คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6020/2551

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

เดิมโจทก์ทำสัญญาจ้างจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของโจทก์ในตำแหน่งพนักงานสินเชื่อ มีจำเลยที่ 2 และที่ 3 ค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ 1 ไว้แก่โจทก์ตามสัญญาจ้างพนักงานและลูกจ้างของสหกรณ์ ต่อมาโจทก์ได้ทำสัญญาจ้างจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของโจทก์ใหม่ในตำแหน่งผู้จัดการ โดยมีจำเลยที่ 4 จำนองที่ดินเป็นประกันการเข้าทำงานในตำแหน่งผู้จัดการของโจทก์ ตามสัญญาจ้างพนักงานและลูกจ้างสหกรณ์อันเป็นการตกลงทำสัญญาจ้างกันใหม่ในตำแหน่งงานใหม่ที่มีความรับผิดชอบเพิ่มมากขึ้นโดยไม่ปรากฏว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้รู้เห็นให้ความยินยอมด้วย อีกทั้งตามสัญญาจ้างฉบับใหม่ก็ไม่ได้มีข้อความระบุว่าที่ดินส่วนที่จำเลยที่ 4 จำนองเป็นประกันการทำงานของจำเลยที่ 1 ไว้แก่โจทก์นั้นเป็นการประกันเพิ่มเติมจากที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ค้ำประกันไว้เดิม อันเป็นข้อเท็จจริงที่แสดงเจตนาของโจทก์และจำเลยที่ 1 ที่ให้บังคับตามสัญญาจ้างใหม่ และเป็นผลทำให้สัญญาจ้างจำเลยที่ 1 ในตำแหน่งพนักงานสินเชื่อเดิมและสัญญาค้ำประกันเดิมที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 กระทำผูกพันไว้กับโจทก์สิ้นสุดลงไป ดังนั้น เมื่อจำเลยที่ 1 ก่อให้เกิดความเสียหายในขณะทำหน้าที่ผู้จัดการของโจทก์ตามสัญญาจ้างใหม่ จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 1,957,530 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงิน 1,850,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยที่ 4 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้แก่โจทก์ ให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 7204 ตำบลไชยภูมิ อำเภอไชโย จังหวัดอ่างทอง ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การว่า เป็นฟ้องที่เคลือบคลุม ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 1,850,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 27 สิงหาคม 2541 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ แต่ดอกเบี้ยถึงวันฟ้อง (วันที่ 4 มิถุนายน 2542) ต้องไม่เกิน 107,530 บาท ให้จำเลยที่ 4 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ชำระเงิน 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระ ให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 7204 ตำบลไชยภูมิ อำเภอไชโย จังหวัดอ่างทอง ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ในวงเงิน 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความให้ 5,000 บาท
