แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์เดินทางจากประเทศจีนมาประเทศไทย และยื่นคำร้องขอพิสูจน์สัญชาติต่อเจ้าหน้าที่กองตรวจคนเข้าเมือง เจ้าหน้าที่กองตรวจคนเข้าเมืองยกคำร้อง โจทก์จึงฟ้องศาล เมื่อโจทก์พิสูจน์ได้ว่า โจทก์เกิดในประเทศไทยโจทก์จึงได้สัญชาติไทยโดยการเกิดเป็นบุคคลสัญชาติไทย ตามพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2456 มาตรา 3
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เกิดที่บ้านหนองตม หมู่ที่ 1 ตำบลวงฆ้อง อำเภอพรหมพิราม จังหวัดพิษณุโลก โดยบิดาเป็นคนต่างด้าวบิดาส่งโจทก์ไปศึกษาที่ประเทศจีนไม่สามารถเดินทางกลับมาประเทศไทยได้ ต่อมาโจทก์มีโอกาสเดินทางมาประเทศไทย มีความประสงค์จะอยู่ในประเทศไทยเนื่องจากโจทก์เกิดในประเทศไทยและมีสัญชาติไทยโจทก์ได้ยื่นคำขอพิสูจน์สัญชาติต่อเจ้าหน้าที่กองตรวจคนเข้าเมืองแต่เจ้าหน้าที่ได้ยกคำร้องของโจทก์ โจทก์จึงต้องฟ้อง ขอให้พิพากษาว่า โจทก์เป็นบุคคลสัญชาติไทยและให้จำเลยทั้งสองสั่งให้เจ้าพนักงานจดทะเบียนแก้ว่าโจทก์เป็นบุคคลสัญชาติไทยโดยให้เพิ่มชื่อโจทก์ลงในทะเบียนบ้านเลขที่ 119 ตำบลวงฆ้อง อำเภอพรหมพิรามจังหวัดพิษณุโลก
จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์เป็นคนต่างด้าว มีชื่อว่านายเฮ่งยี่เกียม เชื้อชาติจีน สัญชาติจีน เกิดที่มณฑลกวงดงหรือกวางตุ้ง ประเทศจีน โดยสารเครื่องบินจากประเทศจีนเข้ามาในประเทศไทยเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2531 โดยถือเอกสารเดินทางประเภทคนเดินทางผ่าน พนักงานเจ้าหน้าที่กองตรวจคนเข้าเมืองอนุญาตให้โจทก์อยู่ในประเทศไทยฐานะคนเดินทางผ่านได้มีกำหนด30 วัน และก่อนถึงวันครบกำหนดดังกล่าว โจทก์ยื่นคำร้องขออยู่ต่อและขอพิสูจน์สัญชาติ เจ้าพนักงานไม่อนุญาต โจทก์ไม่ใช่คนไทยไม่ใช่บุตรของนายยกเท่ง แซ่เฮง และนางเจริญ แซ่เลี่ยมโจทก์ไม่ได้เกิดในราชอาณาจักรไทย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า โจทก์เป็นบุคคลสัญชาติไทยตามพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508 มาตรา 7(3) คำขออื่นให้ยก
