คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6167/2552

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

บุคคลที่ศาลจะตั้งเป็นผู้จัดการมรดก นอกจากจะต้องมีคุณสมบัติไม่ต้องห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 1718 แล้ว ยังต้องพิจารณาถึงความเหมาะสมอื่นๆ ประกอบด้วยที่ผู้ร้องเบิกความว่าผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้ผู้ตายจำนวน 8,000,000 บาท โดยเป็นหนี้ที่เกิดจากการกู้ยืม ตามหนังสือรับรองว่าเป็นหนี้และสัญญากู้เงิน ซึ่งการที่ผู้จัดการมรดกเป็นเจ้าหนี้กองมรดกอยู่เป็นจำนวนมากจึงอยู่สองสถานะ คือเป็นทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้ การจัดการมรดกอาจมีผลกระทบต่อประโยชน์ส่วนได้เสียของทายาทอื่นโดยตรงทั้งก่อนผู้ตายจะถึงแก่กรรมประมาณ 10 วัน ผู้ตายได้ไปแจ้งความไว้เป็นหลักฐานว่าโฉนดที่ดินเอกสารหมาย ร.8 ถึง ร.12 หายไป แต่กลับปรากฏว่าโฉนดที่ดินทั้ง 5 ฉบับ อยู่ที่ผู้ร้อง โดยผู้ร้องเบิกความอ้างว่าผู้ตายมอบให้ผู้ร้องเพื่อเป็นหลักประกันในการชำระหนี้เงินกู้ ซึ่งถ้าผู้ตายมอบให้จริงก็ไม่น่าหลงลืมจนไปแจ้งความ นอกจากนี้ผู้ร้องยังเป็นผู้มีอารมณ์รุนแรง มีสาเหตุกับบุตรและหลานของตนเองจนกระทั่งผู้คัดค้านที่ 1 และ ส. ซึ่งเป็นหลานไปแจ้งความไว้เป็นหลักฐาน จากพฤติการณ์ดังกล่าวทำให้เชื่อว่าถ้าผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกจะมีอุปสรรคและมีข้อโต้แย้งกับเครือญาติ ผู้ร้องจึงไม่เหมาะสมที่จะเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกัน โดยให้เรียกผู้ร้องในสำนวนแรกว่า ผู้ร้อง เรียกผู้ร้องในสำนวนหลังซึ่งเป็นผู้คัดค้านที่ 1 ในสำนวนแรกว่า ผู้คัดค้านที่ 1 และเรียกผู้คัดค้านที่ 2 ในสำนวนแรกว่า ผู้คัดค้านที่ 2
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอว่า ผู้ร้องเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนางล่ำ ผู้ตายซึ่งถึงแก่กรรมโดยไม่ได้ตั้งบุคคลใดเป็นผู้จัดการมรดกไว้ การจัดการมรดกมีเหตุขัดข้อง ขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย
ผู้คัดค้านที่ 1 ยื่นคำคัดค้านในสำนวนแรกและยื่นคำร้องขอในสำนวนหลังว่าผู้ตายถึงแก่กรรมโดยทำพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองไว้ ณ สำนักงานเขตพระโขนง กรุงเทพมหานคร โดยพินัยกรรมระบุให้ตั้งผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกผู้ร้องมีคุณสมบัติไม่เหมาะสมที่จะเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย เพราะปกปิดและเบียดบังทรัพย์มรดก จึงขอให้ศาลมีคำสั่งยกคำร้องขอของผู้ร้อง และตั้งผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย
ผู้คัดค้านที่ 2 ยื่นคำคัดค้านว่า ผู้คัดค้านที่ 2 เป็นบุตรของผู้ตายและเป็นพี่สาวของผู้ร้อง ผู้ตายทำพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองยกทรัพย์มรดกบางส่วนให้ผู้คัดค้านที่ 1 ซึ่งเป็นหลานของผู้ตาย รวมทั้งยกให้บุคคลอื่นอีก ผู้ร้องมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมจะเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ขอให้ยกคำร้องขอของผู้ร้องและมีคำสั่งตั้งผู้คัดค้านที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดกหรือเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกับผู้ร้องในส่วนของทรัพย์มรดกนอกพินัยกรรมของผู้ตาย
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรมและมีคำสั่งตั้งผู้คัดค้านที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดกในส่วนของทรัพย์มรดกนอกพินัยกรรมกับให้มีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย ให้ยกคำร้องขอของผู้ร้องค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า นางล่ำ เจ้ามรดกถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2544 มีบุตรและหลานปรากฏตามบัญชีเครือญาติ ผู้ร้องและผู้คัดค้านที่ 2 เป็นบุตรของผู้ตาย ส่วนผู้คัดค้านที่ 1 เป็นบุตรของผู้ร้องและหลานผู้ตาย ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องข้อแรกมีว่าพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองเป็นเอกสารปลอมหรือไม่ ส่วนบุคคลใดเหมาะสมเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายนั้น จะวินิจฉัยรวมกันไปภายหลัง เห็นว่า นายดนัย ผู้คัดค้านที่ 1 เบิกความตอบคำถามค้านยืนยันว่า พยานเดินทางไปสำนักงานเขตพระโขนง กรุงเทพมหานคร กับผู้ตายเพียง 2 คน เพื่อทำพินัยกรรมและอยู่กับผู้ตายโดยตลอด พยานเห็นผู้ตายลงลายมือชื่อในพินัยกรรมเพราะทำต่อหน้าพยาน ขณะนั้นผู้ตายมีสุขภาพแข็งแรง นอกจากผู้คัดค้านที่ 1 แล้วยังมีนายสุวิทย์ หัวหน้าฝ่ายทะเบียนสำนักงานเขตพระโขนงผู้จัดทำพินัยกรรมและนางสาวรัตนา เจ้าหน้าที่เกี่ยวกับงานทะเบียนทั่วไปกับนายพนอม ซึ่งลงลายมือชื่อเป็นพยานในพินัยกรรมมาเบิกความด้วยโดยต่างเบิกความยืนยันตรงกันในข้อสาระสำคัญว่าผู้ตายได้ไปทำพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองที่สำนักงานเขตพระโขนงจริง ผู้ตายมีสุขภาพแข็งแรง และมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ และได้ลงลายมือชื่อต่อหน้าพนักงานโดยเฉพาะนายสุวิทย์เบิกความว่าพยานได้จัดทำพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองให้ผู้ตายขั้นตอนแรกผู้ตายต้องยื่นคำร้องขอทำพินัยกรรม จากนั้นจะต้องให้รายละเอียดว่าจะทำพินัยกรรมยกทรัพย์ให้แก่ใคร และมีทรัพย์อะไรบ้างที่จะตกทอดเป็นมรดกจากนั้นจะตรวจเอกสารประจำตัวคือบัตรประจำตัวประชาชน ทะเบียนบ้าน ใบรับรองแพทย์ เพื่อที่จะดูว่าผู้ทำพินัยกรรมมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์หรือไม่ เมื่อเสร็จขั้นตอนพิมพ์พินัยกรรมโดยเจ้าหน้าที่แล้วจะอ่านให้ผู้ทำพินัยกรรมฟัง เมื่อยืนยันว่าถูกต้องจึงจะให้ลงลายมือชื่อต่อหน้าพยาน 2 คน พยานจะลงลายมือในฐานะผู้อำนวยการเขตแล้วประทับตราของเขต พยานปากนี้ยืนยันว่าผู้ตายลงลายมือชื่อในพินัยกรรมในขณะที่มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์พยาน 3 ปากหลังนี้เป็นเจ้าพนักงานของรัฐกระทำการไปตามหน้าที่ไม่มีส่วนได้เสีย เชื่อว่าเบิกความไปตามจริง ทั้งยังได้ความจากคำเบิกความจากนางจารุณี ผู้คัดค้านที่ 2 ซึ่งไม่มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกตามพินัยกรรมเช่นกันเบิกความสนับสนุนว่าพยานทราบเรื่องผู้ตายไปทำพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองที่สำนักงานเขตพระโขนงแต่ในวันที่ไปทำพินัยกรรมพยานไม่ได้ไปด้วย เมื่อผู้ตายถึงแก่ความตาย ตอนที่ผู้คัดค้านที่ 1 ไปรับพินัยกรรมจากสำนักงานเขตนั้นพยานไปด้วยพยานของผู้คัดค้านมีน้ำหนักเชื่อได้ว่าผู้ตายทำพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองจริง การที่ผู้ร้องพยายามจะแสดงว่าลายมือชื่อในพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมือง แตกต่างไปจากลายมือชื่อที่เคยลงไว้ในเอกสารต่างๆ เช่น ตามเอกสาร จ.13, จ.15 ถึง จ.20 นั้นนอกจากลายมือชื่อในเอกสารดังกล่าวไม่อาจยืนยันว่าเป็นลายมือชื่อของผู้ตายจริงหรือไม่แล้ว ยังไม่อาจทำลายความน่าเชื่อถือของพยานฝ่ายผู้คัดค้านดังกล่าวที่มีน้ำหนักมากกว่าได้ ข้อเท็จจริงจึงฟังว่าผู้ตายได้ทำพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองจริง
ปัญหาต่อไปมีว่า ผู้ใดเหมาะสมที่จะเป็นผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรมและทรัพย์มรดกนอกพินัยกรรม ในปัญหาข้อนี้ผู้ร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายทั้งหมด ผู้คัดค้านที่ 1 ขอเป็นผู้จัดการมรดกเกี่ยวกับทรัพย์ตามข้อกำหนดในพินัยกรรมเท่านั้น ส่วนผู้คัดค้านที่ 2 ขอเป็นผู้จัดการมรดกเฉพาะทรัพย์นอกพินัยกรรม เห็นว่า บุคคลที่ศาลจะตั้งเป็นผู้จัดการมรดก นอกจากจะต้องมีคุณสมบัติไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1718 แล้ว ยังต้องพิจารณาถึงความเหมาะสมอื่นๆ ประกอบด้วยสำหรับผู้ร้องเบิกความว่าผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้ผู้ตายจำนวน 8,000,000 บาท โดยเป็นหนี้ที่เกิดจากการกู้ยืมตามหนังสือรับว่าเป็นหนี้และสัญญากู้เงินซึ่งการที่ผู้จัดการมรดกเป็นเจ้าหนี้กองมรดกอยู่เป็นจำนวนมากจึงอยู่สองสถานะ คือเป็นทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้การจัดการมรดกอาจมีผลกระทบต่อประโยชน์ส่วนได้เสียของพยานอื่นโดยตรงโดยเฉพาะผู้ร้องเบิกความตอบคำถามค้านผู้คัดค้านที่ 1 ว่า “…เนื่องจากข้าพเจ้าได้เข้าไปคุยกับผู้ตายและได้ถามถึงจำนวนเงินที่ข้าพเจ้าได้ส่งให้ตั้งแต่อยู่ประเทศซาอุดีอาระเบียและประเทศสหรัฐอเมริกาและรวมกำไรจากการขายที่ดินแล้ว ข้าพเจ้าเห็นว่าเป็นจำนวนมาก จึงขอให้ผู้ตายทำหลักฐานเป็นหนังสือให้จึงได้เขียนหนังสือรับว่าเป็นหนี้โดยข้าพเจ้ากรอกให้ผู้ตายลงชื่อ ต่อมาข้าพเจ้าได้ให้ผู้ตายทำสัญญากู้ไว้ให้ข้าพเจ้าตามหนังสือรับว่าเป็นหนี้และสัญญากู้เงิน” แสดงว่าหนี้ดังกล่าวมิใช่หนี้เงินกู้โดยตรง อาจถูกพยานอื่นโต้แย้งได้ ทั้งก่อนผู้ตายจะถึงแก่กรรมประมาณ 10 วัน ผู้ตายได้ไปแจ้งความไว้เป็นหลักฐานว่าโฉนดที่ดินหายไปแต่กลับปรากฏว่าโฉนดที่ดินทั้ง 5 ฉบับอยู่ที่ผู้ร้อง โดยผู้ร้องเบิกความอ้างว่า ผู้ตายมอบให้ผู้ร้องเพื่อเป็นหลักประกันในการชำระหนี้เงินกู้ข้างต้น ซึ่งถ้าผู้ตายมอบให้จริงก็ไม่น่าหลงลืมจนไปแจ้งความ นอกจากนี้ผู้ร้องยังเป็นผู้มีอารมณ์รุนแรง มีสาเหตุกับบุตรและหลานของตนเองจนกระทั่งผู้คัดค้านที่ 1 และนายสุชิน ซึ่งเป็นหลานไปแจ้งความไว้เป็นหลักฐานจากพฤติการณ์ดังกล่าวมาทำให้เชื่อว่า ถ้าผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกจะมีอุปสรรคและมีข้อโต้แย้งกับเครือญาติ ผู้ร้องจึงไม่เหมาะสมที่จะเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย
ส่วนผู้คัดค้านที่ 1 นอกจากไม่เป็นบุคคลต้องห้ามตามกฎหมายแล้วทายาทตามพินัยกรรมต่างเต็มใจให้ผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดก ผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้มีวุฒิภาวะ ทั้งมีข้อกำหนดในพินัยกรรมให้ผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดก ผู้คัดค้านที่ 1 จึงเหมาะสมที่จะเป็นผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรม สำหรับผู้คัดค้านที่ 2 เป็นพี่สาวของผู้ร้อง ไม่มีคุณสมบัติต้องห้ามตามกฎหมาย ได้รับการยอมรับจากทายาทอื่นๆ และมีความประสงค์จัดการทรัพย์เฉพาะนอกพินัยกรรมเท่านั้นเชื่อว่าการจัดการทรัพย์มรดกนอกพินัยกรรมจะดำเนินไปด้วยความเรียบร้อย ที่ศาลล่างทั้งสองมีคำสั่งตั้งผู้คัดค้านที่ 1 และผู้คัดค้านที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดกตามขอนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น ส่วนฎีกาข้ออื่นของผู้ร้องไม่ทำให้คำวินิจฉัยเปลี่ยนแปลงไปจึงไม่วินิจฉัยให้”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share