คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 561/2523

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่ศาลอุทธรณ์จะพิพากษาให้ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้น เพื่อให้ศาลชั้นต้นพิพากษาใหม่นั้น จะต้องเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาโดยไม่ชอบ ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243 คดีนี้ศาลชั้นต้นสืบพยานโจทก์จำเลยเสร็จสิ้นและพิพากษาคดีไปตามประเด็นที่ได้ชี้สองสถานไว้แล้ว โดยมิได้ดำเนินคดีโดยมิชอบด้วยกระบวนพิจารณาแต่อย่างใด เมื่อศาลอุทธรณ์เห็นว่าคำพิพากษาศาลชั้นต้นไม่ถูกต้องหรือคลาดเคลื่อนอย่างไร ก็ชอบที่จะพิพากษาแก้ หรือกลับ ไม่มีเหตุที่จะบังคับให้ศาลชั้นต้นพิพากษาคดีใหม่
ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้วให้พิพากษาใหม่นั้นจึงมิชอบด้วยกระบวนพิจารณา ศาลฎีกาย่อมพิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์แล้วให้พิพากษาใหม่ตามรูปคดี

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า สามีของจำเลยที่ ๑ ทำสัญญาประนีประนอมยอมความต่อหน้าคณะกรรมการช่วยเหลือชาวนาชาวไร่ ยอมขายที่ดินมี ส.ค.๑ คืนให้โจทก์ ต่อมาสามีของจำเลยที่ ๑ ถึงแก่กรรม และจำเลยที่ ๑ ได้โอนขายที่ดินดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ ๒ โดยสมยอมและไม่สุจริต ขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยร่วมกันขายที่พิพาทให้โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า สัญญาประนีประนอมยอมความไม่ผูกพันจำเลยที่ ๑ โจทก์ฟ้องคดีเมื่อสามีจำเลยที่ ๑ ตายเกิน ๑ ปี คดีขาดอายุความ จำเลยที่ ๒ รับโอนโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน ทั้งได้ครอบครองมาสองปีเศษแล้ว ไม่จำต้องโอนขายให้โจทก์
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยที่ ๒ ได้ครอบครองที่พิพาทเกิน ๑ ปีแล้ว จึงได้สิทธิครอบครอง ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ พิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า กรณีมิใช่เป็นการแย่งการครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๗๕ การยกเอาบทกฎหมายดังกล่าวมาปรับแล้วยกฟ้อง เป็นการวินิจฉัยไม่ตรงกับรูปคดี พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทของคู่ความจนสิ้นกระแสความ แล้วพิพากษาตามรูปคดี
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การที่ศาลอุทธรณ์จะพิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นเพื่อให้ศาลชั้นต้นพิพากษาใหม่นั้น จะต้องเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาโดยไม่ชอบตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๔๓ คดีนี้ศาลชั้นต้นสืบพยานโจทก์จำเลยเสร็จสิ้นและพิพากษาคดีไปตามประเด็นที่ได้ชี้สองสถานไว้แล้ว ศาลชั้นต้นมิได้ดำเนินคดีโดยไม่ชอบด้วยกระบวนพิจารณาแต่อย่างใด เมื่อศาลอุทธรณ์เห็นว่าคำพิพากษาศาลชั้นต้นไม่ถูกต้องหรือคลาดเคลื่อนอย่างไร ก็ชอบที่จะพิพากษาแก้หรือกลับคำพิพากษาศาลชั้นต้นไม่ถูกต้องหรือคลาดเคลื่อนอย่างไร ก็ชอบที่จะพิพากษาแก้หรือกลับคำพิพากษาศาลชั้นต้นไปตามรูปคดี ไม่มีเหตุที่ศาลอุทธรณ์จะบังคับให้ศาลชั้นต้นพิพากษาคดีใหม่ การที่ศาลอุทธรณ์ให้ศาลชั้นต้นพิพากษาคดีใหม่ จึงไม่ชอบด้วยกระบวนพิจารณา
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ศาลอุทธรณ์พิพากษาใหม่ตามรูปคดีค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้ศาลอุทธรณ์รวมสั่งเพื่อพิพากษาคดีใหม่

Share