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์มีนางนิตยา เมืองพระ ซึ่งเป็นญาติลูกพี่ลูกน้องกับโจทก์ นายเกี่ยง สนองคุณ ที่เป็นเพื่อนบ้านของโจทก์ตอนเด็กพยานดังกล่าวมีอายุมากใกล้เคียงกับโจทก์ทั้งสองคนต่างเบิกความยืนยันว่าโจทก์เกิดที่ตลาดหนองตม หมู่ที่ 1ตำบลวงฆ้อง อำเภอพรหมพิราม จังหวัดพิษณุโลก เป็นบุตรของนายก๊กหล่านหรือยกเท่ง แซ่เฮงกับนางเจริญ แซ่เลี่ยม มีพี่ชายร่วมบิดามารดาเดียวกันหนึ่งคนและน้องชายอีกหนึ่งคน บิดาโจทก์เป็นคนจีนอพยพเข้ามาอยู่ในประเทศไทยและมีใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว ตอนเด็ก ๆ โจทก์ไปเยี่ยมญาติฝ่ายมารดา และได้ถ่ายภาพหมู่รวมกันไว้ตามภาพถ่ายหมาย จ.1 ก่อนออกเดินทางไปประเทศจีน โจทก์ พี่ชาย และน้องชายได้ถ่ายภาพรวมกันไว้ตามภาพถ่ายหมาย จ.2 ภาพดังกล่าวเห็นได้ชัดว่าเป็นภาพเก่าตามสภาพนอกจากนางนิตยาและนายเกียงพยานโจทก์จะเบิกความยืนยันว่าโจทก์เกิดที่ตลาดหนองตมแล้วยังยืนยันด้วยว่า ภาพถ่ายหมาย จ.1และ จ.2 เป็นภาพถ่ายของโจทก์ตอนเด็ก ๆ จำเลยไม่สืบพยานหักล้างข้อนี้ สำหรับพยานโจทก์อีกสองคนคือ นางตี่ พรหมมณี มารดาเลี้ยงของโจทก์ที่เคยเลี้ยงดูโจทก์มา และนายวิชัย เลี่ยมวิไล ซึ่งเป็นพี่ชายนางเจริญ แซ่เลี่ยม มารดาโจทก์ต่างก็เบิกความยืนยันเช่นเดียวกัน พยานบุคคลของโจทก์เป็นผู้ประกอบอาชีพโดยสุจริตมีฐานะและหลักฐานเป็นที่ยอมรับของสังคมในชนบท หากไม่เป็นความจริงคงไม่มาเบิกความต่อศาลยืนยันเช่นนั้น คำเบิกความของบุคคลดังกล่าวจึงน่าเชื่อถือ เป็นที่ยอมรับกันว่าในช่วงระยะเวลานั้นการทะเบียนราษฎร์ของประเทศไทย โดยเฉพาะชนบทยังไม่เป็นระบบเรียบร้อยดังเช่นทุกวันนี้ การที่โจทก์ไม่มีสูติบัตรหรือสำเนาทะเบียนบ้านมาแสดงจึงมิใช่ข้อที่จะพึงตำหนิพิเคราะห์ในด้านตัวโจทก์ซึ่งเบิกความว่าไปอยู่ประเทศจีนร่วม 40 ปี ไม่เคยเดินทางกลับประเทศไทยเลย เพิ่งจะเดินทางมาประเทศไทยเมื่อเดือนมีนาคม 2531 และมาเบิกความต่อศาลจังหวัดพิษณุโลกเมื่อเดือนตุลาคม 2532 สามารถเบิกความต่อศาลเป็นภาษาได้เป็นอย่างดีทั้ง ๆ ที่เข้ามาอยู่ในเมืองไทยได้ปีเศษ แสดงให้เห็นพื้นความรู้ภาษาไทยที่มีอยู่ก่อนบ้างซึ่งตรงต่อข้อนำสืบของโจทก์ที่ว่าตอนเดิมนางไปประเทศจีน โจทก์มีอายุ 10 ขวบ โจทก์มีความรู้ทางด้านแพทย์แผนโบราณโดยสภาพย่อมจะอยู่ประเทศจีนได้อย่างเป็นปกติสุข การที่โจทก์เดินทางเข้ามาประเทศไทยและขอพิสูจน์สัญชาติน่าจะเป็นเพราะมีความผูกพันโดยสายเลือดกับญาติในประเทศไทย เมื่อบุคคลดังกล่าวมาเบิกความยืนยันรับรองเช่นนี้ พยานหลักฐานโจทก์จึงมีน้ำหนักเชื่อได้ว่าโจทก์เกิดที่ตลาดหนองตม ตำบลวงฆ้องอำเภอพรหมพิราม จังหวัดพิษณุโลก โจทก์จึงได้สัญชาติไทยโดยการเกิด ตามพระราชบัญญัติสัญชาติซึ่งใช้บังคับอยู่ขณะนั้น คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา
พิพากษากลับว่า โจทก์เป็นบุคคลสัญชาติไทย