คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5599/2546

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

คำสั่งของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมที่สั่งตามมาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 ให้ลูกจ้างของบริษัทผู้ร้องที่นัดหยุดงานกลับเข้าทำงานให้ผู้ร้องซึ่งสั่งปิดงานให้เปิดงานและรับลูกจ้างทั้งหมดกลับเข้าทำงานและมอบให้คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์พิจารณาชี้ขาดข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้ระหว่างผู้ร้องกับลูกจ้างของผู้ร้องที่ยื่นข้อเรียกร้อง เป็นคำสั่งที่แก้ไขข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้ซึ่งมีการนัดหยุดงานหรือมีการปิดงาน แล้วมอบข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้ให้คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์เป็นผู้ชี้ขาด คำสั่งดังกล่าวไม่มีผลกระทบต่อการกระทำใดในระหว่างการนัดหยุดงานหรือการปิดงานของนายจ้างหรือลูกจ้างที่กระทำผิดต่อกฎหมายหรือละเมิดสิทธิของอีกฝ่ายหรือต่อบุคคลภายนอก จึงไม่มีผลทำให้อำนาจในการดำเนินคดีของผู้ร้องที่ร้องขออนุญาตเลิกจ้างผู้คัดค้านทั้งสิบสามตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 52 สิ้นสุดลง ผู้ร้องจึงมีอำนาจดำเนินคดีนี้ต่อไปได้
สหภาพแรงงาน ส. ได้ยื่นข้อเรียกร้องขอเปลี่ยนสภาพการจ้างต่อบริษัทผู้ร้องมีการเจรจาต่อรองแต่ไม่สามารถตกลงกันได้เกิดเป็นข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้แล้วมีสมาชิกสหภาพแรงงาน ส. จำนวน 1,500 คน ร่วมนัดหยุดงาน อันเป็นการใช้สิทธิตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 ซึ่งไม่ก่อให้เกิดสิทธิแก่ผู้ร้องที่จะเลิกจ้างสมาชิกสหภาพแรงงาน ส. ที่ร่วมนัดหยุดงานโดยชอบได้ แต่ผู้ร้องยื่นคำร้องคดีนี้เพื่อขออนุญาตเลิกจ้างผู้คัดค้านทั้งสิบสาม เนื่องจากผู้คัดค้านทั้งสิบสามเป็นกรรมการลูกจ้าง ตามมาตรา 52 การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขออนุญาตเลิกจ้างเฉพาะผู้คัดค้านทั้งสิบสามซึ่งเป็นกรรมการลูกจ้าง โดยอ้างว่ามีการกระทำผิดกฎหมายและละเมิดสิทธิต่อผู้ร้องในระหว่างการนัดหยุดงานโดยชอบ มิใช่ขอเลิกจ้างผู้คัดค้านทั้งสิบสามเนื่องจากผู้คัดค้านทั้งสิบสามนัดหยุดงานจึงมิใช่เป็นการเลือกปฏิบัติ ผู้ร้องจึงมีสิทธิยื่นคำร้องได้

ย่อยาว

คดีทั้งสิบสามสำนวนนี้ ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้รวมพิจารณาเข้าด้วยกันกับสำนวนคดีหมายเลขดำที่ 5448/2543 และ 5450/2543 ของศาลแรงงานกลาง โดยเรียกผู้คัดค้านตามลำดับสำนวนว่า ผู้คัดค้านที่ 1 ถึงที่ 15 ระหว่างพิจารณาผู้ร้องทั้งสองสำนวนดังกล่าวขอถอนคำร้อง คดีจึงขึ้นมาสู่ศาลฎีกาเฉพาะคดีสิบสามสำนวนนี้

ผู้ร้องทั้งสิบสามสำนวนยื่นคำร้องมีใจความว่า ผู้คัดค้านทั้งสิบสามเป็นลูกจ้างของผู้ร้องและเป็นกรรมการลูกจ้าง เมื่อระหว่างวันที่ 30 พฤษภาคม 2543 ถึงวันที่ 1 กรกฎาคม 2543 ผู้คัดค้านทั้งสิบสามได้ร่วมกับพนักงานอื่นปิดกั้นประตูโรงงานที่ 1 ถึงที่ 6 ด้วยการใช้เต็นท์ สิ่งของ และร่วมกันชุมนุมขวางทางเข้าออกใช้โซ่คล้องประตูใส่กุญแจและเชื่อมเหล็กที่ประตูให้ติดกันไว้ ทำให้พนักงานที่ประสงค์จะเข้าทำงานเข้าไปในบริเวณโรงงานไม่ได้ ปิดกั้นรถรับส่งพนักงานและรถรับส่งสินค้า ทำให้ไม่อาจนำวัตถุดิบเข้าไปภายในโรงงานและไม่สามารถนำสินค้าออกจากโรงงาน ก่อให้เกิดความเสียหายต่อกระบวนการผลิตและการค้า นอกจากนี้ผู้คัดค้านทั้งสิบสามยังได้ต่อกระแสไฟฟ้ามาใช้ในเต็นท์ที่ชุมนุมและใช้กับเครื่องขยายเสียง ทำลายทรัพย์สินของผู้ร้อง นำบุคคลภายนอกเข้ามาภายในบริเวณโรงงานจำนวนมาก อีกทั้งผู้คัดค้านทั้งสิบสามยังได้กล่าวโจมตีฝ่ายบริหารในลักษณะก้าวร้าว กระด้างกระเดื่องส่อนิสัยความประพฤติที่เป็นปรปักษ์ต่อนายจ้างหรือผู้บังคับบัญชาในลักษณะการกระทำอย่างต่อเนื่องและได้เตรียมการล่วงหน้าไว้ก่อนและเมื่อระหว่างวันที่ 2 กรกฎาคม 2543 ถึงวันที่ 7 สิงหาคม 2543 ผู้คัดค้านทั้งสิบสามได้ร่วมชุมนุมและกล่าวโจมตีนายจ้างทั้งภายในบริเวณโรงงาน บริเวณหน้าโรงงานและสถานที่ภายนอกโรงงาน เช่น หน้าทำเนียบรัฐบาล บ้านพักนายกรัฐมนตรีและสำนักงานใหญ่ของนายจ้าง ในทำนองว่าการกระทำของนายจ้างโหดเหี้ยม นายจ้างหาวิธีกลั่นแกล้งลูกจ้างต่าง ๆ นานา เป็นต้น ผู้คัดค้านทั้งสิบสามกับพวกยังได้ชุมนุมปิดกั้นถนนสาธารณะ ทำให้การจราจรติดขัด การกล่าวโจมตีและชุมนุมปิดกั้นถนนสาธารณะดังกล่าวทำให้ประชาชนหรือบุคคลทั่วไปมีทัศนคติที่ไม่ดีต่อนายจ้าง ทำให้ได้รับความเสียหายต่อชื่อเสียงและการค้าของผู้ร้อง และเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2543 เวลา10.30 นาฬิกา ถึง 15 นาฬิกา ผู้คัดค้านทั้งสิบสามร่วมกับพนักงานอื่นได้ร่วมชุมนุมกล่าวโจมตีนายจ้าง ณ สถานที่ทำงานสำนักงานใหญ่ ก่อความวุ่นวาย ก่อกวน รวมทั้งเผาหุ่นกรรมการผู้จัดการ การกระทำของผู้คัดค้านทั้งสิบสามถือว่าเป็นการทำผิดร้ายแรงไม่อาจร่วมทำงานอีกต่อไปได้ เป็นการทุจริตต่อหน้าที่กระทำความผิดอาญาโดยเจตนาต่อนายจ้าง จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับหรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายกรณีร้ายแรง นอกจากนี้ผู้คัดค้านที่ 15 ได้ละทิ้งหน้าที่ไปตั้งแต่วันที่1 กรกฎาคม 2543 จนถึงวันยื่นคำร้อง โดยไม่มีเหตุอันสมควร ขออนุญาตให้ผู้ร้องเลิกจ้างผู้คัดค้านทั้งสิบสามนับแต่วันที่ยื่นคำร้อง

ผู้คัดค้านทั้งสิบสามสำนวนยื่นคำคัดค้านว่า ผู้คัดค้านทั้งสิบสามได้ร่วมกับสมาชิกสหภาพแรงงานสิ่งทอไทยเกรียงใช้สิทธิหยุดงานโดยชอบด้วยกฎหมายในสถานที่ของผู้ร้อง ในระหว่างนัดหยุดงานผู้ร้องได้ให้บุคคลภายนอกทำร้ายร่างกายลูกจ้างผู้ใช้สิทธินัดหยุดงาน ผู้คัดค้านทั้งสิบสามและพนักงานอื่นไม่ได้ปิดกั้นประตูโรงงาน ผู้คัดค้านทั้งสิบสามกางเต็นท์บริเวณที่ใช้นัดหยุดงานเพื่อกันแดดกันฝน ซึ่งเป็นธรรมเนียมปฏิบัติมาช้านานแล้วโดยผู้ร้องอนุญาตให้นำเต็นท์ไปกางได้ ผู้คัดค้านทั้งสิบสามไม่ได้ใช้โซ่คล้องประตูแล้วใส่กุญแจ แต่ผู้ร้องสั่งการให้ยามรักษาความปลอดภัยเป็นผู้ใส่โซ่และกุญแจเพราะผู้ร้องได้เตรียมการไว้ล่วงหน้าที่จะปิดงาน การปิดประตูดังกล่าวทำขึ้นเพื่อป้องกันทรัพย์สินของผู้ร้องเอง ผู้ร้องอนุญาตให้พนักงานที่นัดหยุดงานใช้น้ำประปาและไฟฟ้าได้การนัดหยุดงานและการปิดงานหาทำให้สถานะการเป็นนายจ้างและลูกจ้างสิ้นไปไม่ ลูกจ้างก็ยังคงได้รับสวัสดิการที่มีอยู่ต่อไป ผู้คัดค้านทั้งสิบสามกับพวกไม่ได้ใช้เหล็กเชื่อมประตูของผู้ร้อง มิได้ทำลายทรัพย์สินของผู้ร้อง ไม่ได้กระด้างกระเดื่องและประพฤติตนในทางเป็นปรปักษ์ต่อนายจ้างหรือผู้บังคับบัญชารวมทั้งไม่ได้นำบุคคลภายนอกเข้ามาในโรงงานของผู้ร่วมในระหว่างนัดหยุดงาน ไม่ได้ปิดกั้นรถรับส่งพนักงานและรับส่งสินค้าและวัตถุดิบ ผู้ร้องตระเตรียมการหยุดการผลิตไว้ล่วงหน้าแล้วจึงไม่มีสินค้าใด ๆ ที่จะส่งให้แก่ลูกค้าและไม่มีการนำเข้าวัตถุดิบ ไม่ได้มีการข่มขู่พนักงานให้มาใช้สิทธินัดหยุดงานแต่ผู้ร้องกลับยุยงปลุกปั่นให้เกิดความเข้าใจผิดและแตกความสามัคคีในระหว่างพนักงานเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2543 ถึงวันที่ 7 สิงหาคม 2543 ผู้คัดค้านทั้งสิบสามและพนักงานอื่นไม่ได้กล่าวโจมตีนายจ้างทั้งภายในและภายนอกโรงงานดังที่ผู้ร้องอ้าง การที่ผู้ร้องมีหนังสือแจ้งให้พนักงานรวมทั้งผู้คัดค้านทั้งสิบสามเข้าทำงานตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม2543 เป็นเวลาที่อยู่ในระหว่างเกิดข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้ ผู้คัดค้านทั้งสิบสามจึงมีสิทธินัดหยุดงานโดยไม่ต้องกลับเข้าทำงานตามประกาศเข้าทำงานของผู้ร้องจึงไม่ถือเป็นการละทิ้งหน้าที่หรือฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับของผู้ร้อง ผู้คัดค้านทั้งสิบสามและพนักงานอื่นใช้สิทธินัดหยุดงานโดยชอบด้วยกฎหมาย ผู้ร้องไม่มีสิทธิเลิกจ้างหรือกลั่นแกล้งลูกจ้างเนื่องจากการแจ้งข้อเรียกร้องและการใช้สิทธินัดหยุดงาน ขอให้ยกคำร้องของผู้ร้อง และสั่งให้ผู้ร้องรับผู้คัดค้านทั้งสิบสามกลับเข้าเป็นลูกจ้างของผู้ร้องต่อไปในตำแหน่งและอัตราค่าจ้างเดิม

ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องเลิกจ้างผู้คัดค้านทั้งสิบสามสำนวน

ผู้คัดค้านทั้งสิบสามสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงว่า ผู้ร้องประกอบกิจการสิ่งทอ แบ่งการทำงานออกเป็น 3 กะ กะเช้าระหว่างเวลา 8 ถึง 16 นาฬิกา กะบ่ายระหว่างเวลา 16 ถึง 24 นาฬิกา และกะดึกระหว่างเวลา 24 ถึง 8 นาฬิกา แผนที่ตั้งโรงงานผู้ร้องปรากฏตามเอกสารหมาย ร.18 ผู้คัดค้านทั้งสิบสามทำงานเป็นลูกจ้างของผู้ร้องและเป็นกรรมการลูกจ้าง ตามเอกสารหมาย ร.2 ผู้ร้องกับสหภาพแรงงานสิ่งทอไทยเกรียงมีข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างในเรื่องการปรับเงินขึ้นประจำปีและการจ่ายเงินโบนัสประจำปีตามเอกสารหมาย ค.1 และมีข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างตามเอกสารหมาย ค.2 เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2543 สหภาพแรงงานสิ่งทอไทยเกรียงยื่นข้อเรียกร้องขอเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างตามเอกสารหมาย ร.3 ผู้แทนของผู้ร้องและผู้ร้องแทนสหภาพแรงงานได้เจรจาข้อเรียกร้องเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2543 แต่ตกลงกันไม่ได้ตามเอกสารหมาย ร.4 หลังจากนั้นฝ่ายผู้ร้องกับตัวแทนสหภาพแรงงานได้มีการเจรจากันอีกตามเอกสารหมาย ร.5 แต่ยังตกลงกันไม่ได้และเกิดเป็นข้อพิพาทแรงงาน ได้มีการแจ้งข้อพิพาทแรงงานให้พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานทราบ พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานทำการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทแรงงานระหว่างผู้ร้องและสหภาพแรงงานหลายครั้ง ตามเอกสารหมาย ร.6 ถึง ร.9 และ ร.13 ถึง ร.15 แต่ทั้งสองฝ่ายตกลงกันไม่ได้ และเกิดเป็นข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้ เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2543ผู้ร้องยื่นข้อเรียกร้องเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้าง ตามเอกสารหมาย ร.10 แต่เป็นการยื่นข้อเรียกร้องเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาตามข้อตกลง ผู้ร้องจึงได้ถอนข้อเรียกร้องไปในภายหลัง หลังจากนั้นเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2543 สหภาพสิ่งทอไทยเกรียงได้แจ้งการใช้สิทธินัดหยุดงานต่อผู้ร้องและพนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานตามเอกสารหมาย ร.16 และใช้สิทธินัดหยุดงานตั้งแต่เวลาประมาณ 23.30 นาฬิกาของวันที่ 30 พฤษภาคม 2543 ผู้ร้องมีหนังสือแจ้งการใช้สิทธิปิดงานต่อสหภาพแรงงานและสมาชิกสหภาพแรงงานสิ่งทอไทยเกรียงตั้งแต่วันที่ 31 พฤษภาคม 2543 ผู้ร้องเคยออกประกาศห้ามชุมนุมภายในบริเวณโรงงานห้ามใช้เครื่องขยายเสียงและห้ามจำหน่ายจ่ายแจกเอกสาร ตามเอกสารหมาย ร.19 ถึง ร.21 ครั้นวันที่ 7 มิถุนายน 2543 ผู้ร้องได้ออกประกาศยกเลิกการปิดงานและให้ลูกจ้างกลับเข้าทำงานในวันที่ 9 มิถุนายน 2543 เวลา 8 นาฬิกา ตามเอกสารหมาย ร.27 ถึง ร.29 แต่ลูกจ้างที่ประสงค์จะเข้าทำงานเข้าไปในโรงงานของผู้ร้องไม่ได้ เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2543 ผู้ร้องจึงได้ยื่นคำร้องต่อศาลแรงงานกลางเพื่อขอคุ้มครองชั่วคราว ห้ามมิให้ลูกจ้างที่นัดหยุดงานปิดกั้นประตูโรงงานซึ่งต่อมาศาลแรงงานกลางได้ออกคำสั่งห้ามชั่วคราวตามเอกสารหมาย ร.35 