คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5974/2533

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีเดิม ศาลมีคำสั่งว่าที่พิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยโดยการครอบครองปรปักษ์คดีถึงที่สุดแล้ว โจทก์จึงไม่อาจฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าว แต่ไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะฟ้องว่าโจทก์และทายาทอื่นมีสิทธิในที่พิพาทดีกว่าจำเลยไม่ต้องผูกพันตามคำสั่งดังกล่าว ในคดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่าโจทก์ จำเลยกับทายาทอื่นเป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกที่พิพาทเฉพาะส่วนของผู้ตายที่โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกซึ่งยังไม่ได้ รังวัดแบ่งแยกกรรมสิทธิ์ ทุกคนจึงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมกัน แต่จำเลยบังอาจยื่นคำร้องและเบิกความพร้อมกับแสดงพยานหลักฐานอันเป็นเท็จต่อศาล จนศาลหลงเชื่อว่าจำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่พิพาทเพียงผู้เดียว จึงมีคำสั่งว่าที่พิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลย ทำให้โจทก์และทายาทอื่นเสียหาย ขอให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าว คำฟ้องของโจทก์พอจะแปลความหมายได้ว่าโจทก์ประสงค์ขอให้ศาลพิพากษาว่า โจทก์และทายาทอื่นมีสิทธิในที่พิพาทดีกว่าจำเลย ขอให้คำสั่งดังกล่าวไม่ผูกพันโจทก์ คำขอท้ายฟ้องในข้อนี้จึงบังคับได้ ส่วนคำขอท้ายฟ้องอีกข้อที่ขอให้พิพากษาให้เจ้าพนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาบางเขน ยุติการดำเนินการจดทะเบียนแก้ไขชื่อ ผู้ถือกรรมสิทธิ์ตามคำสั่งดังกล่าวข้างต้น หรือหากได้จดทะเบียนแล้วก็ให้จัดการแก้ไขให้อยู่ในสภาพเดิมนั้น เจ้าพนักงานที่ดินดังกล่าวเป็นบุคคลภายนอกคดี เมื่อโจทก์ไม่ได้ฟ้องเจ้าพนักงานที่ดินเป็นจำเลยในคดีนี้ด้วยศาลก็ไม่อาจพิพากษาถึงเจ้าพนักงานที่ดินนั้นได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 145 วรรคสอง
คำบรรยายฟ้องดังกล่าวข้างต้นของโจทก์เป็นการฟ้องเรียกทรัพย์มรดกจากจำเลยรวมเข้ากองมรดกเพื่อจัดการแบ่งปันให้แก่ทายาทต่อไป ซึ่งเป็นเรื่องการจัดการมรดกที่ยังจัดการไม่เสร็จ หาใช่เรื่องฟ้องแบ่งมรดกอันมีอายุความ 1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1754 ไม่
โจทก์ จำเลย และทายาทอื่นของผู้ตายได้อาศัยสิทธิของผู้ตายเข้าปลูกบ้านอาศัยในที่พิพาทตั้งแต่ก่อนผู้ตายถึงแก่ความตาย และยังร่วมกันครอบครองที่พิพาทซึ่งเป็นมรดกที่ยังไม่ได้แบ่งในฐานะทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกตลอดมาแม้ภายหลังผู้ตายถึงแก่ความตายแล้ว ถือได้ว่าจำเลยได้ครอบครองที่พิพาทแทนโจทก์และทายาทอื่น จำเลยย่อมไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่พิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ โจทก์และทายาทอื่นจึงมีสิทธิในที่พิพาทดีกว่าจำเลย จำเลยไม่อาจใช้คำสั่งศาลในคดีเดิม ที่แสดงว่าที่พิพาทเป็นของจำเลยโดยการครอบครองปรปักษ์มายันโจทก์และทายาทอื่นได้.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นบุตรและทายาทของนายกรวด นางเนื่อง ขาวนุ่น และเป็นผู้จัดการมรดกของนางเนื่อง นางเนื่องได้ถือกรรมสิทธิ์ร่วมในที่ดินโฉนดเลขที่ ๕๒๐ แขวงคลองถนน เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร และยังไม่ได้มีการรังวัดแบ่งแยกกรรมสิทธิ์ระหว่างทายาท ทายาทหลายคนของผู้ถือกรรมสิทธิ์ได้อาศัยอยู่ในที่ดินดังกล่าวมาจนปัจจุบัน จำเลยซึ่งเป็นทายาทคนหนึ่งของนางเนื่อง ได้ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นของแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงดังกล่าวเฉพาะส่วนของนางเนื่องโดยอ้างว่าจำเลยครอบครอง โดยปรปักษ์จนได้กรรมสิทธิ์และแสดงหลักฐานอันเป็นเท็จ ทำให้ศาลชั้นต้นหลงเชื่อว่าเป็นความจริงและมีคำสั่งให้จำเลยได้กรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าวเฉพาะส่วนของนางเนื่อง โดยโจทก์ไม่ทราบ ทำให้โจทก์และทายาทอื่นได้รับความเสียหาย ขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนคำสั่งของศาลชั้นต้นที่สั่งให้กรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดดังกล่าวเฉพาะส่วนของนางเนื่องเป็นของจำเลยให้เจ้าพนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาบางเขน ยุติการจดทะเบียนแก้ไขชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์ตามคดีแพ่งดังกล่าว หากเจ้าพนักงานที่ดินจดทะเบียนไปแล้วก็ให้จัดการแก้ไขให้อยู่ในสภาพเดิม
จำเลยให้การว่า จำเลยเป็นทายาทของนางเนื่อง ขาวนุ่น ผู้ตายซึ่งมีกรรมสิทธิ์ที่ดินเฉพาะส่วนของโฉนดเลขที่ ๕๒๐ เนื้อที่ ๑ ไร่เศษโดยครองครองเป็นส่วนสัดตลอดมา นางเนื่องไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้จำเลยได้ปลูกบ้านอยู่ในที่ดินเฉพาะส่วนของนางเนื่องดังกล่าวและอุปการะเลี้ยงดู นางเนื่องจนถึงแก่กรรม จำเลยครองครองที่ดินโดยสงบ เปิดเผย โดยเจตนาเป็นเจ้าของตั้งแต่นางเนื่องถึงแก่กรรมมาเป็นเวลา ๔๐ ปีเศษ และได้ยื่นคำร้องต่อ ศาลได้ยื่นคำร้องต่อศาล ศาลได้มีคำสั่งว่าที่ดินเฉพาะส่วนดังกล่าวเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลย คำสั่งศาลที่แต่งตั้งโจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของนางเนื่องไม่ผูกพันจำเลยและที่ดินเฉพาะส่วนของโฉนดเลขที่ ๕๒๐ เพราะโจทก์ร้องขอต่อศาลเป็นผู้จัดการมรดกหลังจากจำเลยได้ครอบครองปรปักษ์ที่ดินเฉพาะส่วนเป็นเวลา ๓๐ ปีเศษ และโจทก์มิได้ฟ้องจำเลยขอแบ่งที่ดินเฉพาะส่วนซึ่งเป็นทรัพย์มรดกภายใน ๑ ปี นับแต่นางเนื่องถึงแก่กรรม คดีโจทก์จึงขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งของศาลชั้นต้นในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ๑๓๕๙๖/๒๕๒๕ ให้ยุติการจดทะเบียนแก้ไขชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์ตามคำสั่งศาลชั้นต้น หากจดทะเบียนแก้ไขแล้วให้กลับคืนสภาพเดิม
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาที่ขึ้นมาสู่ศาลฎีกาตามฎีกาของโจทก์มีว่าคำขอท้ายฟ้องของโจทก์บังคับได้หรือไม่ กรณีคำขอข้อแรกที่ขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนคำสั่งของศาลชั้นต้นในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่๑๓๕๙๖/๒๕๒๕ ซึ่งสั่งให้กรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ ๕๒๐ ตามฟ้องเฉพาะส่วนของนางเนื่อง ขาวนุ่น เป็นของจำเลย นั้น เห็นว่า คดีดังกล่าวจำเลยยื่นคำร้องขอให้แสดงกรรมสิทธิ์ในที่พิพาทว่าเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยโดยการครอบครองปรปักษ์ ศาลได้มีคำสั่งว่า ที่พิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยและคำสั่งดังกล่าวถึงที่สุดแล้ว จึงไม่อาจเพิกถอนได้ก็ตาม แต่ไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะฟ้องว่าโจทก์และทายาทอื่นมีสิทธิในที่พิพาทดีกว่าจำเลย