึ่งแตกต่างกันทั้งตามเหตุผลหากนายสมภพได้ยินเสียงคนตะโกนว่า “เอาให้ตาย” นายสำเริงที่ซึ่งก็พายเรืออยู่ห่างที่เกิดเหตุประมาณ 100 เมตร เช่นเดียวกับนายสมภพในขณะที่เป็นเวลากลางคืนเงียบสงัดดังที่นายสมภพเบิกความ นายสำเริงก็น่าจะได้ยินเสียงคนตะโกนว่า “เอาให้ตาย” เช่นเดียวกับนายสมภพ นายสำเริงก็น่าจะได้ยินเสียงคนตะโกนว่า “เอาให้ตาย” เช่นเดียวกับนายสมภพ แต่นายสำเริงกลับเบิกความว่าไม่ได้ยินเสียงร้องตะโกนคำว่า “เอาให้ตาย” แต่อย่างใด ทำให้คำเบิกความของนายสมภพมีพิรุธไม่น่าเชื่อว่าขณะเกิดเหตุนายสมภพจะได้ยินเสียงร้องตะโกนว่า “เอาให้ตาย” จริง และหากมีเสียงคนร้องตะโกนว่า “เอาให้ตาย” จริง ก็อาจจะไม่ใช่เป็นเสียงร้อยตะโกนของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ที่ 7 และที่ 8 ก็ได้ แต่อาจจะเป็นเสียงร้อยตะโกนของจำเลยที่ 1 เองก็อาจเป็นได้ เพราะนายสมภพไม่ได้ยืนยันว่าเป็นเสียงตะโกนของจำเลยคนใด พยานโจทก์เท่าที่นำสืบมาจึงยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ที่ 7 และที่ 8 กระทำการใดๆ อันเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกก่อนหรือในขณะที่จำเลยที่ 1 ใช้อาวุธมีดแทงผู้ตายจนถึงแก่ความตาย อันเป็นการสนับสนุนในการกระทำผิดของจำเลยที่ 1 ดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัย ฎีกาของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ที่ 7 และที่ 8 ฟังขึ้น และเนื่องจากเป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดีแม้จำเลยที่ 6 มิได้ฎีกา ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ 6 ด้วย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 213 ประกอบมาตรา 225″
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 8 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 1