แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ศาลาทรงไทยกลางน้ำสร้างจากงบประมาณของเทศบาลตำบล ป. แม้ไม่มีเลขทะเบียนครุภัณฑ์หรือเป็นพัสดุที่ไม่มีทะเบียนคุม การดำเนินการใดๆ กับศาลาทรงไทยดังกล่าวต้องปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2535 ที่กำหนดไว้เป็นการเฉพาะว่าเป็นอำนาจสั่งการของจำเลยที่ 1 ในฐานะนายกเทศมนตรีตำบล ป. ผู้เป็นหัวหน้าฝ่ายบริหารของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น การตรวจสอบและจำหน่ายพัสดุของจำเลยที่ 1 ภายใต้ระเบียบกระทรวงมหาดไทยฉบับดังกล่าวจึงเป็นการปฏิบัติราชการในฐานะเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่จัดการ หรือรักษาทรัพย์ใดๆ ตาม ป.อ. จำเลยที่ 1 จำหน่ายศาลาทรงไทยกลางน้ำของเทศบาลให้แก่เอกชนในลักษณะที่ฝ่าฝืนต่อระเบียบดังกล่าว อีกทั้งไม่นำเงินที่ขายได้ส่งเป็นรายได้เทศบาลในทันที จนกระทั่งถูกเจ้าหน้าที่เทศบาลทักท้วง ทวงถาม และถูกตรวจสอบโดยกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติประจำจังหวัด จึงให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นเลขานุการนำเงินมาคืนในภายหลัง การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 147 และมาตรา 151 ซึ่งเป็นบทเฉพาะของบททั่วไปตามมาตรา 157 ย่อมไม่จำต้องปรับบทความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157 ซึ่งเป็นบททั่วไปอีก
จำเลยที่ 2 เป็นเลขานุการนายกเทศมนตรีของจำเลยที่ 1 ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการติดต่อขายศาลาทรงไทยกลางน้ำของจำเลยที่ 1 การที่จำเลยที่ 2 เข้าร่วมประชุมวาระอนุมัติรื้อถอนศาลาทรงไทยกลางน้ำ ก็เป็นเวลาในภายหลังจากจำเลยที่ 1 ติดต่อขายศาลาทรงไทยดังกล่าวไปแล้ว ทั้งการที่จำเลยที่ 2 รับฝากเงินค่าขายศาลาดังกล่าวไว้จากผู้ซื้อแทนจำเลยที่ 1 ซึ่งไม่อยู่ที่สำนักงาน เป็นการกระทำตามคำสั่งของ จำเลยที่ 1 ผู้บังคับบัญชา ยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 กระทำด้วยประการใดๆ อันเป็นการช่วยเหลือ หรือให้ความสะดวกในการที่จำเลยที่ 1 กระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 147 และ 151 ก่อนหรือขณะกระทำความผิด จำเลยที่ 2 ย่อมมิใช่เป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86, 90, 147, 51 และ 157
จำเลยที่ 1 ให้การปฏิเสธ แต่ก่อนสืบพยาน จำเลยที่ 1 ขอถอนคำให้การเดิมและให้การใหม่เป็นรับสารภาพ
จำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 จำคุก 2 ปี และปรับ 20,000 บาท จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา คดีมีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 1 ปี และปรับ 10,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษมีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าปรับให้บังคับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 และ 30 ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ข้อหาอื่นให้ยก