ไม่ต้องผูกพันในคำสั่งดังกล่าวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๔๕ วรรคสอง (๒)คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่าโจทก์ จำเลยกับทายาทอื่นอีก ๗ คน ตามบัญชีเครือญาติท้ายฟ้องเป็นทายาทมีสิทธิรับมรดกที่ดินโฉนดเลขที่ ๕๒๐ตามฟ้องเฉพาะส่วนของนางเนื่อง ขาวนุ่น ผู้ตายที่โจทก์เป็นผู้จัดการมรดก ที่ดินดังกล่าวยังไม่ได้รับวัดแบ่งแยกกรรมสิทธิ์ ทายาททุกคนจึงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมกัน แต่จำเลยบังอาจยื่นคำร้องและเบิกความพร้อมกับแสดงพยานหลักฐานอันเป็นเท็จต่อศาล จนศาลหลงเชื่อว่าจำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่พิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์แต่เพียงผู้เดียว จึงมีคำสั่งว่าที่พิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยทำให้โจทก์กับทายาทอื่นผู้ถือกรรมสิทธิ์ร่วมเสียหายขอให้เพิกถอนคำสั่งของศาลดังกล่าว เห็นว่าคำฟ้องของโจทก์พอจะแปลความหมายได้ว่าโจทก์ประสงค์ขอให้ศาลพิพากษาว่าโจทก์และทายาทอื่นมีสิทธิในที่พิพาทดีกว่าจำเลย และขอให้คำสั่งของศาลชั้นต้นคดีแพ่งหมายเลขแดงที่๑๓๕๙๖/๒๕๒๕ ไม่ผูกพันโจทก์นั่นเอง คำขอท้ายฟ้องของโจทก์ข้อแรกจึงบังคับได้ ส่วนคำขอท้ายฟ้องข้อสองที่โจทก์ขอให้พิพากษาให้เจ้าพนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาบางเขน ยุติการดำเนินการจดทะเบียนแก้ไขชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์ตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่๑๓๕๙๖/๒๕๒๕ ของศาลชั้นต้น หรือหากได้จดทะเบียนแล้วก็ให้จัดการแก้ไขให้อยู่ในสภาพเดิม นั้น เห็นว่า เจ้าพนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาบางเขน เป็นบุคคลภายนอกคดี เมื่อโจทก์ไม่ได้ฟ้องเจ้าพนักงานที่ดินดังกล่าวเป็นจำเลยในคดีนี้ด้วย ศาลก็ไม่อาจพิพากษาถึงเจ้าพนักงานที่ดินดังกล่าวได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๔๕ วรรคสอง ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน ในเมื่อประเด็นแห่งคดีที่ว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ และโจทก์มีสิทธิในที่พิพาทดีกว่าจำเลยหรือไม่นั้น คู่ความทั้งสองฝ่ายได้นำสืบพยานจนเสร็จสิ้นแล้ว ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยคดีไปตามประเด็นดังกล่าวโดยไม่ต้องย้อนสำนวนให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาใหม่ ปัญหาข้อแรก ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า นางเนื่อง ขาวนุ่น เป็นเจ้าของที่พิพาทเนื้อที่ ๑ ไม่เศษ ซึ่งเป็น ๑ ใน ๖ ส่วน ของที่ดินโฉนดเลขที่๕๒๐ นางเนื่องมีทายาท ๙ คน คือ โจทก์ จำเลย นางกำไล นายแหวนนายเย็น นายยง นางชื้น นางฟัก และนางแพง นางเนื่องถึงแก่กรรมเมื่อปี ๒๔๘๖ โดยไม่ได้ทำพินัยกรรม ต่อมาเมื่อวันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์๒๕๑๘ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งโจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของนางเนื่องและในวันที่ ๗ ธันวาคม ๒๕๒๕ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตามคำร้องของจำเลยว่าที่พิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยโดยการครองครองปรปักษ์ หลังจากนั้นจำเลยได้เป็นโจทก์ฟ้องโจทก์เป็นจำเลยต่อศาลชั้นต้นในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ๒๐๘๕/๒๕๒๗ ขอให้โจทก์ส่งมอบโฉนดที่ดินเลขที่ ๕๒๐ดังกล่าวข้างต้นให้แก่จำเลย ศาลมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ ๘ มีนาคม๒๕๒๗ ว่า ก่อนถึงแก่กรรม นางเนื่องปลูกบ้านอาศัยอยู่ในที่พิพาทและจำเลยก็ได้อาศัยสิทธิของนางเนื่องเข้าปลูกบ้านอยู่อาศัยในที่พิพาทด้วยเช่นเดียวกับโจทก์และทายาทอื่น ๆ ของนางเนื่องแสดงว่าทายาททุกคนต่างร่วมกันครอบครองที่พิพาทอยู่ จำเลยจึงครอบครองที่พิพาทส่วนของนางเนื่องในฐานะทายาทคนหนึ่งร่วมกับทายาทอื่นและมีสิทธิได้รับมรดกที่พิพาทในฐานะบุตรคนหนึ่งของนางเนื่องเท่านั้น ให้ยกฟ้อง คู่ความไม่อุทธรณ์ คดีถึงที่สุด ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการแรกมีว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๗๕๔ หรือไม่ พิเคราะห์แล้วคดีนี้โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นทายาทและผู้จัดการมรดกที่พิพาทของนางเนื่องที่ยังไม่ได้แบ่ง จำเลยซึ่งเป็นทายาทคนหนึ่งของนางเนื่องได้ยื่นคำร้องและแสดงหลักฐานอันเป็นเท็จต่อศาลชั้นต้นเป็นเหตุให้ศาลหลงเชื่อจึงมีคำสั่งว่าที่พิพาทเป็นของจำเลยโดยการครอบครองปรปักษ์ ทำให้โจทก์และทายาทอื่นเสียหายา ขอให้เพิกถอนคำสั่งศาลดังกล่าว เห็นว่า คำฟ้องของโจทก์ดังกล่าวเป็นการฟ้องเรียกทรัพย์มรดกจากจำเลยรวบรวมเข้ากองมรดกเพื่อจัดการแบ่งปันให้แก่ทายาทต่อไป อันเป็นเรื่องการจัดการมรดกที่ยังจัดการไม่เสร็จ หาใช่เรื่องฟ้องแบ่งมรดกซึ่งมีอายุความ ๑ ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๑๗๕๔ ดังที่จำเลยกล่าวอ้างไม่ แม้ว่าจะล่วงพ้นกำหนดอายุความดังกล่าว คดีโจทก์ก็ไม่ขาดอายุความ
ปัญหาสุดท้ายที่ต้องวินิจฉัยมีว่า โจทก์ในฐานะส่วนตัวและในฐานะผู้จัดการมรดกของนางเนื่อง ขาวนุ่น มีสิทธิในที่พิพาทดีกว่าจำเลยคำสั่งของศาลชั้นต้นในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ๑๓๕๙๖/๒๕๒๕ ไม่ผูกพันโจทก์หรือไม่ ข้อเท็จจริงเบื้องต้นได้ความว่า ก่อนนางเนื่องถึงแก่กรรมโจทก์ จำเลย และทายาทอื่นได้อาศัยสิทธิของนางเนื่องเข้าปลูกบ้านอาศัยในที่พิพาท เมื่อนางเนื่องถึงแก่กรรม โจทก์จำเลย และทายาอื่นทุกคนได้ร่วมกันครองครองที่พิพาทซึ่งเป็นมรดกที่ยังไม่ได้แบ่งในฐานะทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกด้วยกัน การครอบครองที่พิพาทของจำเลยจึงเป็นการครอบครองแทนโจทก์และทายาทคนอื่น ๆหาใช่เป็นการครอบครองที่ดินส่วนของโจทก์และทายาทอื่นโดยปรปักษ์ไม่จำเลยย่อมไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่พิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ โจทก์และทายาทอื่นของนางเนื่องจึงมีสิทธิในที่พิพาทดีกว่าจำเลย จำเลยจะใช้คำสั่งของศาลชั้นต้นในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่๑๓๕๖/๒๕๒๕ ที่แสดงว่า ที่พิพาทเป็นของจำเลยโดยการครอบครองปรปักษ์มายันโจทก์และทายาทอื่นของนางเนื่อง ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกคดีดังกล่าวและพิสูจน์ได้ว่ามีสิทธิในที่พิพาทดีกว่าจำเลยหาได้ไม่ ตามนัยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๔๕ วรรคสอง (๒)
พิพากษาแก้เป็นว่า โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของนางเนื่องขาวนุ่น และในฐานะส่วนตัวมีสิทธิในที่พิพาทดีกว่าจำเลย คำสั่งของศาลชั้นต้นในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ๑๓๕๙๖/๒๕๒๕ ไม่ผูกพันโจทก์นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.

Share