แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินตามใบขนสินค้าขาเข้ารวม 7 ฉบับ คำฟ้องของโจทก์จึงเป็นการเสนอข้อหาต่อศาลรวม 7 ข้อหา ที่ไม่เกี่ยวข้องกันและสามารถแยกออกจากกันได้ โจทก์จึงต้องเสีย ค่าขึ้นศาลเป็นรายข้อหาทั้ง 7 ข้อหา
เมื่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ยังมิได้มีการวินิจฉัยชี้ขาดอุทธรณ์ของโจทก์ โจทก์จึงยังไม่มีอำนาจฟ้องตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 8
การกำหนดให้คู่ความชดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมเป็นดุลพินิจของศาล โดยคำนึงถึงเหตุสมควรและความสุจริตในการสู้ความหรือการดำเนินคดีของคู่ความทั้งปวง ศาลภาษีอากรกลางจึงมีอำนาจพิพากษาให้จำเลยผู้ชนะคดีเสียค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ผู้แพ้คดีได้
คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลที่ต้องทำเป็นหนังสือนั้น ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 141 (4) ให้แสดงเหตุแห่งคำวินิจฉัยทั้งปวง ฉะนั้น เมื่อศาลต้องวินิจฉัยข้อหาในคำฟ้องทุกข้ออันเป็นเรื่องในประเด็นแห่งคดีแต่ค่าฤชาธรรมเนียมที่คู่ความต้องรับผิดตามมาตรา 161 มิใช่เรื่องในประเด็นแห่งคดี เพียงแต่มาตรา 141 (5) ให้มีคำวินิจฉัยตลอดทั้งค่าฤชาธรรมเนียมด้วยเท่านั้น ในส่วนค่าฤชาธรรมเนียมจึงไม่ต้องแสดงเหตุผลแห่งคำวินิจฉัย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและขอแก้ไขคำฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินของจำเลยและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาปัญหาพิกัดอัตราศุลกากร ให้จำเลยคืนเงินจำนวน 69,699,035.08 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 0.625 ต่อเดือน นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้อง ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 30,000 บาท
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังยุติว่า เมื่อเดือนมกราคม 2536 ถึงเดือนเมษายน 2536 โจทก์ซื้อและนำเข้าน้ำมันองค์ประกอบ (Reformate) จากบริษัทวิทอล เอเชีย พีทีอี จำกัด ประเทศสาธารณรัฐสิงคโปร์ รวม 15 เที่ยว โดยสำแดงรายการสินค้าในประเภทพิกัด 2710.001 อัตราอากรลิตรละ 0.065 บาท ปรากฏตามใบขนสินค้าขาเข้าพร้อมแบบแสดงรายการภาษีสรรพสามิตและภาษีมูลค่าเพิ่ม ต่อมาเจ้าพนักงานของจำเลยได้พิจารณาเห็นว่าสินค้า 7 เที่ยว ตามใบขนส่งสินค้าขาเข้า เลขที่ 0101 – 0016 – 1999 เลขที่ 0101 – 0026 – 1019 เลขที่ 0101 – 0026 – 0603 เลขที่ 0101 – 0046 – 1397 เลขที่ 0101 – 0016 – 3397 เลขที่ 0101 – 0046 – 0644 และเลขที่ 0101 – 0046 – 0645 อยู่ในประเภทพิกัด 2707.50 อัตราอากรร้อยละ 30 ของมูลค่านำเข้า จึงมีหนังสือแจ้งการประเมินให้โจทก์ชำระอากรขาเข้าเพิ่มเติมพร้อมเงินเพิ่ม โจทก์อุทธรณ์คัดค้านการประเมินภายในกำหนด 30 วัน นับตั้งแต่ได้รับแจ้งการประเมิน ต่อมาฝ่ายกรรมการพิจารณาปัญหาพิกัดอัตราศุลกากรได้พิจารณาชี้ขาด คำอุทธรณ์ของโจทก์และแจ้งผลการพิจารณาหรือทบทวนหรืออุทธรณ์การวินิจฉัยประเภทพิกัดอัตราศุลกากรให้โจทก์ทราบโดยจำเลยมิได้ส่งคำอุทธรณ์ของโจทก์ให้คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วินิจฉัยชี้ขาดตามกฎหมาย
คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า ที่ศาลภาษีอากรกลางมีคำสั่งให้โจทก์ชำระค่าขึ้นศาลโดยเห็นว่า คำฟ้องของโจทก์แยกได้เป็น 7 ข้อหา ตามใบขนสินค้าขาเข้าที่พิพาทแต่ละฉบับ และการคิดค่าขึ้นศาลต้องคำนวณแต่ละข้อหานั้นถูกต้องหรือไม่ ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นว่า พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 และข้อกำหนดคดีภาษีอากร พ.