จำเลยที่ 2 และที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2528 โจทก์ได้ว่าจ้างจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของโจทก์ในตำแหน่งพนักงานสินเชื่อหรือตำแหน่งหน้าที่อื่นที่ได้รับแต่งตั้งหรือมอบหมายจากคณะกรรมการดำเนินการหรือผู้จัดการสหกรณ์ ตามสัญญาจ้างพนักงานและลูกจ้างของสหกรณ์ เอกสารหมาย จ.3 มีจำเลยที่ 2 และที่ 3 ตกลงเข้าทำสัญญาค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ 1 กับโจทก์ตามหนังสือค้ำประกันพนักงานและลูกจ้างของสหกรณ์เอกสารหมาย จ.4 และ จ.5 ตามลำดับ ซึ่งตามข้อตกลงหนังสือค้ำประกันดังกล่าวข้อที่ 1 ระบุว่า ผู้ค้ำประกันยินยอมค้ำประกันอย่างไม่มีจำกัดเพื่อเป็นประกันความเสียหายอันเกิดขึ้นตามสัญญาจ้าง แต่ต่อมาวันที่ 20 พฤศจิกายน 2534 โจทก์ได้ว่าจ้างให้จำเลยที่ 1 กระทำการในตำแหน่งผู้จัดการตามสัญญาจ้างพนักงานและลูกจ้างของสหกรณ์เอกสารหมาย จ.21 ซึ่งต้องมีความรับผิดชอบในการรับจ่ายและเก็บรักษาเงินของโจทก์ตามระเบียบว่าด้วยการรับจ่ายและเก็บรักษาเงิน พ.ศ.2534 เอกสารหมาย จ.6 ข้อ 6 ในการทำสัญญาจ้างใหม่นี้มีจำเลยที่ 4 จำนองที่โฉนดเลขที่ 7204 ตำบลไชยภูมิ (สะเกษ) อำเภอไชโย จังหวัดอ่างทอง เฉพาะส่วนเป็นประกันการทำงานของจำเลยที่ 1 ในวงเงิน 200,000 บาท ด้วย ตามโฉนดที่ดินและหนังสือสัญญาจำนองที่ดินเฉพาะส่วนเอกสารหมาย จ.7 และ จ.20 ในระหว่างทำหน้าที่ผู้จัดการของจำเลยที่ 1 โจทก์ตรวจพบว่ามีข้อบกพร่องเกี่ยวกับการบัญชีตามฟ้องคณะกรรมการของโจทก์จึงมีมติให้ไล่จำเลยที่ 1 ออกจากงานตามรายงานการประชุมคณะกรรมการดำเนินการและคำสั่งของโจทก์เอกสารหมาย จ.10 และ จ.11
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า เดิมโจทก์ทำสัญญาจ้างจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของโจทก์ในตำแหน่งพนักงานสินเชื่อ มีจำเลยที่ 2 และที่ 3 ค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ 1 ไว้แก่โจทก์ตามสัญญาจ้างพนักงานและลูกจ้างของสหกรณ์และหนังสือค้ำประกันพนักงานและลูกจ้างของสหกรณ์เอกสารหมาย จ.3 จ.4 และ จ.5 แต่เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2534 โจทก์ได้ทำสัญญาจ้างจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของโจทก์ใหม่ในตำแหน่งผู้จัดการ โดยมีจำเลยที่ 4 จำนองที่ดินเฉพาะส่วนของตนในที่ดินโฉนดเลขที่ 7204 ตำบลไชยภูมิ (สะเกษ) อำเภอไชโย จังหวัดอ่างทอง เป็นประกันการเข้าทำงานในตำแหน่งผู้จัดการของโจทก์ในวงเงิน 200,000 บาท ตามสัญญาจ้างพนักงานและลูกจ้างสหกรณ์ โฉนดที่ดินและหนังสือสัญญาจำนองที่ดินเฉพาะส่วนเอกสารหมาย จ.21 จ.7 และ จ.20 อันเป็นการตกลงทำสัญญาจ้างกันใหม่ในตำแหน่งใหม่ที่มีความับผิดชอบมากขึ้นโดยไม่ปรากฏว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้รู้เห็นให้ความยินยอมด้วย อีกทั้งตามสัญญาจ้างฉบับใหม่เอกสารหมาย จ.21 ก็ไม่ได้มีข้อความระบุว่าที่ดินส่วนที่จำเลยที่ 4 จำนองเป็นประกันการทำงานของจำเลยที่ 1 ไว้แก่โจทก์นั้นเป็นการประกันเพิ่มเติมจากที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ค้ำประกันไว้เดิมดังที่โจทก์นำสืบ อันเป็นข้อเท็จจริงที่แสดงเจตนาของโจทก์และจำเลยที่ 1 ที่ให้บังคับตามสัญญาจ้างใหม่ และเป็นผลทำให้สัญญาจ้างจำเลยที่ 1 ในตำแหน่งพนักงานสินเชื่อเดิมและสัญญาค้ำประกันเดิมที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 กระทำผูกพันไว้กับโจทก์สิ้นสุดลงไป ดังนั้นเมื่อจำเลยที่ 1 ก่อให้เกิดความเสียหายในขณะทำหน้าที่ผู้จัดการของโจทก์ตามสัญญาจ้างใหม่ จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามฟ้อง และไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ข้ออื่นๆ อีกต่อไป ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share