คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5985/2539

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยที่ 3 หย่าขาดจากการเป็นสามีภริยากับจำเลยที่ 2แล้ว แต่จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 เบิกความรับว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้รถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุมาระหว่างสมรส ซึ่งแม้มีชื่อจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของในทะเบียนแต่ไม่ได้นำสืบว่าเป็นสินส่วนตัวหรือเป็นสินสมรสต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นสินสมรสเมื่อจำเลยที่ 2เป็นผู้ติดต่อหาคนขับรถและดูแลกิจการโดยทั่วไป บางครั้งได้ให้จำเลยที่ 3 ช่วยดูแลบ้าง รายได้จากการรับจ้างก็แบ่งให้จำเลยที่ 3 เพื่อใช้จ่ายในการเลี้ยงดูบุตรหลังเกิดเหตุแล้วจำเลยที่ 2 ได้มอบหมายให้จำเลยที่ 3ไปเจรจาเรื่องค่าเสียหายกับฝ่ายโจทก์ แสดงว่าจำเลยที่ 2และที่ 3 ยังคงทำกิจการร่วมกันจำเลยที่ 3 จึงเป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 ด้วย จึงต้องร่วมกับจำเลยที่ 2 รับผิดในผลแห่งละเมิดที่จำเลยที่ 1 ได้ขับรถยนต์บรรทุกในทางการที่จ้างโดยประมาทเลินเล่อเฉี่ยวชน ส. ซึ่งเป็นบุตรของโจทก์ทั้งสองจนถึงแก่ความตายด้วย ค่าใช้จ่ายในงานศพ เช่น ค่าดอกไม้ ค่าบุหรี่ถวายพระถือว่าเป็นค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอย่างอื่นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 443 วรรคหนึ่งส่วนเงินที่มีผู้ช่วยทำศพผู้ตายมากน้อยเพียงใดก็นำมาบรรเทาความรับผิดของจำเลยไม่ได้ และเนื่องจากบุตรจำต้องอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดา การที่ผู้ตายตายลงทำให้บิดามารดาต้องขาดไร้อุปการะ จึงชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนโดยไม่จำต้องพิจารณาว่าปัจจุบันผู้ตายจะได้ อุปการะเลี้ยงดูอยู่หรือไม่

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งห้าร่วมกันชำระเงินจำนวน 943,080 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีจากต้นเงิน 920,386 บาท
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ให้การว่า โจทก์ทั้งสองไม่ใช่บิดามารดาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย จำเลยที่ 1ไม่ใช่ตัวแทนหรือลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 จำเลยที่ 2และที่ 3 ไม่ได้ประกอบกิจการรับขนสินค้าหรือบุคคลเพื่อบำเหน็จในทางการค้าปกติ จำเลยที่ 3 ไม่ใช่ผู้ครอบครองรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน 70-8928 กรุงเทพมหานครและได้หย่าร้างกับจำเลยที่ 2 แล้วค่าเสียหายตามฟ้องเป็นความเสียหายในอนาคตที่ไม่แน่นอน ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 5 ให้การว่า จำเลยที่ 5 ได้รับประกันภัยรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน 70-8928 กรุงเทพมหานครไว้จากจำเลยที่ 2 ความรับผิดของจำเลยที่ 5 จะต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ซึ่งหากเกิดความเสียหายขึ้นจริงตามฟ้อง จำเลยที่ 5 จะต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนในนามของจำเลยที่ 2 ต่อโจทก์ไม่เกิน 50,000 บาทเท่านั้น ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันชำระเงินจำนวน 487,986 บาท แก่โจทก์ทั้งสอง พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 12มิถุนายน 2535 เป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จ แต่จำเลยที่ 5ไม่ต้องรับผิดเกิน 50,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงินดังกล่าว
จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยมาโดยคู่ความมิได้ฎีกาโต้แย้งเป็นอย่างอื่นฟังได้ยุติว่า โจทก์ทั้งสองเป็นบิดามารดาโดยชอบด้วยกฎหมายของนางสาวสุจิตรา เฉลี่ย ผู้ตาย จำเลยที่ 1เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 และที่ 4 วันเกิดเหตุจำเลยที่ 1ขับรถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2และที่ 4 โดยประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้เฉี่ยวชนผู้ตายถึงแก่ความตาย ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 และที่ 3ในข้อแรกมีว่าจำเลยที่ 3 จะต้องร่วมรับผิดกับจำเลยอื่นในการทำละเมิดของจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ทั้งสองหรือไม่โดยจำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกาว่า จำเลยที่ 3 ได้หย่าขาดจากการเป็นสามีภริยากับจำเลยที่ 2 ก่อนเกิดเหตุนานแล้วแต่ไม่สามารถแสดงทะเบียนการหย่าต่อศาลได้เพราะพ้นกำหนดเวลาที่จะอ้างอิงพยานหลักฐานตามกฎหมาย รถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุเป็นของจำเลยที่ 2 แต่เพียงผู้เดียวตามหนังสือแสดงการจดทะเบียนรถจำเลยที่ 3 ไม่ได้เป็นเจ้าของและผู้ครอบครองหรือนายจ้างของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 3 เพียงแต่ช่วยเหลือดูแลกิจการแทนบ้างในบางครั้ง และจำเลยที่ 2 แบ่งรายได้ให้ในฐานะที่จะต้องส่งเสียเลี้ยงดูบุตร เห็นว่า แม้จำเลยที่ 3 จะไม่สามารถอ้างเอกสารทะเบียนการหย่าได้ตามกฎหมาย แต่โจทก์ที่ 2 ได้เบิกความรับว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 หย่าร้างกันก่อนเกิดเหตุแต่เหตุที่ฟ้องจำเลยที่ 3 ก็เพราะจำเลยที่ 3 มาติดต่อกับโจทก์หลังเกิดเหตุด้วยโดยได้รับมอบหมายจากจำเลยที่ 2 จึงรับฟังประกอบการนำสืบของจำเลยได้ว่า จำเลยที่ 3 ได้หย่าขาดจากการเป็นสามีภริยากับจำเลยที่ 2 แล้วจริง แต่อย่างไรก็ดีจำเลยที่ 2 และที่ 3 เบิกความรับว่า รถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้มาระหว่างสมรสแม้จะมีชื่อจำเลยที่ 2เป็นเจ้าของในทะเบียน แต่ไม่ได้นำสืบให้เห็นว่าเป็นสินส่วนตัวของจำเลยที่ 2 หรือเป็นสินสมรสจึงต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นสินสมรสจำเลยที่ 2 เป็นผู้ติดต่อหาคนขับรถและดูแลกิจการโดยทั่วไป บางครั้งได้ให้จำเลยที่ 3 ช่วยดูแลบ้าง รายได้จากการรับจ้างก็ได้แบ่งให้จำเลยที่ 3 เพื่อใช้จ่ายในการเลี้ยงดูบุตรหลังเกิดเหตุแล้วจำเลยที่ 2 ได้มอบหมายให้จำเลยที่ 3ไปเจรจากับฝ่ายโจทก์เรื่องค่าเสียหาย พฤติการณ์ต่าง ๆ ดังกล่าวฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ยังคงทำกิจการร่วมกันจำเลยที่ 3 จึงเป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 ด้วยจึงต้องร่วมรับผิดในผลแห่งละเมิดที่จำเลยที่ 1 ได้กระทำไปในทางการที่จ้างฎีกาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต่อไปตามฎีกาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 มีว่าค่าเสียหายของโจทก์ทั้งสองมีเพียงใด จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกาว่าผู้ตายไม่ใช่เป็นผู้มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักของคนทั่วไป การจัดงานศพมีถึง 10 วัน เกินความจำเป็น ตามประเพณีนิยมไม่ควรเกิน 5 วัน และค่าใช้จ่ายที่จำเป็นไม่ควรเกินวันละ 3,000 บาทเป็นเงินเพียง 15,000 บาท และศาลล่างทั้งสองกำหนดค่าใช้จ่ายในการปลงศพให้วันละ 4,000 บาท เป็นเวลา 10 วัน ก็น่าจะเป็นเงินเพียง 40,000 บาท ไม่ใช่ 127,986 บาท ทั้งโจทก์ทั้งสองไม่ได้เสียค่าใช้จ่ายทั้งหมด เนื่องจากมีบุคคลภายนอกรับเป็นเจ้าภาพและผู้ที่มาร่วมงานได้ช่วยทำบุญด้วยการให้เงินจำนวนหลายแสนบาทผู้ตายยังเป็นนักศึกษาอยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของโจทก์ทั้งสองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 443 วรรคสามนั้นต้องเป็นกรณีที่ผู้ตายเป็นผู้อุปการะเลี้ยงดูเมื่อผู้ตายตายลงทำให้ผู้อยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูเดือดร้อนในการดำรงชีพแต่คดีนี้ผู้ตายอยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของโจทก์ทั้งสองการตายของผู้ตายจึงไม่ทำให้โจทก์ทั้งสองเดือดร้อนที่ศาลล่างทั้งสองยกมาตราดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยให้โจทก์ทั้งสองจึงคลาดเคลื่อนต่อเจตนารมณ์ของกฎหมาย และเมื่อผู้ตายสำเร็จการศึกษาแล้วก็ไม่แน่นอนว่าผู้ตายจะได้ประกอบอาชีพและเลี้ยงดูโจทก์ทั้งสองหรือไม่ โจทก์ทั้งสองมีสุขภาพแข็งแรงอายุเพียง 45 ปี ยังสามารถประกอบอาชีพเลี้ยงดูตนเองได้โดยมิต้องให้ผู้ตายอุปการะเลี้ยงดู โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีสิทธิเรียกค่าขาดไร้อุปการะนั้น เห็นว่า แม้ผู้ตายไม่ใช่เป็นผู้มีชื่อเสียงแต่การจัดงานศพเพียง 10 วัน ถือได้ว่าเป็นปกติประเพณีค่าใช้จ่ายในงานศพ เช่น ค่าดอกไม้ ค่าบุหรี่ถวายพระถือได้ว่าเป็นค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอย่างอื่นตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 443 วรรคหนึ่งแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ศาลล่างทั้งสองกำหนดค่าใช้จ่ายให้วันละ 4,000 บาท รวม 10 วันนับว่าเป็นจำนวนที่สมควรแล้วและเงินจำนวนดังกล่าวที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดให้นั้น เป็นค่าใช้จ่ายเพียงบางส่วนเฉพาะรายการค่าอาหารเลี้ยงแขกค่าแรงแม่ครัวรวมทั้งค่ารับส่งในการจัดการศพ ไม่ใช่ค่าใช้จ่ายในการปลงศพทั้งหมดดังที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกา การที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดค่าเสียหายในส่วนนี้เป็นเงิน 127,986 บาท นั้นชอบแล้วส่วนเงินที่มีผู้ช่วยทำศพผู้ตายนั้นจะมากน้อยเพียงใดก็นำมาบรรเทาความรับผิดของจำเลยหาได้ไม่ สำหรับค่าขาดไร้อุปการะนั้นเนื่องจากบุตรจำต้องอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดาตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1563 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ การที่ผู้ตายตายลงจึงทำให้บิดามารดาต้องขาดไร้อุปการะตามกฎหมายตามมาตรา 443 วรรคสามจึงชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนโดยไม่จำต้องพิจารณาว่าปัจจุบันผู้ตายจะได้อุปการะเลี้ยงดูโจทก์ทั้งสองอยู่หรือไม่ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดค่าขาดไร้อุปการะให้โจทก์ทั้งสองเดือนละ 3,000 บาท เป็นเวลา 10 ปี นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยฎีกาจำเลยที่ 2 และที่ 3 ทุกข้อฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share