คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6105/2539

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

สัญญานายหน้าซื้อขายที่ดินระหว่างผู้คัดค้านกับจำเลยที่ 1 ระบุสาระสำคัญไว้ว่าจำเลยที่ 1 จะชำระค่านายหน้าให้แก่ผู้คัดค้านในวันจดทะเบียนซื้อขายที่ดิน ณสำนักงานที่ดิน แต่ปรากฎว่าผู้คัดค้านได้รับเงินค่านายหน้า ในวันทำสัญญาซื้อขายที่ดิน จึงเป็นการชำระหนี้ก่อนมีการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินขัดกับเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในสัญญานายหน้าอันเป็นข้อพิรุธแสดงให้เห็นถึงความเร่งรีบจ่ายและรับเงินค่านายหน้าซึ่งชำระก่อนวันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินเพียง7 วัน และก่อนจำเลยทั้งสองจะถูกฟ้องล้มละลายไม่ถึง 20 วันทั้งสัญญานายหน้าก็ทำก่อนสัญญาซื้อขายที่ดินเพียง 2 วันเท่านั้น จึงขัดกับวิธีปฎิบัติทั่วไปที่วิญญูชนพึงกระทำพฤติการณ์ส่อให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 ประสงค์จะยักย้ายถ่ายเทเงินค่าขายที่ดิน ปิดบังมิให้เจ้าหนี้รายอื่นของจำเลยที่ 1ได้รับชำระหนี้แต่ยอมชำระหนี้ให้แก่ผู้คัดค้านแต่ผู้เดียวซึ่งเป็นเจ้าหนี้คนหนึ่งได้เปรียบเจ้าหนี้อื่น เพียงเท่านี้ศาลก็มีอำนาจเพิกถอนการชำระหนี้ได้โดยไม่ต้องคำนึงว่าผู้คัดค้านจะได้รับชำระหนี้โดยสุจริตหรือไม่ การเพิกถอนการชำระหนี้เป็นไปโดยผลของกฎหมาย ตราบใดที่ ศาลยังไม่มีคำสั่งให้เพิกถอนก็ต้องถือว่าเป็นการชำระหนี้ โดยชอบอยู่ จะถือได้ว่าผู้คัดค้านผิดนัดต้องรับผิดในดอกเบี้ยนับแต่วันยื่นคำร้องหาได้ไม่ ผู้คัดค้านต้องรับผิดในดอกเบี้ยนับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งให้เพิกถอนเป็นต้นไป ปัญหาข้อนี้แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองขอให้ล้มละลายเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2534 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้พิทักษ์ทรัพย์จำเลยทั้งสองชั่วคราวในวันเดียวกัน และพิทักษ์ทรัพย์จำเลยทั้งสองเด็ดขาดเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2534 และพิพากษาให้ล้มละลายเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2535 ขณะนี้ยังไม่พ้นภาวะล้มละลาย
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้มีคำสั่งเพิกถอนการชำระหนี้ค่านายหน้าจำนวน 13,933,080 บาท ระหว่างจำเลยที่ 1 กับผู้คัดค้านตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 114 และ 115 โดยให้ผู้คัดค้านชำระเงินจำนวน 13,933,080 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันยื่นคำร้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้าน ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วฟังว่า สัญญานายหน้าเป็นการสมคบกันทำขึ้นเพื่อยักย้ายถ่ายเทเงินค่าขายที่ดิน ต้องฟังว่าผู้คัดค้านรับชำระหนี้โดยไม่สุจริตตามพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 มาตรา 114 ไม่จำต้องวินิจฉัยปัญหาอื่นมีคำสั่งให้เพิกถอนการชำระค่านายหน้าจำนวน 13,933,080 บาท ระหว่างจำเลยที่ 1 ผู้ชำระหนี้ และผู้คัดค้านผู้รับชำระหนี้ โดยให้ผู้คัดค้านชำระเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 30 มิถุนายน 2535 จนกว่าจะชำระเสร็จ
ผู้คัดค้านอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ฟังว่า พฤติการณ์จำเลยทั้งสองและผู้คัดค้านเป็นการร่วมกันกระทำการในระหว่างระยะเวลา 1 เดือนก่อนมีการขอให้ล้มละลาย โดยมุ่งหมายให้ผู้คัดค้านซึ่งเป็นเจ้าหนี้คนหนึ่งได้เปรียบแก่เจ้าหนี้อื่น ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 115 ศาลจึงมีอำนาจสั่งเพิกถอนการกระทำดังกล่าวได้พิพากษายืน