ศ.2544 มิได้บัญญัติเรื่องค่าขึ้นศาลไว้โดยเฉพาะ จึงต้องนำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลมตามมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ซึ่งตารางท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง เรื่องค่าขึ้นศาลมิได้บัญญัติว่าคดีหนึ่งจะต้องเสียค่าขึ้นศาลไม่เกิน 200,000 บาท คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินการนำเข้าตามใบขนสินค้าขาเข้ารวม 7 ฉบับ ในการขนสินค้า 7 เที่ยว ซึ่งแต่ละข้อหาสามารถคิดคำนวณจำนวนเงินที่ขอให้เพิกถอนการประเมินและให้จำเลยคืนเงินแยกต่างหากออกจากกันได้ คำฟ้องของโจทก์จึงเป็นการเสนอข้อหาต่อศาลรวม 7 ข้อหา ที่ไม่เกี่ยวข้องกันและสามารถแยกออกจากกันได้ โจทก์จะฟ้องแต่ละข้อหาแยกเป็นรายคดีก็ได้ แต่เพื่อความสะดวกโจทก์ได้ฟ้องรวมกันมา แต่ก็ต้องเสียค่าขึ้นศาลเป็นรายข้อหาทั้ง 7 ข้อหา ที่ศาลภาษีอากรมีคำสั่งให้โจทก์ชำระค่าขึ้นศาลโดยอาศัยคำสั่งศาลภาษีอากรกลางที่ 23/2542 ขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งนั้น เห็นว่า คำสั่งดังกล่าวมีความมุ่งหมายเพื่อให้การรับฟ้องเป็นไปโดยถูกต้อง รวดเร็ว และได้วางหลักเกณฑ์การคำนวณค่าขึ้นศาลคดีภาษีอากรสอดคล้องกับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งเรื่องการคำนวณค่าขึ้นศาลมิได้ขัดกันแต่อย่างใด อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ยังไม่ได้มีการวินิจฉัยชี้ขาดคำอุทธรณ์ของโจทก์ โจทก์จึงต้องห้ามฟ้องคดีตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 8 ศาลภาษีอากรกลางชอบที่จะยกปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องขึ้นวินิจฉัยได้…
คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยต่อไปว่า การที่ศาลภาษีอากรกลางสั่งให้จำเลยผู้ชนะคดีชำระค่าธรรมเนียมแทนโจทก์ผู้แพ้คดี เป็นการวินิจฉัยที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 161 เป็นดุลพินิจของศาลที่จะกำหนดให้ผู้แพ้หรือชนะคดีเป็นฝ่ายเสียค่าฤชาธรรมเนียมหรือให้ค่าฤชาธรรมเนียมเป็นพับ โดยคำนึงถึงเหตุสมควรและความสุจริตในการสู้ความหรือการดำเนินคดีของคู่ความทั้งปวง คดีนี้ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยว่าเมื่อโจทก์ได้รับแจ้งการประเมินภาษีอากรดังกล่าว โจทก์ได้อุทธรณ์คัดค้านการประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ภายในกำหนดแล้ว หน่วยงานของจำเลยคือฝ่ายกรรมการพิจารณาปัญหาพิกัดอัตราศุลกากรได้พิจารณาชี้ขาดอุทธรณ์ของโจทก์เสียเอง โดยมิได้ส่งคำอุทธรณ์ของโจทก์ให้คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ชี้ขาด คำชี้ขาดอุทธรณ์ของผู้อำนวยการด้านมาตรฐานพิกัดอัตราศุลกากรไม่มีผลเป็นการวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามกฎหมาย และต้องถือว่าคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ยังมิได้วินิจฉัยชี้ขาดอุทธรณ์ของโจทก์ ชอบที่จำเลยต้องส่งคำอุทธรณ์ของโจทก์ให้คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วินิจฉัยต่อไป แสดงว่าศาลภาษีอากรกลางคำนึงถึงเหตุสมควรและความสุจริตในการสู้ความของคู่ความในข้อที่ว่า โจทก์ต้องฟ้องคดีนี้ด้วยเหตุจำเลยไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมาย และถ้าคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ในเวลาต่อมา โจทก์อาจต้องกลับมาฟ้องคดีใหม่อีก ศาลภาษีอากรกลางมีอำนาจพิพากษาให้จำเลยเสียค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวงและเป็นการวินิจฉัยที่ใช้ดุลพินิจที่เหมาะสมแล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรจะต้องแก้ไข อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
ส่วนที่จำเลยอุทธรณ์ว่าคำพิพากษาของศาลภาษีอากรกลางส่วนนี้ไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะไม่ปรากฏว่าศาลได้แสดงเหตุผลในเรื่องนี้ไว้ในคำพิพากษานั้น เห็นว่า คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลที่ต้องทำเป็นหนังสือนั้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจาณาความแพ่ง มาตรา 141 (4) ให้แสดงเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยทั้งปวง ฉะนั้น เมื่อศาลต้องวินิจฉัยข้อหาในคำฟ้องทุกข้ออันเป็นเรื่องในประเด็นแห่งคดี แต่ค่าฤชาธรรมเนียมที่คู่ความต้องรับผิดตามมาตรา 161 มิใช่เรื่องในประเด็นแห่งคดี เพียงแต่มาตรา 141 (5) ให้มีคำวินิจฉัยตลอดทั้งค่าฤชาธรรมเนียมด้วยเท่านั้น ในส่วนค่าฤชาธรรมเนียมจึงไม่ต้องแสดงเหตุผลแห่งคำวินิจฉัย อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