แต่ลูกจ้างที่นัดหยุดงานยังคงปิดกั้นทางเข้าออกของโรงงานผู้ร้อง ผู้ร้องได้แจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจไว้ตามเอกสารหมาย ร.36 หลังจากนั้นผู้ร้องได้ทำคำร้องแจ้งต่อศาลแรงงานกลางถึงกรณีที่คำสั่งห้ามชั่วคราวไม่สามารถบังคับได้ ศาลแรงงานกลางได้ออกหมายจับลูกจ้างผู้ฝ่าฝืนคำสั่งห้ามชั่วคราวตามเอกสารหมาย ร.38 เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2543 สหภาพแรงงานได้ทำคำร้องชี้แจงขอให้ยกเลิกหมายจับ ตามเอกสารหมาย ร.39 และต่อมาศาลแรงงานกลางได้มีคำสั่งเพิกถอนหมายจับ วันที่ 15 กรกฎาคม 2543 ผู้ร้องมีหนังสือเลิกจ้างลูกจ้างจำนวน390 คน โดยไม่จ่ายค่าชดเชย ตามเอกสารหมาย ร.40 และวันที่ 26 ตุลาคม 2543 รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมซึ่งปฏิบัติราชการแทนรัฐมนตรีว่าการได้ออกคำสั่งให้ลูกจ้างกลับเข้าทำงาน ให้นายจ้างรับลูกจ้างเข้าทำงานและให้คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ชี้ขาดข้อพิพาทแรงงาน ตามเอกสารหมาย ร.45 ผู้ร้องมีระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานตามเอกสารหมาย ร.51

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ข้อแรกของผู้คัดค้านทั้งสิบสามว่า ผู้ร้องมีอำนาจดำเนินคดีต่อไปได้หรือไม่ โดยผู้คัดค้านทั้งสิบสามอุทธรณ์ว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมได้มีคำสั่งกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมที่ 233/2543 ให้ลูกจ้างของผู้ร้องทั้งหมดกลับเข้าทำงานกับผู้ร้อง และมอบเรื่องให้คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ชี้ขาดข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้ระหว่างผู้ร้องกับลูกจ้างที่ยื่นข้อเรียกร้อง จึงมีผลทำให้การดำเนินคดีนี้ที่ผู้ร้องยื่นคำร้องต่อศาลแรงงานกลางเพื่อขออนุญาตเลิกจ้างผู้คัดค้านทั้งสิบสามเป็นอันสิ้นสุด ไม่สามารถดำเนินคดีต่อไปได้นั้น เห็นว่า คำสั่งของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมที่สั่งตามมาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 ให้ลูกจ้างของผู้ร้องที่นัดหยุดงานกลับเข้าทำงานให้ผู้ร้องซึ่งสั่งปิดงานให้เปิดงานและรับลูกจ้างของผู้ร้องทั้งหมดกลับเข้าทำงาน และมอบให้คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์พิจารณาชี้ขาดข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้ระหว่างผู้ร้องกับลูกจ้างของผู้ร้องที่ยื่นข้อเรียกร้องเป็นคำสั่งที่แก้ไขข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้ซึ่งมีการนัดหยุดงานหรือมีการปิดงานที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่เศรษฐกิจของประเทศ หรืออาจก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชน หรืออาจเป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศ หรืออาจขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน อันเป็นการยกเลิกการนัดหยุดงานและการปิดงานที่ดำเนินการอยู่ แล้วมอบข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้ให้คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์เป็นผู้ชี้ขาด คำสั่งของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมดังกล่าวไม่มีผลกระทบต่อการกระทำใดในระหว่างการนัดหยุดงานหรือการปิดงานของนายจ้างหรือลูกจ้างที่กระทำผิดต่อกฎหมายหรือละเมิดสิทธิของอีกฝ่ายหรือต่อบุคคลภายนอก ฉะนั้น คำสั่งของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมที่ 233/2543 จึงไม่มีผลทำให้อำนาจในการดำเนินคดีนี้ของผู้ร้องที่ร้องขออนุญาตเลิกจ้างผู้คัดค้านทั้งสิบสามตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 52 สิ้นสุดลง ผู้ร้องจึงมีอำนาจดำเนินคดีนี้ต่อไปได้ อุทธรณ์ข้อนี้ของผู้คัดค้านทั้งสิบสามฟังไม่ขึ้น…

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ข้อสามของผู้คัดค้านทั้งสิบสามว่า สมาชิกสหภาพแรงงานร่วมกันใช้สิทธินัดหยุดงานครั้งนี้จำนวน 1,500 คน แต่ผู้ร้องมาใช้สิทธิขอเลิกจ้างผู้คัดค้านทั้งสิบสามเพียง 15 คน แล้วมีการถอนคำร้องไป 2 คน เหลือเพียง13 คน เป็นการเลือกปฏิบัติ ไม่เสมอภาคตามกฎหมายซึ่งขัดต่อรัฐธรรมนูญ โดยผู้ร้องต้องการทำลายหรือล้มสหภาพแรงงาน การยื่นคำร้องคดีนี้เป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่า สหภาพแรงงานสิ่งทอไทยเกรียงได้ยื่นข้อเรียกร้องขอเปลี่ยนสภาพการจ้างต่อผู้ร้อง แล้วมีการเจรจาต่อรองแต่ไม่สามารถตกลงกันได้เกิดเป็นข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้ แล้วมีสมาชิกสหภาพแรงงานสิ่งทอไทยเกรียงจำนวน 1,500 คน ร่วมนัดหยุดงาน อันเป็นการใช้สิทธิตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 เป็นการใช้สิทธิโดยชอบด้วยกฎหมาย ไม่ก่อให้เกิดสิทธิแก่ผู้ร้องที่จะเลิกจ้างสมาชิกสหภาพแรงงานสิ่งทอไทยเกรียงที่ร่วมนัดหยุดงานโดยชอบได้ แต่ผู้ร้องยื่นคำร้องคดีนี้เพื่อขออนุญาตเลิกจ้างผู้คัดค้านทั้งสิบสาม เนื่องจากผู้คัดค้านทั้งสิบสามเป็นกรรมการลูกจ้างผู้ร้องไม่สามารถเลิกจ้างได้เอง ต้องมายื่นคำร้องขออนุญาตต่อศาลแรงงานกลาง และเมื่อได้รับอนุญาตจากศาลแรงงานกลางจึงจะเลิกจ้างได้ตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 52 การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขออนุญาตเลิกจ้างเฉพาะผู้คัดค้านทั้งสิบสามซึ่งเป็นกรรมการลูกจ้าง โดยอ้างว่ามีการกระทำผิดกฎหมายและละเมิดสิทธิต่อผู้ร้องในระหว่างการนัดหยุดงานโดยชอบ มิใช่ขอเลิกจ้างผู้คัดค้านทั้งสิบสามเนื่องจากผู้คัดค้านทั้งสิบสามนัดหยุดงานจึงมิใช่เป็นการเลือกปฏิบัติ ผู้ร้องมีสิทธิยื่นคำร้องคดีนี้ได้ อุทธรณ์ข้อนี้ของผู้คัดค้านทั้งสิบสามฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share