คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 562/2505

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้เสียหายเป็นโจทก์ฟ้องคดีชิงทรัพย์สร้อยคอ แม้จะไม่ได้ระบุว่าสร้อยนั้นเป็นของโจทก์ ทั้งได้ความว่าเป็นของมารดาโจทก์ให้โจทก์สวมใส่ แต่ก็บรรยายว่า จำเลยแย่งไปจากคอโจทก์ ก็ถือได้ว่าโจทก์เป็นผู้เสียหาย มีอำนาจฟ้อง
บรรยายฟ้องว่า สร้อยคอที่จำเลยแบ่งไปราคา 21,000 บาท แล้วโจทก์นำสืบว่าราคา 2,100 บาทแต่คำขอท้ายฟ้องขอให้คืนหรือใช้ราคาเพียง 2,100 บาท เห็นได้ว่า ทีระบุในฟ้องตอนต้นว่าราคา 21,000 บาท นั้นเป็นการพลั้งเผลอไปมิใช่แตกต่างกันในสารสำคัญกับจะเป็นเหตุให้ยกฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยชิงทรัพย์ไปจากโจทก์ ่ขอให้ลงโทษและให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์
จำเลยให้การปฎิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยและให้คืนหรือใช้ราคาทรัพย์
จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา และศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาเป็นปัญหาข้อกฎหมาย ๒ ข้อ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยว่าในคำฟ้องกล่าวว่าจำเลยได้แย่งเอาสร้อยคอไปจากคอโจทก์ ไม่ได้ระบุว่าสร้อยนั้นเป็นของโจทก์และข้อเท็จจริงรับกันว่า สร้อยนั้นเป็นของบิดามารดาโจทก์ ๆ จึงมิใช่ผู้เสียหายไม่มีอำนาจฟ้อง นั้น เห็นว่าสร้อยนั้ โจทก์สวมใส่ครอบครองอยู่ และได้ความว่า มารดาโจทก์ซื้อให้โจทก์ใส่ เมื่อจำเลยแย่งเอาไปจากการครอบครองของโจทก์ ก็ถือได้ว่า โจทก์เป็นผู้เสียหาย
ข้อที่ว่า ฟ้องกล่าวว่าสร้อยที่จำเลยแย่งไปราคา ๒๑,๐๐๐ บาท แต่โจทก์นำสืบว่า ราคา ๒,๑๐๐ บาท จึงแตกต่างกับฟ้องควรยกฟ้องนั้น ปรากฏว่า ในคำท้ายฟ้อง ก็ระบุให้จำเลย คืนหรือใช้ราคาเพียง ๒,๑๐๐ บาท ตรงกับที่โจทก์นำสืบเห็นได้ชัดว่า ที่ในฟ้องตอนต้นว่าราคา ๒๑,๐๐๐ บาท นั้นเป็นการพลั้งเผลอไปมิใช่แตกต่างกันในสารสำคัญกับจะเป็นเหตุให้ยกฟ้อง
พิพากษายืน

Share