แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยไว้ว่าฟ้องโจทก์บรรยายโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาสำหรับเหตุที่ไม่ได้มีการเติมน้ำมันให้แก่เรือและรายละเอียดของกฎกระทรวงตามวรรคสองของพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิตพ.ศ. 2527 มาตรา 102(4) ไม่ใช่ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักในข้อหาที่โจทก์ฟ้อง จึงสามารถนำสืบในชั้นพิจารณาต่อไปได้ แต่อุทธรณ์ของจำเลยไม่ปรากฏเลยว่าเหตุใดจำเลยจึงเห็นว่ากรณีดังกล่าวมิใช่รายละเอียดที่โจทก์สามารถนำสืบได้ และเหตุใดจำเลยจึงถือว่ารายละเอียดของกฎกระทรวงเป็นข้ออ้างที่โจทก์ต้องอาศัยเป็นหลักแห่งข้อหา อุทธรณ์ของจำเลยไม่มีข้อโต้แย้งคัดค้านคำวินิจฉัยของศาลภาษีอากรกลาง จึงเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 มาตรา 29
จำเลยฟ้องแย้งขอให้บังคับกรมสรรพสามิตโจทก์คืนค่าภาษีคนละเที่ยวเรือกับที่โจทก์ขอให้บังคับจำเลยคืนค่าภาษีที่จำเลยขอรับคืนไปจากโจทก์แล้ว ซึ่งการนำน้ำมันเชื้อเพลิงขึ้นเรือแต่ละเที่ยวเรือตามคำฟ้องและฟ้องแย้งไม่มีความเกี่ยวข้องกันเป็นการกระทำต่างกรรมต่างวาระกัน ตามคำฟ้องของโจทก์มีประเด็นว่า จำเลยจะต้องคืนเงินค่าภาษีที่จำเลยขอรับคืนไป ให้แก่โจทก์หรือไม่เพียงใด ส่วนฟ้องแย้งของจำเลยมีประเด็นว่าจำเลยมีสิทธิเรียกให้โจทก์คืนเงินค่าภาษีที่จำเลยชำระไว้หรือไม่เพียงใด ดังนั้น แม้ตามคำฟ้องของโจทก์และคำฟ้องแย้งของจำเลยจะเป็นเรื่องของการขอคืนภาษีสรรพสามิตตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิตในมาตราเดียวกัน แต่ภาระการพิสูจน์ข้อเท็จจริงตามคำขอของโจทก์กับฟ้องแย้งของจำเลยก็แตกต่างตรงข้ามกันและไม่มีความเกี่ยวพันกันฟ้องแย้งของจำเลยจึงไม่เกี่ยวกับฟ้องเดิมของโจทก์
คำฟ้องโจทก์มิได้ยืนยันว่าการที่จำเลยขอรับคืนภาษีสรรพสามิตและภาษีเก็บเพิ่มเพื่อกระทรวงมหาดไทยไปจากโจทก์เป็นการกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อต่อโจทก์โดยผิดกฎหมายหรือจำเลยได้ใช้สิทธิซึ่งมีแต่จะให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่นการที่โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยไม่มีสิทธิตามกฎหมายที่จะได้รับคืนภาษีก็เป็นผลมาจากการที่โจทก์ตรวจสอบพบว่าไม่มีการเติมน้ำมันแก่เรือตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 102(4) แห่งพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2537 กรณีตามฟ้องของโจทก์จึงไม่ใช่เรื่องจำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์ ไม่อาจนำอายุความเรื่องละเมิดมาบังคับแก่คดีได้
จำเลยใช้สิทธิจากการที่จำเลยซึ่งเป็นผู้ประกอบการอุตสาหกรรมผลิตหรือขายหรือจำหน่ายน้ำมันนำน้ำมันที่จำเลยชำระภาษีแล้วเติมให้แก่เรือที่มีขนาดเกินกว่า 500 ตันกรอสส์ และพนักงานศุลกากรได้ปล่อยให้ไปต่างประเทศแล้ว ขอรับคืนค่าภาษีจากกรมสรรพสามิตโจทก์ตามพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2527 มาตรา 102(4) ต่อมาโจทก์ได้รับแจ้งจากกรมศุลกากรว่ามิได้มีการเติมน้ำมันตามชนิดและปริมาณให้แก่เรือซึ่งมีชื่อที่มีขนาดเกินกว่า 500 ตันกรอสส์ จำเลยจึงไม่มีสิทธิตามกฎหมายที่จะได้รับคืนภาษีสรรพสามิตและภาษีเก็บเพิ่มเพื่อกระทรวงมหาดไทยจากโจทก์ การที่จำเลยได้รับเงินค่าภาษีคืนไปแม้ในชั้นแรกจะมีมูลที่จะอ้างกฎหมายได้ แต่ต่อมาปรากฏว่าจำเลยไม่มีสิทธิที่จะได้รับเงินก็ถือว่าไม่มีมูลที่จะอ้างกฎหมายได้เช่นกัน จึงเป็นการได้มาโดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้และเป็นทางให้โจทก์เสียเปรียบ เป็นลาภมิควรได้จำเลยจึงต้องคืนให้แก่โจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 406แต่โจทก์ต้องฟ้องคดีใช้สิทธิเรียกเงินดังกล่าวภายในกำหนด 1 ปี นับแต่เวลาที่โจทก์รู้ว่าตนมีสิทธิเรียกคืนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 419
โจทก์มีหนังสือทวงถามให้จำเลยคืนเงินภาษีที่จำเลยขอรับคืนไปแก่โจทก์เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2539 จึงฟังได้ว่าโจทก์รู้ว่าตนมีสิทธิเรียกคืนซึ่งค่าภาษีจากจำเลยตั้งแต่วันดังกล่าว โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2542 พ้นกำหนด 1 ปี นับแต่โจทก์รู้ว่าตนมีสิทธิเรียกคืน คดีโจทก์จึงขาดอายุความ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 419
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายโดยเป็นกรมในรัฐบาลสังกัดกระทรวงการคลัง มีหน้าที่จัดเก็บภาษีตามพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2527และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องโดยมีนายสมชัย ฤชุพันธ์ เป็นอธิบดี และการฟ้องคดีนี้ได้มอบอำนาจให้นายวินิจ วินิจฉัยกุล รองอธิบดีกรมสรรพสามิตเป็นผู้ฟ้องคดีแทน จำเลยจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด จำเลยเป็นผู้ประกอบอุตสาหกรรม ผลิตและขายหรือจำหน่ายซึ่งน้ำมันปิโตรเลียมและผลิตผลจากน้ำมันปิโตรเลียมใด ๆ ทุกชนิดและน้ำมัน การผลิตซึ่งน้ำมันปิโตรเลียมและน้ำมันของจำเลยซึ่งกระทำในราชอาณาจักรจึงเป็นการผลิตสินค้าขึ้นในราชอาณาจักร จำเลยจึงเป็นผู้ประกอบอุตสาหกรรมซึ่งมีหน้าที่ต้องยื่นแบบรายการภาษีพร้อมกับชำระภาษีสรรพสามิตต่อกรมสรรพสามิตภายใน10 วัน นับแต่วันที่นำน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมันที่ผลิตออกจากโรงงานอุตสาหกรรมและต้องชำระภาษีเก็บเพิ่มเพื่อกระทรวงมหาดไทยอีกร้อยละ 10 ของภาษีสรรพสามิตดังกล่าวเพื่อนำไปจัดสรรให้แก่กรุงเทพมหานครและราชการส่วนท้องถิ่น ทั้งนี้จำนวนภาษีซึ่งจำเลยในฐานะผู้ประกอบอุตสาหกรรมได้ชำระไว้ดังกล่าวข้างต้น หากต่อมาจำเลยซึ่งเป็นผู้ประกอบอุตสาหกรรมได้นำน้ำมันที่ได้ชำระค่าภาษีดังกล่าวแล้วเติมให้แก่เรือที่มีขนาดเกินกว่า 500 ตันกรอสส์ ซึ่งพนักงานศุลกากรได้ปล่อยให้ไปต่างประเทศแล้ว จำเลยซึ่งเป็นผู้ประกอบอุตสาหกรรมมีสิทธิตามกฎหมายที่จะขอคืนค่าภาษีสรรพสามิตของปริมาณน้ำมันหรือผลิตภัณฑ์น้ำมันที่เติมให้แก่เรือดังกล่าวและภาษีเก็บเพิ่มเพื่อกระทรวงมหาดไทยด้วย ต่อมาจำเลยได้ยื่นคำขอคืนค่าภาษีสรรพสามิตตามมาตรา 102(4) แห่งพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2527 ซึ่งเป็นค่าภาษีที่จำเลยได้ชำระไว้ดังกล่าวโดยอ้างและแสดงหลักฐานว่าจำเลยได้เติมน้ำมันโดยแสดงชนิดและปริมาณของน้ำมันให้แก่เรือซึ่งมีชื่อที่มีขนาดกว่า 500 ตันกรอสส์ ซึ่งพนักงานศุลกากรได้ปล่อยให้ไปต่างประเทศแล้ว อันเป็นการใช้สิทธิขอคืนภาษีตามเงื่อนไขดังกล่าวข้างต้น เจ้าพนักงานของโจทก์ได้ตรวจสอบตามพยานหลักฐานที่จำเลยนำมาแสดงแล้วเชื่อดังที่จำเลยกล่าวอ้างจริง จึงมีผลให้จำเลยมีสิทธิได้รับคืนภาษีตามเงื่อนไขของมาตรา 102(4) แห่งพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2527 