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา โดยอัยการสูงสุดรับรองให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 โดยโจทก์และจำเลยทั้งสองมิได้ฎีกาโต้แย้งคัดค้านรับฟังได้เบื้องต้นว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าพนักงาน ดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีตำบลป่างิ้ว อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย มีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดนโยบาย รับผิดชอบในการบริหารราชการของเทศบาลให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ เทศบัญญัติ สั่งอนุญาต และอนุมัติเกี่ยวกับราชการของเทศบาล จำเลยที่ 2 เป็นเลขานุการนายกเทศมนตรีจำเลยที่ 1 แต่มิใช่เป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมาย เมื่อประมาณเดือนกรกฎาคม 2555 จำเลยที่ 1 ติดต่อขายศาลาทรงไทยกลางน้ำของเทศบาลตำบลป่างิ้วให้แก่นายนิพล เจ้าของร้านพ่อหลวงอ้ายไม้เก่าในราคา 15,000 บาท จากนั้นเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2555 นายนิพลนำเงินค่าศาลากลางนํ้าจำนวน 15,000 บาท ไปมอบให้จำเลยที่ 1 ที่สำนักงานเทศบาลตำบลป่างิ้ว แต่ไม่พบจำเลยที่ 1 จึงฝากเงินไว้กับจำเลยที่ 2 แต่ภายหลัง นายอาทิตย์ ปลัดเทศบาลตำบลป่างิ้วแนะนำจำเลยที่ 1 ว่า ในการขายศาลาทรงไทยกลางน้ำของเทศบาลตำบลป่างิ้วต้องขออนุมัติสภาเทศบาลก่อน จำเลยที่ 1 ขอให้นายอาทิตย์บรรจุวาระขออนุมัติการรื้อถอนศาลาทรงไทยกลางน้ำของเทศบาลตำบลป่างิ้วในการประชุมสภาเทศบาลตำบลป่างิ้ว และเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2555 มีการประชุมสภาเทศบาลตำบลป่างิ้วสมัยสามัญสมัยที่ 3 ครั้งที่ 1/2555 โดยจำเลยที่ 1 และที่ 2 เข้าร่วมประชุมในวาระที่ 4.2 จำเลยที่ 1 เสนอต่อที่ประชุมขออนุมัติรื้อถอนศาลาทรงไทยกลางน้ำด้านหลังที่ทำการของเทศบาลตำบลป่างิ้ว ซึ่งที่ประชุมมีมติเห็นชอบ ตามสำเนารายงานการประชุมสภาเทศบาลตำบลป่างิ้วสมัยสามัญสมัยที่ 3 ครั้งที่ 1/2555 หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 ติดต่อนายนิพลให้เข้าไปรื้อถอนศาลาทรงไทยกลางน้ำของเทศบาลตำบลป่างิ้ว ต่อมาวันที่ 13 สิงหาคม 2555 นายนิพลนำลูกน้องเข้าไปรื้อถอนศาลาทรงไทยกลางน้ำด้านหลังที่ทำการของเทศบาลตำบลป่างิ้วแล้วนำไม้ที่ได้จากการรื้อถอนกลับไปที่ร้านของตน จนกระทั่งรุ่งขึ้นวันที่ 14 สิงหาคม 2555 นางกัญญา เจ้าหน้าที่พัสดุ ทราบว่ามีการรื้อถอนศาลาทรงไทยกลางน้ำของเทศบาลตำบลป่างิ้ว จึงสอบถามจำเลยที่ 1 เป็นเหตุให้ทราบว่าร้านพ่อหลวงอ้ายไม้เก่ารื้อถอนศาลาดังกล่าวไปตามมติของสภาเทศบาล นางกัญญา นางอรวรรณ หัวหน้าส่วนการคลัง นายโชคดี นักบริหารการศึกษาและหัวหน้าฝ่ายบริหารการศึกษา และนางพิตรพิชชา เจ้าหน้าที่บริหารงานทั่วไปแล้วมีความเห็นว่า การจำหน่ายพัสดุของเทศบาลต้องดำเนินการตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2535 ข้อ 149, 150 และ 151 นางกัญญาและนางอรวรรณทำบันทึกข้อความลงวันที่ 15 สิงหาคม 2555 เสนอจำเลยที่ 1 ว่า การรื้อถอนศาลาทรงไทยกลางน้ำของเทศบาลตำบลป่างิ้วไม่ได้ปฏิบัติตามขั้นตอนการจำหน่ายพัสดุ ขอให้ดำเนินการส่งเงินรายได้จากการขายเป็นรายได้ของเทศบาลตำบลป่างิ้ว จำเลยที่ 1 มีคำสั่งอนุมัติตามที่เสนอ จนกระทั่งวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2556 ซึ่งเป็นเวลาหลังจากที่กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติประจำจังหวัดเชียงรายเข้าไปแสวงหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องการขายศาลาทรงไทยกลางน้ำของเทศบาลตำบลป่างิ้วแล้ว จำเลยที่ 1 เรียกนางกัญญาไปพบและให้จำเลยที่ 2 นำเงินจำนวน 15,000 บาท มอบให้นางกัญญานำส่งเป็นรายได้ของเทศบาลตำบลป่างิ้ว
มีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ในประการแรกว่า การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 และมาตรา 151 หรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 มีตำแหน่งเป็นนายกเทศมนตรีตำบลป่างิ้ว ซึ่งเป็นผู้บริหารสูงสุดของเทศบาลตำบลป่างิ้ว มีอำนาจและหน้าที่รับผิดชอบในการบริหารราชการของเทศบาลให้เป็นไปตามที่กฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ เทศบัญญัติ และนโยบาย ตลอดจนสั่งอนุมัติและอนุญาตเกี่ยวกับงานราชการของเทศบาล ตามพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ.2496 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 48 เตรส ทั้งมีหน้าที่บริหารงานของเทศบาลตำบลป่างิ้ว ในการจัดซื้อ จัดการ เก็บรักษา ดูแล และจำหน่ายพัสดุของสำนักงานเทศบาลตำบลป่างิ้ว ให้เป็นไปตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2535 ดังนั้นจึงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ในการซื้อ ทำ จัดการ หรือรักษาเงินงบประมาณและทรัพย์สินของเทศบาลตำบลป่างิ้ว เมื่อจำเลยที่ 1 ใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ขายศาลาทรงไทยกลางน้ำของเทศบาลตำบลป่างิ้วให้แก่นายนิพลในราคา 15,000 บาท โดยพลการ ไม่ได้ปฏิบัติตามระเบียบขั้นตอนการจำหน่ายพัสดุ และไม่นำเงินที่ได้จากการขายศาลาทรงไทยกลางน้ำของเทศบาลตำบลป่างิ้วส่งเป็นรายได้ของเทศบาลตำบลป่างิ้ว จนกระทั่งมีการตรวจพบความผิดโดยกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติประจำจังหวัดเชียงราย จำเลยที่ 1 จึงให้จำเลยที่ 2 นำเงินดังกล่าวไปมอบให้เจ้าหน้าที่พัสดุของเทศบาลตำบลป่างิ้วในภายหลัง การกระทำของจำเลยที่ 1 ย่อมเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 และมาตรา 151 เห็นว่า ข้อเท็จจริงได้ความจากนางกัญญา เจ้าหน้าที่พัสดุเทศบาลตำบลป่างิ้ว พยานโจทก์เบิกความตอบทนายจำเลยที่ 1 ถามค้านว่า ศาลาทรงไทยกลางน้ำสร้างจากงบประมาณของเทศบาลตำบลป่างิ้ว แม้ไม่มีเลขทะเบียนครุภัณฑ์หรือเป็นพัสดุที่ไม่มีทะเบียนคุม การดำเนินการใด ๆ กับศาลาทรงไทยดังกล่าวก็ต้องปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2535 ข้อ 149 และ 150 ซึ่งกำหนดไว้เป็นการเฉพาะว่าเป็นอำนาจสั่งการของจำเลยที่ 1 ในฐานะนายกเทศมนตรีตำบลป่างิ้วผู้เป็นหัวหน้าฝ่ายบริหารของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น ในการตรวจสอบสภาพของพัสดุและการใช้ดุลพินิจสั่งให้จำหน่ายพัสดุที่ชำรุดหรือเสื่อมสภาพของเทศบาลได้ ดังนั้นการดำเนินการใดๆ ของจำเลยที่ 1 ที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบและจำหน่ายพัสดุของเทศบางตำบลป่างิ้วภายใต้ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุฉบับดังกล่าวจึงเป็นการปฏิบัติราชการในฐานะเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่จัดการ หรือรักษาทรัพย์ใดๆ ตามประมวลกฎหมายอาญา การที่จำเลยที่ 1 จำหน่ายศาลาทรงไทยกลางน้ำของเทศบาลตำบลป่างิ้วให้แก่เอกชนในลักษณะที่ฝ่าฝืนต่อระเบียบดังกล่าว อีกทั้งไม่นำเงินที่ขายได้ส่งเป็นรายได้ของเทศบาลในทันที จนกระทั่งถูกเจ้าหน้าที่เทศบาลทักท้วงและทวงถาม ทั้งหลังจากกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติประจำจังหวัดเชียงรายได้ไปตรวจสอบแล้ว จึงให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นเลขานุการนำเงินมาคืนให้ในภายหลัง การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 และมาตรา 151 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายกฟ้องทั้งสองข้อหาดังกล่าวมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น แต่เมื่อการกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 และมาตรา 151 ซึ่งเป็นบทเฉพาะของบททั่วไปตามมาตรา 157 แล้ว ย่อมไม่จำต้องปรับบทความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ซึ่งเป็นบททั่วไปอีก ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 225 ประกอบด้วยมาตรา 195 วรรคสอง
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ในประการต่อไปว่า จำเลยที่ 2 กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ ปัญหานี้โจทก์ฎีกาว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 2 มีตำแหน่งเป็นเลขานุการนายกเทศมนตรีจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2555 นายนิพลนำเงินค่าศาลาทรงไทยกลางน้ำของเทศบาลตำบลป่างิ้วจำนวน 15,000 บาท ไปมอบให้จำเลยที่ 1 ที่สำนักงานเทศบาลตำบลป่างิ้ว แต่ไม่พบจำเลยที่ 1 จึงฝากเงินไว้กับจำเลยที่ 2 ต่อมามีการประชุมสภาเทศบาลตำบลป่างิ้ว ซึ่งมีวาระอนุมัติรื้อถอนศาลาทรงไทยกลางน้ำของเทศบาลตำบลป่างิ้วที่ขายไปดังกล่าว โดยมีจำเลยที่ 1 ในฐานะนายกเทศบาลตำบลป่างิ้ว และจำเลยที่ 2 ในฐานะเลขานุการนายกเทศมนตรีจำเลยที่ 1 เข้าร่วมประชุมด้วย หลังจากนั้นผู้ซื้อได้รื้อถอนศาลาทรงไทยกลางน้ำของเทศบาลตำบลป่างิ้วออกไปจนแล้วเสร็จ แต่จำเลยที่ 1 ไม่ได้ปฏิบัติตามระเบียบขั้นตอนในการจำหน่ายพัสดุตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2535 ที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 9) พ.ศ.2553 ข้อ 149 ข้อ 150 และจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ได้ปฏิบัติตามระเบียบฯ ข้อ 151 โดยไม่นำเงินที่ได้จากการขายศาลาทรงไทยกลางน้ำของเทศบาลตำบลป่างิ้ว จำนวน 15,000 บาท ส่งเป็นรายได้ของเทศบาลตำบลป่างิ้ว จนกระทั่งมีการตรวจพบความผิดดังกล่าวโดยกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติประจำจังหวัดเชียงราย จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงนำเงินดังกล่าวไปมอบให้เจ้าหน้าที่พัสดุเทศบาลตำบลป่างิ้วในภายหลัง จำเลยที่ 2 แม้เป็นเพียงผู้รับฝากเงินค่าขายศาลาทรงไทยกลางน้ำของเทศบาลตำบลป่างิ้วไว้แทนจำเลยที่ 1 ตามคำสั่งของจำเลยที่ 1 ก็ตาม แต่จำเลยที่ 2 เป็นเลขานุการนายกเทศมนตรี จำเลย ที่ 1 