แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
การที่โจทก์ยกที่ดินเฉพาะส่วนของโจทก์ให้จำเลยเพราะจำเลยได้ชำระหนี้เงินกู้และไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาทจากธนาคารซึ่งเป็นหนี้ที่โจทก์ก่อขึ้นเพื่อประโยชน์ของโจทก์ฝ่ายเดียวนั้น ถือเป็นการให้เพื่อบำเหน็จสินจ้างโดยแท้ โจทก์จึงถอนคืนการให้ไม่ได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 535(1)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นมารดาจำเลยและเป็นเจ้าของที่ดิน น.ส.3 ก. เลขที่ 2956 ตำบลโพนสูง อำเภอปทุมรัตต์ จังหวัดร้อยเอ็ด เนื้อที่ 36 ไร่ 3 งาน 60 ตารางวา เมื่อปี 2519 มีการออก น.ส.3 ก. โจทก์จึงให้จำเลยมีชื่อร่วมใน น.ส.3 ก. ดังกล่าว ต่อมาวันที่4 ธันวาคม 2534 โจทก์ได้ยกที่ดินดังกล่าวให้แก่จำเลย โดยจำเลยรับว่าจะเลี้ยงดูโจทก์ต่อมาจำเลยได้ด่าว่าโจทก์ว่า “อีเฒ่า มึงแพ้ความกูแล้ว กูไม่นับถือมึง มึงยังมีหน้ามาอยู่กับกูอีก” และไม่ยอมให้ข้าวโจทก์กิน โจทก์ล้มป่วยและขอเงินจำเลยซื้อยาแต่จำเลยไม่ยอมให้ การกระทำดังกล่าวของจำเลยเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์อย่างร้ายแรง ขอให้เพิกถอนการให้ที่ดิน ให้จำเลยจดทะเบียนโอนที่ดินระหว่างโจทก์กับจำเลยตาม น.ส.3 ก. เลขที่2956 ตำบลโพนสูง อำเภอปทุมรัตต์ จังหวัดร้อยเอ็ด ให้จำเลยไถ่ถอนที่ดินดังกล่าวจากนายสมร บุญโพธิ์ หากจำเลยไม่ไถ่ถอนให้โจทก์มีอำนาจไถ่ถอนที่ดินแปลงพิพาทแทนโดยให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย ในกรณีโจทก์เป็นผู้ไถ่ถอนก็ให้โอนมาเป็นชื่อโจทก์แต่ผู้เดียว
จำเลยให้การว่า โจทก์ได้ยกที่ดินพิพาทในส่วนของตนให้แก่จำเลย ที่ดินพิพาททั้งแปลงจึงเป็นของจำเลย จำเลยไม่เคยด่าว่าโจทก์ดังที่กล่าวมาตามฟ้อง จำเลยอุปการะเลี้ยงดูโจทก์ด้วยดีเสมอมา ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามยอม โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาให้ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี
ศาลชั้นต้นสืบพยานและพิจารณาใหม่ แล้วพิพากษาให้เพิกถอนสัญญาให้ที่ดินพิพาท และให้จำเลยจดทะเบียนโอนที่ดินตาม น.ส.3 ก. เลขที่ 2956 ตำบลโพนสูงอำเภอปทุมรัตต์ จังหวัดร้อยเอ็ด ให้แก่โจทก์ คำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ประการแรกว่า โจทก์ประสงค์จะให้เพิกถอนการให้ที่ดินพิพาทแก่จำเลยเพียงใด โจทก์อ้างตนเองเป็นพยานเบิกความว่าโจทก์ได้รับที่ดินพิพาทจากนางพั้ว ศรีวิเศษ มารดาโจทก์ ต่อมาโจทก์ได้ให้จำเลยมีชื่อร่วมในที่ดินพิพาท ครั้นปี 2534 โจทก์ได้ยกที่ดินส่วนของโจทก์ให้จำเลยหลังจากยกที่ดินส่วนของโจทก์ให้จำเลยแล้ว โจทก์ทราบว่าจำเลยนำที่ดินพิพาทไปขายฝากโจทก์จำเลยจึงทะเลาะกัน