เจ้าพนักงานของโจทก์จึงได้คืนภาษีสรรพสามิตและภาษีเก็บเพิ่มเพื่อกระทรวงมหาดไทย ตามจำนวนที่จำเลยกล่าวอ้างดังกล่าวให้แก่จำเลย และจำเลยได้รับคืนแล้ว ต่อมาเจ้าพนักงานของโจทก์ได้รับแจ้งจากกรมศุลกากรว่าตามเอกสารและพยานหลักฐานที่จำเลยนำมาแสดงเพื่อขอคืนค่าภาษีและได้รับคืนค่าภาษีไปแล้วดังกล่าวข้างต้นนั้น แท้ที่จริงแล้วมิได้มีการเติมน้ำมันตามชนิดและปริมาณให้แก่เรือซึ่งมีชื่อที่มีขนาดเกินกว่า 500 ตันกรอสส์ จำเลยไม่มีสิทธิตามกฎหมายที่จะได้รับคืนภาษีสรรพสามิตและภาษีเก็บเพิ่มเพื่อกระทรวงมหาดไทยที่จำเลยได้รับคืนไปดังกล่าว จำเลยจึงมีหน้าที่นำมาคืนให้แก่โจทก์ทั้งสิ้น ที่จำเลยอ้างว่านำน้ำมันขึ้นเรือแต่ตรวจพบว่าไม่ได้นำขึ้นเรือรวมทั้งสิ้น 85 ครั้ง ค่าภาษีสรรพสามิตและค่าภาษีเก็บเพิ่มเพื่อกระทรวงมหาดไทยที่จำเลยได้รับคืนไปและมีหน้าที่ต้องนำมาคืนโจทก์เป็นจำนวนทั้งสิ้น 19,654,220.18 บาท เจ้าพนักงานของโจทก์ได้แจ้งให้จำเลยนำค่าภาษีจำนวนดังกล่าวคืนให้แก่โจทก์ จำเลยได้รับแจ้งแล้วแต่จำเลยหาได้นำค่าภาษีจำนวนดังกล่าวคืนให้แก่โจทก์ไม่ จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องส่งคืนค่าภาษีที่จำเลยรับคืนไปดังกล่าวพร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของจำนวนค่าภาษีที่จำเลยได้รับคืนไป ทั้งนี้คำนวณดอกเบี้ยถึงวันที่ 30 มีนาคม 2542 เป็นจำนวนเงิน 7,310,321.38 บาท ขอให้บังคับจำเลยคืนค่าภาษีพร้อมดอกเบี้ยเป็นเงิน 26,964,541.56 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินต้นจำนวน 19,654,220.18 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า ฟ้องของโจทก์เคลือบคลุมไม่ชอบด้วยกฎหมายจำเลยไม่เข้าใจและไม่อาจให้การต่อสู้คดีได้โดยแจ้งชัด โดยโจทก์กล่าวอ้างว่าไม่มีการเติมน้ำมันตามชนิดและปริมาณให้แก่เรือซึ่งมีขนาดเกิน 500 ตันกรอสส์ แต่โจทก์ไม่ได้กล่าวให้แจ้งชัดว่าเพราะเหตุใดจึงมิได้มีการเติมน้ำมัน ทั้ง ๆ ที่โจทก์ยอมรับแล้วว่าในการขอคืนภาษีจำเลยได้เสนอหลักฐานต่าง ๆ และโจทก์ก็ได้คืนภาษีให้จำเลยไปแล้ว ฉะนั้น โจทก์จึงมีหน้าที่ต้องกล่าวในคำฟ้องเพื่อให้เข้าใจว่าเหตุใดโจทก์จึงอ้างดังกล่าว ที่โจทก์อ้างว่าเจ้าพนักงานของโจทก์ได้รับแจ้งจากกรมศุลกากร เป็นการอ้างข้อเท็จจริงตามคำบอกเล่าของผู้อื่นมาเป็นเหตุฟ้องคดีนี้ เป็นการเพิ่มคำฟ้องซึ่งเคลือบคลุมอยู่แล้วให้เคลือบคลุมและไม่มีสภาพเป็นการฟ้องยิ่งขึ้น และข้อที่โจทก์กล่าวอ้างว่า “จากการที่จำเลยมิได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขของมาตรา 102(4)… จำเลยจึงไม่มีสิทธิตามกฎหมายที่จะได้รับคืนค่าภาษี…” นั้น โจทก์มิได้กล่าวโดยแจ้งชัดว่าจำเลยมิได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขของมาตรา 102(4) อย่างไรบ้าง การที่โจทก์ไม่ได้กล่าวโดยแจ้งชัดทำให้จำเลยไม่ทราบว่าได้กระทำหรืองดเว้นกระทำการใดที่เป็นเหตุให้โจทก์อ้างว่ามิได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขของกฎหมายดังกล่าว ตามคำฟ้องโจทก์ยอมรับแล้วว่าจำเลยได้เสนอหลักฐานต่าง ๆ และโจทก์ก็ได้คืนภาษีให้จำเลยตามนัยของมาตรา 102(4) ไปแล้ว ฉะนั้นการที่โจทก์กลับมาฟ้องและก็ไม่ได้บรรยายเหตุผลลงในคำฟ้องให้แจ้งชัดดังกล่าว จึงเป็นฟ้องที่เคลือบคลุม วรรคสองของมาตรา 102(4) แห่งพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2527 บัญญัติว่า “การขอรับคืน…ภาษีตามวรรคหนึ่งให้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง” กฎกระทรวงมีอยู่อย่างไรและจำเลยได้กระทำหรืองดเว้นกระทำการใดอันเป็นการไม่ปฏิบัติตามกฎกระทรวงดังกล่าว โจทก์ไม่ได้บรรยายให้แจ้งชัดจึงเป็นคำฟ้องที่เคลือบคลุม และคดีของโจทก์ขาดอายุความ 1 ปีแล้ว ไม่ว่าจะเป็นอายุความเรื่องลาภมิควรได้ หรือเรื่องละเมิด เนื่องจากตามคำฟ้องของโจทก์เป็นการกล่าวอ้างว่าจำเลยได้รับคืนเงินจากโจทก์โดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ จึงเป็นการกล่าวอ้างและฟ้องในเรื่องลาภมิควรได้ และการที่โจทก์บรรยายฟ้องดังกล่าวมานี้ จำเลยก็เห็นว่าเป็นกล่าวอ้างและฟ้องเรื่องละเมิดคือโจทก์อ้างถึงการ “กระทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมาย”และอ้างถึงการ “ใช้สิทธิซึ่งมีแต่จะให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่น” คำฟ้องของโจทก์ไม่ใช่คำฟ้องเกี่ยวกับการติดตามเอาคืนทรัพย์สินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1336 เพราะว่าโจทก์กับจำเลยไม่ใช่ตัวการ ตัวแทน นายจ้าง หรือผู้บังคับบัญชาต่อกัน จำเลยไม่มีหน้าที่ต้องคืนภาษีตามที่โจทก์ฟ้อง จำเลยได้รับคืนภาษีมาจากโจทก์โดยสุจริตและถูกต้องตามกฎหมายและคำสั่งของกรมศุลกากร เรื่องการปฏิบัติแก่น้ำมันที่ใช้เติมในเรือทุกประการ คำสั่งซื้อเจ้าหน้าที่ของโจทก์ ของกรมศุลกากรและผู้ที่เกี่ยวข้องต้องปฏิบัติและจำเลยทราบว่ามีการปฏิบัติเรียบร้อยก่อนจำเลยยื่นเรื่องราวขอคืนภาษีแต่ละครั้งโดยไม่มีผู้ใดคัดค้านหรือทักท้วงใด ๆ คือ ผู้มีหน้าที่ขออนุญาตนำน้ำมันขึ้นเรือได้แก่ นายเรือเจ้าของเรือหรือตัวแทนเรือโดยต้องยื่นขออนุญาตต่อฝ่ายควบคุมเรือในท่ากองควบคุมยานและสินค้าของกรมศุลกากร ผู้จำหน่ายน้ำมัน (ดังเช่นจำเลย) เป็นเพียงผู้ให้คำรับรองว่าน้ำมันที่นำขึ้นเรือเป็นน้ำมันที่ได้ชำระภาษีอากรแล้ว และจะดำเนินการขอคืนภาษีอากรนั้นต่อไป กองควบคุมยานและสินค้าของกรมศุลกากรเป็นผู้พิจารณาอนุญาตและควบคุมการนำน้ำมันขึ้นเรือ มีหน้าที่ตรวจสอบชนิดและปริมาณน้ำมันและรับรองขนาดของเรือและการปล่อยเรือไปต่างประเทศ เมื่อเจ้าหน้าที่กองควบคุมยานและสินค้าของกรมศุลกากรได้ตรวจสอบชนิดและปริมาณน้ำมัน โดยดำเนินการและคำนวณตามวิธีการที่กองตรวจสินค้าขาเข้าปฏิบัติอยู่เรียบร้อยแล้วก็ต้องบันทึกชนิดและปริมาณของน้ำมัน รวมทั้งสถานที่นำขึ้นเรือวันนำขึ้นเรือ ลักษณะการนำขึ้นเรือและการเก็บในเรือลงในช่องที่กำหนดในใบขออนุญาตพร้อมทั้งลงลายมือชื่อ วันเดือน ปี ที่รับรองในกรณีที่อยู่ในข่ายสงสัยเกี่ยวกับชนิดของน้ำมันก็ให้ชักตัวอย่างส่งกองวิเคราะห์สินค้า เมื่อตรวจสอบและควบคุมการนำน้ำมันขึ้นเรือเสร็จแล้ว ให้ขอสำเนาใบรับน้ำมันของนายเรือแนบติดใบอนุญาตไว้ด้วย เมื่อผู้อำนวยการกองควบคุมยานและสินค้าหรือผู้ได้รับมอบหมายตรวจสอบพอใจรายงานและคำรับรองของเจ้าหน้าที่ผู้ควบคุมและตรวจสอบการนำน้ำมันขึ้นเรือแล้ว ให้ตรวจสอบและรับรองขนาดของเรือและการปล่อยเรือไปต่างประเทศ พร้อมทั้งลงลายมือชื่อและวัน เดือน ปี ที่รับรอง แล้วจัดส่งใบอนุญาตและสำเนาใบรับน้ำมันของนายเรือไปที่หน่วยคืนอากร สำหรับกรณีที่ได้ชำระภาษีน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมันไว้แล้ว (ดังเช่นกรณีของจำเลย) ให้ทำหนังสือนำส่งไปยังกรมสรรพสามิต ซึ่งเป็นการปฏิบัติตามคำสั่งทั่วไปกรมศุลกากรที่ 