ผู้คัดค้านฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ปัญหาต้องวินิจฉัยในชั้นนี้ตามฎีกาของผู้คัดค้านมีว่า ผู้คัดค้านได้รับเงินค่านายหน้าและเงินส่วนเกินจากการขายที่ดินจากจำเลยที่ 1 โดยสุจริตมิได้มุ่งหมายให้เจ้าหนี้คนหนึ่งคนใดได้เปรียบแก่เจ้าหนี้อื่นตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 115 หรือไม่ในกรณีเกี่ยวกับการที่ผู้คัดค้านรับเงินค่านายหน้าและเงินส่วนเกินจากการขายที่ดินทั้งสามแปลงของจำเลยที่ 1 จำนวน 13,933,080บาท นั้นได้ความจากคำเบิกความของผู้คัดค้านว่า เดิมจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญาตกลงให้นายไพโรจน์ ปทุมมาลย์ลักขณา กับนายสุเทพ แซ่โง้ว เป็นนายหน้าขายที่ดินทั้งสามแปลงของจำเลยที่ 1 ตามเอกสารหมาย ค.1แล้วบุคคลทั้งสองมาติดต่อผู้คัดค้านซึ่งขณะนั้นทำงานที่บริษัทโตโยต้ามอเตอร์ประเทศไทย จำกัด ผู้คัดค้านจึงไปติดต่อกับหน่วยงานในการซื้อขายของบริษัทโตโยต้ามอเตอร์ ประเทศไทยจำกัด ปรากฎว่าทางบริษัทสนใจจะซื้อที่ดินทั้งสามแปลงผู้คัดค้านจึงให้จำเลยที่ 2 ทำใบเสนอขายที่ดินดังกล่าวไร่ละ8,000,000 บาท ตามเอกสารหมาย ค.2 และให้จำเลยที่ 2 ทำสัญญานายหน้าอีกฉบับหนึ่งตามเอกสารหมาย ค.3 ผูกพันไว้ทั้งผู้คัดค้านนายไพโรจน์และนายสุเทพที่จะได้รับเงินค่านายหน้าร้อยละ 3ของราคาที่ดิน และเงินส่วนเกินจากการขายที่ดิน ในที่สุดบริษัทโตโยต้ามอเตอร์ประเทศไทย จำกัด ตกลงซื้อที่ดินทั้งสามแปลงจากจำเลยที่ 1 ในราคา 98,400,000 บาท คำนวณเป็นค่านายหน้าเป็นเงินประมาณ 2,000,000 บาท รวมกับเงินส่วนเกินจากการขายที่ดินในราคา 79,263,000 บาท ที่จำเลยทั้งสองตั้งราคาไว้โดยฝ่ายนายหน้าจะได้รับเงินตามสัญญาที่ตกลงกันไว้ซึ่งเมื่อหักภาษีร้อยละ 3.5 แล้วเป็นเงินประมาณ 20,000,000 บาท จำเลยที่ 2ได้ต่อรองกับผู้คัดค้าน นายไพโรจน์ และนายสุเทพ โดยขอชำระให้เพียง 16,000,000 บาท แบ่งชำระงวดแรก 13,933,080 บาทให้ผู้คัดค้านเป็นตัวแทนรับแทนนายหน้าทุกคน โดยจะชำระให้ในวันที่ผู้ซื้อชำระราคางวดแรก ส่วนค่านายหน้าที่เหลือจะชำระให้ในวันโอนกรรมสิทธิ์โดยให้นายไพโรจน์และนายสุเทพเป็นผู้รับแทนจึงมีการทำสัญญานายหน้ากันขึ้นอีกในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2534ทั้งของผู้คัดค้าน นายไพโรจน์และนายสุเทพ ฉบับของผู้คัดค้านตามเอกสารหมาย ค.4 และเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2534 บริษัทโตโยต้ามอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ได้ทำสัญญาซื้อขายที่ดินและชำระเงินงวดแรกแก่จำเลยทั้งสองตามเอกสารหมาย ค.5 จำเลยที่ 1จึงชำระค่านายหน้าและเงินส่วนเกินจากการขายที่ดินให้แก่ผู้คัดค้านเห็นว่า สัญญานายหน้าซื้อขายที่ดินระหว่างผู้คัดค้านกับจำเลยที่ 1ตามเอกสาร ค.4 ระบุสาระสำคัญไว้ว่า ผู้ให้สัญญาจะชำระค่านายหน้าในวันจดทะเบียนซื้อขายที่ดิน ณ สำนักงานที่ดิน และผู้ให้สัญญาได้รับชำระเงินจากผู้ซื้อเรียบร้อยแล้ว และสัญญานี้ใช้บังคับถึงวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2534 แต่ปรากฎว่าผู้คัดค้านได้รับเงินค่านายหน้ากับเงินส่วนเกินจากการขายที่ดินจำนวน13,933,080 บาท เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2534 ซึ่งเป็นวันทำสัญญาซื้อขายที่ดิน โดยที่จำเลยที่ 1 ได้รับเงินค่าที่ดินบางส่วนเพียง 29,400,000 บาท เท่านั้น ผู้ซื้อยังค้างชำระราคาอยู่อีกเป็นเงินถึง 69,000,000 บาท ซึ่งชำระในวันโอนกรรมสิทธิ์ที่กำหนดไว้ภายใน 30 วัน นับแต่วันทำสัญญา และข้อเท็จจริงได้ความว่ามีการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินในวันที่ 21กุมภาพันธ์ 2534 การรับเงินค่านายหน้าดังกล่าว จึงเป็นการชำระหนี้ก่อนมีการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน ขัดกับเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในสัญญานายหน้าตามเอกสารหมาย ค.4 เป็นข้อพิรุธแสดงให้เห็นถึงความเร่งรีบจ่ายและรับเงินค่านายหน้าก่อนวันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินเพียง 7 วัน และก่อนที่จำเลยทั้งสองจะถูกฟ้องคดีล้มละลายไม่ถึง 20 วัน ทั้งสัญญานายหน้าตามเอกสารหมาย ค.4 ก็ทำก่อนสัญญาซื้อขายที่ดินตามเอกสารหมาย ค.5เพียง 2 วันเท่านั้น จึงขัดกับวิธีปฎิบัติทั่วไปที่วิญญูชนพึงกระทำ พฤติการณ์ส่อให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 ประสงค์จะยักย้ายถ่ายเทเงินค่าขายที่ดิน ปิดบังมิให้เจ้าหนี้รายอื่นของจำเลยที่ 1ได้รับชำระหนี้ ในขณะที่จำเลยที่ 1 มีภาระหนี้สินต่าง ๆแต่ยังยอมชำระหนี้ให้แก่ผู้คัดค้านแต่ผู้เดียว โดยไม่มีความจำเป็นต้องกระทำเช่นนั้นเนื่องจากสัญญาซื้อขายที่ดินยังไม่เสร็จสมบูรณ์ การที่ผู้คัดค้านได้เข้าเป็นนายหน้าชี้ช่องให้มีการซื้อขายที่ดินทั้งสามแปลงของจำเลยที่ 1 ผู้คัดค้านมีสิทธิได้รับค่านายหน้าและเงินส่วนเกินจากการขายที่ดินตามสัญญา ผู้คัดค้านย่อมมีฐานะเป็นเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 1 เมื่อจำเลยที่ 1 ยอมชำระค่านายหน้าและเงินส่วนเกินจากการขายที่ดินในลักษณะดังที่วินิจฉัยมา จึงเป็นการเลือกชำระหนี้แก่ผู้คัดค้านซึ่งเป็นเจ้าหนี้คนหนึ่ง เป็นเหตุให้เงินที่ได้มาจากการขายที่ดินลดน้อยลงและเจ้าหนี้อื่นไม่ได้รับชำระหนี้ เมื่อปรากฎว่าผู้คัดค้านได้รับค่านายหน้าและเงินส่วนเกินจากการขายที่ดินเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2534 และโจทก์ได้ฟ้องจำเลยทั้งสองให้ล้มละลายเป็นคดีนี้เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2534 จึงเป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 ได้กระทำในระหว่าง 3 เดือนก่อนมีการขอให้ล้มละลายโดยมุ่งหมายให้ผู้คัดค้านซึ่งเป็นเจ้าหนี้คนหนึ่งได้เปรียบแก่เจ้าหนี้อื่น ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483มาตรา 115 เพียงเท่านี้ศาลก็มีอำนาจเพิกถอนการชำระหนี้นั้นได้โดยไม่ต้องคำนึงว่าผู้คัดค้านจะได้รับชำระหนี้โดยสุจริตหรือไม่ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามาชอบแล้ว ฎีกาของผู้คัดค้านฟังไม่ขึ้น แต่เมื่อศาลอุทธรณ์วินิจฉัยให้เพิกถอนการชำระหนี้ระหว่างจำเลยที่ 1 กับผู้คัดค้าน ตามพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 มาตรา 115 ก็ชอบที่จะพิพากษาแก้คำสั่งศาลชั้นต้นด้วยและที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนโดยให้ผู้คัดค้านชำระดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 30 มิถุนายน 2535 ซึ่งเป็นวันที่ผู้ร้องยื่นคำร้องจนกว่าจะชำระเสร็จตามคำสั่งศาลชั้นต้นนั้น เห็นว่า การเพิกถอนการชำระหนี้เป็นไปโดยผลของกฎหมาย ตราบใดที่ศาลยังไม่มีคำสั่งให้เพิกถอนก็ต้องถือว่าเป็นการชำระหนี้โดยชอบอยู่ จะถือว่าผู้คัดค้านผิดนัดต้องรับผิดในดอกเบี้ยนับแต่วันยื่นคำร้องหาได้ไม่ ผู้ร้องคัดค้านต้องรับผิดในดอกเบี้ยนับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งให้เพิกถอนเป็นต้นไป ปัญหาข้อนี้แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เพิกถอนการชำระหนี้ระหว่างจำเลยที่ 1กับผู้คัดค้านตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 115และในส่วนดอกเบี้ยให้ผู้คัดค้านรับผิดชำระนับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เพิกถอนเป็นต้นไป นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share