คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5785/2544

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 เป็นเจ้าพนักงานตำรวจท้องที่ที่เกิดเหตุไปที่ห้องที่โจทก์เช่าเพื่อเป็นพยานรู้เห็นในการที่จำเลยที่ 1 ขนย้ายทรัพย์สินของโจทก์ไปฝากเก็บไว้ที่สถานีตำรวจท้องที่ อันเป็นการใช้ดุลพินิจโดยสุจริตในการบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้แก่ประชาชน โดยสำคัญผิดคิดว่ามีอำนาจที่จะกระทำได้ ถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 มีเจตนากระทำความผิดฐานบุกรุกโดยร่วมกระทำความผิดตั้งแต่สองคนขึ้นไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 365(2) จำเลยที่ 1 จึงมีความผิดตามมาตรา 362 เท่านั้น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2538 เวลากลางวัน จำเลยทั้งสี่กับพวกร่วมกันกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือ (ก)ร่วมกันบุกรุกเข้าไปในบ้านเลขที่ 322/342 ซอยหลังสถานทูตจีน ถนนรัชดาภิเษกแขวงดินแดง เขตดินแดง กรุงเทพมหานคร อันเป็นเคหสถานที่โจทก์เช่าไว้ประกอบการค้าจำเลยทั้งสี่กับพวกเข้าขนย้ายทรัพย์สินของโจทก์ออกจากเคหสถานดังกล่าวโดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ อันเป็นการรบกวนการครอบครองเคหสถานของโจทก์โดยปกติสุข โดยมีอาวุธและร่วมกันกระทำผิดตั้งแต่สองคนขึ้นไป (ข) เมื่อจำเลยทั้งสี่บุกรุกเข้าไปในเคหสถานดังกล่าวแล้ว ได้ร่วมกันลักเอาทรัพย์สินของโจทก์รวม 28 รายการ คิดเป็นเงิน 657,040บาท (ค) จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจประจำสถานีตำรวจนครบาลห้วยขวาง เห็นการกระทำผิดของจำเลยที่ 1 ตามข้อ (ก) และ (ข)แล้วไม่จับกุมเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นหน้าที่โดยทุจริต ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362, 365(2), 334, 335(7), 336 ทวิ,157, 91, 83

ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้องเฉพาะจำเลยที่ 1 ในข้อหาฐานบุกรุกตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 362, 365(2) ส่วนข้อหาอื่นและจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ไม่มีมูลให้ยกฟ้องโจทก์

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยที่ 1 ให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362 ให้ลงโทษปรับ 2,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ข้อแรกว่า การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 365(2) ด้วยหรือไม่นั้น คดีนี้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า การที่จำเลยที่ 1นำกุญแจเปลี่ยนใส่ห้องพิพาทแทนกุญแจของโจทก์และเข้าไปขนย้ายทรัพย์สินในห้องพิพาทเป็นการกระทำโดยขาดเจตนา จึงไม่เป็นความผิดตามฟ้อง พิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นการร่วมกันบุกรุกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362, 365(2) ขอให้ศาลอุทธรณ์แก้ไขคำพิพากษาศาลชั้นต้นโดยพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1ตามฟ้อง แต่ปรากฏว่าศาลอุทธรณ์วินิจฉัยเพียงว่าการกระทำของจำเลยที่ 1เป็นความผิดฐานบุกรุกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362 เท่านั้นโดยมิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ที่ว่า การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดฐานร่วมกันบุกรุกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 365(2)ด้วยหรือไม่ โดยไม่ปรากฏเหตุผลการที่ศาลอุทธรณ์ยังมิได้วินิจฉัยปัญหาตามอุทธรณ์ของโจทก์ดังกล่าวซึ่งเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ต้องห้ามตามกฎหมายคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 186(6) ประกอบด้วยมาตรา 215 ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหาตามอุทธรณ์ของโจทก์ดังกล่าวโดยไม่ย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243(1) และมาตรา 247 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 โดยเห็นว่าข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในชั้นไต่สวนมูลฟ้องว่า การที่จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจท้องที่ที่เกิดเหตุได้ไปที่ห้องพิพาทนั้น เป็นเพียงการไปเป็นพยานรู้เห็นในการขนย้ายทรัพย์สินของโจทก์ไปฝากเก็บไว้ที่สถานีตำรวจท้องที่ อันเป็นการใช้ดุลพินิจโดยสุจริตในการบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้แก่ประชาชนโดยสำคัญผิดคิดว่ามีอำนาจที่จะกระทำได้ ถือไม่ได้ว่ามีเจตนากระทำความผิดฐานบุกรุกโดยร่วมกระทำความผิดตั้งแต่สองคนขึ้นไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 365(2) ที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 365(2) นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล”

พิพากษายืน

Share