3/2511 เรื่องการปฏิบัติแก่น้ำมันที่ใช้เติมในเรือตามคำฟ้องโจทก์ได้ระบุชนิดของน้ำมันและอ้างว่าเป็น “ปริมาณน้ำมันที่ตรวจพบว่าไม่ได้นำขึ้นเรือ” นั้น ไม่เป็นความจริง ที่แท้จริงแล้วปรากฏตามหลักฐานว่ามีการนำน้ำมันขึ้นเรือรวมทั้งมีหลักฐานการตรวจสอบและการออกใบอนุญาตของเจ้าหน้าที่ของกรมศุลกากรอยู่ที่โจทก์โดยครบถ้วน ถ้าไม่มีการนำน้ำมันขึ้นเรือ เจ้าหน้าที่ของกรมศุลกากรก็คงจะไม่ออกใบอนุญาตและส่งเรื่องไปให้โจทก์เพื่อคืนเงินภาษีให้จำเลยอย่างแน่นอนเนื่องจากจำเลยได้ขอคืนภาษีจากโจทก์โดยสุจริตมีหลักฐานซึ่งผ่านการตรวจสอบ ควบคุมรับรอง และอนุมัติโดยเจ้าหน้าที่ของโจทก์และของกรมศุลกากรครบถ้วน ฉะนั้น จำเลยจึงไม่ต้องคืนเงินและชดใช้ดอกเบี้ยใด ๆ ตามที่โจทก์ฟ้องจนกว่าศาลจะพิพากษาถึงที่สุดให้จำเลยคืนเงินแก่โจทก์ และจำเลยขอฟ้องแย้งว่า โจทก์มีหน้าที่คืนภาษีพร้อมดอกเบี้ยให้แก่จำเลยกล่าวคือ ในระหว่างเดือนมีนาคมถึงเดือนกรกฎาคม 2538 จำเลยได้ยื่นคำขอคืนภาษีสรรพสามิตจากโจทก์ตามมาตรา 102(4) ของพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิตพ.ศ. 2527 รวม 15 รายการ เป็นภาษีสรรพสามิต 3,074,370 บาท และภาษีเพิ่มเพื่อกระทรวงมหาดไทยอีก 307,437 บาท รวมทั้งสิ้น 3,381,807 บาท เจ้าหน้าที่ของโจทก์ไม่คืนภาษีให้จำเลย อ้างเหตุที่ไม่คืนแต่เพียงว่าได้รับแจ้งจากกรมศุลกากรว่ามิได้มีการเติมน้ำมันให้แก่เรือ ทั้ง ๆ ที่จำเลยได้ยื่นคำขอคืนภาษีและแนบหลักฐานซึ่งเจ้าหน้าที่ของกรมศุลกากรได้ตรวจสอบ ควบคุม และรับรองก่อนจำเลยยื่นคำขอคืนภาษีว่ามีการเติมน้ำมันให้แก่เรือจริง การที่โจทก์ไม่คืนภาษีไม่มีเหตุผลที่โจทก์จะอ้างได้ตามกฎหมายและขัดกับพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2527 มาตรา 102(4) โจทก์มีหน้าที่ต้องคืนแก่จำเลยพร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี เป็นดอกเบี้ยคิดถึงวันที่ 30 เมษายน2542 จำนวน 972,395.98 บาท จำเลยได้ติดตามทวงถามตลอดมา แต่โจทก์ไม่คืนภาษีให้จำเลยจึงจำเป็นต้องฟ้องแย้งโจทก์ ขอให้ยกฟ้องโจทก์ และบังคับให้โจทก์คืนเงินภาษีสรรพสามิตและภาษีเพิ่มเพื่อกระทรวงมหาดไทยพร้อมด้วยดอกเบี้ยถึงวันที่ 30 เมษายน2542 รวมเป็นเงิน 4,354,202 บาท แก่จำเลย และให้ชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ของต้นเงิน 3,381,807 บาท นับจากวันยื่นคำให้การและฟ้องแย้งนี้จนกว่าโจทก์จะคืนภาษีให้แก่จำเลยครบถ้วน
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า ตามคำฟ้องของจำเลยอ้างว่า โจทก์มีหน้าที่คืนภาษีพร้อมดอกเบี้ยให้แก่จำเลยตามที่จำเลยได้ยื่นคำขอคืนภาษีสรรพสามิตจากโจทก์ตามมาตรา 102(4) ของพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2527 ในระหว่างเดือนมีนาคมถึงเดือนกรกฎาคม 2538 รวม 15 รายการ เป็นภาษีสรรพสามิต 3,074,370 บาท และภาษีเพิ่มเพื่อกระทรวงมหาดไทยอีก 307,437 บาท รวมทั้งสิ้น 3,381,807 บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี เป็นดอกเบี้ยคิดถึงวันที่ 30 เมษายน 2542 จำนวน972,395.98 บาท นั้น เป็นการขอคืนค่าภาษีจากการที่จำเลยอ้างว่ามีการนำน้ำมันขึ้นเรือคนละเที่ยวเรือกับการนำน้ำมันขึ้นเรือตามคำฟ้องของโจทก์อันเป็นการกระทำที่ต่างกรรมต่างวาระกัน อีกทั้งตามคำฟ้องของโจทก์เป็นการเรียกคืนค่าภาษีจากจำเลยซึ่งจำเลยได้รับคืนไปแล้ว