คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5953/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 3 ในฐานะตัวแทนของจำเลยที่ 1 และที่ 2 แม้ในสัญญาเพื่อประโยชน์ต่างตอบแทนมิได้ระบุว่าจำเลยที่ 3 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 และที่ 2 โจทก์ก็นำสืบพยานบุคคลว่าจำเลยที่ 3 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ เพราะเป็นการสืบถึงความจริงว่าเป็นตัวการและตัวแทนมิใช่สืบถึงการที่จะบังคับตามสัญญาแต่ประการใด และในคำฟ้องบรรยายแต่ว่าเป็นตัวแทน ศาลก็มีอำนาจวินิจฉัยว่าเป็นตัวแทนเชิดได้ เพราะตัวแทนกับตัวแทนเชิดก็มีความรับผิดในลักษณะอย่างเดียวกัน ฉะนั้น ถึงแม้สัญญาเพื่อประโยชน์ต่างตอบแทนจะมิได้กล่าวเรื่องตัวแทนตัวการเลย ศาลก็มีอำนาจที่จะรับฟังพยานบุคคลและพฤติการณ์ในคดีประกอบการวินิจฉัยได้
จำเลยที่ 3 ได้ทำสัญญาเพื่อประโยชน์ต่างตอบแทนกับโจทก์ในวันที่ 11 กันยายน 2532 ในสัญญาได้กล่าวถึงที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 50266และ 50267 ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ว่าจำนองอยู่แก่ธนาคาร อ. โจทก์ได้มอบเงินให้จำเลยที่ 3 ไป 1,300,000 บาท และได้ชำระหนี้จำนองรายนี้เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2532 จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้มอบอำนาจให้จำเลยที่ 3เป็นผู้จัดการไถ่ถอนจำนองและได้มีการจดทะเบียนไถ่ถอนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่50266 และ 50267 เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2532 การไถ่ถอนจำนองรายนี้เป็นเงินที่จำเลยที่ 3 รับมาจากโจทก์ มิใช่เป็นเงินของจำเลยที่ 1 และที่ 2เอง เมื่อได้เงินมาไถ่ถอนจำนองแล้ว จำเลยที่ 1 และที่ 2 มอบให้จำเลยที่ 3เป็นผู้ดำเนินการ เห็นได้ว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 รับเอาประโยชน์จากเงินที่ได้มาจากการทำสัญญา ฉะนั้น กิจการที่จำเลยที่ 3 ได้กระทำไป จำเลยที่ 1 และที่ 2 รับเอาประโยชน์นั้น เป็นพฤติการณ์ที่ชี้ชัดว่า จำเลยที่ 3 เป็นตัวแทนเชิดของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เมื่อจำเลยที่ 3 ไปทำสัญญาเพื่อประโยชน์ต่างตอบแทนกับโจทก์ สัญญาดังกล่าวย่อมผูกพันจำเลยที่ 1 และที่ 2
ความสัมพันธ์ระหว่างจำเลยที่ 1 ที่ 2 กับจำเลยที่ 3 เป็นตัวการตัวแทน เมื่อตัวแทนทำกิจการในหน้าที่ ความรับผิดชอบต่าง ๆ ต้องอยู่ที่ตัวการ ตัวแทนไม่ต้องรับผิด จึงมิใช่เป็นหนี้ที่จำเลยที่ 3 จะต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ด้วย และคำให้การต่อสู้คดีเป็นเรื่องเฉพาะตัวจำเลยแต่ละคนเมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 มิได้ให้การต่อสู้คดีไว้ ย่อมไม่มีประเด็นสำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 2 การที่จำเลยที่ 3 ต่อสู้คดีเรื่องการบอกเลิกสัญญาในคดีที่มิได้เป็นหนี้ร่วม ย่อมเป็นการเฉพาะตัวของจำเลยที่ 3 เมื่อคดีสำหรับจำเลยที่ 3ยุติตั้งแต่ศาลชั้นต้น ดังนี้ การที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวให้จำเลยที่ 1จึงชอบแล้ว

Share