ย่อมมีส่วนรู้เห็นกับกรณีที่จำเลยที่ 1 ขายศาลาทรงไทยกลางน้ำของเทศบาลตำบลป่างิ้วโดยผิดระเบียบและผิดกฎหมาย ย่อมฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 ช่วยเหลือหรือสนับสนุนจำเลยที่ 1 ในการกระทำความผิด เห็นว่า ข้อเท็จจริงตามทางนำสืบโจทก์รับฟังเป็นยุติได้แต่เพียงว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ติดต่อขายศาลาทรงไทยกลางน้ำของเทศบาลตำบลป่างิ้วให้แก่นายนิพล โดยจำเลยที่ 2 มิได้มีส่วนเกี่ยวข้องด้วยแต่ประการใด การที่จำเลยที่ 2 เข้าร่วมประชุมวาระอนุมัติรื้อถอนศาลาทรงไทยกลางน้ำของเทศบาลตำบลป่างิ้ว ก็หลังจากที่จำเลยที่ 1 ติดต่อขายศาลาทรงไทยกลางน้ำของเทศบาลตำบลป่างิ้วให้แก่นายนิพลไปแล้ว และจำเลยที่ 2 เป็นผู้รับฝากเงินค่าขายศาลาทรงไทยกลางน้ำของเทศบาลตำบลป่างิ้วจำนวน 15,000 บาท ไว้จากนายนิพล เนื่องจากจำเลยที่ 1 ไม่อยู่ที่สำนักงานเทศบาลตำบลป่างิ้ว หลังจากนั้น จำเลยที่ 2 เก็บเงินไว้ตลอดมาจนกระทั่งวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2556 จำเลยที่ 1 สั่งให้จำเลยที่ 2 มอบเงินดังกล่าวแก่นางกัญญา อันเป็นการกระทำตามคำสั่งของจำเลยที่ 1 ผู้เป็นผู้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 2 พฤติการณ์ของจำเลยที่ 2 จากพยานหลักฐานตามทางนำสืบของโจทก์ยังไม่มีน้ำหนักมั่นคงเพียงพอแก่การรับฟังข้อเท็จจริงให้เป็นยุติเชื่อได้ว่า จำเลยที่ 2 กระทำด้วยประการใดๆ อันเป็นการช่วยเหลือ หรือให้ความสะดวกในการที่จำเลยที่ 1 กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 และ 151 ก่อนหรือขณะกระทำความผิด จำเลยที่ 2 ย่อมมิใช่เป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 อันจะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 และ 151 ประกอบมาตรา 86 ดังที่โจทก์ฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2 มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาในข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา มีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 26) พ.ศ.2560 มาตรา 7 ให้ยกเลิกอัตราโทษในมาตรา 147 และมาตรา 151 และให้ใช้ อัตราโทษใหม่กฎหมายที่แก้ไขซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิดไม่เป็นคุณแก่จำเลย จึงต้องใช้กฎหมายเดิมซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดบังคับแก่จำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 147 (เดิม) และมาตรา 151 (เดิม) การกระทำเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทซึ่งมีอัตราโทษเท่ากัน ให้ลงโทษฐานเป็นเจ้าพนักงานยักยอกทรัพย์ตามมาตรา 147 (เดิม) เพียงบทเดียว ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 5 ปี และปรับ 20,000 บาท จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 2 ปี 6 เดือน และปรับ 10,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 (ที่แก้ไขใหม่) หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าปรับให้บังคับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 และ 30 (ที่แก้ไขใหม่) นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5