แต่คำฟ้องแย้งของจำเลยเป็นการฟ้องแย้งขอให้โจทก์ชำระคืนค่าภาษีในส่วนที่ไม่เกี่ยวกับจำนวนภาษีที่โจทก์ได้ฟ้องเรียกคืน จึงเป็นคำฟ้องแย้งที่ไม่เกี่ยวกับคำฟ้องเดิม ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยคืนค่าภาษีพร้อมดอกเบี้ยจำนวน 26,964,541.56 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินค่าภาษีจำนวน19,654,220.18 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้ยกฟ้องแย้งของจำเลยโดยไม่ตัดสิทธิที่จะฟ้องใหม่ และให้จำเลยชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความจำนวน 10,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยประการแรกว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ ในปัญหานี้ ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยว่า แม้คำฟ้องของโจทก์ไม่ได้บรรยายว่าเหตุใดมิได้มีการเติมน้ำมันทั้งที่จำเลยได้เสนอหลักฐานต่าง ๆ และโจทก์คืนภาษีให้แล้วก็ตาม ฟ้องของโจทก์ก็ได้บรรยายโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาดังกล่าวแล้ว สำหรับเหตุที่ไม่ได้มีการเติมน้ำมันเป็นรายละเอียดที่โจทก์สามารถนำสืบได้ในชั้นพิจารณา นอกจากนี้ฟ้องของโจทก์ได้บรรยายไว้โดยแจ้งชัดแล้วว่าจำเลยมีสิทธิตามมาตรา 102(4) แห่งพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2527 ที่จะขอคืนค่าภาษีสรรพสามิต และจำเลยได้ยื่นคำร้องขอคืนภาษีดังกล่าวโดยอ้างและแสดงหลักฐานว่าจำเลยเติมน้ำมันโดยแสดงชนิดและปริมาณของน้ำมันให้แก่เรือซึ่งมีชื่อที่มีขนาดเกินกว่า 500 ตันกรอสส์ ซึ่งพนักงานศุลกากรได้ปล่อยไปต่างประเทศแล้ว คำฟ้องของโจทก์จึงได้กล่าวถึงการกระทำที่เป็นเงื่อนไขของมาตรา 102(4) ที่จะมีสิทธิขอคืนภาษี อันเป็นการกล่าวโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาให้เข้าใจได้ไว้แล้ว สำหรับกฎกระทรวงตามวรรคสองของมาตรา 102(4) นั้น เป็นเรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการขอรับคืนภาษีซึ่งเป็นรายละเอียดไม่ใช่ข้ออ้างที่จะต้องอาศัยเป็นหลักในข้อหาที่โจทก์ฟ้องจำเลย โจทก์สามารถนำสืบต่อไปได้โดยไม่จำต้องบรรยายว่าจำเลยกระทำหรืองดเว้นกระทำการใดอันเป็นการไม่ปฏิบัติตามกฎกระทรวง ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุมนั้น เห็นว่าศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยไว้ว่าฟ้องโจทก์บรรยายโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหา สำหรับเหตุที่ไม่ได้มีการเติมน้ำมันให้แก่เรือและรายละเอียดของกฎกระทรวงตามวรรคสองของมาตรา 102(4) ล้วนเป็นรายละเอียดซึ่งไม่ใช่ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักในข้อหาที่โจทก์ฟ้องจำเลย จึงสามารถนำสืบในชั้นพิจารณาต่อไปได้ แต่อุทธรณ์ของจำเลยกล่าวอ้างลอย ๆ เพียงว่า กรณีดังกล่าวมิใช่รายละเอียดที่โจทก์สามารถนำสืบได้ในชั้นพิจารณา และข้อความตามกฎกระทรวงเป็นข้ออ้างที่โจทก์ต้องอาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาโดยไม่ปรากฏในคำอุทธรณ์ของจำเลยว่าเหตุใดจำเลยจึงเห็นว่า กรณีดังกล่าวมิใช่รายละเอียดที่โจทก์สามารถนำสืบได้ และเหตุใดจำเลยจึงถือว่ารายละเอียดของกฎกระทรวงเป็นข้ออ้างที่โจทก์ต้องอาศัยเป็นหลักแห่งข้อหา อุทธรณ์ของจำเลยไม่มีข้อโต้แย้งคัดค้านคำวินิจฉัยของศาลภาษีอากรกลางเลยว่าไม่ถูกต้องหรือผิดพลาดอย่างไรที่ศาลฎีกาจะสามารถยกขึ้นวินิจฉัยหักล้างได้เช่นนี้ จึงถือเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบด้วยบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 มาตรา 29 ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัย
ปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยประการต่อไปว่า ฟ้องแย้งของจำเลยเกี่ยวข้องกับฟ้องเดิมหรือไม่ ปัญหานี้จำเลยอุทธรณ์ว่า จากคำฟ้องของโจทก์เป็นการฟ้องเกี่ยวกับการขอคืนภาษีสรรพสามิต ตามมาตรา 102(4) แห่งพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2527 ซึ่งตามฟ้องแย้งของจำเลยก็เป็นการฟ้องให้โจทก์คืนค่าภาษีสรรพสามิตให้แก่จำเลยตามบทบัญญัติของกฎหมายมาตราดังกล่าวเช่นเดียวกันเห็นว่า ตามคำฟ้องแย้งของจำเลย จำเลยขอให้บังคับโจทก์คืนค่าภาษีที่จำเลยอ้างว่าได้มีการนำน้ำมันเชื้อเพลิงขึ้นเรือรวม 15 เที่ยว เป็นการขอคืนค่าภาษีคนละเที่ยวเรือกับที่โจทก์ขอให้บังคับจำเลยคืนค่าภาษีที่จำเลยขอรับคืนไปจากโจทก์แล้ว ซึ่งการนำน้ำมันเชื้อเพลิงขึ้นเรือแต่ละเที่ยวเรือตามคำฟ้องและฟ้องแย้งไม่มีความเกี่ยวข้องกันเป็นการกระทำต่างกรรมต่างวาระกัน ตามคำฟ้องของโจทก์มีประเด็นว่า จำเลยจะต้องคืนเงินค่าภาษีที่จำเลยขอรับคืนไปให้แก่โจทก์หรือไม่เพียงใด ส่วนฟ้องแย้งของจำเลยมีประเด็นข้อพิพาทว่าจำเลยมีสิทธิเรียกให้โจทก์คืนเงินค่าภาษีที่จำเลยชำระไว้หรือไม่เพียงใด ดังนั้น แม้ตามคำฟ้องของโจทก์และคำฟ้องแย้งของจำเลยจะเป็นเรื่องของการขอคืนภาษีสรรพสามิตตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิตในมาตราเดียวกันแต่ภาระการพิสูจน์ข้อเท็จจริงตามคำขอของโจทก์กับฟ้องแย้งของจำเลยก็แตกต่างตรงข้ามกันและไม่มีความเกี่ยวพันกัน ฟ้องแย้งของจำเลยจึงไม่เกี่ยวกับฟ้องเดิมของโจทก์ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยปัญหานี้และพิพากษายกฟ้องแย้งของจำเลยชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยในประการต่อไปว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความแล้วหรือไม่ ในปัญหานี้ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยว่า กรณีตามฟ้องเป็นเรื่องที่โจทก์ฟ้องเรียกให้จำเลยชำระค่าภาษีที่จำเลยชำระไม่ครบถ้วน มีอายุความ 10 ปี มิใช่โจทก์ฟ้องเรียกคืนเงินค่าภาษีจากจำเลยฐานลาภมิควรได้และละเมิด ซึ่งมีอายุความเพียง 1 ปี คดีของโจทก์ยังไม่ขาดอายุความ จำเลยอุทธรณ์ว่า การที่จำเลยได้รับเงินค่าภาษีสรรพสามิตและภาษีเก็บเพิ่มเพื่อกระทรวงมหาดไทยไปจากโจทก์ตามฟ้อง เป็นการได้รับเงินไปจากโจทก์โดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ ดังนั้นการฟ้องเรียกค่าภาษีดังกล่าวคืนจากจำเลยจึงเป็นการเรียกเงินคืนฐานลาภมิควรได้และละเมิด มีอายุความฟ้องร้อง1 ปี เห็นว่า ตามคำฟ้องโจทก์มิได้บรรยายฟ้องยืนยันว่าการที่จำเลยขอรับคืนสรรพสามิตและภาษีเก็บเพื่อเพิ่มกระทรวงมหาดไทยไปจากโจทก์ เป็นการกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อต่อโจทก์โดยผิดกฎหมาย หรือจำเลยได้ใช้สิทธิซึ่งมีแต่จะให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่น การที่โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยไม่มีสิทธิตามกฎหมายที่จะได้รับคืนภาษีก็เป็นผลมาจากการที่โจทก์ตรวจสอบพบว่าไม่มีการเติมน้ำมันแก่เรือตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 102(4) แห่งพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2527 กรณีตามฟ้องของโจทก์จึงไม่ใช่เรื่องจำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์ไม่อาจนำอายุความเรื่องละเมิดมาบังคับแก่คดีได้ คงมีปัญหาว่าเป็นเรื่องลาภมิควรได้หรือไม่ เห็นว่า ที่จำเลยได้รับคืนเงินค่าภาษีไปจากโจทก์นั้น แม้เป็นกรณีที่จำเลยใช้สิทธิจากการที่จำเลยซึ่งเป็นผู้ประกอบการอุตสาหกรรมผลิตหรือขายหรือจำหน่ายน้ำมันนำน้ำมันที่จำเลยชำระภาษีแล้วเติมให้แก่เรือที่มีขนาดเกินกว่า 500 ตันกรอสส์ และพนักงานศุลกากรได้ปล่อยให้ไปต่างประเทศแล้วอันเป็นการขอรับคืนค่าภาษีสรรพสามิตและภาษีเก็บเพิ่มเพื่อกระทรวงมหาดไทยที่ชำระไปแล้วตามพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2527 มาตรา 102(4) แต่ก็ได้ความจากคำบรรยายฟ้องของโจทก์อยู่ว่า เมื่อจำเลยได้รับคืนเงินค่าภาษีดังกล่าวไปแล้วต่อมาเจ้าพนักงานของโจทก์ได้รับแจ้งจากกรมศุลกากรว่าตามเอกสารและพยานหลักฐานที่จำเลยนำมาแสดงเพื่อขอคืนค่าภาษีและได้รับคืนค่าภาษีไปแล้วนั้น แท้ที่จริงแล้วมิได้มีการเติมน้ำมันตามชนิดและปริมาณให้แก่เรือซึ่งมีชื่อที่มีขนาดเกินกว่า 500 ตันกรอสส์ดังที่จำเลยกล่าวอ้าง จำเลยจึงไม่มีสิทธิตามกฎหมายที่จะได้รับคืนภาษีสรรพสามิตและภาษีเก็บเพิ่มเพื่อกระทรวงมหาดไทยจากโจทก์ การที่จำเลยได้รับเงินค่าภาษีคืนไปแม้ในชั้นแรกจะมีมูลที่จะอ้างกฎหมายได้ แต่ต่อมาปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยไม่มีสิทธิตามกฎหมายที่จะได้รับเงินก็ถือว่าไม่มีมูลที่จะอ้างกฎหมายได้เช่นกัน การที่จำเลยได้รับเงินภาษีสรรพสามิตและภาษีเก็บเพิ่มเพื่อกระทรวงมหาดไทยจากโจทก์จึงเป็นการได้มาโดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ และเป็นทางให้โจทก์เสียเปรียบ เงินค่าภาษีดังกล่าวจึงเป็นลาภมิควรได้ จำเลยจึงต้องคืนให้แก่โจทก์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 406 แต่โจทก์ต้องฟ้องคดีใช้สิทธิเรียกเงินดังกล่าวภายในกำหนด 1 ปี นับแต่เวลาที่โจทก์รู้ว่าตนมีสิทธิเรียกคืนตามความในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 419ปรากฏว่าโจทก์มีหนังสือทวงถามให้จำเลยคืนเงินภาษีที่จำเลยขอรับคืนไปดังกล่าวแก่โจทก์เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2539 ตามสำเนาหนังสือเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 1 และ 2 ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า โจทก์รู้ว่าตนมีสิทธิเรียกคืนซึ่งค่าภาษีจากจำเลยตั้งแต่วันดังกล่าว โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2542 พ้นกำหนด 1 ปี นับแต่โจทก์รู้ว่าตนมีสิทธิเรียกคืน คดีโจทก์จึงขาดอายุความ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 419 ที่ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยว่ากรณีไม่ใช่เรื่องลาภมิควรได้เพราะจำเลยได้รับคืนเงินค่าภาษีที่ได้ชำระไว้แล้วไปโดยมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ไม่เป็นลาภมิควรได้นั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น และเมื่อคดีโจทก์ขาดอายุความเสียแล้ว ศาลฎีกาจึงไม่จำต้องวินิจฉัยปัญหาตามอุทธรณ์ของจำเลยในประการอื่นอีก
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ด้วย ค่าฤชาธรรมเนียมสำหรับฟ้องโจทก์และฟ้องแย้งทั้งสองศาลให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลาง”