แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
การที่โจทก์จำเลยมีสิทธิครอบครองที่นาร่วมกันโดยยังมิได้แบ่งแยกกันเป็นส่วนสัดว่าของโจทก์เท่าใด ของจำเลยเท่าใดและอยู่ตรงส่วนไหนดังนี้ จำเลยย่อมมีสิทธิเข้าทำนาที่พิพาทได้ตามป.พ.พ. ม.1360 และเมื่อจำเลยมิได้ห้ามปรามมิให้โจทก์เข้าทำนาที่พิพาท จึงไม่เป็นการใช้ทรัพย์สินขัดต่อสิทธิของโจทก์ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลย
โจทก์ฟ้องขอให้ขับไล่จำเลยออกจากที่นา ข้อเท็จจริงได้ความว่าโจทก์จำเลยมีสิทธิครอบครองที่นาร่วมกัน ดังนี้ศาลจะพิพากษาให้จำเลยแบ่งที่นาให้โจทก์ไม่ได้
ย่อยาว
ศาลชั้นต้นพิพากษาบังคับให้จำเลยทั้งสี่และบริวารออกไปจากที่พิพาท และให้ใช้ค่าเสียหายที่โจทก์ไม่ได้ทำนา ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า โจทก์มีสิทธิครอบครองนาพิพาทหนึ่งในสี่ส่วนหรือประมาณ3 ไร่ 3 งาน ให้จำเลยทั้งสี่แบ่งนาพิพาทให้โจทก์ตามส่วนดังกล่าว ถ้าตกลงกันไม่ได้ให้เอานาพิพาทขายทอดตลาด แล้วนำเงินสุทธิที่ขายได้แบ่งให้โจทก์หนึ่งในสี่ส่วน และให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ฟังได้ว่าโจทก์และนางนิลได้ร่วมกันก่อสร้างนาพิพาทและร่วมกันทำนาพิพาทตลอดจนกระทั่งนางนิลถึงแก่กรรม ดังนั้นโจทก์กับนางนิลจึงเป็นผู้มีสิทธิครอบครองร่วมกันในนาพิพาท เมื่อนางนิลถึงแก่กรรมนั้นนาพิพาทเฉพาะส่วนของนางนิลย่อมเป็นมรดกตกทอดแก่โจทก์และบุตรทั้งสามคือจำเลยที่ 1 ที่ 3และนายอินทร์ มีปัญหาวินิจฉัยต่อไปว่าการที่โจทก์ครอบครองนาพิพาทส่วนของนางนิลหลังจากนางนิลถึงแก่กรรมนั้น เป็นการครอบครองเพื่อถือเอาเป็นของโจทก์แต่ผู้เดียว หรือครอบครองแทนจำเลยที่ 1 ที่ 3 และนายอินทร์ เห็นว่า แม้ข้อเท็จจริงจะปรากฏว่าโจทก์ได้แจ้งการครอบครองนาพิพาทตามแบบ ส.ค.1 และขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.3) ในนามของโจทก์แต่ผู้เดียวก็ตาม แต่จำเลยที่ 1 ก็เบิกความว่าโจทก์แจ้งการครอบครองนาพิพาทในฐานะหัวหน้าครอบครัว นอกจากนี้นายดี สุชาติ พยานโจทก์เบิกความว่าเห็นโจทก์กับจำเลยร่วมกันทำนาพิพาทตลอดมาเจือสมกับคำพยานจำเลย และโจทก์เองก็เบิกความรับว่าเมื่อประมาณ 3 ปีมานี้ (พ.ศ. 2519) จำเลยที่ 1 และที่ 3 ยื่นคำร้องต่ออำเภอขอให้โจทก์แบ่งนาให้โจทก์จึงยกนาแปลง 9 ไร่ ให้จำเลยทั้งสองไป พฤติการณ์ดังกล่าวของโจทก์ที่ยอมให้จำเลยร่วมทำนาพิพาทด้วยก็ดียอมยกนาอีกแปลงหนึ่งให้ก็ดีแบ่งแสดงว่าโจทก์ครอบครองนาพิพาทแทนจำเลยที่ 1 ที่ 3 ด้วย และข้อเท้จจริงฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์แล้วว่าโจทก์มิได้ยกนาพิพาทให้จำเลยตามเอกสารหมาย ล.2จำเลยที่ 1 และที่ 3 จึงเป็นผู้มีสิทธิครอบครองร่วมกับโจทก์ในนาพิพาททั้งแปลงตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1603 มาตรา 1629 และมาตรา 1745 และปรากฏว่า ยังไม่ได้แบ่งแยกกันเป็นส่วนสัดว่าเป็นของโจทก์เท่าใดเป็นของจำเลยเท่าใดและอยู่ตรงส่วนไหนของนาพิพาท จำเลยจึงมีสิทธิที่จะเข้าไปทำนาพิพาทได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1360 และจำเลยมิได้ห้ามปรามโจทก์มิให้เข้าทำนาพิพาท จึงไม่เป็นการใช้ทรัพย์สินขัดต่อสิทธิของโจทก์ โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิที่จะฟ้องขับไล่จำเลยออกจากนาพิพาทหากโจทก์ประสงค์จะขอแบ่งนาพิพาท ก็จะต้องไปว่ากล่าวเป็นอีกคดีหนึ่งต่างหาก ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่านาพิพาททั้งแปลงเป็นของนางนิลตกทอดแก่บรรดาทายาทนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย และฎีกาของโจทก์ก็ฟังไม่ขึ้น
พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์ แต่ไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะไปฟ้องร้องขอให้จำเลยแบ่งนาพิพาทให้ตามสิทธิของโจทก์อีกต่อไป ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความทั้งสามศาลให้เป็นพับ ปรากฏว่าโจทก์เสียค่าขึ้นศาลในชั้นฎีกาเกินมา 720 บาท จึงให้คืนค่าขึ้นศาลที่เกินแก่โจทก์”