แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
แม้ที่ดินตามแผนที่พิพาทเส้นสีเขียวเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์และเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินที่พิพาทกันในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1278/2532 ของศาลชั้นต้น และคดีดังกล่าวศาลฎีกาพิพากษาถึงที่สุดว่า โจทก์มีสิทธิดีกว่าจำเลยทั้งสองให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรื้อถอนแนวรั้วออกไปจากที่ดินพิพาทและส่งมอบที่ดินพิพาทคืนแก่โจทก์ในสภาพเรียบร้อย ต่อมาในชั้นบังคับคดีปรากฏว่าจำเลยทั้งสองได้ทำการรื้อถอนรั้วออกไป แต่ยังส่งมอบที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ในสภาพไม่เรียบร้อย เนื่องจากระหว่างพิจารณาคดีจำเลยทั้งสองได้ขุดดินออกไปจากที่ดินพิพาท รวมทั้งปลูกสร้างอาคารรุกล้ำเข้ามาในที่ดินพิพาทบางส่วน ดังนี้ การที่จำเลยทั้งสองขุดดินออกไปจากที่ดินพิพาทและปลูกสร้างอาคารรุกล้ำเข้ามาในที่ดินพิพาทบางส่วนในระหว่างพิจารณาคดีก่อน มูลคดีนี้จึงเกิดภายหลังโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสอง เป็นคดีดังกล่าวซึ่งโจทก์ไม่สามารถฟ้องมาในคราวเดียวกันได้โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้ได้ ไม่เป็นฟ้องซ้ำซึ่งต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 148 วรรคหนึ่ง การที่จะเรียกบุคคลภายนอกซึ่งมิใช่คู่ความเข้ามาในคดีนั้นจะต้องแสดงเหตุว่า ตนอาจถูกฟ้องหรือถูกคู่ความเช่นว่านั้นฟ้องตนได้เพื่อการใช้สิทธิไล่เบี้ย หรือเพื่อใช้ค่าทดแทน ถ้าหากศาลพิจารณาให้คู่ความเช่นว่านั้นแพ้คดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57(3)วรรคสี่ แต่ตามคำร้องของจำเลยที่ขอให้เรียกนายอำเภอเข้ามาเป็นคู่ความร่วมกับจำเลยนั้น ได้ความแต่เพียงว่านายอำเภอเป็นผู้สอบสวนข้อเท็จจริงและห้ามโจทก์กับจำเลยถือสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทเท่านั้น กรณีจึงไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะเรียกนายอำเภอเข้ามาเป็นคู่ความในคดี
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดิน 1 แปลง เนื้อที่ประมาณ 45 เศษ 3 ส่วน 10 ตารางวา ซึ่งโจทก์ได้มาโดยการครอบครองตามคำพิพากษาศาลฎีการะหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้นคดีดังกล่าว จำเลยทั้งสองได้ปลูกสร้างอาคารรุกล้ำเข้ามาในที่ดินพิพาทบางส่วนเนื้อที่ประมาณ 5 เศษ 1 ส่วน 10 ตารางวาต่อมาเมื่อศาลฎีกาพิพากษาให้โจทก์ชนะคดี โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปทำการรื้อถอนรั้วออกไปจากที่ดินของโจทก์จึงพบว่าจำเลยทั้งสองปลูกสร้างอาคารรุกล้ำเข้ามาในที่ดินของโจทก์ประมาณ 5 เศษ 1 ส่วน 10 ตารางวา โจทก์แจ้งให้จำเลยทั้งสองรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่รุกล้ำเข้ามาในที่ดินของโจทก์แล้วแต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองรื้ออาคารที่รุกล้ำเข้ามาในที่ดินของโจทก์เนื้อที่ประมาณ 5 เศษ 1 ส่วน 10 ตารางวา และส่งมอบที่ดินคืนโจทก์ในสภาพเรียบร้อยโดยค่าใช้จ่ายของจำเลยทั้งสอง
จำเลยทั้งสองให้การว่า ที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินโฉนดตราจองเลขที่ 4166 มีเนื้อที่ 1 ไร่ 1 งาน ซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 2 โจทก์ไม่ใช่เจ้าของที่ดินพิพาท โดยที่ดินพิพาทเป็นทางสาธารณประโยชน์ โจทก์เคยฟ้องจำเลยทั้งสองให้รื้อถอนรั้วออกจากที่ดินพิพาทจริง ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นเรียกนายอำเภอเมืองพิษณุโลกเข้ามาเป็นจำเลยร่วมกับจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57(3)(ก) และ (ข)ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า กรณีตามคำฟ้องและคำให้การไม่มีเหตุที่จะเรียกบุคคลภายนอกเข้ามาเป็นจำเลยร่วมตามกฎหมายได้ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยทั้งสองรื้อถอนอาคารส่วนที่รุกล้ำเข้าไปในที่ดินพิพาทเนื้อที่ 5 เศษ 1 ส่วน10 ตารางวา และส่งมอบที่ดินคืนโจทก์ในสภาพเรียบร้อยด้วยค่าใช้จ่ายของจำเลยทั้งสอง
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองประการแรกว่า ฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นฟ้องซ้ำกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1278/2532 ของศาลชั้นต้นหรือไม่ข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติตามที่คู่ความแถลงรับกันว่า ที่ดินตามแผนที่พิพาทเส้นสีเขียวเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์และเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินที่พิพาทกันในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่1278/2532 ของศาลชั้นต้น และคดีดังกล่าวศาลฎีกาพิพากษาถึงที่สุดว่า ที่ดินพิพาทอยู่ในเขตที่ดินสาธารณประโยชน์โจทก์ครอบครองทำประโยชน์อยู่ก่อนจำเลยทั้งสอง โจทก์จึงมีสิทธิดีกว่าจำเลยทั้งสองให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรื้อถอนแนวรั้วออกไปจากที่ดินพิพาทและส่งมอบที่ดินพิพาทคืนแก่โจทก์ในสภาพเรียบร้อย ต่อมาในชั้นบังคับคดีปรากฏว่าจำเลยทั้งสองได้ทำการรื้อถอนรั้วออกไปแต่ยังส่งมอบที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ในสภาพไม่เรียบร้อยเนื่องจากระหว่างพิจารณาคดีจำเลยทั้งสองได้ขุดดินออกไปจากที่ดินพิพาทรวมทั้งปลูกสร้างอาคารรุกล้ำเข้ามาในที่ดินพิพาทบางส่วน ดังนี้ศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยทั้งสองขุดดินออกไปจากที่ดินพิพาทและปลูกสร้างอาคารรุกล้ำเข้ามาในที่ดินพิพาทบางส่วนในระหว่างพิจารณาคดีก่อน มูลคดีเกิดภายหลังโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีดังกล่าวซึ่งไม่สามารถฟ้องมาในคราวเดียวกันได้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้ได้ หาเป็นฟ้องซ้ำต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 วรรคหนึ่งดังที่จำเลยฎีกาไม่
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองประการที่สองว่า ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำสั่งคำร้องของจำเลยทั้งสองที่ขอให้ศาลชั้นต้นเรียกนายอำเภอเมืองพิษณุโลกเข้ามาเป็นจำเลยร่วมและศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืนชอบหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า การที่จะเรียกบุคคลภายนอกซึ่งมิใช่คู่ความเข้ามาในคดีนั้นจะต้องแสดงเหตุว่า ตนอาจถูกฟ้องหรือถูกคู่ความเช่นว่านั้นฟ้องตนได้เพื่อการใช้สิทธิไล่เบี้ยหรือเพื่อใช้ค่าทดแทนถ้าหากศาลพิจารณาให้คู่ความเช่นว่านั้นแพ้คดี หรือโดยคำสั่งของศาลเมื่อศาลเห็นสมควรหรือจำเป็นที่จะเรียกบุคคลภายนอกเข้ามาในคดี เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57(3) วรรคสี่ กรณีตามคำร้องของจำเลยทั้งสองที่ขอให้เรียกนายอำเภอเมืองพิษณุโลกเข้ามาเป็นคู่ความร่วมกับจำเลยทั้งสองนั้น ได้ความแต่เพียงว่านายอำเภอเมืองพิษณุโลกเป็นผู้สอบสวนข้อเท็จจริงและห้ามโจทก์กับจำเลยทั้งสองถือสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทเท่านั้น จึงไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะเรียกนายอำเภอเมืองพิษณุโลกเข้ามาเป็นคู่ความในคดีตามตัวบทกฎหมายดังกล่าว คำสั่งศาลชั้นต้นและคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 2ชอบแล้ว
พิพากษายืน