คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5895/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อโจทก์และจำเลยทั้งสองไม่ได้อุทธรณ์เกี่ยวกับที่ดินโฉนดที่2618และบ้านทรงไทยการที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาถึงที่ดินและบ้านทรงไทยดังกล่าวจึงเป็นการวินิจฉัยคดีนอกฟ้องอุทธรณ์เป็นการไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา142 การสละมรดกนั้นกระทรวงมหาดไทยได้ออกกฏกระทรวงโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา1672แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ไว้เมื่อวันที่28กรกฎาคม2481ข้อ14,15และพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดินพ.ศ.2495มาตรา40กำหนดให้ผู้อำนวยการเขตหรือนายอำเภอเป็นเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจแต่ตามบันทึกถ้อยคำที่โจทก์กับจำเลยทั้งสองทำไว้นั้นได้ทำไว้แก่เจ้าพนักงานที่ดินซึ่งมิใช่เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1612บันทึกถ้อยคำนั้นจึงมิใช่เอกสารสละมรดก

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนายแห่งหรือเฮง พงศ์สำราญกับนางเหลี่ยม พงศ์สำราญ มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน 3 คน คือ จำเลยที่ 1 โจทก์ และจำเลยที่ 2นายเห่งถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2502 นางเหลี่ยมถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2525 โจทก์จำเลยทั้งสองตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกกันโดยให้ที่ดินโฉนดที่ 10039 และที่ดินโฉนดเลขที่ 2428 จังหวัดเพชรบุรี ตกเป็นของโจทก์ ที่ดินโฉนดที่ 2618 พร้อมบ้านทรงไทยและสิ่งปลูกบ้านอื่นบนที่ดินตกเป็นของจำเลยทั้งสอง ต่อมาวันที่ 9 มีนาคม 2530 โจทก์และจำเลยทั้งสองไปยื่นคำร้องขอรับโอนมรดกต่อเจ้าพนักงานที่ดินตามข้อตกลงดังกล่าวโดยจำเลยทั้งสองได้ทำบันทึกยินยอมให้โจทก์เป็นผู้รับมรดกที่ดินโฉนดเลขที่ 10039 และ 2428 ส่วนโจทก์ยอมให้จำเลยทั้งสองเป็นผู้รับมรดกที่ดินโฉนดที่ 2618 พนักงานเจ้าหน้าที่จึงดำเนินการประกาศคำขอรับมรดกที่ดินทั้ง 3 แปลง แต่เมื่อครบกำหนดเวลาตามประกาศ จำเลยทั้งสองกลับไปยื่นคำขอยกเลิกบันทึกที่ยินยอมให้โจทก์รับมรดกที่ดินโฉนดที่ 10039 และ 2428 แต่ผู้เดียวและจดทะเบียนโอนมรดกที่ดินโฉนดที่ 10039 และ 2428 ให้แก่โจทก์ได้ขอให้ศาลพิพากษาว่าโจทก์แต่ผู้เดียวมีสิทธิรับมรดกที่ดินโฉนดที่ 10039 ตำบลบางครบ อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี และโฉนดที่ 2428 ตำบลแหลมออก อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรีห้ามมิให้จำเลยทั้งสองเข้าไปเกี่ยวข้อง ให้จำเลยทั้งสองไปดำเนินการจดทะเบียนต่อเจ้าพนักงานที่ดินให้โจทก์เป็นผู้รับมรดกที่ดินโฉนดที่ 10039 และ 2428 แต่เพียงผู้เดียวและยินยอมให้เจ้าพนักงานที่ดินดำเนินการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงชื่อเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินทั้ง 2 แปลง เป็นชื่อโจทก์แต่เพียงผู้เดียวถ้าจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตาม ให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสอง
จำเลยทั้งสองให้การฟ้องแย้งว่า ที่ดินมรดกของนายเห่งหรือเฮง พงศค์สำราญกับนางเหลี่ยม พงศ์สำราญ มี 4 แปลง คือที่ดินโฉนดที่ 10039 ตำบลบางครบ อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรีที่ดินโฉนดที่ 2428 ที่ดินโฉนดที่ 2618 พร้อมบ้านทรงไทย 1 หลังและที่ดินโฉนดที่ 2487 จำเลยทั้งสองและโจทก์ไม่เคยตกลงแบ่งทรัพย์มรดกของนางเห่งกับนางเหลี่ยมโดยให้ที่ดินโฉนดที่ 10039 และ2428 ตกเป็นของโจทก์ ที่ดินโฉนดที่ 2618 พร้อมบ้านทรงไทยตกเป็นของจำเลยแต่อย่างใด เพราะก่อนนายเห่งถึงแก่กรรม นายเห่งมีคำสั่งให้แบ่งทรัพย์มรดกโดยให้โจทก์ได้รับที่ดินโฉนดที่ 10039ให้จำเลยที่ 1 ได้รับที่ดินโฉนดที่ 2428 ให้จำเลยที่ 2 ได้รับที่ดินโฉนดที่ 2487 ส่วนที่ดินโฉนดที่ 2618 พร้อมบ้านทรงไทยให้จำเลยทั้งสองและโจทก์ได้รับส่วนแบ่งคนละส่วนเท่า ๆ กัน ต่อมาหลังจากนายเห่งถึงแก่กรรมแล้วและก่อนที่นางเหลี่ยมจะถึงแก่กรรม จำเลยทั้งสองและโจทก์ตกลงแบ่งทรัพย์มรดกกันใหม่โดยให้ที่ดินโฉนดที่ 10039, 2428 และ 2487 จำเลยทั้งสองและโจทก์มีสิทธิได้รับคนละส่วนเท่า ๆ กัน แล้วจำเลยทั้งสองและโจทก์ก็ได้ร่วมกันครอบครองทรัพย์มรดกที่ได้รับร่วมกันตลอดมา โดยจำเลยทั้งสองไม่เคยตกลงกับโจทก์ว่าจะไปจดทะเบียนโอนมรดกที่ดินโฉนดที่ 10039 และ 2428 ให้แก่โจทก์แต่อย่างใด เว้นแต่ที่ดินโฉนดที่ 2487 ที่มีการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ เพราะกรมชลประทานได้ขอซื้อที่ดินบางส่วนเพื่อขุดคลองชลประทาน ต่อมาเมื่อนางเหลี่ยมถึงแก่กรรมโจทก์มาขอแบ่งทรัพย์มรดกกับจำเลยทั้งสองใหม่ โดยอ้างว่าโจทก์ได้รับส่วนแบ่งน้อยกว่าจำเลยทั้งสอง แต่จำเลยทั้งสองปฏิเสธโดยอ้างว่าโจทก์ได้รับส่วนแบ่งมากกว่าจำเลยทั้งสอง ทำให้โจทก์ไม่พอใจ ต่อมาที่ดินโฉนดที่ 10039 มีราคาสูงขึ้น โจทก์คิดจะขายที่ดินแปลงดังกล่าว ได้หลอกจำเลยทั้งสองให้ไปพบเจ้าพนักงานที่ดินโดยอ้างว่าเพื่อไปรับโอนทรัพย์มรดกตามที่ตกลงกันไว้จำเลยทั้งสองหลงเชื่อว่าเป็นความจริงได้ไปที่สำนักงานที่ดินและลงชื่อในเอกสารต่าง ๆ ที่โจทก์เป็นผู้ติดต่อยื่นเรื่องราวแต่เพียงผู้เดียว โดยจำเลยทั้งสองรออยู่ข้างนอกเพื่อลงชื่อเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ต่อมาจึงทราบว่าถูกโจทก์หลอกให้จำเลยทั้งสองไปทำบันทึกยินยอมให้โจทก์เป็นผู้รับมรดกที่ดินโฉนดที่ 10039และ 2428 แต่เพียงผู้เดียว จำเลยทั้งสองจึงไปยื่นคำขอยกเลิกเรื่องราวที่โจทก์ขอรับมรดกที่ดินโฉนดที่ 10039 และ 2428แต่เพียงผู้เดียวเสีย โดยแก้ไขใหม่เป็นว่าให้จำเลยทั้งสองได้รับมรดกที่ดินทั้งสองแปลงร่วมกับโจทก์ด้วย เมื่อโจทก์ทราบโจทก์จึงไปยื่นคำขอยกเลิกเรื่องราวที่โจทก์ยินยอมให้จำเลยทั้งสองมีสิทธิรับมรดกที่ดินโฉนดที่ 2618 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง การกระทำของโจทก์จึงเป็นการโต้แย้งสิทธิจำเลยทั้งสอง ขอให้ยกฟ้องและพิพากษาว่าจำเลยทั้งสองกับโจทก์มีสิทธิรับมรดกที่ดินโฉนดที่ 10039 ตำบลบางครก อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี ที่ดินโฉนดที่ 2428 ตำบลแหลมออก (บ้านแหลม) อำเภอบ้านแหลมจังหวัดเพชรบุรี คนละส่วนเท่า ๆ กัน และให้จำเลยทั้งสองมีสิทธิได้รับมรดกที่ดินโฉนดที่ 2618 