คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5915/2548

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 457 ที่บัญญัติว่า ค่าฤชาธรรมเนียมทำสัญญาซื้อขายนั้น ผู้ซื้อผู้ขายพึงออกใช้เท่ากันทั้งสองฝ่าย เป็นการกำหนดหน้าที่ตามกฎหมายในการชำระค่าฤชาธรรมเนียมไว้ ซึ่งต้องใช้บังคับแก่คู่สัญญาทุกฝ่ายและผู้ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมด้วย กรมที่ดินโจทก์จึงไม่มีอำนาจกำหนดให้ประชาชนต้องมีหน้าที่เกินกว่าที่กฎหมายบัญญัติไว้ ส่วนกฎกระทรวง ฉบับที่ 32 (พ.ศ.2522) ออกตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2497 ข้อ 2 (7) (ก) ที่ให้เรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมมีทุนทรัพย์เรียกตามจำนวนทุนทรัพย์ร้อยละ 2 ซึ่งใช้อยู่ในขณะมีการจดทะเบียนโอนที่ดินตามฟ้องนั้น เป็นเพียงให้อำนาจทางราชการที่จะเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมในอัตราเท่าใดเท่านั้น โจทก์จะนำมากล่าวอ้างเพื่อให้คู่สัญญาแต่ละฝ่ายต้องมีหน้าที่เกินกว่าที่กฎหมายบัญญัติไว้มิได้ ฉะนั้น เมื่อจำเลยที่ 1 ผู้ขายขายที่ดินให้แก่จำเลยที่ 2 ผู้ซื้อ ตกลงเรื่องค่าธรรมเนียมให้ต่างฝ่ายต่างออกคนละครึ่ง จำเลยที่ 1 และ 2 จึงมีหน้าที่ต้องรับผิดชำระค่าธรรมเนียมดังกล่าวคนละครึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2533 จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้ขายและจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ซื้อ ได้ขอจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมซื้อขายที่ดินโฉนดเลขที่ 7917 ที่สำนักงานที่ดินจังหวัดปทุมธานี สาขาธัญบุรี ซึ่งเป็นส่วนราชการประจำจังหวัดของโจทก์ แต่จำเลยทั้งสองได้แสดงจำนวนทุนทรัพย์สำหรับเสียค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมการซื้อขายที่ดินดังกล่าวเป็นเงิน 1,500,000 บาท เป็นเหตุให้พนักงานเจ้าหน้าที่สำนักงานที่ดินจังหวัดปทุมธานี สาขาธัญบุรี เรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามกฎกระทรวงฉบับที่ 32 (พ.ศ.2522) ออกตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2497 ข้อ 2 (7) (ก) จากจำเลยทั้งสองตามจำนวนทุนทรัพย์ร้อยละ 2 เป็นเงิน 30,070 บาท ความจริงแล้วจำเลยที่ 1 ขายที่ดินดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 2 ในราคา 6,000,000 บาท และต้องเสียค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเป็นเงิน 120,070 บาท จำเลยทั้งสองจึงต้องร่วมรับผิดชำระค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมที่ขาดอยู่ 90,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 90,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้ดำเนินการในเรื่องการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมซื้อขายที่ดินตามฟ้องแต่เพียงผู้เดียว จำเลยที่ 2 ไม่ทราบว่าค่าธรรมเนียมที่จ่ายไปถูกต้องหรือไม่ ทั้งสัญญาวางเงินมัดจำจะซื้อจะขายที่ดินดังกล่าวก็มีข้อตกลงให้จำเลยทั้งสองรับผิดค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมซื้อขายที่ดินคนละครึ่ง หนี้ค่าธรรมเนียมดังกล่าวจึงเป็นหนี้ที่แบ่งชำระได้จำเลยทั้งสองมิใช่ลูกหนี้ร่วม จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดตามฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองชำระเงินคนละ 45,000 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยทั้งสองต่างชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์คนละครึ่ง โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
ในระหว่างพิจารณา จำเลยที่ 2 ถึงแก่ความตาย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้นายวิวัฒน์ จงพิทักษ์สวัสดิ์ สามีโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ 2 เป็นคู่ความแทนจำเลยที่ 2 ผู้มรณะ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ว่าจำเลยทั้งสองจะต้องร่วมรับผิดในเงินค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมซื้อขายที่ดินต่อโจทก์ตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า ค่าธรรมเนียมในการซื้อขายที่ดินนั้น หากผู้ซื้อและผู้ขายมิได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น คู่สัญญาแต่ละฝ่ายก็ต้องปฏิบัติตามมาตรา 457 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งบัญญัติว่าค่าฤชาธรรมเนียมทำสัญญาซื้อขายนั้น ผู้ซื้อผู้ขายพึงออกใช้เท่ากันทั้งสองฝ่าย อันเป็นการกำหนดหน้าที่ตามกฎหมายในการชำระค่าฤชาธรรมเนียมของคู่สัญญาแต่ละฝ่ายไว้ ซึ่งต้องใช้บังคับแก่คู่สัญญาทุกฝ่ายและผู้ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมด้วย ดังนี้ โจทก์เป็นหน่วยงานของรัฐมีหน้าที่ต้องให้บริการแก่ประชาชน จึงหามีอำนาจกำหนดให้ประชาชนต้องมีหน้าที่เกินกว่าที่กฎหมายบัญญัติไว้ได้ไม่ ส่วนกฎกระทรวง ฉบับที่ 32 (พ.ศ.2522) ออกตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2497 ข้อ 2 (7) (ก) ที่ให้เรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมมีทุนทรัพย์เรียกตามจำนวนทุนทรัพย์ ร้อยละ 2 ซึ่งใช้อยู่ในขณะมีการจดทะเบียนโอนที่ดินตามฟ้องในคดีนี้นั้นเป็นเพียงให้อำนาจทางราชการที่จะเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมมีทุนทรัพย์ในอัตราเท่าใดเท่านั้น โจทก์จะนำมากล่างอ้างเพื่อให้ประชาชนซึ่งเป็นคู่สัญญาแต่ละฝ่ายต้องมีหน้าที่เกินกว่าที่กฎหมายบัญญัติไว้มิได้ ฉะนั้น เมื่อจำเลยที่ 1 ผู้ขายขายที่ดินให้แก่จำเลยที่ 2 ผู้ซื้อ โดยตกลงเรื่องค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมว่าให้ต่างฝ่ายออกคนละครึ่งตามสัญญาวางมัดจำจะซื้อจะขายเอกสารหมาย จ.2 จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงมีหน้าที่ต้องรับผิดชำระค่าธรรมเนียมดังกล่าวคนละครึ่ง โจทก์จะเรียกให้จำเลยทั้งสองต้องร่วมรับผิดในเงินค่าธรรมเนียมดังกล่าวตามฟ้องหาได้ไม่ ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share