แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
กรณีจะถือว่าการฝ่าฝืนคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของนายจ้างเป็นกรณีร้ายแรงตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47(3) หรือไม่นั้น จะต้องพิจารณาจากพฤติการณ์ของการฝ่าฝืนคำสั่งและผลที่เกิดขึ้นจากการฝ่าฝืนนั้นว่าเป็นเรื่องร้ายแรงหรือไม่เป็นหลัก มิใช่ว่าระเบียบหรือคำสั่งของนายจ้างกำหนดไว้อย่างไรก็ต้องถือตามนั้นเสมอไป การที่จำเลยมีคำสั่งให้ครูอาจารย์ที่ได้ยื่นใบสมัครงานไว้ยังหน่วยงานหรือองค์การอื่น ซึ่งถือว่ามีเจตนาเปลี่ยนงานให้แจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรให้โรงเรียนทราบโดยแจ้งต่อผู้อำนวยการนั้น เป็นคำสั่งที่มิใช่เกี่ยวกับการทำงานในหน้าที่โดยตรงอันจะถือได้ว่าถ้าฝ่าฝืนแล้วจะเกิดความเสียหายแก่งานในหน้าที่ของลูกจ้างจำเลยโดยตรง แต่เป็นคำสั่งที่จำเลยเห็นว่าลูกจ้างควรปฏิบัติในระหว่างที่เป็นลูกจ้างนายจ้างกันอยู่ การที่โจทก์ฝ่าฝืนคำสั่งดังกล่าวจึงไม่ถือเป็นกรณีร้ายแรงตามที่ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47(3) กำหนดไว้.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทั้งสองเป็นลูกจ้างของจำเลยตำแหน่งครูจำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองโดยไม่เป็นธรรม ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชยและค่าเสียหายให้โจทก์ทั้งสองรวม 45,000 บาท และ 42,600 บาทตามลำดับ
จำเลยทั้งสองสำนวนให้การว่า โจทก์ทั้งสองเป็นครูในโรงเรียนจำเลย จำเลยมีคำสั่งที่ 8/2533 เรื่อง ให้แจ้งให้ทราบเมื่อไปสมัครงานที่อื่น โจทก์ทั้งสองฝ่าฝืนโดยไปสมัครสอบเข้ารับราชการครูโดยไม่แจ้งให้จำเลยทราบ ถือว่าเป็นความผิดอย่างร้ายแรง จึงเลิกจ้างโจทก์ทั้งสอง เป็นการเลิกจ้างที่เป็นธรรมแล้ว โจทก์ทั้งสองไม่มีสิทธิเรียกเงินตามฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า โจทก์ทั้งสองฝ่าฝืนคำสั่งของจำเลย มีเหตุสมควรเลิกจ้าง ไม่ใช่การเลิกจ้างไม่เป็นธรรมมิใช่กรณีร้ายแรง พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2 คำขอนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยทั้งสองสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า กรณีที่จะถือว่าการฝ่าฝืนคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของนายจ้างเป็นกรณีร้ายแรงตามที่กำหนดไว้ในประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47(3)หรือไม่นั้น จะต้องพิจารณาจากพฤติการณ์ของการฝ่าฝืนคำสั่งและผลที่เกิดขึ้นจากการฝ่าฝืนคำสั่งนั้นว่าเป็นเรื่องร้ายแรงหรือไม่เป็นหลัก มิใช่ว่าระเบียบหรือคำสั่งของนายจ้างกำหนดไว้อย่างไรก็ต้องถือตามนั้นเสมอไป ตามคำสั่งของจำเลยที่ 8/2533ลงวันที่ 1 มีนาคม 2533 เอกสารหมาย ล.1 ระบุว่า “เพื่อเป็นการป้องกันการเสียหายอันอาจเกิดขึ้นต่อไป จึงให้ครู-อาจารย์ทุกท่านที่ได้ยื่นใบสมัครงานไว้ยังหน่วยงานหรือองค์กรอื่น ซึ่งถือได้ว่ามีเจตนาเปลี่ยนงาน ให้แจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรให้ทางโรงเรียนโดยแจ้งต่อผู้อำนวยการโดยตรงทราบภายในกำหนด 7 วัน นับแต่วันที่ได้ยื่นใบสมัครงานไว้ หากมิได้แจ้งดังกล่าวและหรือทางโรงเรียนทราบไม่ว่าเหตุใดก็ตาม ทางโรงเรียนถือว่า
1. เป็นการจงใจให้โรงเรียนและนักเรียนได้รับความเสียหาย
2. เป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับและคำสั่งอันชอบของทางโรงเรียนอย่างร้ายแรง
ดังนั้น ทางโรงเรียนจะให้ครู-อาจารย์ ผู้ไม่ปฏิบัติดังกล่าวพ้นจากหน้าที่การเป็นครู-อาจารย์” เห็นว่า คำสั่งของจำเลยดังกล่าวนั้น มิใช่คำสั่งที่เกี่ยวกับการทำงานในหน้าที่โดยตรงอันจะถือได้ว่าถ้าฝ่าฝืนแล้วจะเกิดความเสียหายแก่งานในหน้าที่ของลูกจ้างจำเลยโดยตรง แต่เป็นคำสั่งในเรื่องที่จำเลยเห็นว่าลูกจ้างควรปฏิบัติในระหว่างที่เป็นลูกจ้างนายจ้างกันอยู่เท่านั้น การที่โจทก์ทั้งสองฝ่าฝืนคำสั่งดังกล่าวจึงไม่ถือเป็นกรณีร้ายแรงตามที่ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47(3) กำหนดไว้และผลของการฝ่าฝืนคำสั่งของโจทก์ทั้งสองนั้น ศาลแรงงานกลางฟังเป็นยุติว่าความเสียหายของจำเลยยังไม่เกิดขึ้น ส่วนที่จำเลยอ้างเหตุต่าง ๆ ว่าอาจจะเกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่จำเลยได้นั้น ก็เป็นเพียงการคาดคิดของจำเลยถึงเรื่องที่อาจจะเกิดในอนาคตซึ่งกรณีของโจทก์ทั้งสองไม่ปรากฏว่าเกิดความเสียหายแก่จำเลยจึงถือไม่ได้ว่าเป็นกรณีร้ายแรง ศาลแรงงานกลางพิพากษาชอบแล้ว
พิพากษายืน.