ตำบลแหลมออก (บ้านแหลม)อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี พร้อมบ้านทรงไทย คนละส่วนเท่า ๆ กัน และให้โจทก์ไปจดทะเบียนเปลี่ยนชื่อโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดที่ 10039 และ 2428 เป็นชื่อจำเลยทั้งสองและโจทก์คนละส่วนเท่า ๆ กัน และให้โจทก์ไปจดทะเบียนเปลี่ยนชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดที่ 2618 พร้อมบ้านทรงไทยเป็นชื่อจำเลยทั้งสองคนละส่วนเท่า ๆ กัน หากโจทก์ไม่ปฏิบัติตามขอให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนา
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า ขณะนายเห่งยังมีชีวิตอยู่นายเห่งไม่เคยมีคำสั่งให้แบ่งทรัพย์มรดกตามที่จำเลยทั้งสองกล่าวอ้างแต่อย่างใดเพราะขณะนั้นนางเหลี่ยมยังมีชีวิตอยู่ที่ดินทั้งหมดจึงยังเป็นสินสมรส เมื่อนายเห่งถึงแก่กรรมไปแล้วโจทก์ไม่เคยตกลงกับจำเลยทั้งสองให้แบ่งทรัพย์มรดกกันใหม่แต่อย่างใด โจทก์มีสิทธิได้รับมรดกที่ดินโฉนดที่ 10039 และ 2428แต่ผู้เดียว ที่โจทก์และจำเลยทั้งสองไปยื่นเรื่องราวขอรับโอนมรดกต่อเจ้าพนักงานที่ดินนั้นก็เป็นการกระทำไปตามความสมัครใจและข้อตกลงร่วมกันของโจทก์และจำเลยทั้งสองได้กระทำโดยเปิดเผยโดยโจทก์มิได้หลอกลวงจำเลยทั้งสองแต่อย่างใด ขอให้ยกฟ้องแย้งจำเลยทั้งสอง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์ จำเลยทั้งสองร่วมกันไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดที่ 10039 ตำบลบางครก อำเภอบ้านแหลมจังหวัดเพชรบุรี ที่ดินโฉนดที่ 2428 ตำบลแหลมออก อำเภอบ้านแหลมจังหวัดเพชรบุรี ให้แก่โจทก์และโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดที่ 2618ตำบลบ้านแหลม อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี พร้อมบ้านทรงไทยให้แก่จำเลยทั้งสอง หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของฝ่ายนั้น คำขออื่นของโจทก์จำเลยทั้งสองให้ยก
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า โจทก์และจำเลยทั้งสองมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์มรดกที่ดินโฉนดที่ 10039 ตำบลบางครกอำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี ที่ดินโฉนดที่ 2428ตำบลแหลมออก อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี ที่ดินโฉนดที่2618 ตำบลแหลมออก อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี พร้อมบ้านทรงไทย 1 หลัง คนละส่วนเท่า ๆ กัน โดยให้โจทก์และจำเลยทั้งสองตกลงแบ่งกันเองก่อน หากตกลงกันไม่ได้ให้นำทรัพย์มรดกออกประมูลขายระหว่างโจทก์และจำเลยทั้งสอง หากประมูลขายไม่ได้ก็ให้นำออกขายทอดตลาด ได้เงินสุทธิมาเท่าใดให้นำมาแบ่งกันคนละส่วนเท่า ๆ กันคำขออื่นให้ยก
โจทก์และจำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองและโจทก์มีดังนี้
ประการแรก จำเลยทั้งสองฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายว่าจำเลยทั้งสองอุทธรณ์แต่ฝ่ายเดียวว่า จำเลยทั้งสองมีสิทธิได้รับมรดกร่วมกับโจทก์ในที่ดินโฉนดที่ 2428 ตำบลแหลมออก อำเภอบ้านแหลมจังหวัดเพชรบุรี เท่านั้น แต่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้นำที่ดินโฉนดที่ 2618 ตำบลแหลมออก อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรีพร้อมบ้านทรงไทย ซึ่งยุติไปแล้วตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นมาแบ่งให้แก่โจทก์และจำเลยทั้งสองอีกเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย เห็นว่าเมื่อโจทก์และจำเลยทั้งสองไม่ ศาลอุทธรณ์พิพากษาถึงที่ดินและบ้านทรงไทยดังกล่าวจึงเป็นการวินิจฉัยคดีนอกฟ้องอุทธรณ์เป็นการไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
ประการสุดท้าย มีปัญหาตามที่โจทก์ฎีกาว่า โจทก์กับจำเลยทั้งสองมีสิทธิได้รับมรดกที่ดินโฉนดที่ 10039 และที่ดินโฉนดที่ 2428 คนละเท่าใด โจทก์เบิกความว่า โจทก์และจำเลยทั้งสองเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันโดยเป็นบุตรของนายเห่งหรือเฮงกับนางเหลี่ยม พงศ์สำราญ เมื่อบิดามารดาถึงแก่กรรมแล้วมีทรัพย์มรดกคือที่ดินโฉนดที่ 10039 ที่ดินโฉนดที่ 2428 และที่ดินโฉนดที่ 2618 โจทก์ จำเลยทั้งสองได้ตกลงแบ่งมรดกกันโดยโจทก์ได้ที่ดินโฉนดที่ 10039 กับที่ดินโฉนดที่ 2428 ส่วนจำเลยทั้งสองได้ที่ดินโฉนดที่ 2618 พร้อมด้วยบ้านทรงไทยและสิ่งปลูกสร้างหลังจากนั้นโจทก์ได้ให้นางสุรางค์ ศิริวัฒนะเช่าที่ดินโฉนดที่ 10039 นายยิน จันทร์โกมล เช่าที่ดินโฉนดที่ 2428 วันที่9 มีนาคม 2530 โจทก์และจำเลยทั้งสองได้ไปที่สำนักงานที่ดินจังหวัดเพชรบุรีเพื่อยื่นเรื่องราวขอรับมรดกที่ดินโฉนดที่ 10039และโฉนดที่ 2428 ตามเอกสารหมาย จ.4 และ จ.5 จำเลยทั้งสองได้สละมรดกที่ดินทั้งสองแปลงตามเอกสารหมาย จ.6 และ จ.7 วันเดียวกันจำเลยทั้งสองขอรับมรดกที่ดินโฉนดที่ 2618 ตามเอกสารหมาย จ.24โจทก์สละมรดกตามเอกสารหมาย จ.25 ทางราชการได้ประกาศ 60 วันแล้วจึงจะโอนมรดกให้วันที่ 7 กันยายน 2530 จำเลยทั้งสองไปขอยกเลิกบันทึกที่ยินยอมสละมรดกให้โจทก์ พนักงานเจ้าหน้าที่จึงไม่โอนที่ดินทั้งสองแปลงให้โจทก์เห็นว่า การสละมรดกนี้กระทรวงมหาดไทยได้ออกกฎกระทรวงโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 1672 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ไว้เมื่อวันที่28 กรกฎาคม 2481 ข้อ 14, 15 และพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2495 มาตรา 40 กำหนดให้ผู้อำนวยการเขตหรืออำเภอเป็นเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจ แต่ตามเอกสารหมาย จ.6 และ จ.7โจทก์กับจำเลยทั้งสองทำไว้แก่เจ้าพนักงานที่ดิน ซึ่งมิใช่เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1612บันทึกถ้อยคำตามเอกสารหมาย จ.6 และ จ.7 จึงมิใช่เอกสารสละมรดกและไม่เป็นข้อตกลงแบ่งปันมรดกเพราะปรากฏว่าบันทึกข้อตกลงดังกล่าวโจทก์และจำเลยทั้งสองได้มาขอยกเลิกภายหลัง ดังนั้นโจทก์และจำเลยทั้งสองย่อมมีส่วนในที่ดินโฉนดที่ 10039 ตำบลบางครกอำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี และที่ดินโฉนดที่ 2428ตำบลแหลมออก อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี คนละส่วนเท่า ๆ กัน
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดที่ 2618ตำบลแหลมออก อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี พร้อมบ้านทรงไทยให้แก่จำเลยทั้งสอง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share