คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5966/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่3ทราบว่าโจทก์ทั้งสองไม่ได้กระทำผิดฐานฉ้อโกงและยักยอกทรัพย์แต่กลับมาให้การเป็นพยานด้วยข้อความอันเป็นเท็จต่อพนักงานสอบสวนเพื่อช่วยเหลือจำเลยที่1การกระทำของจำเลยที่3จึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา173

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2533เวลากลางวัน จำเลยที่ 1 ได้สมคบกับจำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 1มอบอำนาจให้จำเลยที่ 2 ไปแจ้งความแก่พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก ว่าโจทก์ทั้งสองร่วมกันฉ้อโกงและยักยอกทรัพย์ของจำเลยที่ 1 และในวันที่ 22 สิงหาคม2533 เวลากลางวัน จำเลยที่ 1 และที่ 3 ได้ให้ถ้อยคำยืนยันแก่พนักงานสอบสวนในทำนองเดียวกันกับการแจ้งความดังกล่าวว่าโจทก์ทั้งสองล่อลวงให้จำเลยที่ 1 เลิกสัญญามัดจำกับโจทก์ทั้งสองและยักยอกเอาสัญญามัดจำของจำเลยที่ 1 ไปโดยทุจริต ซึ่งเป็นความเท็จอันเกี่ยวกับความผิดทางอาญา โดยจำเลยทั้งสามรู้อยู่แล้วว่ามิได้มีการกระทำความผิดเกิดขึ้นดังที่จำเลยที่ 1 กล่าวอ้าง แต่จำเลยทั้งสามต้องการกลั่นแกล้งโจทก์ทั้งสองได้รับโทษทางอาญา ซึ่งความจริงแล้วเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2532 จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาจะซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 3024 และ 3205 ตำบลอาสา อำเภอบ้านนาจังหวัดนครนายก รวมเนื้อที่ 200 ไร่ จากโจทก์ทั้งสองในราคาไร่ละ90,000 บาท เป็นเงิน 18,000,000 บาท จำเลยที่ 1 ได้วางมัดจำจำนวน 5,000,000 บาท เงินที่เหลือจะชำระภายในวันที่ 16 เมษายน2533 เมื่อใกล้วันครบกำหนด จำเลยที่ 1 หาเงินมาชำระไม่ได้จึงขอร้องให้โจทก์ทั้งสองคืนเงินมัดจำและเลิกสัญญา โจทก์ทั้งสองคืนเงินมัดจำให้จำเลยที่ 1 จำนวน 4,000,000 บาท ที่เหลืออีก1,000,000 บาท ริบตามสัญญาการกระทำของจำเลยทั้งสามทำให้โจทก์ทั้งสองเสียหาย เหตุเกิดที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอองครักษ์จังหวัดนครนายก ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83,90, 173, 175
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลย ทั้ง สาม ให้การ ปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา จำเลยที่ 1 ถึงแก่ความตาย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 1
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 2 ที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 173 จำคุกคนละ 4 เดือน
จำเลย ที่ 2 ที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ที 3 ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์ไม่มีพยานหลักฐานใดนำสืบว่าจำเลยที่ 2 รู้เรื่องมูลเหตุการเลิกสัญญาว่าเกิดจากจำเลยที่ 1ไม่มีเงินชำระราคาที่ดินส่วนที่เหลือ แล้วยังรับมอบอำนาจจากจำเลยที่ 1 ไปทำการร้องทุกข์กล่าวโทษโจทก์ทั้งสอง การกระทำของจำเลยที่ 2 อาจเกิดขึ้นเพราะหลงเชื่อจำเลยที่ 1 ดังจำเลยที่ 2นำสืบต่อสู้ก็เป็นได้ เมื่อโจทก์ทั้งสองไม่นำสืบพิสูจน์ให้ศาลเชื่อได้ว่า จำเลยที่ 2 รู้ข้อเท็จจริงว่าไม่มีความผิดอาญาเกิดขึ้น แล้วยังไปแจ้งความกล่าวหาโจทก์ทั้งสองดังกล่าวเช่นนี้จึงรับฟังลงโทษจำเลยที่ 2 ตามคำฟ้องมิได้ ส่วนจำเลยที่ 3ร่วมรู้เห็นกับจำเลยที่ 1 ในวันเจรจาเลิกสัญญากับโจทก์ทั้งสองจำเลยที่ 3 ย่อมต้องทราบแล้วว่า โจทก์ทั้งสองไม่ได้กระทำผิดฐานฉ้อโกงและยักยอกทรัพย์ จำเลยที่ 3 ยังกลับมาให้การเป็นพยานด้วยข้อความอันเป็นเท็จต่อพนักงานสอบสวนเพื่อช่วยเหลือจำเลยที่ 1 อีก การกระทำของจำเลยที่ 3 จึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 173 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 3 มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย แต่ที่พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 2ด้วยนั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา อนึ่งที่จำเลยที่ 3ฎีกาขอให้ศาลฎีการอการลงโทษแก่จำเลยที่ 3 ด้วยนั้น เห็นว่าตามพฤติการณ์แห่งคดียังไม่สมควรที่จะรอการลงโทษให้จำเลยที่ 3
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสองสำหรับจำเลยที่ 2นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share