โจทก์ต้องการที่ดินพิพาทจากจำเลยครึ่งหนึ่ง เห็นว่าตามคำเบิกความของโจทก์ ที่โจทก์ให้จำเลยมีชื่อร่วมในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่ดินพิพาทนั้นเป็นการยกที่ดินให้จำเลยหรือไม่เพราะเหตุใดโจทก์ก็ไม่ได้กล่าวถึงและตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่ดินพิพาทเอกสารหมาย จ.3 ก็ปรากฏว่ามีชื่อโจทก์จำเลยเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทร่วมกันตั้งแต่ปี 2519 ต่อมาในวันที่ 4 ธันวาคม 2534 โจทก์จึงให้ที่ดินเฉพาะส่วนของโจทก์แก่จำเลย เมื่อพิเคราะห์ถึงเอกสารดังกล่าวนี้ประกอบคำเบิกความของโจทก์แล้ว เห็นได้ว่าโจทก์มุ่งประสงค์จะเพิกถอนการให้ที่ดินพิพาทที่โจทก์ได้ยกให้แก่จำเลย ในวันที่ 4 ธันวาคม 2534 เท่านั้น ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่าโจทก์อายุมากแล้วจึงเบิกความสับสนนั้นเห็นว่าตามคำเบิกความของโจทก์ดังกล่าว โจทก์เบิกความถึงเรื่องความเป็นมาและการยกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยได้ชัดเจนและต่อเนื่องกันมา ไม่น่าเชื่อว่าจะเป็นการเบิกความไปเพราะสับสนหลงลืม ข้ออ้างของโจทก์จึงรับฟังไม่ขึ้น ปัญหาวินิจฉัยต่อไปมีว่า โจทก์จะถอนคืนการให้ดังกล่าวได้หรือไม่ ได้ความตามทางนำสืบของจำเลยว่า เมื่อปี 2520 นายเริญหรือเจริญกับนายขานบุตร โจทก์ได้มาขอเงินจากโจทก์ โจทก์ให้จำเลยไปหาเงินมาให้ หากได้เงินมาโจทก์จะยกที่ดินในส่วนของโจทก์ให้จำเลย จำเลยจึงไปยืมเงินจากญาติสามีจำเลยมาให้นายเจริญ 10,000 บาท นายขาน 8,000 บาท ในปีเดียวกันจำเลยและโจทก์เอาที่ดินพิพาทไปจำนองธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรเพื่อนำเงินไปชำระให้แก่เจ้าหนี้เงินกู้ ต่อมาวันที่ 4 ธันวาคม 2534 จึงได้ไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาท และในวันเดียวกันโจทก์ได้จดทะเบียนยกที่ดินเฉพาะส่วนของโจทก์ให้แก่จำเลย ในข้อนี้โจทก์ตอบคำถามค้านทนายจำเลยว่า จำเลยนำที่ดินพิพาทไปจำนองธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรเพื่อนำเงินมาให้นายเจริญบุตรโจทก์ ต่อมาจำเลยได้ขายบ้านจำเลยไปไถ่ถอนจำนองคืน ดังนั้นข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าการที่โจทก์ยกที่ดินเฉพาะส่วนของโจทก์ให้จำเลยเพราะจำเลยได้ชำระหนี้เงินกู้และไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาทจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรซึ่งเป็นหนี้ที่โจทก์ก่อขึ้นเพื่อประโยชน์ของโจทก์ฝ่ายเดียว การที่โจทก์ให้ที่ดินพิพาทแก่จำเลย จึงเป็นการให้เพื่อบำเหน็จสินจ้างโดยแท้ โจทก์จึงถอนคืนการให้ไม่ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 535(1) ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน