คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6083/2553

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

จำเลยนำหนังสือรับรองยอดเงินฝากธนาคารผู้คัดค้าน สาขาถนนสาธรประเภทเงินฝากประจำของจำเลยมาประกอบการขอปล่อยตัวชั่วคราว ว. ต่อศาลแขวงธนบุรี เมื่อศาลแขวงธนบุรีมีหนังสืออายัดเงินฝากไปยังธนาคารผู้คัดค้าน สาขาถนนสาธรแล้ว ธนาคารผู้คัดค้านแจ้งว่าได้รับการแจ้งอายัดสมุดเงินฝากของจำเลยแล้ว ธนาคารผู้คัดค้านจะระงับการจำหน่ายจ่ายโอนและเปลี่ยนแปลงกรรมสิทธิ์ในสมุดเงินฝากประจำของจำเลยไว้ตามคำสั่งศาลจนกว่าจะได้รับการแจ้งเปลี่ยนแปลงเป็นหนังสือจากศาลเป็นอย่างอื่น ย่อมเป็นการแสดงโดยชัดแจ้งอยู่แล้วว่าธนาคารผู้คัดค้านทราบดีว่าจำเลยได้นำเงินในบัญชีเงินฝากไปใช้เป็นหลักประกันการขอปล่อยตัวชั่วคราว ว. และธนาคารผู้คัดค้านยังมีภาระผูกพันที่จะต้องระงับการจำหน่ายจ่ายโอนและเปลี่ยนแปลงกรรมสิทธิ์ในสมุดเงินฝากประจำของจำเลยดังกล่าวไว้ตามคำสั่งศาลแขวงธนบุรีจนกว่าจะได้รับการเปลี่ยนแปลงเป็นหนังสือจากศาลแขวงธนบุรีเป็นอย่างอื่น ดังนั้น ตราบใดที่ธนาคารผู้คัดค้านยังไม่ได้รับแจ้งการเปลี่ยนแปลงเป็นหนังสือจากศาลแขวงธนบุรีเป็นอย่างอื่น หนังสืออายัดของศาลแขวงธนบุรี จึงยังมีผลพันธนาคารผู้คัดค้านอยู่ ธนาคารผู้คัดค้านจึงไม่สามารถจำหน่ายจ่ายโอนและเปลี่ยนแปลงกรรมสิทธิ์ รวมถึงไม่มีสิทธินำเงินในสมุดเงินฝากประจำของจำเลยดังกล่าวไปหักกลบลบหนี้กับบัญชีบัตรเครดิตของจำเลยที่เป็นลูกหนี้ของธนาคารผู้คัดค้านได้

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์เป็นเงิน 500,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยและค่าฤชาธรรมเนียม ต่อมาจำเลยไม่ยอมชำระหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าว โจทก์ขอให้บังคับคดี เจ้าพนักงานบังคับคดีอายัดเงินฝากในบัญชีของจำเลยที่นำมาเป็นหลักทรัพย์ในการขอปล่อยชั่วคราวนางหรือนางสาววรนุช และขอให้ส่งเงินที่อายัดเมื่อหมดภาระผูกพัน
โจทก์ยื่นคำร้องว่า จำเลยนำสมุดเงินฝากประจำธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาถนนสาทร ของผู้คัดค้านจำนวน 90,000 บาท พร้อมเงินสด 10,000 บาท มาวางเป็นหลักประกันในชั้นขอให้ปล่อยชั่วคราวนางหรือนางสาววรนุชจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2892/2540 ของศาลแขวงธนบุรี
ซึ่งศาลมีคำสั่งอนุญาตและยึดหลักประกันดังกล่าวไว้ พร้อมกับมีหนังสือแจ้งอายัดสมุดเงินฝากแล้ว ต่อมาโจทก์ขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีอายัดสมุดเงินฝากและเงินสดจำนวนข้างต้นต่อศาลแขวงธนบุรี ศาลมีหนังสือแจ้งเจ้าพนักงานบังคับคดีว่าอนุญาตตามขอ แต่ทั้งนี้ต้องให้หมดภาระผูกพันตามสัญญาให้ปล่อยชั่วคราวก่อน ภายหลังศาลแขวงธนบุรีมีหนังสือพร้อมส่งสมุดเงินฝากและเงินสดมายังเจ้าพนักงานบังคับคดี เจ้าพนักงานบังคับคดีจึงมีหมายแจ้งให้ผู้คัดค้านนำส่งเงินฝากในบัญชีมาให้เจ้าพนักงานบังคับคดี แต่ผู้คัดค้านแจ้งว่าไม่อาจส่งเงินมาได้ เนื่องจากได้นำเงินในบัญชีมาหักกลบลบหนี้กับหนี้บัตรเครดิตที่จำเลยค้างชำระกับผู้คัดค้านไปแล้ว ซึ่งผู้คัดค้านไม่มีสิทธิกระทำได้เพราะยังไม่ได้รับคำสั่งเปลี่ยนแปลงใด ๆ จากศาลแขวงธนบุรี ขอให้ศาลมีคำสั่งให้ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ส่งเงินฝากของจำเลยในบัญชีเงินฝากประจำเลขที่ 038 – 3 – 07341 – xxx ไปยังเจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่อนำไปชำระหนี้ตามคำพิพากษาแก่โจทก์
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า ผู้คัดค้านไม่จำต้องส่งเงินตามคำร้องเนื่องจากเจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ได้แจ้งอายัดเงินฝากมายังลูกหนี้แห่งสิทธิหรือผู้คัดค้าน และเมื่อคำสั่งอายัดของศาลแขวงธนบุรีสิ้นผลเนื่องมาจากศาลพิพากษายกฟ้อง ผู้คัดค้านจึงนำเงินฝากในบัญชีเข้าหักกลบลบหนี้กับหนี้บัตรเครดิตที่จำเลยมีต่อผู้คัดค้านเสร็จสิ้นแล้ว จึงไม่สามารถส่งเงินในบัญชีไปให้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดีตามคำสั่งอายัดที่มีมาภายหลังขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาถนนสาทร ส่งเงินในบัญชีเงินฝากของจำเลย บัญชีเลขที่ 038 – 3 – 07341 – xxx ให้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่อดำเนินการต่อไป ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
ผู้คัดค้านฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้วข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันในชั้นนี้รับฟังได้ว่า จำเลยไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นจึงออกหมายบังคับคดี ลงวันที่ 14 กรกฎาคม 2540 ถึงเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีให้จำเลยชำระหนี้ เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2540 จำเลยนำหนังสือรับรองยอดเงินฝากธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาถนนสาทร ประเภทเงินฝากประจำของจำเลย บัญชีเลขที่ 038 – 3 – 07341 – xxx จำนวนเงิน 90,000 บาท ไปประกอบการยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราว นางหรือนางสาววรนุชในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2892/2540 ของศาลแขวงธนบุรี ระหว่าง นายจุฬาโจทก์ นางหรือนางสาววรนุช จำเลย ศาลแขวงธนบุรีอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวนางหรือนางสาววรนุชแล้วมีหนังสือแจ้งอายัดเงินฝากให้ผู้คัดค้านทราบแล้ว วันที่ 21 สิงหาคม 2540 เจ้าพนักงานบังคับคดีมีหนังสือถึงศาลแขวงธนบุรีขออายัดสมุดเงินฝากของจำเลยมาให้เจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่อดำเนินการตามหมายบังคับคดีของศาลชั้นต้นคดีนี้ วันที่ 10 กันยายน 2540 ศาลแขวงธนบุรีมีหนังสือแจ้งเจ้าพนักงานบังคับคดีว่า อนุญาตตามที่เจ้าพนักงานบังคับคดีขอ แต่ทั้งนี้ต้องหมดภาระผูกพันตามสัญญาประกันก่อน วันที่ 18 ตุลาคม 2542 ศาลแขวงธนบุรีมีหนังสือนำส่งสมุดเงินฝากประจำของจำเลยมาให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการต่อไปเจ้าพนักงานบังคับคดีจึงมีหนังสือแจ้งอายัดเงินฝากและให้ผู้คัดค้านส่งเงินของจำเลยในบัญชีเงินฝากดังกล่าวมาเพื่อบังคับคดี แต่ผู้คัดค้านแจ้งว่าใช้สิทธินำเงินในบัญชีของจำเลยมาหักกลบลบหนี้ที่มีอยู่กับผู้คัดค้านหมดแล้ว จึงไม่มีเงินเหลือพอที่จะส่งมาให้เจ้าพนักงานบังคับคดีคดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านว่า ผู้คัดค้านต้องส่งเงินในบัญชีเงินฝากของจำเลยให้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดีหรือไม่ เห็นว่า ในขณะที่จำเลยคดีนี้ยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวนางหรือนางสาววรนุชจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2892/2540 ของศาลแขวงธนบุรี จำเลยนำหนังสือรับรองยอดเงินฝากธนาคารผู้คัดค้าน สาขาถนนสาทร ประเภทเงินฝากประจำของจำเลย บัญชีเลขที่ 038 – 3 – 07341 – xxx จำนวนเงิน 90,000 บาท ตามเอกสารหมาย ร.4 มาประกอบในการขอปล่อยชั่วคราว โดยเอกสารหมาย ร.4 ระบุว่า ธนาคารผู้คัดค้านยืนยันว่าจะไม่ให้มีการถอนเงินออกจากธนาคารในบัญชีดังกล่าว จนกว่าจะได้รับคำสั่งเปลี่ยนแปลงจากศาล และปรากฏว่าศาลแขวงธนบุรีมีหนังสือแจ้งอายัดเงินฝากไปยังธนาคารผู้คัดค้าน สาขาถนนสาทรแล้ว ธนาคารผู้คัดค้านสาขาถนนสาทร โดยผู้มีอำนาจได้ลงนามและประทับตราของธนาคารผู้คัดค้านในหนังสือรับแจ้งอายัด ตามเอกสารหมาย ร.5 ว่า ได้รับแจ้งอายัดสมุดเงินฝากดังกล่าวของจำเลยจากศาลแขวงธนบุรีไว้แล้ว จึงยืนยันมา และธนาคารผู้คัดค้าน สาขาถนนสาทร จะระงับการจำหน่ายจ่ายโอนและการเปลี่ยนแปลงกรรมสิทธิ์ในสมุดเงินฝากประจำของจำเลยดังกล่าวไว้ตามคำสั่งศาลจนกว่าจะได้รับแจ้งการเปลี่ยนแปลงเป็นหนังสือจากศาลเป็นอย่างอื่น ย่อมเป็นการแสดงโดยชัดแจ้งตามเอกสารหมาย ร.4 และ ร.5 อยู่แล้วว่า ธนาคารผู้คัดค้านทราบเป็นอย่างดีว่าเงินในบัญชีเงินฝากประจำของจำเลยดังกล่าว จำเลยคดีนี้ได้นำไปใช้เป็นหลักประกันการขอปล่อยชั่วคราวนางหรือนางสาววรนุชจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2892/2540 ของศาลแขวงธนบุรี และธนาคารผู้คัดค้านยังมีภาระผูกพันที่จะต้องปฏิบัติตามเอกสารหมาย ร.4 และ ร.5 กล่าวคือ ธนาคารผู้คัดค้านจะต้องระงับการจำหน่ายจ่ายโอนและการเปลี่ยนแปลงกรรมสิทธิ์ในสมุดเงินฝากประจำของจำเลยดังกล่าวไว้ตามคำสั่งศาลแขวงธนบุรีจนกว่าจะได้รับแจ้งการเปลี่ยนแปลงเป็นหนังสือจากศาลแขวงธนบุรีเป็นอย่างอื่น ธนาคารผู้คัดค้านจึงจะสามารถจำหน่ายจ่ายโอนและเปลี่ยนแปลงกรรมสิทธิ์ในสมุดเงินฝากประจำของจำเลยดังกล่าวได้ แม้คดีดังกล่าวศาลแขวงธนบุรีจะมีคำพิพากษายกฟ้อง แต่ตราบใดที่ธนาคารผู้คัดค้านยังไม่ได้รับแจ้งการเปลี่ยนแปลงเป็นหนังสือจากศาลแขวงธนบุรีเป็นอย่างอื่น หนังสืออายัดของศาลแขวงธนบุรีจึงยังมีผลผูกพันธนาคารผู้คัดค้านอยู่ ธนาคารผู้คัดค้านจึงไม่สามารถที่จะจำหน่ายจ่ายโอนและเปลี่ยนแปลงกรรมสิทธิ์ รวมถึงไม่มีสิทธินำเงินในสมุดเงินฝากประจำของจำเลยดังกล่าวไปหักกลบลบหนี้กับบัญชีบัตรเครดิตของจำเลยที่เป็นลูกหนี้ของธนาคารผู้คัดค้านได้ การอายัดเงินในบัญชีเงินฝากประจำของจำเลยดังกล่าวยังคงผูกพันธนาคารผู้คัดค้านอยู่ตามคำสั่งอายัดของศาลแขวงธนบุรี เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีมีหนังสือแจ้งอายัดเงินฝากและขอให้ส่งเงินมาให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีตามกฎหมาย ธนาคารผู้คัดค้านจึงต้องปฏิบัติและส่งเงินมาตามคำสั่ง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาของผู้คัดค้านฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share