คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 597/2523

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

การดำเนินกระบวนพิจารณาคดีฟ้องให้ล้มละลายนั้นกฎหมายไม่ได้กำหนดวันยื่นคำให้การเหมือนคดีแพ่งธรรมดา ฉะนั้นจำเลยจะยื่นคำให้การหรือไม่ยื่นก็ได้และหากจำเลยประสงค์จะยื่นคำให้การก็มีโอกาสยื่นได้ถึง 7 วันเป็นอย่างน้อยก่อนวันนั่งพิจารณาแต่คดีนี้ปรากฏว่าจำเลยไม่มาศาลในวันนั่งพิจารณาและไม่ยื่นคำให้การทั้งมิได้ร้องขอเลื่อนหรือแจ้งเหตุขัดข้องที่ไม่มาศาลเสียก่อนลงมือสืบพยานเพิ่งจะมาศาลภายหลังเมื่อโจทก์สืบพยานเสร็จแล้ว ฉะนั้นที่ศาลมีคำสั่งไม่อนุญาตให้จำเลยยื่นคำให้การจึงชอบแล้ว
จำเลยถูกยึดทรัพย์ตามหมายบังคับคดี และไม่ปรากฏว่าจำเลยมีทรัพย์สินอื่นใดที่โจทก์จะพึงยึดมาชำระหนี้ได้อีกจึงต้องด้วยข้อสันนิษฐานตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 4 ว่าลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาให้พิทักษ์ทรัพย์จำเลยตามพระราชบัญญัติล้มละลายฯ จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ข้อที่จำเลยฎีกาว่า ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับคำให้การของจำเลย และสั่งว่าจำเลยขาดนัดพิจารณาไม่ชอบนั้นพิเคราะห์แล้วตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 มาตรา 13 บัญญัติว่า เมื่อศาลสั่งรับฟ้องคดีล้มละลายไว้แล้ว ให้กำหนดวันนั่งพิจารณาเป็นการด่วน และให้ออกหมายเรียกและส่งสำเนาคำฟ้องไปยังลูกหนี้ให้ทราบก่อนวันนั่งพิจารณาไม่น้อยกว่า 7 วัน มาตรานี้เป็นบทบัญญัติพิเศษ เพื่อจะให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกฎหมายล้มละลายในข้อที่ว่ากระบวนพิจารณาคดีล้มละลายนั้นให้ดำเนินไปโดยรวดเร็วกว่าคดีแพ่งสามัญ กฎหมายจึงกำหนดให้ศาลนัดพิจารณาเป็นการด่วน ไม่ได้กำหนดวันยื่นคำให้การเหมือนคดีแพ่งธรรมดา ฉะนั้นจำเลยจะยื่นคำให้การหรือไม่ยื่นก็ได้ และหากจำเลยประสงค์จะยื่นคำให้การก็มีโอกาสยื่นได้ถึง 7 วันเป็นอย่างน้อยก่อนวันนั่งพิจารณา แต่คดีนี้ปรากฏว่าจำเลยไม่มาศาลในวันนั่งพิจารณาและไม่ยื่นคำให้การ ทั้งมิได้ร้องขอเลื่อนหรือแจ้งเหตุขัดข้องที่ไม่มาศาลเสียก่อนศาลลงมือสืบพยาน เพิ่งจะมาศาลภายหลังเมื่อโจทก์สืบพยานเสร็จแล้ว ฉะนั้นที่ศาลมีคำสั่งไม่อนุญาตให้จำเลยยื่นคำให้การจึงชอบแล้ว

ข้อที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์สืบพยานไม่แน่ชัดว่าจำเลยเป็นคนมีหนี้สินล้นพันตัวและไม่สามารถชำระหนี้ให้โจทก์ได้นั้น พิเคราะห์แล้ว จำเลยเป็นหนี้โจทก์ตามคำพิพากษาของศาลจังหวัดสวรรคโลก ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 112/2513ซึ่งพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความให้จำเลยชำระเงิน 1,100,491 บาท 71 สตางค์ ให้โจทก์พร้อมทั้งดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 16ตุลาคม 2513) จนกว่าจะชำระเสร็จ จำเลยผิดนัด โจทก์จึงบังคับคดียึดทรัพย์ของจำเลยคือที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างขายทอดตลาดได้เงิน 1,215,033 บาทแต่ปรากฏว่าในวันที่ขายทอดตลาดจำเลยเป็นหนี้โจทก์ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยอยู่ 2,294,000 บาทเศษ เมื่อหักเงินที่โจทก์ได้รับจากการขายทอดตลาดแล้วจำเลยยังเป็นหนี้โจทก์อยู่อีก 1,110,000 บาทเศษ จำเลยถูกยึดทรัพย์ตามหมายบังคับคดี และไม่ปรากฏว่าจำเลยมีทรัพย์สินอื่นใดที่โจทก์จะพึงยึดมาชำระหนี้ได้อีก จึงต้องด้วยข้อสันนิษฐานตามพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 มาตรา 4 ว่าลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว และเป็นหนี้ที่กำหนดจำนวนได้แน่นอนไม่น้อยกว่าสามหมื่นบาท ที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยเด็ดขาดศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย”

พิพากษายืน

Share