แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
พระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2511 มาตรา 9 บัญญัติว่า”ถ้าสหกรณ์เกี่ยวข้องในกิจการใดที่กฎหมายกำหนดให้จดทะเบียนสำหรับการได้มา การจำหน่าย การยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ หรือการยึดหน่วงซึ่งกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพย์สิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ การจดทะเบียนเช่นว่านั้นให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม” สัญญาค้ำประกันมิได้มีกฎหมายกำหนดให้จดทะเบียนจึงเป็นนิติกรรมธรรมดา แม้สหกรณ์โจทก์จะเป็นคู่สัญญาก็ไม่ได้รับการยกเว้นที่จะไม่ต้องเสียค่าอากรแสตมป์หรือค่าธรรมเนียมแต่อย่างใด แม้สัญญาค้ำประกันจะมิได้ปิดอากรแสตมป์บริบูรณ์ แต่ผู้ค้ำประกันยอมรับว่าได้ทำสัญญาค้ำประกันดังกล่าวจริง จึงต้องร่วมรับผิดในฐานะผู้ค้ำประกันตามจำนวนที่ระบุไว้ในสัญญาค้ำประกันโดยไม่จำเป็นต้องใช้สัญญาค้ำประกันเป็นพยานหลักฐาน ส่วนการที่จะให้ผู้ค้ำประกันต้องร่วมรับผิดในฐานะผู้ค้ำประกันเกินกว่าจำนวนเงินที่ระบุในสัญญาค้ำประกันนั้น ย่อมต้องอาศัยหนังสือสัญญาค้ำประกันมาเป็นพยานหลักฐานอันเป็นการต้องห้ามตามประมวลรัษฎากรมาตรา 118 ผู้ค้ำประกันจึงไม่ต้องร่วมรับผิดเต็มตามจำนวนที่ฟ้อง โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ทุจริตต่อหน้าที่ ปลอมแปลงลายมือชื่อสมาชิกโจทก์ แล้วทำเรื่องราวขอกู้เงินฉุกเฉินจากโจทก์ในนามของสมาชิกดังกล่าวรวมหลายคราวเป็นเงิน 728,070 บาทซึ่งโจทก์หลงเชื่อว่าเป็นลายมือชื่อของสมาชิกจริงจึงอนุมัติจ่ายให้ไป คำฟ้องของโจทก์ชัดแจ้งพอเพียงแล้ว จำเลยที่ 1 จะปลอมแปลงลายมือชื่อสมาชิกโจทก์ด้วยวิธีใด หลักฐานการปลอมแปลงมีหรือไม่และมีการตรวจสอบไปแล้วเพียงใดเป็นเรื่องรายละเอียด ไม่จำต้องบรรยายมา ฟ้องของโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม โจทก์ฟ้องเรียกเงินของโจทก์ที่จำเลยที่ 1 ยักยอกคืน และฟ้องให้จำเลยที่ 2 รับผิดตามสัญญาค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ซึ่งกฎหมายมิได้บัญญัติอายุความไว้เป็นอย่างอื่น จึงมีอายุความ 10 ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างโจทก์ตำแหน่งพนักงานการเงิน จำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันรับผิดโดยไม่จำกัดจำนวน ต่อมาจำเลยที่ 1 ปลอมแปลงลายมือชื่อสมาชิกของโจทก์ แล้วทำเรื่องขอกู้เงินฉุกเฉินจากโจทก์ในนามของสมาชิกนั้นรวมหลายคราวเป็นเงินทั้งสิ้น 728,070 บาท โจทก์หลงเชื่อได้จ่ายเงินให้ไป ทำให้โจทก์เสียหาย จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันต้องร่วมรับผิดด้วยขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 ค้ำประกันจำเลยที่ 1 โดยจำกัดจำนวนเพียง 10,000 บาท ความเสียหายที่เกิดขึ้นมิใช่เกิดจากการกระทำผิดของจำเลยที่ 1 ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมและขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 700,770บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2นอกจากที่แก้คงเป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2511 มาตรา 9บัญญัติไว้ว่า “ถ้าสหกรณ์เกี่ยวข้องในกิจการใดที่กฎหมายกำหนดให้จดทะเบียนสำหรับการได้มา การจำหน่าย การยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้หรือการยึดหน่วงซึ่งกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพย์สินอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ การจดทะเบียนเช่าว่านั้นให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม” สัญญาค้ำประกันตามฟ้องมิได้มีกฎหมายกำหนดให้จดทะเบียนสัญญาแต่ประการใด เป็นนิติกรรมธรรมดาแม้สหกรณ์โจทก์จะเป็นคู่สัญญาก็ไม่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียค่าอากรแสตมป์หรือค่าธรรมเนียมแต่อย่างใด
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ได้นำเงินจำนวน 728,070 บาทของโจทก์ไปใช้ประโยชน์ส่วนตน ขอให้จำเลยที่ 1 รับผิดในจำนวนเงินดังกล่าว และจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1 รับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ในเงินจำนวนดังกล่าวด้วยเต็มจำนวน จำเลยที่ 2ให้การว่า จำเลยที่ 2 ไม่เคยตกลงค้ำประกันจำเลยที่ 1 โดยไม่จำกัดจำนวนตามฟ้อง จำเลยที่ 2 ค้ำประกันจำเลยที่ 1 เป็นเงินเพียง10,000 บาทเท่านั้น เห็นได้ว่า จำเลยที่ 2 ยอมรับแล้วว่าได้ทำสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ 1 เป็นจำนวน 10,000 บาทตามฟ้อง จำเลยที่ 2จึงต้องร่วมรับผิดในฐานะผู้ค้ำประกันตามจำนวนดังกล่าว โดยไม่จำเป็นต้องใช้สัญญาค้ำประกันเป็นพยานหลักฐานประกอบการพิจารณา สำหรับปัญหาที่ว่าจำเลยที่ 2 จะต้องร่วมรับผิดในฐานะผู้ค้ำประกันเกินจำนวน 10,000 บาทหรือไม่ ย่อมต้องอาศัยหนังสือสัญญาค้ำประกันมาเป็นพยานหลักฐาน อันเป็นการต้องห้ามตามประมวลรัษฎากร มาตรา 118จึงไม่อาจจะวินิจฉัยให้จำเลยที่ 2 รับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้ค้ำประกันเต็มตามจำนวนตามที่โจทก์ฟ้องได้
โจทก์บรรยายฟ้องว่า เมื่อระหว่างวันที่ 6 มกราคม 2524 ถึงวันที่ 15 มกราคม 2525 จำเลยที่ 1 ได้ทำการทุจริตต่อหน้าที่ปลอมแปลงลายมือชื่อสมาชิกโจทก์ แล้วทำเรื่องขอกู้เงินฉุกเฉินจากโจทก์ในนามของสมาชิกดังกล่าวรวมหลายคราวเป็นเงิน 728,070 บาทซึ่งโจทก์หลงเชื่อว่าเป็นลายมือชื่อของสมาชิกจริงจึงอนุมัติจ่ายให้ไป ดังปรากฏตามสำเนาภาพถ่ายบัญชีแสดงรายการการกู้ฉุกเฉินที่จำเลยที่ 1 ทำการทุจริตเอกสารท้ายฟ้อง คำฟ้องข้อ 3 ของโจทก์ชัดแจ้งพอเพียงแล้ว จำเลยที่ 1 จะปลอมแปลงลายมือชื่อสมาชิกโจทก์ด้วยวิธีใด หลักฐานการปลอมแปลงมีหรือไม่และมีการตรวจสอบไปแล้วเพียงใดนั้นเป็นเรื่องรายละเอียด ไม่จำต้องบรรยายมา ฟ้องของโจทก์ในส่วนนี้ได้บรรยายโดยชัดแจ้งซึ่งสภาพแห่งข้อหาแล้ว ไม่เคลือบคลุม
โจทก์ฟ้องเรียกเงินของโจทก์ที่จำเลยที่ 1 ยักยอกคืน และสำหรับจำเลยที่ 2 โจทก์ฟ้องให้รับผิดตามสัญญาค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1ซึ่งกฎหมายมิได้บัญญัติอายุความไว้เป็นอย่างอื่น จึงมีสิทธิฟ้องจำเลยที่ 2 ได้ภายใน 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 164 ฟ้องของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 ยักยอกเงินของโจทก์โดยทุจริตตามฟ้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดต่อโจทก์ในเงินจำนวน 10,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.