คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 606/2532

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องเรียกร้องที่ดินราคาสูง จากจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบุตรบุญธรรมของสามี และจากจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอก ในระหว่างการพิจารณาคดีศาลชั้นต้นก็มีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมมาแล้วหลายครั้ง จึงมีเหตุเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 87(2)ที่จะสืบตัวจำเลยที่ 2 เป็นพยานเพิ่มเติมตามคำร้องขอยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมของจำเลยที่ 2 ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์และนายงุ่ย แซ่ลิ้ม สามีครอบครองที่ดินร่วมกัน เนื้อที่ 48 ไร่ ต่อมาปี พ.ศ. 2498 โจทก์ให้นายงุ่ยและจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบุตรแจ้งการครอบครองโดยใส่ชื่อจำเลยที่ 1แทนโจทก์ และขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์แทนโจทก์ ต่อมานายงุ่ย ยกส่วนของตนให้นายเท่งเชียง แซ่ลิ้ม โจทก์ให้จำเลยที่ 1 และนายเท่งเชียงออกโฉนดแทนโจทก์ จำเลยที่ 1 ลักลอบโอนที่ดินส่วนของโจทก์ให้จำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 2 รู้ข้อเท็จจริงดังกล่าวขอให้เพิกถอนการโอนที่ดินดังกล่าว แล้วให้จำเลยที่ 1 โอนโฉนดคืนแก่โจทก์ หากจำเลยไม่ยอมโอนหรือกระทำไม่ได้ ขอให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาของจำเลย หากบังคับไม่ได้ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าที่ดินพร้อมดอกเบี้ย จำเลยให้การว่า โจทก์และนายงุ่ย ยกที่ดินให้จำเลยที่ 1 ครึ่งหนึ่ง จำเลยที่ 1 ครอบครองส่วนของตนอย่างเป็นเจ้าของตลอดมาจนออกโฉนดเป็นชื่อของจำเลยที่ 1และนายเท่งเชียง จำเลยที่ 1 ขายที่ดินให้จำเลยที่ 2 โจทก์ก็ทราบและไม่คัดค้านหรือเข้ามาเกี่ยวข้องเกินกว่า 10 ปี จึงไม่มีสิทธิเรียกคืน จำเลยที่ 2 รับโอนโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน ขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนการโอนที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนโฉนดคืนแก่โจทก์หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา หากไม่สามารถทำได้ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้เงินตามฟ้องพร้อมดอกเบี้ยจำเลยที่ 2 อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำพิพากษาและคำสั่งศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นรับบัญชีระบุพยานของจำเลยที่ 2 และดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้ปัญหาที่ขึ้นมาสู่ศาลฎีกาในชั้นนี้มีเพียงข้อเดียวว่า คำสั่งระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น ลงวันที่9 พฤศจิกายน 2526 ที่ไม่อนุญาตให้จำเลยที่ 2 ระบุอ้างตนเองเป็นพยานเพิ่มเติมนั้นเป็นคำสั่งที่ชอบหรือไม่ พิเคราะห์แล้ว ปรากฏหลักฐานในสำนวนว่าจำเลยทั้งสองแต่งตั้งทนายความคนแรกเมื่อวันที่28 ตุลาคม 2524 ศาลชั้นต้นได้นัดสืบพยานโจทก์นัดแรกวันที่ 15กุมภาพันธ์ 2525 และเลื่อนไปวันที่ 22 เมษายน 2525 ทนายความคนแรกของจำเลยทั้งสองได้ยื่นบัญชีระบุพยานของจำเลยทั้งสองลงวันที่31 มีนาคม 2525 ว่า “1. นายกิมเท้ง แซ่ลิ้ม จำเลยอ้างตนเองเป็นพยาน 2. นางเล็ก แซ่ลิ้ม ฯลฯ” ต่อมาทนายความป่วย และจำเลยที่ 2 ได้แต่งตั้งทนายความคนที่สองและคนที่สามเพิ่มเติมเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2525 และวันที่ 28 กรกฎาคม 2526 ตามลำดับ จนวันที่ 26 สิงหาคม 2526 ทนายโจทก์แถลงหมดพยานโจทก์ จำเลยที่ 2เพิ่งยื่นคำร้องขอระบุตัวจำเลยที่ 2 เป็นพยานเพิ่มเติมลงวันที่ 9พฤศจิกายน 2526 เห็นว่า คดีนี้เป็นคดีที่โจทก์ฟ้องเรียกร้องที่ดินราคาสูงจากจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบุตรบุญธรรมของสามี และจากจำเลยที่ 2 บุคคลภายนอก นอกจากนี้ในระหว่างการพิจารณาคดีศาลชั้นต้นก็มีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมมาแล้วหลายครั้ง จึงมีเหตุเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมที่จะสืบตัวจำเลยที่ 2 เป็นพยานเพิ่มเติมตามคำร้องจำเลยที่ 2 ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 87(2) ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้ศาลชั้นต้นรับบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมของจำเลยที่ 2 ตามคำร้องลงวันที่ 9 พฤศจิกายน 2525 และให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share